แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
ครั้งที่ ๕๔๘
สุ. การเห็นโทษของการสวดเป็นทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ไม่ใช่มีแต่ในยุคนี้สมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน พระองค์ก็ได้ทรงติเตียน และตรัสว่า ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ
ในเรื่องที่เกี่ยวกับอุโบสถศีลองค์ที่ ๗ ถ้าจะตรวจสอบเทียบเคียงดูกับพระวินัยแล้ว จะเห็นได้ว่า ส่วนมากจะเป็นเพียงอาบัติทุกกฏ เพราะว่าเป็นเรื่องของการไม่ได้เบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่น แต่เป็นเรื่องของการไม่เหมาะ ไม่สมควร สำหรับผู้ที่มีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นโดยการรักษาอุโบสถศีล หรือว่าโดยการอุปสมบทเป็นเพศบรรพชิต แต่สำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ต้องอาบัติอะไร เพราะว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะรักษาอุโบสถศีลมีองค์ ๘ หรือว่าไม่ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นถึงความไม่ควรของการที่ภิกษุจะประพฤติตนเช่นฆราวาส หรือว่าจะยังคงมีการขับร้อง การกระทำต่างๆ คล้ายๆ ในลักษณะฆราวาส
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โรณสูตร ข้อ ๕๔๗ มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การขับร้อง คือ การร้องไห้ในวินัยของพระอริยเจ้า การฟ้อนรำ คือ ความเป็นบ้าในวินัยของพระอริยเจ้า การหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือ ความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะเหตุนั้นแหละ จงละเสียโดยเด็ดขาดในการขับร้องฟ้อนรำ เมื่อท่านทั้งหลายเบิกบานในธรรม ก็ควรแต่เพียงยิ้มแย้ม ฯ
ลักษณะของโสมนัสที่พอควร ควรจะเป็นเพียงยิ้มแย้ม ถ้าหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อเป็นเวลานาน นั่นก็คือ ความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะว่า พระอริยเจ้าท่านเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ปุถุชนนี้ไม่เห็นกิเลส หลายท่านทีเดียวขณะนี้ ทราบไหมว่า แม้จะยังไม่ได้ปรากฏ เป็นความชอบใจในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ปรากฏว่า ท่านชอบดอกไม้ดอกนั้น หรือว่าท่านชอบกระเป๋าใบนี้ เพียงแต่นั่งอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ ทราบไหมว่า มีกิเลสเกิดขึ้นแล้วกับจิตใจ ถ้าจิตใจในขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา มีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลอย่างอ่อนๆ อย่างบางๆ อย่างเบาๆ เกิดอยู่เรื่อยๆ จนไม่รู้สึกว่าเป็นกิเลส เป็นสภาพของอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจ เพราะฉะนั้น แม้มีกิเลสก็ไม่รู้ แม้มีอกุศลธรรมก็ไม่รู้
เวลาที่กำลังนอนหลับ ลักษณะสภาพของคนที่หลับนี้เสมอเหมือนกันหมด คือ ไม่มีการกระทำทุจริตกรรมทางกายหรือทางวาจา หรือแม้ใจก็ไม่ได้คิดอะไรในขณะที่นอนหลับสนิท คือ ในขณะที่จิตเป็นภวังค์ ไม่ใช่ในขณะที่ฝัน สภาพของจิตเป็นสภาพที่เป็นวิบากจิต เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ดำรงภพชาตินั้นอยู่ เพื่อที่ว่าขณะต่อไป เมื่อมีปัจจัยของการเห็นเกิดขึ้น การเห็นก็ย่อมเกิดขึ้น
