แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
ครั้งที่ ๖๐๑
การที่ท่านพระอานนท์บรรลุพระอรหันต์ เท่าที่ปรากฏใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ทุติยภาค ปัญจสติกขันธกะ มีข้อความว่า
ข้อ ๖๑๗
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็น เสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้นไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ
ข้อความมีเพียงเท่านี้ ซึ่งปกติทุกท่านก็จะต้องนอน เพราะฉะนั้น ท่าน พระอานนท์ก็เช่นเดียวกัน ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตได้หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น
ท่านผู้ฟังจะเห็นความเป็นอนัตตาของอรหัตตมรรค อรหัตตผล และของสภาพธรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะไหน อย่างไรก็ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยควรที่จะให้เกิดขึ้นขณะใด อย่างไร ก็เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น
ถ. การบรรลุคุณธรรมถึงขั้นพระอรหันต์ของท่านพระอานนท์ ที่ผมฟังๆ แล้ว รู้สึกว่าปัญญาตัดกิเลสขั้นอรหัตตมรรคผล อรหัตตผล คล้ายกับว่า ผุดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องทำ ไม่ต้องมนสิการ ไม่ต้องอบรมอะไรทั้งสิ้น เป็นอย่างนั้นหรือไม่
สุ. เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมย่อมทราบหนทางข้อปฏิบัติว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะใด ปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้หนทางที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ย่อมมีปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็รู้ชัดในเหตุปัจจัยว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น ผู้ซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว สติจะไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ. ผมเดาว่า ก่อนที่ท่านพระอานนท์จะบรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านก็ทำความเพียร พิจารณากายคตาสติเกือบจะตลอดคืน เมื่อท่านเห็นว่าไม่บรรลุแล้วคืนนี้ ก็คิดว่าจะนอน ขณะที่คิดว่าจะนอน ขณะนั้นแสดงว่า ท่านไม่มีความตั้งใจที่จะพิจารณากายคตาสติ เมื่อจะนอนแล้ว ปัญญาก็ผุดขึ้นมาเอง
สุ. ข้อความที่ท่านกล่าวมานี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก ข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ทุติยภาค ปัญจสติกขันธกะ มีว่า
พระอานนท์สำเร็จพระอรหัต
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็น เสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้นไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ
ไม่มีข้อความอย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวเลยว่า ท่านเพียรจนกระทั่งท้อถอยว่าไม่บรรลุ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของกายคตาสติ หรืออะไรอย่างนั้น ไม่มีเลย ทำไมจึงคิดหรือเข้าใจเองว่า ท่านพระอานนท์เป็นอย่างนั้น ๆ
นี่คือความเข้าใจผิดของผู้ซึ่งไม่ทราบว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายนั้นท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตนที่ทำกายคตาสติ แต่ถ้าบุคคลใดยังมีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ก็คิดว่าท่านพระอานนท์นั้นก็คงจะมีความพากเพียรด้วยความตั้งใจที่เป็นตัวตนว่า จะยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ
นี่คือความเห็นของผู้ที่ยังมีตัวตน คิดว่า ท่านพระอานนท์นั้นมีตัวตนที่ตั้งใจจะทำอย่างนั้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน การที่สติจะเกิดขึ้นน้อมไปสู่นามหรือรูปทางหนึ่งทางใด ก็มีปัจจัยที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงตามที่ท่านสะสมมา จิตของท่านพระอานนท์จะน้อมไประลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ซึ่งท่านก็ทราบว่าไม่ใช่ตัวตน และการนอนพักผ่อนนี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น เมื่อถึงกาลที่ท่านจะพักผ่อน ท่านก็นอนพักผ่อนด้วยสติ และในขณะนั้นถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้
เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดคิดว่า ท่านพระอานนท์ยังมีตัวตนที่พากเพียร และก็มีความท้อถอยเมื่อได้พากเพียรเป็นเวลานานแล้วก็ไม่บรรลุ ก็เลยเลิกความเพียรและก็นอนเสีย ไม่ใช่อย่างนั้น
ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายถึงท่านพระอานนท์ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าพูดถึงเนื้อความข้อที่ท่านบรรลุนั้น ก็เพราะว่าท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต ท่านได้รับฟังมามาก ฟังทุกสิ่งทุกอย่างที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเทศนาไม่ว่าแห่งหนตำบลใด แม้ไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย พระผู้มีพระภาคก็ต้องมาตรัสแสดงธรรมให้ท่านพระอานนท์ฟัง เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ท่านเป็นผู้ที่ฟังมาก ระลึกรู้มาก นี่ก็เกี่ยวกับสติ เพราะฉะนั้น ท่านก็ระลึกรู้อย่างนี้อยู่บ่อย ๆ อบรมไว้มาก เมื่อถึงวาระที่ท่านจะต้องเข้าไปสู่ที่สังคายนา ถ้าหากท่านยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็จะไปเข้าประชุมไม่ได้ ตามธรรมดาความเพียรก็คงจะมีอยู่บ้าง เพราะว่าระลึกรู้อยู่เรื่อยๆ เมื่อท่านได้เจริญสติหรือระลึกรู้ และท่านก็เป็นพหูสูตด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อระลึกรู้บ่อยๆ คล้ายๆ กับทำเหตุไว้เช่นนี้แล้ว ผลจะต้องปรากฏในวันหนึ่ง อย่างที่ท่านได้บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น การเจริญสติก็คงจะตรงกับหลักที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายอยู่ ข้อนี้เป็นหลักความจริง เพราะว่าการเจริญสติจะระลึกรู้เมื่อไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องอ้างกาล อ้างเวลา จะทำกิจการงานใดๆ ก็ได้ เมื่อระลึกรู้อยู่บ่อยๆ แล้ว ก็คล้ายๆ กับฝึกฝนอบรมให้สตินั้นปรากฏเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าสติจะเป็นอนัตตา นามรู้ก็เป็นอนัตตา แต่ว่าสภาพของธรรมนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นปกติธรรมดาจริงๆ ฉะนั้น ที่ท่านพระอานนท์ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็คงเป็นเพราะว่าท่านได้อบรมมามาก ได้ฟังมากนั่นเอง เพราะฉะนั้น การเจริญสตินี้จึงมีผลมากจริงๆ
