แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568


    ครั้งที่ ๕๖๘


    ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค จูฬเวทัลลสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ครั้นแล้วได้ถามปัญหาธรรมกับธรรมทินนาภิกษุณีหลายประการ ซึ่งข้อความในพระสูตร ข้อ ๕๐๘ วิสาขอุบาสกได้ถามธรรมทินนาภิกษุณีว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นไฉน

    ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวว่า

    ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑

    นี่เป็นคำแปลจากภาษาบาลีที่ว่า ปัญญาอันเห็นชอบ คือ สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ความดำริชอบ คือ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก วาจาชอบ ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ทำการงานชอบ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก เลี้ยงชีวิตชอบ ได้แก่ สัมมาอาชีโวเจตสิก ความเพียรชอบ ได้แก่ สัมมาวายาโมเจตสิก ความระลึกชอบ คือ สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก ความตั้งจิตไว้ชอบ คือ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

    แต่ต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมให้ตรงด้วยว่า ความตั้งจิตไว้ชอบเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิ เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งจิตไว้ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ พร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่มีตัวตนไปตั้งจิตไว้ชอบ

    เวลาที่อ่านพระสูตร อย่าเข้าใจตามความคิดของท่านว่า ท่านจะต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เป็นตัวตนที่กระทำ ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะว่านี่เป็นลักษณะของกิจของเจตสิกซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่ละลักษณะ แต่ละองค์ เพราะฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกนั้น คือ ตั้งจิตไว้ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ พร้อมสติที่ระลึกรู้ในอารมณ์นั้น อย่าเข้าใจว่า ข้อความนี้แปลว่าความตั้งจิตไว้ชอบ ท่านก็จะต้องมีหน้าที่ไปตั้งจิตไว้อย่างนั้นอย่างนี้ให้ชอบ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นกิจของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับสัมมาสติ ซึ่งเป็นมรรคในมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น เป็นการตั้งจิตไว้ชอบในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    วิสาขอุบาสกถามว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะหรือเป็นอสังขตะ

    ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวว่า

    ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ

    สังขตะ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหมายถึงเจตสิก ๘ ดวงที่เกิดขึ้นกระทำกิจการงานแล้วก็ดับไป เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป จึงเป็น สังขตธรรม

    สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิดไม่ดับ มีอย่างเดียว คือ นิพพาน ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิดและไม่ดับ เพราะฉะนั้น นิพพานเท่านั้นที่เป็นอสังขตธรรม ส่วนธรรมอื่นมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสังขตธรรม

    ข้อความต่อไป

    วิสาขอุบาสกถามว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓

    โดยมากท่านผู้ฟังได้ยินแต่ขันธ์ ๕ แต่ว่าขันธ์ ๓ หมายความถึงกองศีล กองสมาธิ กองปัญญา คือ ท่านถามว่า ศีลทั่วๆ ไป สมาธิทั่วๆ ไป ปัญญาทั่วๆ ไป เป็นมรรคมีองค์ ๘ ใช่หรือไม่ หรือว่าในมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง เป็นทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่เข้าใจข้อความตอนนี้ การปฏิบัติของท่านจะผิดและคลาดเคลื่อนไป เพราะท่านอาจจะคิดว่า ท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว นั่นไม่ถูก

    เรื่องของศีลเป็นเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ คือ การเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบถูกต้อง หรือไม่คิดนึก ตรึกตรองตามปกติ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า หรือว่าปัญญาที่รู้ว่า ทำอย่างไรจิตจะสงบ ทำอย่างไรจึงจะรักษาศีลได้ไม่ล่วงศีล อย่างนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่ามรรคมีองค์ ๘ ประกอบพร้อมทั้งมรรคองค์ที่เป็นศีล มรรคองค์ที่เป็นสมาธิ มรรคองค์ที่เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกระทำการปฏิบัติอื่นให้เกิดสมาธิ และก็เข้าใจว่า นั่นเป็นการประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะเป็นหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าขณะใดที่มรรคมีองค์ ๘ เจริญ เกิดขึ้น ขณะนั้นประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

    ซึ่งธรรมทินนาภิกษุณีได้กล่าวตอบว่า

    ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์

    เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น ได้ยิน และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะว่าอธิจิตตสิกขา คือ สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ในขณะนั้นไม่ได้ขาดสมาธิ ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เอกัคคตาก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เป็นสัมมาสมาธิ ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติสมาธิอื่น เพราะว่าในมรรคมีองค์ ๘ ประกอบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

    ซึ่งถ้าท่านเข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก ก็จะทำให้ไม่คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดในการปฏิบัติ

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คัทรภสูตร ข้อ ๕๒๒ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาติดตามไปเบื้องหลังฝูงโค มันร้องว่า แม้เราก็เป็นโค แต่สี เสียง และรอยเท้าของมันหาเหมือนของโคไม่ มันเป็นแต่เดินตามหลังฝูงโคร้องว่า แม้เราก็เป็นโคๆ ดังนี้เท่านั้น แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุๆ แต่ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของเขาหาเหมือนของภิกษุทั้งหลายไม่ เขาเป็นแต่ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุๆ ดังนี้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ

    ข้อปฏิบัติถูกนี้สำคัญที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวตามๆ กันไปว่า ปฏิบัติธรรมๆ หรือว่าทำวิปัสสนา แต่ข้อปฏิบัตินั้นเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่เหมือนลาที่ติดตามไปเบื้องหลังฝูงโคแล้วร้องว่า แม้เราก็เป็นโค แต่ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของเขาหาเหมือนของภิกษุทั้งหลายไม่ เขาเป็นแต่ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุๆ ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ท่านที่มีความพอใจอย่างแรงกล้าในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ คือในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้น ท่านเหล่านั้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางใจที่กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ ความรู้สึกต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่มีความพอใจอย่างแรงกล้าในการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะมีศรัทธาอย่างแรงกล้า มีความพอใจอย่างแรงกล้า ก็จะต้องปฏิบัติอย่างนี้ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่จะคิดว่า ยากเกินไป หรือว่าจะต้องไปประพฤติปฏิบัติอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งในอริยสัจธรรม

