แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
ครั้งที่ ๕๗๕
การเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริงอย่างยิ่ง จึงจะสามารถละกิเลสได้ เพราะว่าเห็นกิเลสทั้งหลายที่สะสมมาตามความเป็นจริง ถ้าไม่เห็นกิเลสที่สะสมมาตามความเป็นจริงว่ามีมากเหลือเกิน จะละคลายกิเลสเหล่านั้นได้อย่างไร ที่จะละคลายกิเลสได้ ต้องเห็นกิเลสเหล่านั้นตามความเป็นจริงด้วยว่า ท่านยังแสวงหา ยังต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเบญจกามคุณอยู่หรือเปล่า หรือว่าท่านเป็นผู้ที่ละกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้แล้ว และก็เพ่งฌานอยู่ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เมื่อไม่เป็นอย่างนั้น จะตามอย่างท่านพระอนุรุทธะได้อย่างไร เพราะว่าสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริงของแต่ละท่าน
ข้อความต่อไป
พระอนุรุทธะได้ก้าวล่วงกามคุณเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจแล้ว เพ่งฌานอยู่ พระอนุรุทธะเป็นนักปราชญ์ หาอาสวะมิได้ ผู้เดียวไม่มีเพื่อนสอง กลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลอยู่
นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง ข้อความที่ว่า พระอนุรุทธะเป็นนักปราชญ์ หา อาสวะมิได้ ผู้เดียวไม่มีเพื่อนสอง ไม่ได้หมายความว่า ท่านพระอนุรุทธะไม่มีสหายเลย แต่ว่าท่านไม่มีตัณหา ความผูกพัน ความเยื่อใยยึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุว่าท่านหาอาสวะมิได้แล้ว หมายความว่า เป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่มีเพื่อนเลย
เพราะฉะนั้น คำว่า ไม่มีเพื่อนสอง ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเพื่อน แต่หมายความว่า ถึงแม้ว่าจะพบปะบุคคล หรือว่ามีสหายหลายท่าน แต่ไม่มีตัณหา เครื่องผูก เครื่องเยื่อใยผูกพันในบุคคลเหล่านั้น เพราะว่าได้ดับกิเลสตัณหาหมดแล้ว
การศึกษาธรรม ต้องเข้าใจด้วย เพราะว่าบางท่านอาจจะพยายามอบรมเจริญวิปัสสนาด้วยการไม่พบใคร พยายามที่จะตัดเยื่อใยความผูกพัน โดยการไม่พบปะบุคคลทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าเป็นชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง สติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ผูกพันในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และปัญญาที่เพิ่มขึ้นจะค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้นจริงๆ จนถึงดับตัณหา ความผูกพันในบุคคลทั้งหลาย ในนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น นี่เป็นชีวิตของท่านพระอนุรุทธะซึ่งท่านละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวแสวงหา ผ้าบังสุกุลอยู่
ข้อความต่อไป
พระอนุรุทธะเป็นนักปราชญ์มีปรีชา หาอาสวะมิได้ เที่ยวเลือกหาเอาแต่ ผ้าบังสุกุล ครั้นได้มาแล้ว ก็มาซักย้อมเอาเองแล้วนุ่งห่ม บาปธรรมอันเศร้าหมองเหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้มักมาก ไม่สันโดษ ระคนด้วยหมู่ มีจิตฟุ้งซ่าน อนึ่ง ภิกษุใดเป็นผู้มีสติ มักน้อย สันโดษ ไม่มีความขัดเคือง ยินดีในวิเวก ชอบสงัด ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ กุศลธรรมซึ่งเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้เหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น ทั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ก็ตรัสสรรเสริญภิกษุนั้นว่า เป็นผู้หมดอาสวะ
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญแน่นอนสำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยเช่นนั้นจริงๆ คือ เป็นผู้ที่ยินดีในวิเวกจริงๆ คฤหัสถ์ทั้งหลายเป็นผู้ที่ยินดีในวิเวกจริงๆ แล้วหรือยัง