และในขณะที่เป็นภวังคจิต ก็ยังมีเชื้อของกิเลสอย่างละเอียด เรียกว่า อนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน คือ การเกิดดับสืบต่อของจิตทุกขณะ ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เวลาที่มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น เกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีอกุศลธรรมอย่างบาง อย่างเบา อย่างอ่อน จนท่านไม่รู้สึกเลยว่า อกุศลจิตเกิดขึ้น อกุศลธรรมเป็นไปอยู่เรื่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่แม้มีกิเลส ก็ไม่รู้ว่ามี
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้ากับผู้ที่เป็นปุถุชน มีความเห็นต่างกัน และมีความพอใจต่างกันตามขั้นของพระอริยเจ้าด้วย
สำหรับการขับร้อง ปุถุชนก็รู้สึกว่า ดี ทำให้จิตใจสบาย แต่สบายในขณะนั้นเป็นอะไร เป็นความยินดีพอใจในเสียงเพลงทำให้จิตใจสบาย เพราะเหตุว่าไม่เป็นปฏิฆะ ไม่เป็นความไม่แช่มชื่นของจิต ไม่เป็นความเดือดร้อนห่วงใยกังวล ซึ่งเป็นสภาพของโทสะ พยาปาทะ ที่ทุกท่านไม่มีความพอใจ แต่ทุกท่านปรารถนาที่จะมีโลภมูลจิต หรือสภาพของโลภะ ความแช่มชื่น ความพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่ว่าสำหรับพระอริยะหรือว่าบุคคลที่อุปสมบทเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เจริญปัญญาให้ถึงความเป็นพระอริยเจ้านั้น การขับร้อง คือ การร้องไห้ในวินัยของพระอริยเจ้า การฟ้อนรำ คือ ความเป็นบ้าในวินัยของพระอริยเจ้า การหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือ ความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า
เพราะฉะนั้น ที่ท่านผู้ฟังสงสัยว่า ฟ้อนรำเองได้ไหม ไม่ใช่เพียงแต่การดูฟ้อนรำ ก็ไม่ควร แม้ว่าจะกระทำเอง หรือว่าจะดูการฟ้อนรำ การเล่นต่างๆ
สำหรับเรื่องของการงดเว้นจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึก การเล่นก็มีหลายอย่าง และเป็นความยินดีพอใจที่พัวพันในตนเอง และบุคคลภายนอก วัตถุภายนอกด้วย เพราะถ้าจะดูการเล่น ก็ต้องมีผู้เล่นหรือมีผู้แสดงให้ดู ให้เกิดความยินดี ให้เกิดความพอใจต่างๆ หรือถึงแม้ว่าไม่ได้ดูการเล่นก็จริง ไม่มีการมหรสพให้ดู เพราะว่ามหรสพก็ไม่ใช่จะมีให้ดูอยู่เรื่อยๆ อาจจะมีตอนค่ำ อาจจะมีตอนบ่าย อาจจะมีตอนเช้า แต่เวลาที่ไม่มีมหรสพให้ดู ท่านเล่นเองก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นที่ยินดีติดข้อง ก็ย่อมมีหลายประการด้วย
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ข้อ ๖๘๖ มีข้อความว่า
ชื่อว่า การเล่น ในอุเทศว่า ขิฑฺฑา รติ โหติ สหายมชฺเฌ ดังนี้ ได้แก่ การเล่น ๒ อย่าง คือ การเล่นทางกาย ๑ การเล่นทางวาจา ๑
การเล่นทางกายเป็นไฉน ชนทั้งหลายเล่นช้างบ้าง เล่นม้าบ้าง เล่นรถบ้าง เล่นธนูบ้าง เล่นหมากรุกบ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนบ่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นกังหันบ้าง เล่นตวงทรายบ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายกันบ้าง เล่นทายใจกันบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง นี้ชื่อว่า การเล่นทางกาย
บางทีก็เล่นสิ่งที่ใหญ่ เล่นช้าง เล่นม้า เล่นรถ บางทีไม่มีสิ่งใหญ่ๆ จะเล่น ก็เล่นรถเล็กๆ สำหรับเด็กๆ ไม่มีอะไรจะเล่นจริงๆ ก็เล่นฟาดให้เห็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง นี่เป็นการเล่นทางกายต่างๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
