แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578


    ครั้งที่ ๕๗๘


    พระวินัยปิฎก จุลวรรค เรื่องมหานามศากยะและอนุรุทธศากยะ ข้อ ๓๓๗ มีข้อความว่า

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของพวกเจ้ามัลละ ครั้งนั้น พวกศากยกุมารที่มีชื่อเสียงออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว ฯ

    สมัยนั้น มหานามศากยะและอนุรุทธศากยะ ทั้ง ๒ เป็นพี่น้องกัน อนุรุทธศากยะเป็นสุขุมาลชาติ เธอมีปราสาท ๓ หลัง คือ สำหรับอยู่ในฤดูหนาวหลัง ๑ สำหรับอยู่ในฤดูร้อนหลัง ๑ สำหรับอยู่ในฤดูฝนหลัง ๑ เธออันเหล่าสตรีไม่มีบุรุษเจือปนบำเรออยู่ด้วยดนตรีตลอด ๔ เดือนในปราสาทสำหรับฤดูฝน ไม่ลงมาภายใต้ปราสาทเลย

    ครั้งนั้น มหานามศากยะคิดว่า บัดนี้พวกศากยกุมารที่มีชื่อเสียงต่างออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว แต่สกุลของเราไม่มีใครออกบวชเลย ถ้ากระไร เราหรืออนุรุทธะพึงบวช จึงเข้าไปหาอนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ บัดนี้พวกศากยะกุมารที่มีชื่อเสียงต่างออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว แต่สกุลของเราไม่มีใครออกบวชเลย ถ้าเช่นนั้นน้องจงบวช หรือพี่จักบวช

    ท่านอนุรุทธะกล่าวว่า

    ฉันเป็นสุขุมาลชาติ ไม่สามารถจะออกบวชได้ พี่จงบวชเถิด

    ท่านมหานามะกล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ น้องจงมา พี่จะพร่ำสอนเรื่องการครองเรือนแก่น้องผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไขน้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอนหญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนต้องทำอย่างนี้ๆ แหละต่อไปอีก

    ท่านอนุรุทธะกล่าวว่า

    การงานไม่หมดสิ้น ที่สุดของการงานไม่ปรากฏ เมื่อไรการงานจักหมดสิ้น เมื่อไรที่สุดของการงานจักปรากฏ เมื่อไรเราจักขวนขวายน้อย เพียบพร้อมบำเรอด้วยเบญจกามคุณ

    คือ เมื่อไรงานทั้งหลายนี้จะเสร็จเสียที จะได้ไม่ต้องลำบาก จะได้สบายๆ ด้วยเบญจกามคุณ

    ท่านมหานามะกล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ การงานไม่หมดสิ้นแน่ ที่สุดของการงานก็ไม่ปรากฏ เมื่อการงานยังไม่สิ้น มารดา บิดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ได้ตายไปแล้ว

    บรรพบุรุษทั้งหลาย ท่านก็ได้สิ้นชีวิตไปเรื่อยๆ แต่การงานในโลกนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีวันที่จะหมด ทุกคนยังคงต้องประกอบการงานต่อไป และบรรพบุรุษทั้งหลายท่านก็จากไปอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอนุรุทธะกล่าวว่า

    ถ้าเช่นนั้น พี่จงเข้าใจเรื่องการอยู่ครองเรือนเองเถิด ฉันจักออกบวชละ ฯ

    ครั้งนั้น อนุรุทธศากยะเข้าไปหามารดา แล้วกล่าวว่า

    ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด

    เมื่ออนุรุทธศากยะกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาได้กล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ เจ้าทั้งสองเป็นลูกที่รักที่พึงใจ ไม่เป็นที่เกลียดชังของแม่ แม้ด้วยการตายของเจ้าทั้งหลาย แม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก ไฉนแม่จะยอมอนุญาตให้เจ้าทั้งสองผู้ยังมีชีวิตออกบวชเล่า

    แม้ครั้งที่สอง ...

