แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
ครั้งที่ ๕๙๐
เพราะฉะนั้น มีหลายท่านที่อาจจะยึดถือประโยชน์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่น บางท่านบอกว่า พอสติเกิดก็ทำอะไรได้ดีๆ ซึ่งอาจจะหมายความถึงทำอะไรไม่ผิดพลาด หรือว่าทำอะไรได้สวยงาม เหมาะสม
ไม่ทราบว่า ท่านหมายความว่าอะไรที่ท่านบอกว่า ทำอะไรได้ดี ดีคือสวยงาม หรือดีคือถูกต้อง หรือดีคือสมควร แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ประโยชน์ ไม่ใช่ความหมายของดีที่เป็นผลของสติปัฏฐาน
ดีที่เป็นผลของสติปัฏฐาน คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน นี้คือดีของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ดีอื่น
ส่วนการที่สภาพธรรมจะเกิดขึ้นเป็นอกุศลเพราะเหตุปัจจัย ก็เป็นเรื่องของธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพที่เป็นอกุศลธรรม และรู้ในสภาพที่เป็นอกุศลธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน นั่นจึงจะเป็นผลที่แท้จริงของการเจริญสติปัฏฐาน
ส่วนดีอื่น จะเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มิฉะนั้นแล้ว ท่านก็จะไปติดในความดี ในลักษณะดี ในสภาพธรรมดี ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยเข้าใจว่า นั่นเป็นผลของการเจริญสติปัฏฐาน และท่านก็ย่อมพอใจในความดีซึ่งเป็นกุศลธรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่า แม้ในขณะนั้น ลักษณะของกุศลก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะอบรมสั่งสอนบุตรหลาน และยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ โทสมูลจิตก็ต้องเกิด ซึ่งถ้าขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของโทสะที่ปรากฏ ก็จะรู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ต้องไปห่วงว่า ไม่อยากจะให้โทสะเกิด จะทำอย่างไรได้ในเมื่อโทสะยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สติระลึกรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว การเฆี่ยนตีบุตรหลานก็อาจจะลดน้อยลง เพราะว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วถือว่าการเฆี่ยนตีบุตรหลานนั้น ไม่ใช่วิธีที่ประเสริฐ วิธีที่ประเสริฐที่จะอบรมสั่งสอนนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงแล้ว ไม่มีใครเหนือกว่าพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคไม่เคยทรงเฆี่ยนตีใครเลย การเฆี่ยนตีบุตรหลานนั้น ผมคิดว่า ถ้าขณะนั้นสติเกิด เฆี่ยนไม่ลง
ผมสงสัยคำโบราณคำหนึ่ง ซึ่งคนทั่วๆ ไปเขาถือว่าเป็นคำสุภาษิต คือ รักวัวต้องผูก รักลูกต้องตี แต่ความเป็นจริงนั้น เป็นสุภาษิต หรือทุภาษิต
สุ. กำลังจะเป็นปัญหาว่า ควรจะตีเด็ก หรือไม่ตีเด็ก ในการอบรมสั่งสอน อันนี้แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่แต่ละบุคคลด้วย ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว จะต้องพิจารณาสภาพธรรมเฉพาะกาลๆ และที่ว่า ถ้าสติเกิดจะไม่ตีเลยนั้น พอสติเกิดก็หยุดเลย มือค้างเลยหรืออย่างไร
