แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
ครั้งที่ ๕๙๕
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ไฉนหนอ เราพึงทูลขอพระผู้มีพระภาคให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว โดยปริยายสักอย่างหนึ่ง จึงทูลถามว่า
พระพุทธเจ้าข้า สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ควรหรือไม่เพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า
ดูกร อานนท์ สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ควรเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศแล้ว ควรเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผลได้ พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคอง เลี้ยงดู ทรงถวาย ขีรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยขีรธารา ขอประทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการ ก็เป็นอุปสัมปทาของพระนาง ซึ่งพระนางมหาปชาบดีก็ยอมรับ และได้อุปสมบทโดยการยอมรับครุธรรม ๘ ประการนั้น
ข้อความต่อไป
พรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่นาน
ข้อ ๕๑๘
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น
ดูกร อานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์ กำจัดได้ง่าย อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงในนาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
ดูกร อานนท์ บุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ครุธรรม ๘ ประการของภิกษุณี จบ
ข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกวรรณนา วิเลขนสิกขาบทที่ ๒ เรื่องจุดประสงค์ในการสรรเสริญวินัยบัญญัติ มีว่า
พระผู้มีพระภาคทรงพรรณนาคุณแห่งการเรียนพระวินัย ทรงอาศัยวินัยปริยัติ ตรัสชมเชยสรรเสริญคุณแห่งพระอุบาลีเถระเพราะทรงเห็นว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ฟังการสรรเสริญของพระองค์แล้วจะพึงสำคัญวินัยว่า ตนควรเรียน ควรศึกษาในสำนักแห่งพระอุบาลี ศาสนานี้จักเป็นของตั้งอยู่ได้นาน จักเป็นไปตลอด ๕,๐๐๐ ปี ด้วยประการอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ทุกประการโดยละเอียด ทรงสรรเสริญพระวินัย และทรงพรรณนาคุณแห่งการเรียนพระวินัย ตรัสชมเชยสรรเสริญคุณแห่งท่าน พระอุบาลีเถระก็เพราะทรงเห็นว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ฟังการสรรเสริญของพระองค์แล้ว จะเห็นความสำคัญของพระวินัยว่า เป็นสิ่งที่ควรเรียน ควรศึกษาในสำนักของ พระอุบาลี ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ศาสนานี้จักเป็นของตั้งอยู่ได้นาน จักเป็นไปตลอด ๕,๐๐๐ ปี ด้วยประการอย่างนี้
ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องของพระวินัยบัญญัติด้วย ก็จะเห็นว่า เป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมปัญญานั้น ไม่ผิดจากชีวิตประจำวัน ต่างกันแต่ว่า เพศบรรพชิตควรจะประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติที่ทรงแสดงไว้
ข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล จะเห็นว่า มีข้อความว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ศาสนานี้จักเป็นของตั้งอยู่ได้นาน จะเป็นไปตลอด ๕,๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ก็จะมีข้อความทั้ง ๑,๐๐๐ ปี ๕๐๐ ปี และ ๕,๐๐๐ ปี สำหรับการตั้งอยู่ของพระธรรมวินัย ซึ่งข้อความใน จตุตถสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย จุลวรรควรรณนา ข้อ ๔๔๘ ภิกขุนิกขันธกวรรณนา มีว่า
