แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614


    ครั้งที่ ๖๑๔


    ชีวิตประจำวันของทุกท่าน ถ้าสติเกิดระลึกจะรู้ได้ว่า กิเลสมาก เดี๋ยวโลภะ เดี๋ยวโทสะ นานๆ จะเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะดับกิเลสทุกประเภท ทุกชนิดได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย ย่อมควรแก่การที่จะนอบน้อมอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่เห็นบุคคลนั้นเลย เพียงแต่การระลึกถึงคุณของท่านที่สามารถประพฤติปฏิบัติโดยชอบจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ก็เป็นบุคคลที่ควรแก่การที่จะนอบน้อมอย่างยิ่ง

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นสันติสูตร มีข้อความที่แสดงว่า การไหว้ การนอบน้อมแก่พระอรหันต์ แม้ว่าจะไม่ได้เห็นก็เป็นกุศลอย่างยิ่ง ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณงามยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    กามทั้งหลายในหมู่มนุษย์ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี บุรุษผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาทแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ทั้งหลายอันมีอยู่ในหมู่มนุษย์นี้ ไม่มาถึงนิพพานเป็นที่ไม่กลับมาแต่วัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ

    ถ้าท่านพิจารณาข้อความที่เทวดากล่าว จะเห็นความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ตามข้อความที่เทวดากล่าวว่า กามทั้งหลายในหมู่มนุษย์ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี

    สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีสภาพใดเลยที่เที่ยง ตลอดชีวิต บางท่านอาจจะหลงยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยง และมีความยึดมั่นผูกพันมากในสิ่งที่ไม่เที่ยง ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในวัตถุ ท่านมีความพอใจมากแม้ในวัตถุ แม้ในยศ แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้หาสาระไม่ได้ เพราะว่าท่านจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งความจริงก็พลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ทุกๆ ขณะ เมื่อไรจะเห็นความไม่มีสาระของสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ หรือว่าวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจต่างๆ และความติดนี้ไม่ใช่ติดอยู่เฉพาะในวัตถุที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้คำสมมติบัญญัติต่างๆ เช่นยศถาบรรดาศักดิ์ ก็เป็นที่ติด เป็นที่หวัง เป็นที่พอใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว หาสาระไม่ได้ เพราะว่าไม่เที่ยง ไม่แน่นอนเลย

    เทวดากล่าวว่า กามทั้งหลายในหมู่มนุษย์ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี บุรุษผู้เกี่ยวข้องแล้ว ตัวท่านหรือเปล่า บุรุษผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาทแล้ว นี่คือคำเตือนให้น้อมระลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นตัวท่านจริงๆ ว่า ยังเป็นสภาพธรรมที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่ไม่เที่ยงที่เป็นกาม และเป็นผู้ที่ประมาท สำหรับผู้ที่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    กามทั้งหลายในหมู่มนุษย์ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี บุรุษผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาทแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ทั้งหลายอันมีอยู่ในหมู่มนุษย์นี้ ไม่มาถึงนิพพานเป็นที่ไม่กลับมาแต่วัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ

    ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทมาก ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่มีทางที่จะถึงนิพพาน ซึ่งนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสสำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพาน แต่ยังไม่ปรากฏสำหรับผู้ที่ประมาทแล้ว หรือผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงทั้งหลาย เพราะฉะนั้น การที่จะถึงนิพพานได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นหนทางที่ไกลมาก แต่ก็เริ่มอบรมเจริญได้ ด้วยการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏให้เกิดความรู้จริงๆ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไป

    เทวดากล่าวว่า

    เบญจขันธ์เกิดแต่ฉันทะ ทุกข์ก็เกิดแต่ฉันทะ เพราะกำจัดฉันทะเสีย จึงกำจัดเบญจขันธ์ได้ เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ จึงกำจัดทุกข์ได้

