แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577


    ครั้งที่ ๕๗๗


    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องแยกกัน ระหว่างการอบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศบรรพชิตกับในเพศคฤหัสถ์ และในความปรารถนาที่จะเป็นเพียงพระอริยสาวกขั้นธรรมดา หรือว่าปรารถนาที่จะเป็นพระอริยสาวกขั้นพระมหาสาวก เช่น ท่านพระ อนุรุทธะ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับเหตุ ต้องให้ตรงกัน

    ถ. แน่นอน ผลต้องมาจากเหตุ เป็นเรื่องธรรมดามาก ซึ่งข้อปฏิบัติ พระพุทธองค์ก็สั่งสอนให้ปฏิบัติตาม บางคนเมื่อได้ยินคำสอนของพระผู้มีพระภาคให้ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธองค์ปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติตามอย่างนั้น

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมทั่วไปกับทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต และพระธรรมที่ทรงแสดงให้ปฏิบัติเสมอกัน คือ การเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าสำหรับบรรพชิตนั้น พระภิกษุที่ท่านมีอุปนิสัยในการอบรมเจริญคุณธรรมขั้นที่สูงกว่าคุณธรรมเพียงพระสาวกธรรมดา พระองค์ก็ทรงแสดงตามอุปนิสัยของสาวกเหล่านั้น ไม่ใช่พระองค์นำเอาข้อปฏิบัติของบรรพชิตมาแสดงให้ฆราวาสปฏิบัติตาม

    ถ. เข้าใจลำบาก คือ บางครั้งพระผู้มีพระภาคก็สอนธรรมทั่วๆ ไปว่า ให้ภิกษุในธรรมวินัยนี้ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เจริญสติเฉพาะหน้า ลมหายใจออกก็รู้ เข้าก็รู้ แบบนี้พระพุทธองค์ก็ทรงสอนให้พุทธบริษัททั่วไปปฏิบัติ

    สุ. ต้องศึกษาโดยละเอียดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการนั่งคู้บัลลังก์กับใคร กับพระเจ้ามหานามะ ซึ่งเป็นพระอริยสาวกคฤหัสถ์ พระเจ้ามหานามะกราบทูลถามว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปสู่ที่อื่นแล้ว ท่านควรจะปฏิบัติอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระเจ้ามหานามะเจริญอนุสติ ไม่ใช่ว่านั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอะไรเลย

    ถ. ผมไม่ได้สังเกต แต่ว่ามีหลายแห่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    สุ. เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ขอให้ละเอียดและแยกว่า พระธรรมที่ทรงแสดงกับบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ กับอุบาสกอุบาสิกาต่างๆ ทรงแสดงอย่างนี้หรือเปล่า มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่า ผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบอุปนิสัยที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต

    ถ. เท่าที่ผมรู้ มีหลายคนที่จะปฏิบัติตามพระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสให้ปฏิบัติตามคำสอน พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ นั่งคู้บัลลังก์ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะอยากรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง คนที่ปฏิบัติแบบนี้มีทั่วๆ ไป จดหมายฉบับเมื่อครู่นี้ เขาต้องการอยากได้ เห็นว่าใครปฏิบัติได้ดี ก็อยากจะปฏิบัติตาม

    สุ. อยากจะทราบว่า ได้ดีของคนนั้นคืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าได้ดี

    ถ. ก็เช่นท่านมหาสาวก ท่านได้หูทิพย์ ตาทิพย์

    สุ. ท่านมหาสาวกท่านเกร็งหรือเปล่า

    ถ. คิดว่า คงจะไม่เกร็ง

    สุ. เมื่อท่านไม่เกร็ง เรามาเกร็งทำไม

    ถ. ขอประทานโทษเถอะครับ ผมเป็นเจ้าของจดหมายฉบับนี้ ที่เขียนมาไม่มีอะไรมาก คือ เพื่อให้รู้ปริยัติบ้างเล็กๆ น้อยๆ และเพื่อจะปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้เท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายที่จะทำอะไรให้ลงตัวไปหมด นี่เป็นคาถาของหลวงพ่อโตที่ท่านให้ไว้ที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วๆ ไปในเมืองไทย ผมขอใช้เพียงว่าให้เป็นอุปนิสัย ขอเพียงเท่านี้ ถ้าไปหมายมั่นมากจะกลายเป็นเรื่องไม่ดีไป ผมขอว่าอย่างนี้

    สุ. คงจะพิจารณาได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ควรจะเป็นการอบรมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ต้องอบรมจนกว่าปัญญาที่รู้ชัดจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่รู้อื่น