พยัญชนะตรงตัว คือ ยินดีในวิเวกจริงๆ เพราะฉะนั้น ท่านพิจารณาตัวท่านเองได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ยินดีในวิเวกจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าอยู่ได้ไม่นานในที่วิเวกนั้น ก็ต้องกลับมามีชีวิตปกติประจำวันของผู้ที่ยังเต็มไปด้วยเยื่อใย ความผูกพันในนามธรรมและรูปธรรม ทั้งที่ยึดถือว่าเป็นตัวท่าน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับท่าน
สำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ท่านเป็นผู้ที่ยินดีในวิเวกจริงๆ เพราะเหตุว่าท่านหมดความผูกพัน หมดความเยื่อใยเกี่ยวข้องในบุคคลอื่น แต่ว่าชีวิตของท่านก็ยังบำเพ็ญประโยชน์ แม้ว่าท่านจะอยู่กับภิกษุทั้งหลาย ในท่ามกลางบริษัทใหญ่ ในหมู่อุบาสกอุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา ซึ่งไม่ใช่วิเวก แต่ท่านยินดีในวิเวก จริงๆ เพราะเหตุว่าท่านหมดกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตของคฤหัสถ์ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ต่างกับชีวิตของผู้ที่ยินดีจริงๆ ในวิเวก
ข้อความต่อไป
พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของเราแล้ว เสด็จมาหาเราด้วยมโนมยิทธิทางกาย เมื่อใดความดำริได้มีแก่เรา เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบความดำริของเราแล้ว ได้เสด็จเข้ามาหาเราด้วยพระฤทธิ์ แล้วทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่เรา พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า ได้ทรงแสดงธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้าแก่เรา เรารู้ทั่วถึงพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว เป็นผู้ยินดีในพระศาสนา ปฏิบัติตามคำพร่ำสอนอยู่ เราบรรลุวิชชา ๓ โดยลำดับ ได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว
ท่านผู้ฟัง ควรพิจารณาให้เข้าใจข้อความที่ท่านพระอนุรุทธะท่านกล่าวว่า เรารู้ทั่วถึงพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว ท่านผู้ฟัง ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ให้เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นเครื่องกั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ทั่วถึงพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว เช่น ท่านพระอนุรุทธะ เป็นผู้ที่ยินดีในพระศาสนา ปฏิบัติตามคำพร่ำสอนอยู่ คำที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนอยู่ คือ ระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม นี่คือพระธรรมที่ทรงพร่ำสอน
ผู้ที่รู้ทั่วถึงพระธรรมแล้ว เป็นผู้ที่ยินดีในพระศาสนา ปฏิบัติตามคำพร่ำสอน คือ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดปัญญาประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และสำหรับท่านพระอนุรุทธะ ท่านอบรมบารมีมามาก เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปฏิบัติตามคำพร่ำสอนอยู่ ท่านกล่าวว่า
เราบรรลุวิชชา ๓ โดยลำดับ ได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว เราถือการไม่นอนเป็นวัตรมาเป็นเวลา ๕๕ ปี เรากำจัดความง่วงเหงาหาวนอนมาแล้วเป็นเวลา ๒๕ ปี ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายถามเราว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือยัง เราได้ตอบว่า ลมหายใจออกและหายใจเข้ามิได้มีแก่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่นคงที่ แต่พระองค์ยังไม่ปรินิพพานก่อน พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ผู้ไม่มีตัณหาเป็นเครื่องทำใจให้หวั่นไหว ทรงทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ คือ เสด็จออกจากจตุตถฌานแล้ว จึงจะเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคทรงอดกลั้นเวทนาด้วยพระหฤทัยอันเบิกบาน ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้เป็นดวงประทีปของชาวโลกกับทั้งเทวโลก เสด็จดับขันธปรินิพพาน ความพ้นพิเศษแห่งพระหฤทัยได้มีขึ้นแล้ว บัดนี้ธรรมเหล่านี้อันมีสัมผัสเป็นที่ ๕ ของพระมหามุนีได้สิ้นสุดลงแล้ว ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป
ดูกร เทวดา บัดนี้ การอยู่อีกต่อไปด้วยอำนาจการอุบัติในเทพนิกาย ย่อมไม่มี ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้ การเกิดในภพใหม่มิได้มี ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษยโลก เทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลกอันมีประเภทตั้งพัน ได้ในเวลาครู่เดียว ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณ คือ อิทธิฤทธิ์ และในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ตามความประสงค์
เมื่อก่อน เรามีนามว่าอันนภาระ เป็นคนยากจน เที่ยวหารับจ้างเลี้ยงชีพ ได้ถวายอาหารแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นสมณะเรืองยศ เพราะบุญกรรมที่ได้ทำมาแล้ว เราจึงได้มาเกิดในศากยตระกูล พระประยูรญาติขนานนามให้เราว่า อนุรุทธะ เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยการฟ้อนรำและขับร้อง มีเครื่องดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า ต่อมาเราได้เห็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ท่านแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต เราระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้
เราได้เคยเป็นท้าวสักกรินทร์เทวราชอยู่ในดาวดึงส์เทพพิภพมาแล้ว เราได้ปราบปรามไพรีพ่ายแพ้แล้ว ขึ้นผ่านสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จอมมนุษย์นิกรในชมพูทวีป มีสมุทรสาครทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ๗ ครั้ง ได้ปกครองปวงประชานิกรโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาหรือศาสตราใดๆ
เราระลึกชาติหนหลังในคราวที่อยู่ในมนุษยโลกได้ดังนี้ คือ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ เป็นพระอินทร์ ๗ ชาติ รวมการท่องเที่ยวอยู่เป็น ๑๔ ชาติด้วยกัน ในเมื่อสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นธรรมอันเอกปรากฏขึ้น ที่เราได้เพราะความสงบระงับกิเลส ทิพยจักษุของเราจึงบริสุทธิ์ เราดำรงอยู่ในฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ รู้จุติและอุบัติ การมา การไป ความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นของสัตว์ทั้งหลาย เรามีความคุ้นเคยกับพระบรมศาสดามาแล้วเป็นอย่างดี เราได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภายใต้พุ่มกอไม้ไผ่ ใกล้บ้านเวฬุวคามแห่งแคว้นวัชชี
นี่คือชีวิตของท่านพระอนุรุทธเถระ ใครอยากจะตามอย่าง จะประพฤติปฏิบัติอย่างท่าน แม้แต่พระอริยเจ้าที่ท่านได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสาวกแล้ว เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา คุณธรรมก็ไม่ได้เป็นอย่างท่านพระอนุรุทธะ เพราะเหตุว่าสะสมมาต่างกัน
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังในสมัยนี้ ในปัจจุบันนี้ ท่านกำลังอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ท่านสะสมมาแต่ละท่านตามความเป็นจริง เพื่อบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยสาวก ก็จะต้องรู้จักตัวของท่านเองตามความเป็นจริงว่า ท่านสามารถที่จะเอาอย่างท่านพระอนุรุทธะได้หรือไม่ เพราะว่าปัญญาจะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่สะสมมา จึงจะละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ถ. ความหมายในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น แต่ละคนก็เข้าใจกันไปคนละแง่ คนละทาง ไม่เหมือนกัน คือ ข้อความที่ว่า กายที่เป็นภายในและที่เป็นภายนอก เวทนา จิต และธรรมทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก ตามสติปัฏฐานจริงๆ นั้น มีความหมายว่าอย่างไร ที่เป็นภายใน เป็นภายนอก