    สำหรับจุดประสงค์ของการรักษาศีล ไม่ควรเป็นเพียงเพื่อวิรัติทุจริตทางกาย หรือว่าทางวาจาเท่านั้น แต่ว่าควรจะเพื่อการขัดเกลากิเลส ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วย

    ถ้าท่านไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ย่อมจะไม่เห็นกิเลสเลยว่า กิเลสมีมากสักแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะรู้สภาพของจิตที่ประกอบด้วยกิเลสว่า ในวันหนึ่งๆ มีมากเหลือเกิน ตามปกติที่นั่งอยู่ในขณะนี้ มีกิเลสแทรกแซงบ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นกุศลจิตอยู่เสมอ ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติจริงๆ ยากที่จะทราบได้

    ขอเปรียบเทียบกับทางร่างกาย ตามปกติย่อมจะไม่รู้สึกว่า ในวันหนึ่งๆ นี้ ร่างกายมีความสกปรกอยู่เรื่อยๆ มีฝุ่นละออง มีการแปดเปื้อนละอองธุลีต่างๆ ที่เป็นความสกปรก เวลาที่ล้างมือถูสบู่ก็จะเห็นว่า น้ำล้างมือนี้ดำ ไม่สะอาด สกปรก แต่เวลาที่ยังไม่ล้าง อย่างในขณะนี้ มีใครบ้างที่คิดหรือที่ทราบว่า มือของท่านสกปรก ถ้าไม่ล้างก็มองไม่เห็นใช่ไหม แต่เมื่อไปล้างจึงเห็นว่า แม้แต่มือซึ่งไม่เห็นความสกปรก เวลาที่ล้างน้ำถูสบู่แล้ว ความสกปรกนั้นก็ออกมาปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น จิตใจก็เหมือนกัน ในวันหนึ่งๆ ไม่ปรากฏความไม่สะอาด ความแปดเปื้อนมลทินด้วยกิเลส เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกรู้อย่างละเอียดจริงๆ ว่า ในขณะนั้นจิตใจเป็นอกุศลอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมจะเห็นสภาพของอกุศลจิตได้ โดยที่ว่า ถ้าขณะใดสติและปัญญาไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะนั้นเป็นความไม่รู้ซึ่งเป็นอกุศล เป็นธุลี เป็นความสกปรกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติธรรมดานอกจากจะมีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ยังมีความยินดีพอใจอยู่เรื่อยๆ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และถ้าศึกษาสภาพของจิตที่เกิดสืบต่อกันเป็นวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็จะทราบได้ว่า ขณะใดที่จิตไม่เป็นกุศล ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ถึงแม้ว่าปกติธรรมดาอย่างนี้ดูเสมือนว่าไม่ได้เป็นความชอบ ความยินดี ความพอใจในอะไรเป็นพิเศษ ทางตาก็เห็น ก็ยังไม่รู้สึกตัวว่า มีความชอบ มีความยินดี มีความพอใจในวัตถุหนึ่งวัตถุใดเป็นพิเศษ แต่ขณะนั้น มีความพอใจที่จะเห็น เป็นของธรรมดา

    คำว่า จักขุ มาจากคำว่า จักขะ ซึ่งหมายความถึงความชอบใจ ชอบใจที่จะเห็น ชอบใจที่จะดู แม้ในสิ่งหรือแม้ในบุคคลที่ไม่เป็นที่พอใจ เคยรู้สึกว่าอยากจะดูคนที่เราไม่ค่อยชอบบ้างไหม คือ อยากจะทราบว่าวันนี้เขาเป็นอย่างไร เขามีกิริยาอาการอย่างไร คิดอย่างไร ทำอย่างไร ถึงแม้ว่าไม่ใช่อารมณ์ที่น่าพอใจ แต่ก็ยังมีความอยากรู้ อยากดู อยากเห็น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความพอใจในการที่จะเห็น ในการที่จะได้ยิน ในการที่จะได้กลิ่น ในการที่จะลิ้มรส ในการที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้แต่ในการที่จะคิดนึกตรึกไป ก็จะมีความพอใจในการที่จะคิดไปในเรื่องอย่างนั้นๆ แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมตามปกติเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรม ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ย่อมเป็นการยากที่จะแยก รู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีลยิ่งกว่านั้นของบรรพชิต ก็ควรที่จะได้ทราบว่า นอกจากจะเป็นการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็ยังเป็นการขัดเกลากิเลสให้ถึงซึ่งการดับเป็นสมุจเฉท ด้วยการอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เขตตสูตร ข้อ ๕๒๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำแต่แรกของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ก่อนอื่นจะต้องไถคราดนาให้ดีก่อน แล้วก็เพาะพืชลงไปตามกาล ครั้นแล้วก็ไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาออกเสียบ้างตามสมัย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำแต่แรกของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล ฉันใด กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทาน อธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ

    ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ โดยเฉพาะ แต่กล่าวทั่วไปถึงการที่จะสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งอธิศีลสิกขาก็ดี อธิจิตตสิกขาก็ดี อธิปัญญาสิกขาก็ดี หมายถึงการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าในมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีทั้งองค์ที่เป็นศีล องค์ที่เป็นสมาธิ และองค์ที่เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้น กิจแรกของภิกษุไม่ใช่ทำอย่างอื่น นอกจากอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๕๖๑ – ๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564