แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
ครั้งที่ ๖๑๐
ในเรื่องของทาน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยวัตถุปัจจัย จะต้องมีการตระเตรียม ส่วนมากท่านผู้ฟังก็สามารถที่จะกระทำทานกุศลได้ แต่สำหรับเรื่องของความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนั้น ลองคิดดูว่า ไม่น่าจะยากเลย สภาพของจิตที่อ่อนโยน ไม่กระด้าง ไม่ถือตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เป็นกุศลที่ควรจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ แต่แม้กระนั้นสำหรับกิเลสที่ได้สะสมมามาก ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้สภาพของจิตอ่อนโยนเช่นนั้น
เพราะฉะนั้น แม้ว่าการอ่อนน้อมเป็นกุศล แต่บางครั้งก็ไม่เกิด ซึ่งความจริงแล้วแต่ละท่านก็ทราบว่า เมื่อเป็นกุศลก็ควรที่จะได้เกิดสะสมบ่อยๆ เนืองๆ แต่แม้กระนั้นก็จะได้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายว่า ถ้าไม่มีปัจจัยสะสมมาที่จะให้สภาพของจิตเกิดขึ้นเป็นความอ่อนน้อมในขณะนั้น ความอ่อนน้อมในขณะนั้น ก็ไม่เกิดขึ้น
เมื่อได้พิจารณาสภาพของจิตโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทยากแค่ไหน และกิเลสทั้งหมดที่ปรากฏ ก็ย่อมเกิดจากการสะสมทีละเล็ก ทีละน้อยมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระไตรปิฎกจะทำให้เห็นสภาพของจิตของแต่ละท่านที่สะสมมาต่างๆ กัน
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปัจจนิกสูตรที่ ๖ ข้อ ๗๐๑ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กิเลสที่สะสมมาในการที่จะเป็นผู้มีมานะ ถือตน จะทำให้มีการแข่งดี แม้กับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่ว่าผู้ที่ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นอันตรายของกิเลส ก็ย่อมจะไม่เห็นว่า การสะสมความหยาบกระด้างทีละเล็ก ทีละน้อย จะทำให้ถึงกับมีความรู้สึกแข่งดีกับผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้อความใน ปัจจนิกสูตรที่ ๖ มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่า ปัจจนิกสาตะ สำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี ปัจจนิกสาตพราหมณ์มีความดำริว่า อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับเถิด พระสมณโคดมจักตรัสคำใดๆ เราจักเป็นข้าศึกคำนั้นๆ ดังนี้ ฯ
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าพระวิหารเชตวันจะเป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับและทรงแสดงธรรมมากมายหลายพรรษา สำหรับผู้ที่สะสมกุศลมาแล้ว ก็ย่อมที่จะได้รับความเข้าใจจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยแจ่มแจ้ง แต่สำหรับผู้ที่สะสม อกุศลธรรมมา ซึ่งในชาติก่อนๆ ก็คงจะสะสมมาทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย แต่ว่าเมื่อสะสมมากเข้า ก็ทำให้เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด มีความคิดผิด มีความตั้งใจผิด
ข้อความต่อไปมีว่า
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ลำดับนั้น ปัจจนิกสาตพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว เดินตามพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ขอท่านพระสมณะจงตรัสธรรม ฯ
ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะฟังเพื่อความเข้าใจ แต่ต้องการใจฟังเพียงเพื่อจะเป็นข้าศึกกับคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส และท่านลองคิดดูว่า พระผู้มีพระภาคจะตรัสคำอะไรกับปัจจนิกสาตพราหมณ์ ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเองทรงทราบว่า พราหมณ์นั้นตั้งใจจะเป็นข้าศึกกับธรรมที่พระองค์ตรัส
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คำอันเป็นสุภาษิต อันบุคคลผู้ยินดีจะเป็นข้าศึก มีจิตเศร้าหมอง มากไปด้วยความแข่งดี จะเห็นแจ้งด้วยดีไม่ได้ ส่วนว่าบุคคลใดกำจัดความแข่งดีและความไม่เลื่อมใสแห่งใจ ถอนความอาฆาตได้แล้ว ผู้นั้นแล พึงรู้คำอันเป็นสุภาษิต ฯ
ในเมื่อพราหมณ์มีสภาพจิตใจที่จะแข่งดี ก็ไม่มีธรรมอื่นที่จะกล่าว นอกจากจะกล่าวถึงสภาพจิตของผู้ฟังที่มุ่งที่จะแข่งดี เพื่อที่จะให้ผู้นั้นได้เห็นว่า ถ้าขณะใดเป็นผู้ที่ฟังเพื่อที่จะแข่งดี เป็นผู้ที่ยินดีที่จะเป็นข้าศึก เป็นผู้ที่มีจิตเศร้าหมองด้วยอกุศล และมากไปด้วยความแข่งดี ก็ย่อมจะเห็นแจ้งธรรมด้วยดีไม่ได้
นี่เป็นสิ่งที่แน่นอน ถ้าจิตใจของบุคคลใดไม่พร้อมที่จะพิจารณาในเหตุผล มุ่งที่จะโต้แย้ง มุ่งที่จะเป็นข้าศึก ย่อมไม่สามารถที่จะพิจารณาในเหตุในผลของธรรมที่ได้ยินได้ฟังเลย เพราะฉะนั้น ตราบใดที่จิตเศร้าหมอง มากไปด้วยความแข่งดี ย่อมจะเห็นแจ้งธรรมด้วยดีไม่ได้
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงสภาพจิตของปัจจนิกสาตพราหมณ์ เพื่อที่จะให้ปัจจนิกสาตพราหมณ์ได้ระลึกถึงสภาพจิตของตนในขณะนั้น เพราะว่า เป็นสภาพธรรมที่ใกล้ตัวที่สุด ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องอริยสัจธรรมในขณะนั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อปัจจนิกสาตพราหมณ์ เพราะว่าจิตเศร้าหมอง ไม่สามารถจะเข้าใจใน เหตุผลได้ แต่ถ้าพูดถึงสภาพจิตของปัจจนิกสาตพราหมณ์เอง จะทำให้ปัจจนิกสาตพราหมณ์สามารถที่จะระลึกถึงสภาพจิตที่เศร้าหมอง ที่เป็นอกุศลของตนได้
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว ปัจจนิกสาตพราหมณ์กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาได้ว่า จะมีสักกี่คนที่จะเหมือนกับปัจจนิกสาตพราหมณ์ เพราะถึงแม้ว่าปัจจนิกสาตพราหมณ์จะได้สะสมกิเลสอกุศลมามาก จนถึงกับคิดที่จะแข่งดีกับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ยังมีการสะสมของปัญญาที่ทำให้สามารถรู้ความจริงที่เป็นสภาพจิตของตนเองได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เศร้าหมอง เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่เห็นโทษของกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย ก็โดยที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพของอกุศลธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และเห็นว่าเป็นโทษ เป็นภัย เป็นสิ่งที่ควรจะละ เป็นสิ่งที่ควรจะดับเป็นสมุจเฉท
บางท่านอาจจะคิดว่า กิเลสอย่างนี้เล็กน้อยเหลือเกิน เพียงเรื่องการไม่ อ่อนน้อม ไม่น่าจะเป็นกิเลสที่ร้ายแรงอะไร แต่ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง สิ่งที่ว่าไม่ร้ายแรง ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย ถ้ามีการสะสมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ก็จะทำให้ถึงกับ มีการแข่งดีกับผู้ที่ไม่สมควรเลยที่จะแข่งดีด้วย เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ปัจจนิกสาตพราหมณ์ในอดีต