แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594


    ครั้งที่ ๕๙๔


    . ภิกษุกับฆราวาส พูดถึงคุณธรรมเป็นใหญ่ แต่ภิกษุกับภิกษุณีทำไมถือภิกษุเป็นใหญ่ พระภิกษุณีท่านก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ได้ แต่พระภิกษุอาจไม่ได้บรรลุคุณธรรมอะไรเลย พระภิกษุณีก็ยังจะต้องไปไหว้ภิกษุนั้น ทำไมบางครั้งพระผู้มีพระภาคก็ถือธรรมเป็นใหญ่ บางทีก็ถือเพศเป็นใหญ่

    สุ. จะทราบได้อย่างไรว่า เมื่อไรภิกษุรูปนั้นท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยเจ้า เมื่อไม่ทราบ เพื่อที่จะไม่ให้มีการลักลั่น ประเดี๋ยวไหว้ก่อน ประเดี๋ยวไหว้หลัง เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพื่อความเป็นระเบียบ เพื่อความเป็นวินัยที่เหมาะที่ควร และโดยเฉพาะภิกษุเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท เพราะฉะนั้น ภิกษุณีก็ควรที่จะกราบไหว้พระภิกษุ

    . สมัยนี้ไม่ทราบ แต่ครั้งพุทธกาลทราบนี่

    สุ. ไม่ใช่ทุกคน ท่านบรรลุอรหันต์กันโดยรวดเร็ว จะทราบได้อย่างไร ไม่มีการประกาศว่า วันนี้บรรลุอรหันต์ไปแล้วกี่รูป วันนี้บรรลุเป็นพระอนาคามีกี่รูป วันนี้บรรลุเป็นพระสกทาคามีกี่รูป วันนี้บรรลุพระโสดาบันกี่รูป

    . ไม่ได้ประกาศกันทุกวันก็จริง แต่ผู้ใดที่บรรลุคุณธรรมแล้ว เช่น พระมหาปชาบดีโคตมี พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ไว้แล้วว่า ท่านบรรลุเป็น พระโสดาบัน ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้จะบอกว่า ไม่ทราบได้อย่างไร

    สุ. การพยากรณ์ไม่ใช่เป็นเรื่องการโอ้อวด ไม่ใช่เป็นการประกาศ แต่เป็นการที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าผู้นั้นบรรลุ แต่ไม่ได้มีการประกาศเป็นประจำวัน เพื่อจะได้แสดงความเคารพว่า ใครจะเคารพใครเมื่อไร เดี๋ยววันนี้คนนี้ไหว้คนนั้น เดี๋ยววันนั้นคนนั้นต้องไหว้คนนี้ เป็นเรื่องลำบาก เป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องระเบียบวินัยที่เหมาะที่ควร

    เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นการโอ้อวดคุณธรรม จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการแสดงความเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ก็ทรงวางระเบียบวินัยไว้สำหรับบรรพชิต ที่จะให้ภิกษุณีกราบไหว้พระภิกษุ ซึ่งก็สบายมาก สะดวกมาก จบเรื่อง ไม่ต้องมากังวลว่า ใครจะไหว้ใคร วันไหน อย่างไร

    . จะโอ้อวด หรือไม่โอ้อวด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ตามความเป็นจริงนี่

    สุ. ตามความเป็นจริง การไหว้จะลำบากไหม ถ้าจะต้องมาสอบถามกันเช้าเย็น ค่ำ บ่าย บรรลุหรือยัง จะได้กราบไหว้ให้ถูกต้อง

    . สำหรับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เมื่อพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว ใครๆ ก็ทราบ

    สุ. รูปอื่นๆ ล่ะ ต้องทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะท่านเท่านั้น

    . สมัยพระพุทธเจ้ามีภิกษุณี สมัยนี้ผมคิดว่าคงหมดไปแล้ว เหลือแต่แม่ชีถือศีล ๑๐ หรือศีล ๘ อย่างนี้ อุบาสก อุบาสิกา จะไหว้ได้ไหม

    สุ. แม่ชีก็เป็นอุบาสิกา พุทธบริษัทนั่นเอง ในระหว่างพุทธบริษัทก็ควรที่จะแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน

    . สิทธิของการเป็นหญิงเป็นชายนั้น แยกกันไปเป็นธรรมดา และตามฐานะ ถ้าหากจะมองแง่กฎหมาย นั่นเป็นเรื่องของกฎหมายทางบ้านเมือง แต่ในทางธรรม ก็จะมีข้อแตกต่างกันอยู่ ที่จริงแล้ว พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปใกล้ชิดกับเพศพรหมจรรย์อย่างนั้น คือ มีข้อความอยู่ว่า อิตถีเป็นมลทินของพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงทรงวางครุธรรมไว้ ๘ ประการ และข้อที่กล่าวไปเมื่อครู่นี้ ก็มีอยู่ในครุธรรม ๘ ประการ คือ แม้ภิกษุณีจะมีอาวุโสสัก ๑๐๐ พรรษาก็ตาม ภิกษุณีจะต้องไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทแม้วันเดียว เป็นพุทธประสงค์อย่างนั้น ไม่ใช่จะให้มีสิทธิเสมอกันหมด นี่เป็นสิทธิทางธรรม

    สุ. สำหรับทางธรรม ผู้หญิงก็สามารถบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ได้ แต่สำหรับระเบียบวินัยที่เหมาะที่ควร ก็จะต้องมีการเคารพกันในระหว่างพุทธบริษัทด้วย ในระหว่างบรรพชิต ภิกษุณีต้องแสดงความเคารพต่อภิกษุ ในระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส ผู้ชายกราบไหว้พระภิกษุณีได้ ควร แต่ถ้าเป็นภิกษุณีแล้ว ที่จะให้ภิกษุมากราบไหว้นั้น ไม่สมควร แต่ว่าบุรุษธรรมดา อุบาสก กราบไหว้ภิกษุณี ควร

    สำหรับในเรื่องของครุธรรม ๘ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้เป็นการอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดี ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๑๗ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม ๘ ประการ ในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี ชี้แจงว่า

    พระนางโคตมี ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง คือ

    ๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานา ผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ฯ

    ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้

    ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ฯ

    ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    พระนางโคตมี ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละ จักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง

    พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนแล้ว พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้า ฉะนั้น ฯ

    . ข้อ ๘ ทำไมพระผู้มีพระภาคทรงห้ามภิกษุณีสอนภิกษุ แต่ให้ภิกษุสอนภิกษุณีโดยฝ่ายเดียว ทำไมไม่คำนึงถึงธรรม ภิกษุณีสามารถบรรลุคุณธรรมถึงขั้นอรหันต์ได้ ปัญญาก็ดี ความรู้ก็ดี ของภิกษุณีบางรูปก็มีอยู่ ทำไมพระผู้มีพระภาคทรง ห้าม

    สุ. เรื่องความควรไม่ควร ใครเป็นหัวหน้าในพุทธบริษัท ๔ เมื่อยอมรับว่า ภิกษุเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัทแล้ว จะให้บริษัทอื่นแสดงธรรม หรือสั่งสอนภิกษุ เป็นการไม่สมควร ซึ่งถ้าพุทธบริษัทอื่นใคร่ที่จะอนุเคราะห์แก่พระภิกษุแล้ว จะต้องแสดงธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่ใช่โดยลักษณะที่สอนภิกษุ เช่น ถ้าเห็นภิกษุใดมีความประพฤติที่ไม่ควร ไม่เหมาะสม และใคร่ที่จะเกื้อกูล ไม่ว่าจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือภิกษุณีก็ตาม สามารถที่จะกระทำได้ โดยการกล่าวถึงความประพฤติของพระภิกษุในครั้งพุทธกาลให้ภิกษุนั้นทราบ ไม่ใช่หมายความว่า เรียกภิกษุนั้นมาว่ากล่าวสั่งสอน นั่นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควร สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท แต่สามารถจะกระทำได้ด้วยความเคารพ ด้วยการกราบไหว้ และก็กล่าวถึงความประพฤติของพระภิกษุในครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    . ในสูตรนี้คงไม่ได้หมายความถึงการว่ากล่าวสั่งสอน คือ ท่านพูดถึงการ