    แม้ครั้งที่สาม อนุรุทธศากยะได้กล่าวกะมารดาว่า

    ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด ฯ

    ก่อนที่จะได้ปรารภกันถึงการออกบวชตามพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นชีวิตของอนุรุทธศากยะและมหานามศากยะ ซึ่งระหว่างนั้นก็ไม่คิดที่จะบวช แต่เมื่อเกิดความคิดที่จะบวช ในระหว่าง ๒ ท่าน ท่านผู้ใดมีปัจจัยที่จะบวช ท่านมหานามะท่านก็ไม่เป็นไร คือบวชก็ได้ แต่ท่านพระอนุรุทธะทีแรกท่านไม่คิดที่จะบวชเลย ซึ่งถ้าท่านไม่มีเหตุปัจจัยจริงๆ ท่านจะบวชได้ไหม ท่านก็บวชไม่ได้ใช่ไหม แม้ว่าครั้งแรกไม่เคยคิดที่จะบวช แต่ว่าในอดีตอนันตชาติของท่าน ท่านได้สะสมเหตุปัจจัยมาถึงการที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในจักษุทิพย์ เพราะฉะนั้น ท่านมีปัจจัยพร้อมแล้ว แม้ในปัจจุบันชาตินี้ ก็ยังมีปัจจัยให้บวชด้วย

    แต่สำหรับท่านพระมหานามศากยะ ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล เล่ม ๒ อรรถกถาพระวินัย มหานามสิกขาบทที่ ๗ ได้กล่าวถึงท่านว่า ท่านเป็นโอรสแห่งพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาค แก่กว่าพระผู้มีพระภาคเพียงเดือนเดียว และในขั้นสุดท้าย ท่านก็ได้เป็นพระอริยสาวกดำรงอยู่ในผลทั้งสอง คือ บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระสกทาคามี ท่านสะสมมาที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีในเพศคฤหัสถ์ แต่ท่านพระอนุรุทธะสะสมปัจจัยมาที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ผู้เป็นเอตทัคคะในจักษุทิพย์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีชีวิตตามความเป็นจริงอย่างไร สะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดกับท่านตามความเป็นจริงอย่างนั้น จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในเพศคฤหัสถ์ หรือในเพศบรรพชิต ต่างกันไปตามอัธยาศัย

    ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มี ที่เป็นบรรพชิตก็มี แม้แต่พวกศากยะทั้งหลายหรือว่าโอรสของพวกศากยะทั้งหลาย ที่ออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้วก็มี ผู้ที่ไม่ได้ออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้วก็มี ตามอัธยาศัย ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า ตัวท่านขณะนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นความจริงอย่างนั้น มีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ และต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างที่เหตุปัจจัยได้สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นๆ และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ชีวิตของบรรพชิตเป็นชีวิตที่ยาก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดไม่มีอุปนิสัยสะสมมาที่จะเป็นบรรพชิตจริงๆ การเป็นบรรพชิตย่อมยากมาก เปรียบเทียบได้ระหว่างชีวิตตามความเป็นจริงที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต ซึ่งถ้าผู้ใดได้สะสมอุปนิสัยปัจจัยมาที่จะเจริญสติปัฏฐาน ขัดเกลากิเลส ดับกิเลสในเพศของบรรพชิต ท่านก็จะรู้ได้ว่า เพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาทำให้ท่านบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่จะเจริญสติปัฏฐานในเพศของพระภิกษุจริงๆ

    ขุททกนิกาย เถรคาถา ปาราสริยเถรคาถา ข้อ ๓๙๔ มีข้อความที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า ที่ท่านไม่ใช่บรรพชิต หรือว่าไม่มีปัจจัยที่สะสมมาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็เพราะกิเลสของท่านที่สะสมมามีมากที่จะยังให้เป็นเพศคฤหัสถ์อยู่ จึงจะต้องเจริญสติปัฏฐานในเพศของคฤหัสถ์

    ข้อความใน ปาราสริยเถรคาถา มีว่า

    พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะ มีจิตแน่วแน่เป็นอารมณ์อันเดียว ผู้สงบระงับ ชอบสงัด เจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่ ฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า ในเมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นนาถะของโลกยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว เดี๋ยวนี้ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง คือ ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑล ก็เพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวอันเกิดแต่ลม และปกปิดความละอายเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม ก็เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ติด ไม่พัวพันเลย