ปัจจุบันนี้จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครทราบ ซึ่งแต่ละชีวิตในพระไตรปิฎกที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมจะวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านอาจจะย้อนระลึกถึงอดีตไม่ได้ว่า ท่านเคยสะสมกิเลสประเภทใดมามากแล้ว แต่ขณะปัจจุบัน ในชีวิตปัจจุบัน ย่อมจะทำให้ท่านรู้สภาพจิตใจ การสะสมของท่านตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสอะไรบ้างที่ควรจะขัดเกลา และดับเป็นสมุจเฉท แม้ในเรื่องของการแข่งดี ความยกตน ความสำคัญตน การข่มผู้อื่น ก็ควรจะเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะถ้าสะสมมากขึ้น ก็จะทำให้ยากแก่การที่จะเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ผู้ฟัง สมัยนี้ก็ยากเหมือนกัน อย่างอาจารย์ ๗๐% ๘๐% เพียงแต่อรรถพยัญชนะก็ยังแปลกันไม่ถูก เป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายจะอยู่ในป่า โคนไม้ เรือนว่าง ในที่อะไรต่างๆ ก็ดี ขอให้มีสติอยู่เสมอ แต่อาจารย์บางท่านบอกว่า ต้องไปอยู่โคนต้นไม้ อยู่ที่นั่นจึงมีสติได้ อย่างนี้ผมก็ไม่รู้จะไปตามท่านได้อย่างไร ถ้าไปตามท่าน ผมก็แย่เหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่เชื่อท่าน จะตกนรก ท่านว่าอย่างนั้น
สุ. สภาพธรรมเป็นของจริงที่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า คำสอนใดถูก คำสอนใดผิด สภาพจิตกำลังเป็นอย่างไร ซึ่งคำสอนใดที่ทำให้รู้ชัดในสภาพของจิตที่กำลังปรากฏ คำสอนนั้นก็ควรที่จะพิจารณารับฟังและศึกษาต่อไป เพื่อประโยชน์แก่การเจริญกุศล จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้
ในเมื่อกิเลสเป็นสิ่งที่มีจริง และเกิดอยู่บ่อยๆ เนืองๆ คงจะไม่มีใครบอกว่า วันนี้กิเลสยังไม่เกิดเลย ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเห็นได้ว่า การที่จะดับกิเลสนี้ยากเพียงไร เพราะถ้าสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า อกุศลธรรมปรากฏมาก บ่อยๆ เนืองๆ ยิ่งสติเกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น ก็จะเห็นลักษณะสภาพของอกุศลธรรมที่ละเอียดยิ่งขึ้น
อย่างในขณะนี้ สภาพจิตเป็นอย่างไร ทันทีที่เห็น เป็นโลภมูลจิต หรือว่า โทสมูลจิต หรือว่าโมหมูลจิต แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้
บางท่านกล่าวว่า ท่านไม่มีโลภะเลย แต่ท่านไม่ทราบว่า ในขณะที่เพียงเห็น เมื่อลืมตาแล้ว มีความยินดี มีความพอใจแล้วในสิ่งที่เห็น มีการพิจารณาในสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และก็เกิดความยินดีพอใจขึ้นแล้ว ถ้าท่านจะเดินไปตามป่าเขา และก็รู้สึกว่า มีความสงบใจ มีความพอใจ ดูเหมือนว่าในขณะนั้น ท่านปราศจากโลภะ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านมีความยินดี ท่านมีความพอใจในสภาพของธรรมชาติที่ปรากฏ ถ้าเห็นต้นไม้ที่มีดอก ความต่างกันของสีเขียว สีน้ำตาล สีขาว สีแดง ที่ปรากฏเป็นรูปพรรณสัณฐานต่างๆ ก็ทำให้เกิดความยินดี ความพอใจขึ้นแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏและรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพของสีสันวัณณะ ซึ่งหาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญาที่สามารถจะแทงตลอดอย่างนี้ตราบใด เมื่อเห็นครั้งใดก็ย่อมจะเห็นเป็นสิ่งต่างๆ และก็เกิดความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมของจิตให้ละเอียดขึ้น ก็จะเห็นว่า การที่จะดับกิเลสให้หมดเป็นสมุจเฉทเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย
เพราะฉะนั้น คำสอนใดที่สอนเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏให้ระลึกรู้ ให้พิสูจน์ได้ คำสอนนั้นก็เป็นคำสอนที่ควรจะพิจารณา และศึกษาปฏิบัติตาม
ถ. มีคำพูดว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์ แต่เป็นอนัตตาที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อนัตตาไม่ใช่ตัวตนเลย จะบังคับบัญชาไม่ได้ บางท่านเข้าใจโดยปฏิโลมมากกว่าอนุโลม ดิฉันไม่เข้าใจคำว่า บางท่านเข้าใจโดยปฏิโลมมากกว่าอนุโลม
สุ. โดยอนุโลม หมายความว่า เป็นลำดับตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลาย ถ้าโดยปฏิโลม หมายความว่า โดยลำดับตั้งแต่ปลายลงมาหาต้น บางคนถ้าพูดถึงเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวลาที่พูดตั้งแต่ต้นไปหาปลาย อาจจะไม่เหมาะสำหรับอัธยาศัยของ ผู้นั้น แต่ถ้าพูดจากปลายมาหาต้น คือ พูดถึงเรื่องของความตาย และก็พูดถึงเรื่องเจ็บ เรื่องแก่ เรื่องเกิด ก็อาจจะเหมาะกับอัธยาศัยของผู้ฟังท่านนั้น
ถ. พระศาสดานั้นได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้อาศัยความเอ็นดู ความเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ได้แสดงธรรมอะไรบ้าง พระองค์แสดงธรรมประโยชน์ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
สุ. สามารถที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ถ. ในอนาคตต่อไปนั้น พระองค์ทรงแสดงเรื่องประโยชน์อะไรบ้าง
สุ. สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เป็นจริงทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต
ถ. ถ้าจิตมีความปรุงแต่ง จะมีความลึกอย่างไร
สุ. ลึก เพราะว่าไม่สามารถที่จะรู้แจ้งในความเกิดดับของจิต ซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ถ. จิตคืออะไร มีหน้าที่อะไร
สุ. จิตเป็นสภาพรู้
ถ. จิตเกิดขึ้นได้อย่างไร
สุ. อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น
ถ. เจตสิกมีหน้าที่ทำอารมณ์อย่างไร
สุ. เจตสิกแต่ละลักษณะ ก็มีกิจการงานเฉพาะของตนๆ ไม่เหมือนกัน
ถ. คำว่า รูปนามต่างกันอย่างไร
สุ. รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ นามธรรมเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ถ้าเป็นนามธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้น
ถ. จิตมีหน้าที่รับอารมณ์อะไร
สุ. ทุกอย่าง
ถ. ถ้าเราเจริญกัมมัฏฐานแล้ว เราจะให้พ้นทุกข์ได้หรือไม่
สุ. เจริญอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า จะเจริญกัมมัฏฐาน
ถ. สมถะ
สุ. สมถะก็สามารถที่จะทำให้เกิดในรูปพรหมได้
ถ. ถ้าเจริญวิปัสสนาแล้ว จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างไร
สุ. ไม่ต้องเกิดอีก
ถ. ถ้าเราเจริญสติปัฏฐาน จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ไหม
สุ. ทำให้ปัญญารู้แจ้งสภาพธรรม ที่เป็นวิปัสสนา
ถ. จิตมีความปรุงแต่งอย่างไร และมีความรู้สึกอย่างไร
สุ. จิตเห็นก็อย่างหนึ่ง จิตได้ยินก็อย่างหนึ่ง จิตที่ประกอบด้วยโลภะก็อย่างหนึ่ง จิตที่ประกอบด้วยโทสะก็อย่างหนึ่ง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐๑ – ๖๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660