    ไม่ให้แสดงธรรมแก่ภิกษุ พยัญชนะว่าอย่างนั้น

    สุ. ข้อ ๘ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ จะเรียกมาว่ากล่าวสั่งสอนไม่ได้เลย แต่ว่าอนุเคราะห์ได้ โดยการที่กล่าวถึงข้อปฏิบัติของพระภิกษุในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    . คำว่า สอนนี้ ผมเข้าใจว่า สอนธรรม หรือสอนข้อปฏิบัติธรรม คงไม่ใช่สั่งสอนในเรื่องกิริยามารยาท

    สุ. ทุกอย่าง ทั้งในเรื่องธรรมและในเรื่องวินัย

    . ถ้าจะสอนข้อประพฤติปฏิบัติแก่พระภิกษุ ก็ไม่ได้หรือ

    สุ. กล่าวถึงข้อประพฤติของพระภิกษุในครั้งกระโน้นที่ทรงคุณธรรม ก็พอแล้ว

    . จะแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุก็ไม่ได้หรือ

    สุ. แสดงแล้ว ภิกษุจะฟังก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ภิกษุณีเป็นผู้ว่ากล่าวสั่งสอน ถ้าแสดงธรรม แสดงได้ เพราะเป็นการกล่าวถึงข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุผู้ทรงคุณธรรม เพราะฉะนั้น จะพูดถึงพระภิกษุผู้ทรงคุณธรรมที่ไหน เมื่อไร กับใครก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นการสั่งสอน หรือว่ากล่าวสั่งสอน

    . พยัญชนะนี้คงไม่ได้หมายถึง การว่ากล่าวสั่งสอน กระผมเข้าใจว่า คงจะหมายถึง แสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว

    สุ. การแสดงธรรม แสดงได้ เพราะว่าไม่ใช่ธรรมของภิกษุณี แต่เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะแสดงธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ได้ ไม่ใช่ธรรมของผู้นั้นเลย ทุกคนทราบว่าเป็นธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ย่อมแสดงได้ ไม่ใช่ธรรมของภิกษุณี แต่การที่จะว่ากล่าวสั่งสอน ไม่ควร

    . ควรจะเข้าใจคำว่า สั่งสอน หรือ พร่ำสอน พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภิกษุณีทำตัวเป็นอาจารย์ไปสอนพระ แต่จะอนุเคราะห์ อย่างพระท่านทำผิด จะไปแนะนำว่า ท่านข้อนี้มันผิด นี่เป็นการอนุเคราะห์ ไม่ชื่อว่าสั่งสอน สั่งสอนหมายความว่า ตั้งตัวเป็นอาจารย์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงห้าม ไม่ให้ผู้หญิงเป็นอาจารย์สอนพระ

    สุ. ขอกล่าวถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตพระมหาปชาบดีโคตมีบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา ซึ่งเป็นไปโดยยาก และท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบถึงจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตโดยยาก ว่าเป็นเพราะเหตุไร

    พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ภิกขุนีขันธกะ เรื่องพระนางมหาปชาดีโคตมี ข้อ ๕๑๓ มีข้อความว่า

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า

    อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย

    แม้ครั้งที่สอง ...

    แม้ครั้งที่สาม พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า

    อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย

    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง พลางถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ เสด็จกลับไป ฯ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จหลีกจาริกทางพระนครเวสาลี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ข่าวว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น

    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ปลงพระเกสา ทรงพระภูษาย้อมฝาด พร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน เสด็จหลีกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงเมือง เวสาลี กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน โดยลำดับ เวลานั้นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ได้ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก

    ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก ครั้นแล้วได้ถามว่า

    ดูกร โคตมี เพราะเหตุไร พระนางจึงมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์ชุ่มด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก

    พระนางตอบว่า

    พระอานนท์เจ้าข้า เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ฯ

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลให้ทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า

    อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย

    แม้ครั้งที่สอง ...

    แม้ครั้งที่สาม ...

    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๙๑ – ๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564