    นี่เป็นอัธยาศัยจริงๆ ซึ่งแม้ท่านผู้ฟังจะเป็นคฤหัสถ์ ท่านก็จะได้สารประโยชน์จากการพิจารณาตัวของท่านเองว่า ต่างกันกับผู้ที่เป็นพระภิกษุในครั้งพุทธกาลอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน (แม้จะถูกความเจ็บไข้ครอบงำ) ไม่ขวนขวายหาเภสัชปัจจัยอันเป็นบริการแก่ชีวิต เหมือนการขวนขวายในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

    ท่านผู้ฟังน้อมนำมาพิจารณาได้ สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นว่าประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรเกินไปกว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าภิกษุในครั้งนั้น ท่านจะถูกความเจ็บไข้ครอบงำ แต่ท่านก็หาได้ขวนขวายหาปัจจัยเภสัชอันเป็นบริการแก่ชีวิต เหมือนการขวนขวายในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายไม่

    อะไรที่จะสำคัญกว่ากัน การแสวงหา การขวนขวายหาอย่างอื่น หรือว่าการขวนขวายที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อศึกษา สังเกต รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพื่อให้ถึงความสิ้นอาสวะได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทรมานตัว แต่พูดถึงศรัทธาในการที่จะขวนขวายแสวงหา

    การขวนขวาย แสวงหาปัจจัยต่างๆ กับการขวนขวายในความสิ้นไปแห่ง อาสวะทั้งหลาย อะไรจะมีค่ามากกว่ากัน และแม้แต่ในขณะกำลังขวนขวายแสวงหาปัจจัยเภสัชต่างๆ เพื่อที่จะรักษาความเจ็บไข้ ในขณะนั้นก็ขวนขวายสังเกตระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ไม่ควรจะเสียโอกาส หรือเสียเวลาที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สติระลึกได้ ปัญญารู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    ข้อความต่อไป

    ท่านเหล่านั้นขวนขวายพอกพูนวิเวก มุ่งแต่เรื่องวิเวก อยู่ในป่า โคนไม้ ซอกเขา และถ้ำเท่านั้น

    ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ปากไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์ของตนและผู้อื่น เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง การบริโภคปัจจัย การซ่องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันเหลวไหลออกจากปากภาชนะไม่ขาดสาย ฉะนั้น

    บัดนี้ ท่านเหล่านั้นสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว มักเจริญฌานเป็นอันมาก ประกอบแล้วด้วยฌานใหญ่ เป็นพระเถระผู้คงที่ พากันนิพพานไปเสียหมดแล้ว บัดนี้ ท่านเช่นนั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที

    ท่านผู้ฟังพิจารณาเห็นว่า เป็นชีวิตประจำวันของท่านด้วยหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันของพระภิกษุ หรือว่าเป็นชีวิตประจำวันของท่านผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อขัดเกลากิเลส อย่าลืม จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อขัดเกลากิเลสด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นชีวิตประจำวัน แม้แต่ข้อความที่ว่า ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม ในชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ไม่ใช่จิตตานุปัสสนาสติ- ปัฏฐาน เมื่อไม่ได้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานจะทราบจิตไหมว่า อ่อนน้อม หรือไม่อ่อนน้อม มากหรือน้อย บ่อยหรือไม่บ่อยในวันหนึ่งๆ นี่เป็นเรื่องของจิต เป็นชีวิตจริงๆ

    การขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ขัดเกลาเวลาอื่น วันอื่น ที่นอกจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวันซึ่งมีการแสดงความอ่อนน้อม นอบน้อมต่อบุคคลอื่น และท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า ขณะใดที่มีการแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ก็เป็นตัวตนแน่นอนที่กำลังแสดงความอ่อนน้อม มากหรือน้อย แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เกิดปรากฏในขณะนั้น แต่ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะสภาพของความอ่อนน้อมในขณะนั้น ก็จะรู้ว่า แม้ความอ่อนน้อมที่มีอยู่ในใจ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้น เป็นแต่เพียงลักษณะของจิตซึ่งมีสภาพอ่อนน้อมในขณะนั้น

