แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
ครั้งที่ ๕๘๕
สุ. เพราะฉะนั้น กายวาจาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด ไม่ว่าจะกำลังไหว้หรือไม่ไหว้ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศลหรือเป็นจิตที่เป็นอกุศล ก็ไม่ใช่ตัวตน
เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่ละเอียดขึ้น ขณะใดที่ไหว้หรืออ่อนน้อมและไม่เคยระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต สภาพของนามธรรม สภาพของรูปธรรมในขณะนั้น ท่านก็ทราบว่า ยังหลงลืมสติมากทีเดียว เพราะถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ แม้ในขณะที่ไหว้ แม้ในขณะที่แสดงความอ่อนน้อมทางกาย ทางวาจา หรือแม้ในขณะที่จิตอ่อนโยน เป็นกุศล ปราศจากความสำคัญตนที่เป็นมานะ ซึ่งถ้าสติเกิดบ่อยๆ ก็จะรู้ได้ว่า มานะยังมีอยู่มากหรือน้อยประการใด อย่าหลงลืมสติ แม้ในขณะที่แสดงความอ่อนน้อมทางกาย หรือทางวาจา หรือแม้ในขณะนั้นเป็นจิตที่อ่อนโยนทางใจ
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งความเห็นผิดมีมากเหลือเกิน โดยมากจะมีผู้ที่ไม่เข้าใจจิตใจของผู้ที่ได้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง และเข้าใจผิดในกาย วาจาของท่านเหล่านั้นได้
อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๘๓ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้เมืองมธุรา ครั้งนั้นแลพราหมณ์กัณฑรายนะเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน พระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า
ดูกร ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้าได้ฟังมาดังนี้ว่า ท่านสมณะกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกร ท่านกัจจานะ ข่าวที่ได้ฟังมานั้นจริงแท้ เพราะท่านกัจจานะหาอภิวาทลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่
ดูกร ท่านกัจจานะ การกระทำเช่นนี้นั้นเป็นการไม่สมควรแท้ ฯ
ท่านมหากัจจานะตอบว่า
ดูกร พราหมณ์ ภูมิคนแก่และภูมิเด็กที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ ทรงเห็น พระองค์นั้นตรัสไว้มีอยู่ ดูกร พราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีแต่กำเนิดก็ดี แต่เขายังบริโภคกาม อยู่ในท่ามกลางกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้
ดูกร พราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่อยู่ในท่ามกลางกาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกิน ไม่ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ทีเดียวแล
ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กัณฑรายนะได้ลุกจากที่นั่ง แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าของภิกษุที่หนุ่มด้วยเศียรเกล้า กล่าวว่า
พระผู้เป็นเจ้าแก่ ตั้งอยู่แล้วในภูมิคนแก่ เรายังเด็ก ตั้งอยู่ในภูมิเด็ก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านพระกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ถ. เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกัน คือ ทุกวันนี้ที่ลูกชายบวช พ่อแม่ก็ยังต้องกราบไหว้ ผมเข้าใจว่า ตั้งแต่วันที่บวช พ่อแม่กราบไหว้ เพราะท่านเห็นว่า เป็นพระแล้วต้องมีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ท่านพระมหากัจจานะบอกว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเห็นว่า ที่จะกราบไหว้พระเถระนั้น เพราะท่านละกาม แต่ผู้ที่บวชใหม่ๆ ก็ยังติดในกามคุณ ๕ ท่านยังไม่ได้ละ เพราะฉะนั้น ที่เรากราบพระเวลาเวลานี้ เพราะท่านละกาม หรือว่าเพราะว่ามีศีล ๒๒๗
สุ. ท่านมีศีล ๒๒๗ เพื่ออะไร
ถ. ก็แล้วแต่ จะเพื่ออริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้
สุ. จุดประสงค์ในการรักษาศีล ๒๒๗ ในเพศของบรรพชิต ก็เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิต จุดประสงค์มีอยู่ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิต ก็ควรที่จะกราบไหว้
ถ. ผมก็ยังไม่รู้ว่า ที่เรากราบนั้น ท่านมีศีล หรือท่านละกามแล้ว
สุ. จะรู้ได้อย่างไรว่าละกามแล้วหรือยัง แต่จุดประสงค์ของการอุปสมบทก็มีอยู่แจ้งชัดว่า เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ควรที่จะอนุโมทนากราบไหว้ได้ใช่ไหม