ท่านผู้ฟังกล่าวว่า อาจจะไม่ตี หรือตีค่อยๆ หรือว่าอาจจะตีเบาลง นี่เป็นเรื่องคาดคะเน แต่ขอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ ไม่มีใครเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในขณะนั้น คิดไว้ว่าจะไม่ตี ขอให้เกิดขึ้น และก็ดูเอาเองว่า จะตีหรือไม่ตี คิดว่าจะตีเบาๆ ก็ขอให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ก่อน ซึ่งก็ไม่มีใครรู้เลยว่า ขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น
ทุกขณะนี้ สภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น สุดวิสัยที่ใครจะรู้ได้ ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ทราบไหมว่า ขณะต่อไปจะได้ยินเสียงอะไร จะมีความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ดีใจ หรือเสียใจ จะมีความยินดีหรือมีความยินร้าย ไม่มีใครสามารถที่จะรู้เหตุการณ์แม้ชั่วขณะที่จะเกิดต่อจากขณะนี้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ที่ว่า ผู้ที่มีสติจะตีน้อยลง ก็คงจะเป็นเพราะว่าขณะนั้นไม่ได้ตีด้วยความโกรธ ความเบาที่เบาลง ก็อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้ตีเพราะความโกรธ เพราะขณะนั้นสติเกิด แต่ที่จะตีหรือไม่ตีต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่คาดคะเนไม่ได้
ถ. ผมไม่เชื่อว่า ตีลูกไม่มีโทสะ ก็อนุสัยกิเลส พระอนาคามีบุคคลจึงจะละได้ ตีลูกโดยไม่โกรธและสั่งสอนนั้น ไม่จริง สุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ไม่เข้าท่าเลย รักวัวให้ผูก ทำลายอิสรภาพเขาแล้ว รักลูกให้ตี ก็ตรงกันข้าม คล้ายกับว่า ฉันไม่เคืองแก แต่ขอเตะแกหน่อย วิธีอื่นมีมากมาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสโอวาทไว้ โอวาทแปลว่าคำสอน อนุสาสนี ท่านพร่ำสอนหลายๆ หน ท่านตรัสสอนด้วยวาจาศิลป์
สุ. ขอประทานโทษ ท่านรักลูกแน่นอนใช่ไหม
ถ. โมโหถึงได้ตี
สุ. ขอประทานโทษ ถ้าไม่รักลูกจะตีไหม
ถ. ไม่รักก็ตี บางทีซนมากๆ ก็ตี รักก็ตีน้อยหน่อย เกลียดก็ตีแรงหน่อย ปุถุชนจะพ้นโทสะไปได้อย่างไร อนุสัยกิเลสมี ต้องพระอนาคามีบุคคลจึงจะละได้
สุ. เวลาตี เพราะโกรธทุกที หรือรู้ว่าต้องตี
ถ. โกรธทุกที
สุ. ถูก แต่ในขณะที่จะตีมีเหตุผลไหม มีเหตุผล คือ ใคร่ที่จะอบรมสั่งสอน
ถ. วิธีการที่ไม่ต้องตี ก็มี
สุ. แต่ในขณะเดียวกัน ท่านผู้ฟังก็รักลูก และท่านผู้ฟังก็ตีลูก และก็มีเหตุผลในการตี ข้อสำคัญที่สุด คือ เป็นผู้ที่มีเหตุผลในการตี
ถ. ขอประทานโทษ ผมจะเล่านอกเรื่องสักหน่อย สมเด็จพระพุฒาจารย์วัดระฆัง มีลูกศิษย์ของท่านเอาก้อนอิฐไปขว้างหัวเด็กชาวบ้าน ลูกชาวบ้านก็มาฟ้องว่า ลูกศิษย์หลวงพ่อเอาอิฐมาขว้างหัวผม ท่านก็ว่า ก็เอ็งไปขว้างเขาก่อนนี่ อ้ายนั่นก็ยืนยันว่าไม่ได้ขว้างก่อน ท่านก็บอกว่า ชาติก่อนขว้าง
สุ. เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ขึ้นอยู่กับเจตนา แม้แต่ในการที่จะอบรมสั่งสอนบุตรธิดา แต่ละท่านก็จะต้องมีวิธีเฉพาะบุคคล และเฉพาะเหตุการณ์ด้วย แต่ที่จะวางกฎไปเลยว่า ไม่ตีถึงจะดี หรือต้องตีจึงจะดี นั่นก็เป็นเรื่องซึ่งยากแก่การที่จะใช้ ถ้าไม่พิจารณาในเหตุผลเฉพาะบุคคลและเฉพาะเหตุการณ์