    เบญจขันธ์หมายความถึง ขันธ์ ๕ ซึ่งได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกท่านมีรูป กำจัดได้ไหม ไม่ให้มีรูปนี้ได้ไหม ทำอย่างไรก็ไม่พ้น ถ้าท่านจะสิ้นชีวิตลง กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นอีกแน่นอน ไม่มีทางที่ใครจะดับหรือว่ากำจัดรูปได้ เพราะว่าเบญจขันธ์ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดเกิดแต่ฉันทะ เกิดแต่ความยินดีความพอใจ ซึ่งท่านคงจะไม่ทราบว่า ความยินดีพอใจละเอียดมากสักเท่าไร ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า ชั่วขณะที่ผ่านไป ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ผ่านไปด้วยฉันทะ ความยินดีพอใจในการเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา ในการได้ยินสิ่งที่ปรากฏทางหู ในการได้กลิ่นสิ่งที่ปรากฏทางจมูก ในการลิ้มรสสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น ในเรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏทางใจ ไม่พ้นเลย และก็พ้นยากมาก ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ย่อมไม่สามารถที่จะละฉันทะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ได้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เบญจขันธ์เกิดแต่ฉันทะ เมื่อเบญจขันธ์เกิดแต่ฉันทะ ทุกข์ก็ต้องเกิดแต่ฉันทะ เพราะถ้าไม่มีเบญจขันธ์ก็ไม่มีทุกข์ แต่เพราะมีเบญจขันธ์ มีการเห็น ก็มีความต้องการในสิ่งที่เห็น มีความพยายามที่จะได้ในสิ่งที่เห็น มีการไม่อยากให้สิ่งที่เห็นพลัดพรากจากไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งหมดย่อมเกิดแต่ฉันทะ

    เทวดากล่าวต่อไปว่า เพราะกำจัดฉันทะเสีย จึงกำจัดเบญจขันธ์ได้ แต่ให้ทราบว่า เบญจขันธ์ซึ่งทุกท่านกำลังมี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ในขณะนี้ ไม่ใช่ว่าจะกำจัดได้ตามความต้องการของท่าน แต่ต้องกำจัดฉันทะ คือ ความยินดีพอใจในสภาพธรรมเหล่านี้ก่อน เมื่อกำจัดฉันทะแล้ว จึงกำจัดเบญจขันธ์ได้ และ เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ จึงกำจัดทุกข์ได้ ฉะนั้น หนทางเดียวที่จะกำจัดทุกข์ คือ ต้องกำจัดเบญจขันธ์ ซึ่งหนทางเดียวที่จะกำจัดเบญจขันธ์ได้ คือต้องกำจัดฉันทะในเบญจขันธ์

    เทวดากล่าวต่อไปว่า

    อารมณ์อันงามทั้งหลายในโลกไม่เป็นกาม ความกำหนัดที่พร้อมไปด้วยความดำริเป็นกามของบุรุษ

    จริงไหม อารมณ์อันงามด้วย ไม่ใช่อารมณ์ธรรมดา อารมณ์อันงามทั้งหลายในโลกไม่เป็นกาม เพราะว่าไม่มีอิทธิพลเลยสำหรับผู้ที่หมดกิเลส แต่ว่าสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส เห็นไม่ได้เลย ถ้าเห็นแล้วต้องชอบทันที เห็นดอกไม้ ต้นไม้สวยๆ เห็นภูมิประเทศที่สวย เห็นวัตถุที่สวยๆ ทันทีที่เห็น อารมณ์อันงามทั้งหลายมีอิทธิพลมาก สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จึงเป็นกาม แต่สำหรับผู้ที่หมดกิเลสแล้ว ไม่มีอิทธิพลที่จะให้จิตเกิดอกุศลธรรม หรือเป็นสภาพจิตที่เศร้าหมองได้ แต่ว่าความกำหนัดที่พร้อมไปด้วยความดำริ เป็นกามของบุรุษ

    ในขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ไม่เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้คิดเป็นไปได้ไหม ทันทีที่เห็น คิดแล้ว ดำริหรือว่าตรึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ความกำหนัดที่พร้อมไปด้วยความดำริเป็นกามของบุรุษ ไม่ใช่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่ามีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน เกิดความคิดยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น เพราะฉะนั้น ความพอใจย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับความดำริซึ่งเป็นกามของบุรุษ

    เทวดากล่าวต่อไปว่า

    อารมณ์อันงามทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในโลกอย่างนั้นนั่นแหละ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมกำจัดฉันทะในอารมณ์ทั้งหลายนั้นโดยแท้

    ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็ตาม สภาพธรรมที่ปรากฏก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างนั้น อารมณ์อันงามทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในโลกอย่างนั้นนั่นแหละ ต้นไม้ดอกไม้ที่สวยๆ ก็ยังคงสภาพธรรมเป็นต้นไม้ดอกไม้อย่างนั้น แต่ว่ากระทบกระเทือนจิตใจของใคร สำหรับพระอรหันต์ แม้ว่าท่านจะเห็นสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลกตามปกติ ตามสภาพธรรมของธรรมนั้นๆ จิตของท่านก็ไม่เป็นอกุศล แต่ว่าสภาพธรรมนั้นๆ อย่างเดียวกันนั้นแหละ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมกระทบกระเทือน ทำให้จิตใจหวั่นไหวเป็นอกุศลเกิดขึ้น

    เทวดากล่าวต่อไปว่า

    บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกถึงบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป

    สำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป แต่ว่าสำหรับท่าน ยังเกี่ยวข้องอยู่หรือเปล่าในนามรูป ขณะนี้นามธรรมรูปธรรมทั้งนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย แต่ว่าทุกวันนี้ท่านยังเกี่ยวข้องกับนามรูปหรือเปล่า โดยสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่เมื่อปัญญาไม่รู้ว่า เป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะ ก็มีตัวท่านเกี่ยวข้องอยู่กับนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ มีความเป็นตัวตน เวลาเห็น ไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา กลายเป็นเกี่ยวข้องกับนามรูปที่เห็น เป็นตัวท่านที่เห็น และเป็นคนอื่นที่ท่านเห็น นี่คือ การเกี่ยวข้องกับนามรูป ทันทีที่ได้ยินไม่ได้รู้เสียแล้วว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้เสียง ไม่ใช่ตัวตน และเสียงก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

    ถ้าในขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นไม่เกี่ยวข้องกับนามรูป แต่ในขณะใดที่ได้ยินก็เป็นตัวท่านที่ได้ยินเสียงคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็มีตัวท่านไปเกี่ยวข้องกับนามรูป ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม ไม่ควรเลยที่จะไปเกี่ยวข้อง ไปยึดถือกับนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นและก็ดับไป แต่ความเห็นผิดว่า มีตัวตน ทำให้เกี่ยวข้องกับนามธรรมและรูปธรรม

    เทวดากล่าวต่อไปว่า

    ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกถึงบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ขีณาสวภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว ไม่ติดมานะแล้ว ได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้เสียแล้ว พวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ในสวรรค์ทั้งหลายก็ดี ในสถานเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ดี เที่ยวค้นหา ก็ไม่พบขีณาสวภิกษุนั้น ผู้มีเครื่องผูกอันตัดเสียแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา ฯ

    นี่สำหรับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่ตัดตัณหาในนามรูปนี้เสียแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปรินิพพานไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ หรือว่าในโลกอื่น ในสวรรค์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวง จะไปเที่ยวค้นหาสักเท่าไรก็ย่อมจะไม่พบผู้ที่ตัดเครื่องผูกขาดเสียแล้ว