การเล่นทางวาจาเป็นไฉน เล่นตีกลองด้วยปาก เล่นรัวกลองด้วยปาก เล่นแกว่งบัณเฑาะว์ด้วยปาก เล่นผิวปาก เล่นเป่าปาก เล่นตีตะโพนด้วยปาก เล่นร้องรำ เล่นโห่ร้อง เล่นขับเพลง เล่นหัวเราะ นี้ชื่อว่า การเล่นทางวาจา
เวลาที่ไม่มีอะไรจะเล่นจริงๆ ถ้าท่านผู้ฟังลองสังเกตจริงๆ พอคนหนึ่งหัวเราะ คนอื่นก็หัวเราะต่อๆ กันไป สนุกกันใหญ่ ไม่หยุด นั่นก็เป็นการเล่นชนิดหนึ่ง เคยไหม หรือเคยเห็นไหม เด็กๆ เวลาไม่มีอะไรเล่น คนหนึ่งก็หัวเราะ คนอื่นก็หัวเราะ เสียงต่างๆ ตามๆ กันไป นั่นก็เป็นการเล่นด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา บุคคลที่ยังมีความยินดีติดข้องในความเพลิดเพลินในตนเอง ในบุคคลอื่น ก็ย่อมจะมีการเล่นในลักษณะต่างๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า ความยินดี ในคำว่า รติ นั้น เป็นเครื่องกล่าวถึงความกระสัน การไปสบาย การมาสบาย ... การปราศรัยสบายกับบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นท่านกล่าวว่า สหาย ในอุเทศว่า สหายมชฺเฌ ดังนี้
ที่กล่าวถึงสหายในการเล่น เพราะเหตุว่าท่านจะเล่นกับใคร ท่านคงไม่เล่นกับศัตรูใช่ไหม ก็คงจะเล่นกับบุคคลที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคย ไปสบาย มาสบาย ปราศรัยสบายกับบุคคลเหล่าใด ท่านก็มีความยินดีพอใจที่จะเล่นสนุกกับบุคคลเหล่านั้น หรือแม้แต่การที่จะไปดูมหรสพ ท่านไปกะใคร ท่านก็ต้องไปกับมิตรสหาย หรือว่าบุคคลที่ท่านไปสบาย มาสบาย ปราศรัยสบาย
เพราะฉะนั้น กิเลสนอกจากจะมีความยินดีติดข้องในตัวของท่านเองแล้ว ยังเป็นไป พัวพัน ผูกพันกับวัตถุภายนอก หรือแม้แต่บุคคลภายนอก เช่น ในการเล่นก็ต้องมีการที่จะต้องเกี่ยวข้อง คือ เล่นกับบุคคลอื่น หรือการที่จะดูมหรสพ ก็ยังต้องเป็นไปกับพวกพ้องมิตรสหายผู้ที่ท่านคุ้นเคย ไปสบาย มาสบาย ปราศรัยสบาย ควรจะมีสติระลึกรู้สภาพของความพอใจยินดีซึ่งเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นชีวิตปกติประจำวัน
เพราะฉะนั้น ควรที่จะให้สติได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม แม้ขณะที่เล่น หรือแม้ขณะที่ดูมหรสพ ดูการเล่นต่างๆ สภาพธรรมทั้งหมดเป็นความจริงอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่สติสามารถจะระลึกรู้ได้ว่า แม้ความยินดีพอใจในการเล่นกับมิตรสหาย หรือในการดูมหรสพกับพวกพ้องญาติมิตรสหาย ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นปกติในชีวิตประจำวันของท่าน เพราะฉะนั้น ท่านจะเล่นอะไร ท่านจะดูอะไร ก็ย่อมต้องเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นไปอย่างนั้น
ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวข้อง การคลุกคลียินดีในบุคคลทั้งหลายผู้เป็นที่รัก ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือฆราวาสก็ตาม ท่านผู้ฟังก็จะพิสูจน์ธรรมตามความเป็นจริงได้ว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ความยินดีพอใจในการเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ตามความเป็นจริง ก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น
ข้อ ๖๘๗ มีข้อความว่า
ชื่อว่า บุตร ในอุเทศว่า ปุตฺเตสุ จ วิปุลํ โหติ เปมํ ดังนี้ ได้แก่บุตร ๔ จำพวก คือ บุตรที่เกิดแต่ตน ๑ บุตรที่เกิดในเขต ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรที่อยู่ในสำนัก ๑