    ขอย้อนกลับมาถึงปัญหาเมื่อครู่นี้ เพื่อความแจ่มแจ้ง ควรที่จะได้พิจารณาว่า ถ้าการปฏิบัติใดทำให้เกิดเกร็งซึ่งเป็นการผิดปกติขึ้น คนอื่นอยากจะปฏิบัติไหม อยากจะเกร็งตามๆ กันไป หรือพอรู้ว่าเกร็งอย่างนี้ ก็ไม่เอาแล้ว ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ปกติ ไม่ใช่ธรรมดา ไม่ปฏิบัติดีกว่า เพราะว่าไม่ใช่การรู้สภาพธรรมตามความเป็นความจริง เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาวินิจฉัยธรรมข้อปฏิบัติว่า ท่านจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร

    สำหรับการปฏิบัติของท่านที่เขียนมาว่า ขณะนั่งก็ดี นอนก็ดี กำหนดว่า นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึงก้นถูกพื้นแล้วมีอาการเกร็ง ประดุจยืนยันว่า กำลังถูกอยู่ อาการนั้นเรียกอะไร เรียกว่าสติเกิดหรือเปล่า

    นั่งหนอ เป็นความคิดนึกใช่หรือไม่ ใช่ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถูกหนอ เป็นความคิดนึก คิดว่า ถูก คิดว่า หนอ ในขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ในขณะที่คิด ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ตามปกติ ตามความเป็นจริง แม้ในขณะนี้ สติปัฏฐาน คือ ระลึกได้ รู้ว่าสภาพคิดนึกก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง แต่เป็นลักษณะของจริง เป็นสภาพธรรมที่คิด รู้ในเรื่องที่กำลังคิด และวันหนึ่งๆ คิดกันมากเหลือเกิน แต่สติไม่ค่อยจะระลึกรู้ว่า ขณะที่คิดนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่งซึ่งกำลังรู้เรื่อง รู้คำที่คิด

    บางท่านคิดว่า ความคิดกั้นปัญญา ถ้าท่านคิดอย่างนี้ ทำไมการเห็นไม่กั้นปัญญาบ้าง การเห็นก็เป็นของจริงที่ปรากฏ การเห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่รู้สีที่ปรากฏ ฉันใด สภาพที่คิดนึกก็เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่คิด รู้เรื่องที่กำลังคิดในขณะนั้น ฉันนั้น

    ถ้าความคิดจะกั้นไม่ให้ปัญญาเกิดขึ้น การเห็นเดี๋ยวนี้ไม่กั้นหรือ ซึ่งการเห็นก็เห็นตลอดเวลาเหมือนกันในขณะนี้ สืบต่อกันจนกระทั่งไม่ปรากฏว่าเห็นดับไป และในขณะที่เห็น บางทีก็คิดเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ความคิดไม่ใช่กั้น สติสามารถระลึกรู้ลักษณะที่คิด รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้เรื่อง รู้คำ รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้นั้นๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย

    ตราบใดที่สติยังไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า สภาพที่คิดไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งรู้เรื่องต่างๆ รู้คำต่างๆ ทางใจ ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่สังเกต ไม่รู้อย่างนี้ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    เช่นเดียวกับทางตา ในขณะที่เห็นและสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะที่เห็น ดับกิเลสไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะที่คิด ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาว่า ขณะที่กำลังกำหนดว่า นั่งหนอ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่คิดถึงคำว่า นั่ง คิดถึงคำว่า หนอ สภาพที่คิดในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งรู้เรื่อง รู้คำที่คิดในขณะนั้น

    การเจริญปัญญาต้องละเอียด และต้องมีลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างกัน ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน

    เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เกิดปรากฏสืบต่อกันในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดและสลับซับซ้อนมากมายเหลือเกิน ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นไปในวันหนึ่งๆ จะไม่ทราบเลยว่า แต่ละท่านสะสมพอกพูนกิเลสไว้มากมายแค่ไหน ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ก็จะทราบได้ว่า อกุศลมากหรือว่ากุศลมาก ในวันหนึ่งๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นกิเลสมากมายสักแค่ไหน ทุกๆ ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ในขณะนี้ ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของจิต พอจะบอกได้ไหมว่า จิตขณะนี้เป็นอย่างไร ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนั้นก็เป็นสภาพของจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ บางคนอาจจะคิดนึกล่องลอยไปในวันหนึ่งๆ มากมายหลายเรื่องทีเดียว บางท่านกล่าวว่า เวลาที่ฟังรายการธรรมทางวิทยุ พอฟังได้หน่อยหนึ่ง ก็ล่องลอยไปแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ระลึกรู้ว่าขณะนั้นเผลอไป ไม่ได้ฟังเสียแล้ว ก็ฟังใหม่ ประเดี๋ยวก็ล่องลอยไปอีก แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ล่องลอยไปไม่ทราบว่าวันละเท่าไร และไปทางไหนบ้าง ก็ไม่รู้ตัวเลยว่า ขณะนั้นล่องลอยไปไกลจากทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส หรือทางใจที่กำลังรู้เรื่องรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดและสลับซับซ้อนมาก แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะไปบังคับจิตชนิดนั้นๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการที่อกุศลธรรมทั้งหลายจะละคลายบรรเทาเบาบางลงไปได้ ก็ด้วยการรู้สภาพธรรมที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะพยายามบังคับจิต แต่ว่าสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย และไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาให้อยู่ในความต้องการได้เลย ไม่มีใครที่จะไปยับยั้ง หรือว่าบังคับบัญชาสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยได้