เข้าใจว่า ทุกท่านมีความหวังดีต่อบุตรธิดาแน่นอน และทุกท่านก็ตีด้วย น้อยหรือมากนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางท่านอาจจะตีน้อย หรือว่าตอนเป็นเด็กท่านอาจจะเคยถูกตีน้อยมาก
ถ. ผมขอยืนยัน ถ้าตี ต้องประกอบด้วยโทสะ จะมากหรือน้อยอีกเรื่องหนึ่ง
สุ. จิตเกิดดับหรือเปล่า จิตเกิดดับ เพราะฉะนั้น สติเกิดได้ไหม ที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม คือ จิตที่ประกอบด้วยโทสะในขณะนั้น
ถ. ผมรับฟัง แต่จะตีเด็กต้องมีโทสะ
สุ. โทสะเกิด แต่กุศลจิตก็เกิดต่อ สลับกันได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ผมยังไม่เห็นด้วยเรื่องตีเด็ก พระพุทธเจ้าท่านก็ติพระสาวกเรื่อย แต่ท่านไม่เคยตีเลย
สุ. อย่าลืมว่า เฉพาะแต่ละบุคคล เฉพาะแต่ละเหตุการณ์
ถ. ปุถุชนนั้นหนีไม่พ้น ต้องพระอริยะจึงจะไม่ตีคน
สุ. พระอริยะขั้นไหน ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นด้วย
ถ. พระโสดาก็ไม่ได้ตีใคร
สุ. พระโสดาก็ยังตี ยังมีโทสะ พระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้นจึงไม่มีโทสมูลจิต อย่าด่วนวินิจฉัยอะไร เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก โดยเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล และแต่ละเหตุการณ์ด้วย
ถ. การตีลูก ตามหลักกรรมของพระผู้พุทธเจ้า มีกรรมไหม
สุ. กรรมอยู่ที่เจตนา
ถ. เจตนาก็มี ให้เขาเจ็บ ให้หลาบจำ
สุ. ถึงขั้นไหน
ถ. ก็ขั้นให้เจ็บ
สุ. เจ็บ ก็ยังมีขั้นอีก
ถ. ผมอยากจะทราบว่า จะมีกรรมไหม
สุ. เป็นอกุศลจิตแน่นอน และถ้าเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ก็เป็นอกุศลกรรม แต่ว่าการตีลูกนี้ จะถือว่าเบียดเบียนให้เดือดร้อน หรือว่าเป็นการอบรมสั่งสอน แต่อกุศลจิตนั้นเป็นแน่นอน
ถ. ไม่ว่าเราจะหวังดีหรือหวังร้ายก็ตาม แต่เมื่อเราทำให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นลูก หรือบุคคลอื่น หรือสัตว์อื่น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ทำให้เขามีความทุกข์แล้ว ก็เกิดมีกรรม ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี
สุ. อย่างนั้นก็ลำบาก ถ้าพุทธบริษัทจะไม่ตีลูกเพราะกลัวอกุศลกรรม และเด็กจะเป็นอย่างไร ต้องคิดให้ละเอียด อกุศลกรรม คือ เจตนาที่จะเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนอย่างเดียว ไม่มีคุณประโยชน์อะไรเลย แต่เวลาที่สาธุชนจะตีบุตรธิดาเป็นการอบรมสั่งสอน ก็คงจะไม่ได้ตีด้วยจิตประทุษร้ายเบียดเบียนให้เดือดร้อนอย่างเดียวด้วยความพยาบาท หรือด้วยความโกรธ ความเกลียดชัง แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผล เจตนาที่หวังดีก็เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกับอกุศลจิต ซึ่งเกิดเป็นโทสมูลจิตขึ้นในขณะนั้น จึงกระทำให้เกิดการตี ก็ต้องเปรียบเทียบว่า ผลดีจะมีมากกว่าผลเสียหรือเปล่า ถ้ามีผลดีมากกว่าผลเสีย ก็เป็นเรื่องซึ่งแต่ละท่านจะพิจารณา และกระทำตามความเหมาะควร ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปบังคับได้ แต่ถ้าเป็นอกุศลกรรมจริงๆ หมายความว่า กระทำไปด้วยความพยาบาท ด้วยจิตที่ประทุษร้าย ต้องการเบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ใช่ด้วยความหวังดี เพราะฉะนั้น อย่ากลัวจนกระทั่งไม่ตีบุตรธิดา