ขณะที่กราบไหว้นี้ เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งปราศจากมานะ ความสำคัญตน ความถือตน จึงแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อมได้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็คงจะมีการกราบการไหว้หลายครั้ง ซึ่งไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้น เป็นผู้หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องของการรู้ในสิ่งที่เคยไม่รู้และเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ขณะใดที่สติเกิด ศึกษา สังเกตที่จะรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้นตามความเป็นจริง เช่น สภาพของจิตซึ่งปราศจากความสำคัญตนในขณะที่กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ สติเกิดได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราเลย เป็นลักษณะของสภาพธรรมนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นเท่านั้นเอง
การเจริญสติปัฏฐานที่ได้กล่าวถึงเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อที่จะให้ไม่หลงลืมสติ แม้ในขณะที่จิตปราศจากมานะ แม้ในขณะที่แสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม และก็เคยหลงลืมสติ คือ ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ก็ควรที่จะได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ที่สติจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ขณะใดที่สติเกิด ก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
บางท่านอาจจะสังเกตตัวของท่านเองว่า ขณะที่กราบพระสติเกิดเป็นประจำ เพราะฉะนั้น แต่ละคนมีการสะสมมาที่ไม่เหมือนกัน ปัญญาระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นได้บ่อย เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นปกติทีเดียว แต่ละคนจะรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เมื่อแต่ละคนเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
และท่านก็จะสังเกต สำเหนียก เห็นความเป็นอนัตตาของสติ ซึ่งท่านสะสมมาที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามนั้น รูปนั้นทางไหน ทางกาย หรือทางวาจา ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เป็นสภาพธรรมทั้งนั้นที่กำลังปรากฏ นอกจากธรรมแล้วไม่มีอะไร เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นทุกขณะ
สำหรับผู้ที่สังเกตตัวเองแล้ว ก็ทราบว่าท่านมีมานะมาก สะสมมาในอดีต อนันตชาติ แต่ละภพ แต่ละชาติ และการสะสมต่อไปทุกขณะ ก็ยิ่งเพิ่มความวิจิตรของการสะสมที่จะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ ในขณะหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทราบว่าท่านมีมานะมาก ก็ไม่มีหนทางอื่นเลยที่จะดับมานะนั้น นอกจากสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของมานะที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่สะสมมา จึงเกิดสภาพของมานะในขณะนั้น อย่างนั้นตามความเป็นจริง และไม่ว่าจะเป็นกิเลสใดๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นริษยา ตระหนี่ หรืออกุศลธรรมอื่นๆ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สติสามารถระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง
สำหรับเรื่องของมานะซึ่งเป็นความสำคัญตน ถือตน ยกตนข่มผู้อื่น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า จะเป็นได้ไม่ว่าจะในทรัพย์สมบัติ ในรูปสมบัติ ในวิชาความรู้ ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในกำเนิด ในตระกูล ในลาภ ในยศ ในสุข ไม่ว่าจะมีอะไรก็ย่อมจะทำให้เกิดความสำคัญตนว่าเหนือผู้อื่น หรือมีการเทียบเคียงกับบุคคลอื่นเสมอกว่า เราอย่างนี้ เขาอย่างนั้น เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ว่า มานะจะลดลงไปได้เมื่อรู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สุขุมาลสูตร ข้อ ๔๗๘ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์โดยส่วนเดียว ได้ยินว่า พระชนกรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีไว้เพื่อเราภายในนิเวศน์ ให้ปลูกอุบลไว้สระหนึ่ง ปทุมไว้สระหนึ่ง ปุณฑริกไว้สระหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่เรา แต่เราไม่ได้ใช้ไม้จันทน์เมืองกาสีเท่านั้น ผ้าโพก เสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่มของเรา ล้วนเกิดในเมืองกาสี มีคนคอยกั้นเศวตฉัตรให้เราตลอดคืนตลอดวัน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน ธุลี หญ้า หรือน้ำค้าง อย่าเบียดเบียนพระองค์ท่านได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรามีปราสาท ๓ หลัง ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาวปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน เรานั้นแลถูกบำเรอด้วยดนตรีซึ่งไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน บนปราสาทอันเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มิได้ลงมาข้างล่างปราสาทเลย ในนิเวศน์แห่งพระชนกของเรา เขาให้ข้าวสาลีระคนด้วยมังสะแก่ทาสกรรมกรบุรุษ ทำนองเดียวกับที่ในนิเวศน์ของเขาอื่น เขาให้ข้าวป่นอันมีน้ำส้มเป็นที่สอง ฉะนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นซึ่งประกอบด้วยความสำเร็จเห็นปานดังนี้ เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ก็ยังคิดเห็นดังนี้ว่า
ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เห็นคนอื่นแก่ ก็ล่วงตนเองเสีย แล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
เป็นปกติประจำวันหรือเปล่า เห็นคนแก่นี่เป็นปกติไหม สติเคยเกิดระลึกรู้ไหม ในขณะที่เห็นคนแก่ว่า นามธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นท่านในขณะนั้น เป็นสภาพธรรมอย่างไร สำหรับท่านที่เป็นปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เห็นคนอื่นแก่ ก็ล่วงตนเองเสีย แล้วอึดอัด ระอา รังเกียจไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
บางคนไม่ชอบเลยเวลาที่เห็นคนแก่ ถึงกับรำคาญความแก่ของคนอื่นก็ได้ ทำไมช้า ทำไมไม่ทันใจ ทำไมไม่เรียบร้อย ทำไมเลอะเทอะ อาจจะคิดอย่างนี้ ลืมเสียแล้วว่า ทุกท่านเป็นผู้ที่มีความแก่เป็นธรรมดา ท่านเองก็ต้องเป็นอย่างนี้แน่นอนใน วันหนึ่ง แต่ก็อึดอัด รังเกียจ ระอาในความแก่ของคนอื่น โดยที่ไม่คำนึงถึงว่า เป็นของสาธารณะทั่วไปแก่คนทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ก็จะต้องแก่เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น อาจจะมีความรังเกียจ ความอึดอัด ความระอาในความแก่ของคนแก่ เมื่อสติไม่เกิด หลงลืมสติ ก็เป็นเราที่ไม่แก่ถ้าท่านยังไม่แก่ และรังเกียจในคนอื่นซึ่งเป็นเขาที่แก่ มีความเป็นเรา มีความเป็นเขา เพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
แต่จิตนี้จะอ่อนโยนได้ ถ้าสติเกิด เห็นความเป็นธรรมดาว่า ท่านเองก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ต่างกันเลย จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ก็จะเป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างนั้นทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้ามีการระลึกรู้ความจริงที่ว่า ทุกคนเหมือนกัน เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ก็จะทำให้จิตใจอ่อนโยนและเป็นกุศล ไม่มีความระอา ไม่มีความรังเกียจในขณะนั้นได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของการเป็นผู้มีสติ ท่านอาจะระลึกถึงความแก่ซึ่งเป็นธรรมดาสำหรับทุกคน และจิตก็อ่อนโยน สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่อ่อนโยนรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน หรือในขณะที่ท่านกำลังรังเกียจ อัดอัด ระอา สติเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง เป็นอกุศลธรรมซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะมีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นซึ่งสาธารณะทั่วไปกับทุกคนตามความเป็นจริง เพื่อที่จะละคลายอกุศล
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ได้เห็นคนแก่เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความเป็นหนุ่มเสียได้โดยประการทั้งปวง
นี่คือวิธีละความเมา ซึ่งเมาเสมอ เมาด้วยกิเลสนี่เมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นคนแก่แล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ผู้ที่มีสติ เช่น พระผู้มีพระภาคก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงระลึกได้ว่า ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรเลย และเมื่อสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความเป็นหนุ่มเสียได้โดยประการทั้งปวง และความเมานี้ไม่ได้หายไปหมดสิ้น ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ อาจจะระลึกได้นิดเดียว เดี๋ยวเดียว ประเดี๋ยวก็เมาต่ออีกแล้ว
ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเห็นกิเลสว่ามากเหลือเกิน มีมากจริงๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่วจริงๆ จะดับกิเลสได้อย่างไร และถ้ายิ่งเห็นกิเลสมากๆ อย่างนี้ ก็ลองคิดดูว่า วันไหนจะดับได้หมดสิ้น ไม่ว่าจะกำลังเห็นคนแก่ สติเกิดไหม ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไหม ปัญญาเจริญขึ้นที่จะรู้ชัดว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลไหม เพื่อที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เห็นคนอื่นเจ็บไข้ ก็ล่วงตนเองเสีย แล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ได้เห็นคนเจ็บไข้เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความไม่มีโรคเสียได้โดยประการทั้งปวง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๕๘๑ – ๕๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600