    มีภิกษุชาวต่างประเทศรูปหนึ่ง ท่านได้เล่าถึงมิตรสหายชาวต่างประเทศของท่านให้ฟังว่า ท่านพยายามที่จะให้เขาเห็นว่า ชีวิตเป็นทุกข์ แต่ชีวิตของท่านเหล่านั้นก็เป็นชีวิตที่สะดวกสบาย สุขสำราญ เพลิดเพลินมาก เพราะฉะนั้น มิตรสหายชาวต่างประเทศของท่านจึงไม่ยอมที่จะเห็นว่า ชีวิตเป็นทุกข์ แต่ว่าความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน และเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมซึ่งเกิดดับนั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นการไปทรมานตัวให้เป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าใครที่มีชีวิตสุขสบายแล้ว จะต้องไปเปลี่ยนชีวิตให้ลำบากจึงจะเห็นทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น

    ชีวิตของใครมีปัจจัยที่จะเป็นอย่างไร แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ได้กระทำมาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต จะมีชีวิตอย่างไรก็ตาม สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ความรู้สึกเป็นสุข ความสนุก ความรื่นเริง ความเพลิดเพลินต่างๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาที่รู้ความจริงนั้น ไม่เป็นทุกข์เลย

    อกุศลมีกิจที่กระทำให้เป็นทุกข์ แต่ว่าปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมไม่เป็นทุกข์ ขณะใดที่รู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่ตัวตน เช่น ในขณะที่กำลังเห็น เป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นตามความเป็นจริง จะเป็นทุกข์ได้อย่างไร จะมีความทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นความรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาโดยสภาพธรรมที่แท้จริงแล้วไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้ว ไม่เป็นทุกข์แน่นอน

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นทุกข์ขึ้น ไม่ใช่เพราะรู้ความจริง แต่เป็นเพราะกิเลสที่ติดข้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ถ้ามีความเสียดาย เพราะเหตุว่าเคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรามานานแล้ว ถ้าปัญญาไม่คมกล้า เกิดความเสียดายขึ้น ความเสียดายในขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่เป็นทุกข์เลย ไม่ว่าจะประจักษ์ธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง จะมีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ไม่ได้ จะไม่เป็นทุกข์ ตรงกันข้าม จะมีความโล่งใจที่พ้นจากการที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

    แทนที่จะเป็นทุกข์ จะเป็นความโล่งใจ สบายใจ หมดทุกข์ หมดห่วง หมดกังวล เพราะได้ประจักษ์ธรรมตามความเป็นจริงว่า หาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลในสภาพธรรมที่ปรากฏไม่ได้

    ไม่ว่าใครจะมีชีวิตอย่างไร ไม่เป็นอุปสรรคต่อการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย เพราะว่าไม่ใช่เพียงสติระลึกนิดเดียวก็จะประจักษ์สภาพเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่สติจะต้องระลึกรู้จนทั่วจริงๆ ไม่ว่าความรู้สึกเป็นสุข ก็จะต้องระลึกรู้ว่า ความรู้สึกนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงความรู้สึกชนิดหนึ่ง ความรู้สึกนี้ก็มีหลายอย่าง บางครั้งรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง บางครั้งรู้สึกเป็นทุกข์ โทมนัส เสียใจ ก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง บางครั้งรู้สึกดีใจ เป็นสุข ก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นแต่เพียงลักษณะของความรู้สึกต่างๆ กันซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนทั่วจนกว่าปัญญาจะรู้ชัดว่า สภาพ นั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นไปตามธรรมชาติตามปกติ โดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน และแม้แต่คนเดียวกัน แต่ต่างวาระ ต่างปัจจัย สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏก็ต่างกันไป สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง โดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าใครมีชีวิตที่เป็นสุข สบาย สนุกสนาน รื่นเริง ก็จะต้องไปเปลี่ยนให้เป็นชีวิตที่ลำบากทุกข์ยากเพื่อที่จะได้เห็นทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    แต่ก็น่าคิด สำหรับบางท่าน ท่านเปลี่ยนชีวิต ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน แม้พระผู้มีพระภาคเอง หรือพวกโอรสธิดาของเจ้าศากยะทั้งหลาย ก็ได้ละชีวิตที่สุขสำราญออกบรรพชาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก ท่านผู้ฟังคงจะสงสัยว่า ทำไมท่านจึงกระทำอย่างนั้น ก็เพราะว่าท่านมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ก็กระทำอย่างนั้น ตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564