เหตุที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทมาตุคามแก่ พระมหาปชาบดีโคตรมีในตอนแรก ก็ด้วยทรงมีพระประสงค์ให้สตรีทั้งหลายเห็นความสำคัญของการบรรพชาว่า เป็นสิ่งที่ได้โดยยาก
เมื่อได้โดยยากแล้ว ก็ย่อมจะพากเพียรที่จะรักษาบริบาลไว้โดยชอบ โดยความไม่ประมาท เพราะว่ากว่าจะได้มาก็แสนยาก เพราะฉะนั้น ได้มาแล้วก็จะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงๆ ในสิ่งที่ควรกระทำตามพระวินัยบัญญัติ
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็แล ด้วยคำว่า มหโต ตฬากสฺส ปฏิกจฺเจว ปาลึ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเนื้อความนี้ว่า เมื่อขอบแห่งสระใหญ่แม้ไม่ได้ก่อแล้ว น้ำน้อยหนึ่งพึงขังอยู่ได้ แต่เมื่อได้ก่อขอบไว้เสียก่อนแล้ว น้ำใดไม่พึงขังอยู่เพราะเหตุที่มิได้ก่อขอบไว้ น้ำแม้นั้นก็พึงขังอยู่ได้เมื่อได้ก่อขอบแล้ว ข้อนี้ฉันใด ครุธรรมเหล่านี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรีบบัญญัติเสียก่อน เพื่อกันความละเมิด ในเมื่อยังไม่เกิดเรื่อง เมื่อครุธรรมเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้มิได้ทรงบัญญัติ พระสัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปี เพราะเหตุที่มาตุคามบวช แต่เพราะเหตุที่ทรงบัญญัติครุธรรมเหล่านั้นไว้ก่อน พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้อีก ๕๐๐ ปี
ข้อ ๔๔๙
ข้อนี้ก็ฉันนั้นแล จึงรวมความว่า พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ตลอด ๑,๐๐๐ ปี ที่ตรัสทีแรกนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้
หมายความว่า ตอนแรกพระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ ๑,๐๐๐ ปี ถ้าสตรีไม่บวช แต่ถ้าสตรีบวช พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี ถ้าพระองค์ไม่ทรงบัญญัติครุธรรมเหล่านี้ไว้ก่อน
แต่เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า การที่จะให้พระสัทธรรมยืนยาวต่อไปได้อีกในการที่สตรีจะบวชนั้น จะต้องทรงบัญญัติครุธรรมเหล่านั้นไว้ก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อพระนางมหาปชาบดีทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคจึงให้พระนางทรงรับที่จะประพฤติครุธรรมทั้ง ๘ เพื่อที่พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้อีก ๕๐๐ ปี อุปมาเหมือนกับการก่อขอบน้ำที่สระใหญ่เพื่อที่จะเก็บน้ำไว้ เพราะถ้าไม่ก่อขอบไว้ ก็จะขังน้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าก่อขอบไว้แล้ว ก็จะขังน้ำอยู่ได้ทั้งหมด
จตุตถสมันตปาสาทิกาแปล มีข้อความต่อไปว่า
แต่คำว่าพันปี นั้น พระองค์ตรัสด้วยอำนาจพระขีณาสพผู้ถึงความแตกฉานในปฏิสัมภิทาเท่านั้น
คือ ในพันปีแรกที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่หนึ่งพันปี หมายถึงในหนึ่งพันปีจะยังมีพระขีณาสพผู้ถึงความแตกฉานในปฏิสัมภิทา แต่หลังจาก หนึ่งพันปีแล้ว จะไม่มีพระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา
แต่เมื่อจะตั้งอยู่ยิ่งกว่าพันปีนั้นบ้าง จักตั้งอยู่สิ้นพันปี ด้วยอำนาจแห่ง พระขีณาสพสุกขวิปัสสกะ
คือ หลังจากพันปีแรก ซึ่งมีพระอรหันต์ที่แตกฉานในปฏิสัมภิทาแล้ว ในพันปี ที่สองจะมีแต่พระอรหันต์ขีณาสพสุกขวิปัสสกะเท่านั้น หมายความว่า ไม่มากแล้ว คือ จะมีแต่พระอรหันต์ผู้ไม่ได้ฌาน ผู้ไม่ได้ประกอบด้วยฌาน
ข้อความต่อไปมีว่า
จักตั้งอยู่สิ้นพันปี ด้วยอำนาจแห่งพระอนาคามี
คือ พันปีที่สาม ผู้ที่บรรลุคุณธรรมก็จะถอยลง จนถึงการบรรลุคุณธรรมเพียงขั้นพระอนาคามี
ข้อความต่อไป
จักตั้งอยู่สิ้นพันปี ด้วยอำนาจแห่งพระสกทาคามี
ในพันปีที่สี่ คือ ๔,๐๐๐ ปี หลังจากพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว
ข้อความต่อไป
จักตั้งอยู่สิ้นพันปี ด้วยอำนาจพระโสดาบัน
สำหรับในพันปีที่ห้า คือ ๕,๐๐๐ ปี หลังจากพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน จะมีแต่พระโสดาบันบุคคล ไม่ถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล
ข้อความต่อไป
รวมความว่า พระปฏิเวธสัทธรรม จักตั้งอยู่ตลอดห้าพันปี ด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระปริยัติธรรม จักตั้งอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อปริยัติไม่มี ปฏิเวธจะมีไม่ได้เลย เมื่อปริยัติมี ปฏิเวธจะไม่มีก็ไม่ได้ แต่เมื่อปริยัติแม้เสื่อมสูญไปแล้ว เพศจะเป็นไปตลอดกาลนานฉะนี้แล
พระปฏิเวธสัทธรรม คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะตั้งอยู่ได้ตลอดห้าพันปี แต่ ฝ่ายพระปริยัติธรรม ก็จักตั้งอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุว่า เมื่อปริยัติไม่มี ปฏิเวธ คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมจะมีไม่ได้เลย หรือเมื่อปริยัติมี ปฏิเวธจะไม่มีก็ไม่ได้ แต่ปริยัติแม้เสื่อมสูญไปแล้ว เพศของบรรพชิตจะเป็นไปตลอดกาลนานฉะนี้แล
สมัยนี้ เป็นสมัยที่เลยสองพันปีแรกมาแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ยุคของแม้ พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ถ้าจะมีผู้ที่บรรลุคุณธรรมได้ อย่างสูงที่สุดก็เป็นขั้น พระอนาคามีบุคคล
สำหรับที่ได้ยินได้ฟังมาว่า มีพระอรหันต์มากมายในยุคนี้ในสมัยนี้ จะเป็นไปได้ไหม ในเมื่อไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรีบด่วนตัดสินใจ ปักใจศรัทธาว่าท่านผู้ใดเป็น พระอรหันต์ ก็ควรที่จะใคร่ครวญสอบสวนด้วยเหตุผลว่า ท่านมีอะไรเป็นเครื่องตัดสิน มีอะไรเป็นเครื่องที่จะทำให้ศรัทธาว่าท่านผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ โดยเฉพาะถ้าท่านไม่ได้เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมอะไรบ้าง และหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งข้อธรรมนั้นคืออย่างไร ซึ่งถ้าท่านไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดให้เข้าใจโดยถูกต้อง และท่านยังจักปักใจเชื่อว่า บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ ก็ย่อมเป็นการไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย
ถ. ในบทธรรมคุณที่ว่า อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ด้วยเวลา มีความหมายว่าอย่างไร
สุ. ความหมายของอกาลิโก คือ ทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดแล้วดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อทันที ไม่มีกาลคั่น ไม่มีกาลในระหว่าง หมายความว่า ไม่ต้องรอคอยกาลเวลาเช่นกุศลอื่นๆ
เวลาที่ท่านให้ทานเสร็จไปแล้ว อย่าหวังที่จะได้รับผลของทานทันทีต่อจากกุศลจิตที่ดับไป แต่จะต้องเกิดห่างกันมาก ระหว่างกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุ กับกุศลวิบากซึ่งเป็นผล หรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าอกุศลวิบากจะเกิดขึ้นต่อจากอกุศลจิตทันที เมื่อกุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดีดับไปแล้ว เวลาที่กุศลวิบากหรืออกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นจะเกิดขึ้น จะไม่เกิดติดกันทันทีอย่างนั้น
แต่สำหรับโสตาปัตติมรรคจิต ที่เป็นกุศลซึ่งดับกิเลส ทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตดับ จิตอื่นจะเกิดต่อ เกิดคั่น เกิดแทรกไม่ได้ เพราะว่าเมื่อโสตาปัตติมรรคจิตดับ โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อทันที เมื่อสกทาคามิมรรคจิตดับ สกทาคามิผลจิตเกิดต่อทันที เมื่ออนาคามิมรรคจิตดับ อนาคามิผลจิตเกิดต่อทันที เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับ อรหัตตผลจิตเกิดต่อทันที
โสตาปัตติมรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ โสตาปัตติผลจิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ประจักษ์ในลักษณะของนิพพาน เป็นโลกุตตรจิต
เพราะฉะนั้น จิต ๘ ดวง คือ โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต เป็นโลกุตตรจิต เพราะว่าประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพาน ซึ่งเป็น โลกุตตรธรรม
นี่คือความหมายของอกาลิโก
ถ. ผมเคยฟังเทศน์มา คือ ถ้าผู้ใดไม่มีศีล ๕ แล้ว ไม่สามารถไปสวรรค์ได้ ถึงจะทำบุญก็ตาม
สุ. ทานก็ให้ผลไปสวรรค์เหมือนกัน กุศลกรรมทั้งหลายย่อมให้ผลทำให้เกิดในมนุษย์ก็ได้ ในสวรรค์ก็ได้ แล้วแต่ขั้นของกุศล
ถ. ที่พระสัทธรรมจะไม่ได้ตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี ก็เพราะมาตุคามได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาใช่ไหม
สุ. หมายความว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติครุธรรมแล้ว พระสัทธรรมจะไม่ตั้งอยู่ถึง ๑,๐๐๐ ปี แต่ทั้งนี้ทรงมุ่งหมายถึงเฉพาะพระขีณาสพผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ไม่ได้หมายรวมถึงพระขีณาสพผู้เป็นสุกขวิปัสสกะ
ถ. ที่ว่าพันปีที่หนึ่ง มีพระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา พันปีที่สองมีแค่พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะนั้น หมายความว่าอย่างไร
สุ. เป็นความต่างกันของพระอรหันต์ คือ พระอรหันต์ผู้ที่อบรมเจริญฌานสมาบัติ สามารถที่จะประกอบพร้อมถึงความแตกฉานในปฏิสัมภิทา และถึงการบรรลุคุณวิเศษต่างๆ เช่น อิทธิปาฏิหาริย์ อภิญญาต่างๆ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ พระอนุรุทธะ พระมหากัสสปะ
ภายในพันปีแรก หลังจากที่ปรินิพพานแล้ว ยังมีผู้ที่สามารถจะบรรลุคุณธรรมประกอบพร้อมด้วยความแตกฉานในปฏิสัมภิทาถึงพร้อมด้วยฌานสมาบัติได้ แต่หลังจากนั้นเป็นการเสื่อมถอยของพระสัทธรรม ในพันปีที่สองยังมีผู้ที่สามารถบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์บ้าง แต่ไม่ถึงพร้อมด้วยความแตกฉานในปฏิสัมภิทา
ถ. ที่พระสัทธรรมเสื่อมถอย ก็เพราะว่าท่านพระอานนท์ทูลขอให้สตรีบรรพชาในพุทธศาสนาใช่ไหม
สุ. มิได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงบัญญัติ ครุธรรมก่อน พระสัทธรรมจะดำรงอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี แต่เพราะพระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ไว้ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น พระสัทธรรมก็จะคงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี เพราะว่า พระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ไว้ก่อนแล้ว
ถ. ในพันปีที่ ๓ ถ้าใครอุตริกล่าวว่า ได้บรรลุพระอรหันต์ ก็คงไม่ใช่แน่
สุ. จะต้องศึกษาใคร่ครวญ ทำไมจะรีบด่วนปักใจเชื่อ และการศึกษาใคร่ครวญที่จะให้รู้ความจริงว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ได้หรือไม่นั้น ก็จะต้องอาศัย พระธรรมวินัยเป็นเครื่องพิจารณาด้วย
ข้อสำคัญที่สุด คือ หนทางข้อปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องตัดสินว่า ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์หรือไม่ใช่พระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอนาคามี ไม่ใช่พระสกทาคามี ไม่ใช่พระโสดาบัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๙๑ – ๖๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600