คำว่า แต่ความรักในบุตรทั้งหลายมีมาก ความว่า ความรักในบุตรทั้งหลายมีประมาณยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่ความรักในบุตรทั้งหลายมีมาก
นี่ก็เรื่องของชีวิตปรกติประจำวันซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกัน และท่านที่ยังไม่มีบุตร ท่านก็คิดถึงความรักของมารดาบิดาที่มีต่อท่านได้ว่า ความรักในบุตรทั้งหลายมีมาก ความรักในบุตรทั้งหลายมีประมาณยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่ความรักในบุตรทั้งหลายมีมาก
ท่านจะเล่นกับบุตรไหม ท่านจะพาบุตรไปดูมหรสพไหม นี่ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรจะได้ทราบตามความเป็นจริงว่า ท่านจะต้องเพลิดเพลินยินดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของท่าน
ข้อ ๖๘๘
ของที่รัก ในอุเทศว่า ปิยวิปฺปโยคํ วิชิคุจฺฉมาโน ดังนี้ มี ๒ อย่าง คือ สัตว์อันเป็นที่รัก ๑ สังขารอันเป็นที่รัก ๑
ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะสำรวจพิจารณาว่า เป็นความจริงอย่างนี้หรือไม่ว่า กิเลสของท่านมีมากมายเหลือเกิน เมื่อท่านรู้ว่ากิเลสของท่านช่างมาก มีทั้งอย่างบาง อย่างเบา อย่างละเอียด อย่างแรง เป็นไปตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วว่า ปัญญาช่างน้อยเสียเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะสะสมอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นเพื่อที่จะละกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปมีว่า
สัตว์อันเป็นที่รักเป็นไฉน ชนเหล่าใดมีอยู่ในโลกนี้ เป็นมารดาก็ดี บิดาก็ดี พี่น้องชายก็ดี พี่น้องหญิงก็ดี บุตรก็ดี ธิดาก็ดี มิตรก็ดี พวกพ้องก็ดี ญาติก็ดี สาโลหิตก็ดี เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความสบาย หวังความปลอดโปร่ง จากโยคกิเลสแก่บุคคลนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า สัตว์อันเป็นที่รัก
บางท่านศึกษาธรรมแล้ว ใคร่ที่จะให้ผู้เป็นที่รักของท่านได้เข้าใจธรรมด้วย ได้เจริญกุศล อบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย เมื่อท่านสำรวจพิจารณาดูว่า บุคคลผู้เป็นที่รักของท่านนั้นคือใครบ้างที่ท่านต้องการจะให้ได้ศึกษา ได้เข้าใจธรรม ได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คงไม่พ้นไปจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับท่าน รวมทั้งแม้บุคคลอื่น ซึ่ง เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความสบาย หวังความปลอดโปร่ง จากโยคกิเลสแก่บุคคลนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า สัตว์อันเป็นที่รัก
ข้อความต่อไปมีว่า
สังขารอันเป็นที่รักเป็นไฉน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ส่วนที่ชอบใจ สิ่งเหล่านี้ชื่อว่า สังขารอันเป็นที่รัก
คำว่า เมื่อเกลียดความพลัดพรากจากของที่รัก ความว่า เมื่อเกลียด เมื่ออึดอัด เมื่อเบื่อซึ่งความพลัดพรากจากของที่รัก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อเกลียดความพลัดพรากจากของที่รัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
การเล่น ความยินดี มีอยู่ในท่ามกลางแห่งสหาย แต่ความรักในบุตรทั้งหลายมีมาก บุคคลเมื่อเกลียดความพลัดพรากจากของที่รัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน นอแรด ฉะนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 600