    เป็นชีวิตปกติประจำวันจริงๆ แต่ละท่านสะสมมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านพอจะทราบไหมว่า ใครอ่อนน้อมมาก หรือว่าอ่อนน้อมน้อย แต่ถึงแม้จะรู้ว่าใครอ่อนน้อมมาก อ่อนน้อมน้อย ก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตที่อ่อนน้อมของท่านเองในขณะนั้นว่า มากหรือน้อยเพราะเหตุใด นี่เป็นความละเอียดของจิต ซึ่งสลับซับซ้อนมาก

    ถ้ามีความยึดติดแน่นในตัวตน มีความสำคัญในตัวตน มีความสำคัญในเรา ความอ่อนน้อมจะมีได้ไหมในขณะที่เกิดสำคัญในตัวเองขึ้น แต่ถ้าขณะนั้นไม่ได้คิดถึงความสำคัญในตน แต่คิดถึงคุณของผู้อื่น ความดีของผู้อื่น จิตก็เกิดความอ่อนน้อมที่จะแสดงความอ่อนน้อมต่อบุคคลนั้นในขณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เป็นสภาพของจิตที่อ่อนน้อม

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ นี้ กิเลสจะปรากฏออกมาได้มากมายหลายทาง ทางกายก็ได้ที่จะไม่อ่อนน้อมหรืออ่อนน้อม ทางวาจาก็ได้ที่จะอ่อนน้อมหรือไม่อ่อนน้อม หรือแม้จะไม่ปรากฏทางกาย ทางวาจา ทางใจปรากฏแล้วว่าสำคัญในตนเองหรือเปล่า มีความหยาบกระด้างเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือว่ามีความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมในขณะนั้น ซึ่งเป็นกุศลจิต ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ บางครั้งท่านจะรู้สึกจริงๆ ว่า ท่านได้แสดงความอ่อนน้อมน้อยกว่าที่ควรจะอ่อนน้อม เคยรู้สึกอย่างนั้นบ้างไหม ใจก็อ่อนน้อมมาก แต่ว่าอาการที่แสดงออก ไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควร และรู้สึกด้วยว่า ในขณะนั้นไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควรจะอ่อนน้อม ซึ่งถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่า แม้จิตในขณะนั้นก็ไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควรจะอ่อนน้อมด้วย ก็เป็นเรื่องละเอียดทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานได้รู้จักตัวท่านละเอียดขึ้นตามความเป็นจริง และได้รู้จักลักษณะของจิตซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ละเอียดมากน้อยต่างกันตามเหตุตามปัจจัยแต่ละขณะด้วย ซึ่งอกุศลทั้งหลาย แม้แต่ความอ่อนน้อมน้อย หรือว่าขาดการขาดอ่อนน้อม จะละคลายเบาบางหมดไปได้ ก็ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น

    ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่สำคัญในตัวเอง และขาดการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม หรือถ้าสติไม่เกิดก็จะไม่เห็นว่า การอ่อนน้อมนั้นน้อยไป ควรจะอ่อนน้อมมากกว่านั้นอีก แต่เพราะเหตุว่ากิเลสที่มีมากเป็นปัจจัยทำให้ความอ่อนน้อมที่เกิดมีในขณะนั้น เป็นเพียงแค่นั้นเอง

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการขัดเกลากิเลส เรื่องของการระลึกรู้สภาพของจิตของท่าน ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ที่ท่านปาราสริยเถระกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ปากไม่ร้าย

    แม้แต่กายหรือวาจาก็ต้องเป็นไปตามจิต เมื่อจิตขัดเกลาขึ้น ใจอ่อนโยนขึ้น และเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติ ปากก็ไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์ของตนและผู้อื่น ไม่ดื้อรั้น ไม่สำคัญในตัวเอง หรือในความคิดของตัวเอง แต่พิจารณาตามเหตุตามผล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564