ถ. การที่บุคคลอื่นไปตี หรือไปทำอะไรนั้น จะทำให้เด็กดีขึ้นไหม
สุ. โดยมากที่ตี ก็ตีตอนเป็นเด็กใช่ไหม หรือจะต้องตามตีกันไปจนตาย การกระทำก็ต้องเหมาะสม วัยที่ควรจะตีก็ตี ถ้าพ้นวัยที่ควรจะตี การตีก็ไม่มีประโยชน์ ก็ควรใช้วิธีอื่นตามความเหมาะสม ตามเจตนา ตามความหวังดี ตามการที่จะต้องดำรงชีวิตเกื้อกูลกันไป บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล เพราะเหตุว่าความรักบุตรธิดาเป็นอกุศลก็ได้ ส่วนความเมตตา ความหวังดีเท่านั้นที่เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ต้องแยกกันให้ละเอียดมาก ถ้ารักเป็นโลภะ เป็นอกุศล แต่พอถึงโทสะที่เป็นอกุศล ทำไมจะกลัวจนกระทั่งทำให้ไม่สามารถที่จะอบรมสั่งสอนด้วยวิธีที่คิดว่าเหมาะควรตามวัย
ถ. การสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่ทรงสั่งสอนเณร หรือสั่งสอนพระ ผมอยากจะทราบว่า ท่านมีการตีไหม
สุ. โตแล้วจะตีทำไม
ถ. ผู้ที่เป็นเณร ที่ท่านอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี ในสมัยพุทธกาล ผมอยากจะทราบว่า มีการตีหรือไม่
สุ. ผู้ที่เป็นเณร แม้ว่าจะเป็นเด็ก แต่ก็มีสติปัญญาพอที่จะคิดว่า ชีวิตของตนนั้นควรจะดำเนินไปในทางที่ขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องอาศัยการลงโทษด้วยการตี สำหรับผู้ที่มีสติปัญญาพอที่จะรู้ว่าควรที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต
ถ. เรื่องนี้ผมมีความเห็นว่า ผู้ที่จะทำได้หรือทำไม่ได้นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่วิธีที่ดี เราก็ควรเลือกไว้ ถ้าเรารู้ว่าการตีนั้นเป็นอกุศล ก็ไม่ควรทำ ส่วนที่จะทำได้หรือไม่ได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราเห็นว่าการพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ตีสาวกที่ไหนเลย เพราะฉะนั้น ตัวอย่างที่ดี ก็ควรปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า
สุ. หมายความว่า พุทธบริษัททั้งหมดเป็นบรรพชิต
ถ. จะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ดี ในเมื่อเรารู้วิธีที่ดีที่สุด คือ การอบรมและสั่งสอน คือ เด็กที่จะประพฤติดีทำดีนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องมีการตีเท่านั้นที่จะทำให้เด็กประพฤติดีทำดี แต่วิธีที่จะให้เด็กประพฤติดีนั้น คือ การอบรมสั่งสอนตามแบบอย่างของพระผู้มีพระภาค
สุ. สำหรับความเห็นของท่านผู้ฟัง ก็คงจะถูกในส่วนตัวของท่านผู้ฟังซึ่งรู้จักบุตรธิดาของท่าน แต่ตามที่ทุกท่านก็ทราบว่า แต่ละบุคคลสะสมอัธยาศัยมาต่างกันมากมาย การสะสมความวิจิตรของจิตนี้ละเอียดมาก เกินกว่าที่จะใช้ทฤษฎีเดียวสำหรับทุกคน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่รู้จักบุคคลที่ท่านคิดว่าใช้วิธีอื่นดีกว่าการตี อาจจะถูกในความเห็นของท่าน เพราะท่านรู้จักบุคคลที่ท่านไม่จำเป็นจะต้องตี