สุ. การอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า กับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าที่ยังเป็นเสกขบุคคล คือ ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ย่อมต่างกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ยังมีความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ เพราะฉะนั้น บางครั้งที่สติเกิด ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นโดยทั่ว โดยละเอียด ย่อมยังยึดถือสติบ้าง ปัญญาบ้าง สังขารขันธ์อื่นๆ บ้าง เวทนา คือ ความรู้สึกบ้าง หรือสัญญา คือ ความจำบ้าง ว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้วเท่านั้นจึงจะดับการยึดถือนามธรรมรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน เมื่อบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว คือ เป็น พระโสดาบันบุคคลแล้ว ไม่มีความเห็นผิด ไม่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้นว่า เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ที่ท่านเจริญสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรม ย่อมต่างกับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่ว่าสติของท่านจะน้อมระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใดรูปธรรมใด ก็ไม่มีความเห็นผิดที่จะยึดถือสภาพนามธรรมนั้นรูปธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน และเมื่อปัญญาได้ประจักษ์ความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมสมบูรณ์ขึ้น ท่านก็บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ตามลำดับ
ข้อความที่พระผู้มี พระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านพระอานนท์จะปรินิพพานในอัตภาพนี้ หมายความว่า ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ มีปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อานันทวรรคที่ ๓ จูฬนีสูตร
ข้อความต่อไป
พระอุบาลีวิสัชนาพระวินัย
ข้อ ๖๑๘
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วข้าพเจ้าจะพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี
ท่านพระอุบาลี ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามพระวินัยแล้วจะพึงวิสัชนา
นี่คือการสังคายนาของบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายในครั้งที่ ๑ ซึ่งมีท่าน พระมหากัสสปเป็นผู้ถามพระวินัย และท่านพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ถ้าผู้ถามไม่ใช่พระอรหันต์ และผู้ตอบไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมจะไม่รู้แจ้งในเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทต่าง ๆ
สำหรับผู้ที่ถามถามต้องเป็นที่ทรงความรู้จริงจึงจะถามได้ ถ้ายังไม่มีความรู้เรื่องอะไรเลย จะให้ถามก็คงถามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะถามเพื่อที่จะให้คนอื่นแสดงข้อความที่ชัดเจนแจ่มแจ้งถูกต้อง ผู้ถามนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้จริงในเรื่องที่จะถามด้วย
สำหรับในเรื่องธรรม ท่านพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาธรรม
ข้อความต่อไป
พระอานนท์วิสัชนาพระธรรม
ข้อ ๖๑๙
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลายขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามธรรมกะท่านพระอานนท์
ท่านพระอานนท์ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามธรรมแล้วจะพึงวิสัชนา
ต่อจากนั้น เป็นการวิสัชนาพระธรรมต่อจากพระวินัย เป็นความสมบูรณ์ของการสังคายนาครั้งที่ ๑
ข้อความต่อไป แสดงให้เห็นถึงการอ่อนน้อมที่ท่านพระอานนท์มีต่อสงฆ์ มีข้อความว่า
เรื่องสิกขาบทเล็กน้อย
ข้อ ๖๒๐
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า
ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกร อานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้
พระเถระทั้งหลายถามว่า
ท่านพระอานนท์ ก็ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ท่านพระอานนท์ตอบว่า
ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบท เล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ
เรื่องไม่บัญญัติและไม่ถอนพระบัญญัติ
ข้อ ๖๒๑
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติทุติยกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นการชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่ พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ
ท่านผู้ฟังจะเห็นความเคารพนอบน้อมของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีต่อพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจะทรงอนุญาตให้ถอนพระบัญญัติเล็กน้อย แต่ว่าพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ท่านมีความเคารพในสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้ว และไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ
ถ้าท่านผู้ใดในสมัยนี้คิดเห็นว่า พระวินัยบัญญัติข้อใดอาจจะประพฤติไม่ได้ หรือว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็ขอให้คิดถึงพระอรหันต์ทั้งหลายในการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านมีความเห็นร่วมกันว่า ท่านจะไม่บัญญัติสิ่งที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติ และจะไม่ถอนสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐๑ – ๖๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660