    เวลานี้สำหรับท่านซึ่งเกี่ยวข้องกับนามธรรมและรูปธรรมด้วยความยึดถือว่า เป็นตัวตน ไม่ได้ตัดความเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นเลย แสดงว่ามีเครื่องผูกมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และก็ผูกอยู่เรื่อยๆ น่ากลัวไหม ขณะนี้กำลังผูกอยู่ ถ้าปัญญาไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อเกี่ยวข้องกับนามธรรมและรูปธรรม ก็ผูกอยู่กับนามธรรมและรูปธรรมนั้น ยากที่จะตัดได้ เพราะต้องตัดด้วยปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็ไม่ควรท้อถอย เพราะอบรมเจริญให้ปัญญาคมกล้าขึ้นได้

    ข้อความต่อไป

    ท่านโมฆราชกล่าวว่า

    ก็หากว่า พวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็น พระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้ขีณาสวภิกษุนั้นผู้พ้นแล้วอย่างนั้น

    ดูกร ภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น รู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง ฯ

    เริ่มตั้งแต่การไหว้ที่ถูก และเมื่อรู้ธรรมนั้นแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้ว ย่อมเป็นผู้ล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้องได้ในที่สุด

    ถ. โสฬสกิจคืออะไร

    สุ. การรู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ตั้งแต่ความเป็นพระโสดาบันบุคคลจนถึงความเป็นพระอรหันต์

    โสดาบันบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ สกทาคามีบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ อนาคามีบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ อรหันตบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ รวมเป็น ๑๖

    ถ. ถ้าบุคคลปฏิบัติผิดพลาด ในภายหน้าจะได้รับผลอย่างไรบ้าง

    สุ. ผลก็คือ การไม่พ้นทุกข์

    ถ. อะไรเป็นมูลเหตุให้เกิดศาสนา

    สุ. ศาสนา หมายความถึงคำสอน คำสอนมีหลายอย่าง คำสอนบางอย่างก็เกิดจากการคิดนึกตรึกตรองและก็สอน แต่คำสอนบางอย่างเกิดจากการประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. วิธีปฏิบัติให้หลุดพ้นจากโลก จะปฏิบัติอย่างไร

    สุ. อย่างที่กำลังกล่าวถึง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ. คำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนมากที่สุด สอนเรื่องอะไรบ้าง

    สุ. การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ถ. อรูปาวจรวิบากเป็นผลของอรูปวจรกุศลนั้น เป็นผลอย่างไรบ้าง

    สุ. เกิดในอรูปพรหมภูมิ

    ถ. อรูปาวจรกิริยาเป็นของพระอรหันต์พรหมนั้น พระอรหันต์ที่เป็น อรูปพรหมมีหรือ

    สุ. มี

    ถ. เราจะเอาธรรมมาคู่ชีวิตได้อย่างไร

    สุ. ก็ศึกษาให้เข้าใจ จนกระทั่งไม่หลงลืมธรรม

    ถ. ขณะที่เจริญสติครั้งแรกๆ คนที่เจริญสติจะรู้ว่า เมื่อเจริญสติไปนานๆ จะรู้สึกการผิดพลาด คือหมายถึงอินทรีย์ไม่สมส่วน ดิฉันพูดไม่ถูก คือ บางครั้งสมาธิมากไป บางทีปัญญามากไป บางทีวิริยะมากไป แต่สติมากๆ ก็ดี ทีนี้ถ้าหากว่าคนที่เจริญสติ เจริญสติมากไป พยายามที่จะแก้ไขตัวเอง อย่างนี้เป็นของผิดปกติไหม

    สุ. ที่จะไม่ผิดปกติ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามปกติตามธรรมดาอย่างนี้ จึงจะไม่ผิดปกติ

    ถ. ก็ครั้งแรกยังไม่เข้าใจ ไปจดจ้องมาก

    สุ. ขณะที่กำลังจดจ้อง ไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าผิดปกติไปแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ได้ฟังบ่อยๆ จะทราบว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องไม่ผิดปกติ ถ้าไม่ระลึกรู้สภาพธรรมในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นการผิดปกติ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบอย่างนี้ ก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน การอบรมเจริญปัญญา เป็นการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันจริง ๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564