บางคนอาจจะเหมาะควรและเป็นประโยชน์ ถ้าได้รับการอบรมสั่งสอนด้วยการตี ด้วยการอบรมสั่งสอน นั่นก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
เพราะฉะนั้น วิธีการที่จะเกื้อกูลแต่ละบุคคล เฉพาะแต่ละบุคคล และเฉพาะแต่ละเหตุการณ์ แม้แต่บุคคลเดียวกันนี้ แต่ละเหตุการณ์ก็ไม่เหมือนกัน ก็ไม่ใช่ว่าคนนี้จะต้องตีทุกที ดิฉันเองก็เคยคิดว่า ไม่ควรจะตีเลย แต่เมื่อได้รู้จักเด็ก รู้อัธยาศัยของแต่ละบุคคลมากขึ้น ซึ่งถ้ามีเจตนาจริงๆ ที่จะเกื้อกูลบุคคลใด ก็ควรจะเข้าใจบุคคลนั้น พร้อมทั้งวิธีที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นด้วยว่า วิธีใดเหมาะควรแก่การที่จะเกื้อกูลบุคคลใดอย่างใด เพราะฉะนั้น จะยึดถือวิธีเดียว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
สำหรับเรื่องของการแสดงความเคารพนี้ ก็มีมากมายพอที่ท่านจะได้รับฟังและพิจารณาศึกษา ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตของท่านว่า ยังมีกิเลสอกุศลในเรื่องของการแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อมหรือไม่
ข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกกัณฑวรรณนา โอวาทสิกขาบทที่ ๑ วรรคที่ ๗ เรื่องมารยาทในการแสดงธรรม ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพในธรรม ซึ่งท่านจะเปรียบเทียบ ระลึกรู้สภาพจิตของท่านได้ว่า มีมากหรือมีน้อยประการใด
ข้อความมีว่า
ในคำว่า ยานคตสฺส นี้ ถ้าแม้นว่า คนที่ถูกชน ๒ คนหามไปด้วยมือประสานกันก็ดี คนที่เขาวางไว้บนผ้าแล้วใช้บ่าแบกไปก็ดี คนผู้นั่งบนยานที่ไม่ได้เทียมมีคานหามเป็นต้นก็ดี ผู้นั่งบนยานที่เขารื้อออกวางไว้แม้มีแต่เพียงล้อก็ดี ย่อมถึงการนับว่า ผู้ไปในยานทั้งนั้น
แต่ถ้าคนแม้ทั้ง ๒ ฝ่าย นั่งไปบนยานเดียวกัน จะแสดงธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่งควรอยู่ แม้ใน ๒ คนผู้นั่งแยกกัน ฝ่ายผู้นั่งอยู่บนยานสูง จะแสดงธรรมแก่ฝ่ายผู้นั่งอยู่บนยานต่ำ ควร จะแสดงแก่ผู้นั่งแม้บนยานที่เสมอกัน ก็ควร ภิกษุผู้นั่งอยู่บนยานข้างหน้า จะแสดงธรรมแก่ผู้นั่งบนยานข้างหลัง ควร แต่ภิกษุผู้นั่งบนยานข้างหลัง แม้สูงกว่า จะแสดงธรรมแก่ผู้นั่งบนยานข้างหน้า (ซึ่งไม่เจ็บไข้) ไม่ควร
นี่เป็นสิ่งที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในธรรม ตามมารยาทที่ควรตามพระวินัย
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังเห็นพระภิกษุท่านไม่แสดงธรรม ก็ขอให้ระลึกดูสภาพเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นว่า เหมาะควรแก่การที่ท่านจะแสดงธรรมหรือไม่ ไม่ใช่เป็นความผิดของท่าน แต่อาจจะเป็นเพราะขณะนั้นไม่ใช่กาล หรือว่าไม่ใช่สถานที่ที่ควรแก่การที่จะแสดงธรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๕๘๑ – ๕๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600