สุ. ตามปกติ เวลาที่สติยังไม่เกิด ก็รู้ว่า กายที่ตัวเป็นภายใน และกายของบุคคลอื่นเป็นภายนอก เพราะฉะนั้น เวลาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของกายก็ตามที่เคยรู้ ไม่ว่าจะเป็นกายที่ปรากฏที่ตัวซึ่งเป็นภายใน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ถ้ามีการกระทบสัมผัสกายอื่นภายนอกซึ่งเคยรู้ว่าเป็นกายอื่น ไม่ใช่กายของเราที่เป็นภายใน สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพที่แท้จริงที่ปรากฏทางกายได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เคยมีความเข้าใจว่า เป็นของเราเป็นภายใน เป็นของคนอื่นเป็นภายนอก แต่เวลาที่สติระลึกรู้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง
ถ. และเวทนาที่เป็นภายนอกนั้น ได้แก่อะไร
สุ. เวทนาของคนอื่น เวลาที่เขาโกรธ เวลาที่เขาไม่พอใจ เวลาที่เขาเศร้าโศก เวลาที่เขาดีใจ ไม่เคยยึดถือเวทนาเหล่านั้นว่าเป็นเวทนาของเราเลย ในขณะนั้นก็ให้ระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่กำลังรู้อย่างนั้น
ถ. หมายถึงว่า เป็นเวทนาของผู้อื่น จิตและธรรมก็เหมือนกัน
สุ. เหมือนกัน โดยนัยเดียวกัน
ถ. กายในกาย หรือพิจารณากายที่กายนั้น อาจจะมีบางแห่งที่ยึดถือว่า เป็นไปในทำนองที่ว่าเป็นอัตตาก็ได้ เคยได้ยินเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน เกี่ยวกับกายที่เป็นภายในหรือภายนอก ที่เป็นภายในนั้นท่านถือว่า เป็นกายทิพย์ ที่เป็นกายทิพย์นี้อาจจะไม่เป็นพุทธศาสนา อาจจะเป็นศาสนาอื่นได้ไหม เป็นความเห็นของนักปราชญ์ก่อนๆ ได้ไหม ที่ว่ากายทิพย์นั้น เขาให้ไปที่สำนักบางแห่ง ถ้าหากไม่เชื่อก็ให้ไปดูเถอะ ไปปฏิบัติดู แล้วท่านจะเห็นกายที่เป็นภายในและเป็นภายนอกได้ ก็เป็นเรื่องความเห็นของผู้ที่นับถือพุทธศาสนา แต่จะเป็นความจริงหรือเปล่า
คำถามอีกสักข้อหนึ่ง คือ การที่เราทำเป็นปกติ หรือว่าทำเป็นปัจจุบันธรรมนั้น ถ้าหากว่าการเดินในอิริยาบถ คือ การเดินจงกรม การเดินจงกรมนั้น เราจะถือว่าเป็นปกติเป็นประจำวันก็ถูกแล้ว แต่อยากจะทราบว่า ที่พระพุทธองค์ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงเดินจงกรม และพระสาวกอื่นๆ ก็เดินจงกรมด้วย อยากจะรู้ว่าการเดินจงกรมของพระสาวก ของพระพุทธองค์ และของผู้ปฏิบัติตามนั้นเป็นอย่างไร
สุ. การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ไปสร้างขึ้นมารู้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่เคยยึดถือว่า เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ที่เป็นเรา เป็นภายใน หรือเป็นเขา เป็นภายนอก เป็นขณะนี้ตามปกติ ไม่ใช่ขณะอื่น ไม่ว่าจะเป็นกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี หมายความถึงสภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เดี๋ยวนี้
กายเดี๋ยวนี้ทิพย์หรือเปล่า เวทนาเดี๋ยวนี้ทิพย์หรือเปล่า จิตเดี๋ยวนี้ทิพย์หรือเปล่า ธรรมเดี๋ยวนี้ทิพย์หรือเปล่า ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร สติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ในลักษณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย จึงได้เกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้ ไม่ต้องไปสร้างทิพย์ขึ้นมารู้ นั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา นั่นไม่ใช่การที่จะให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600