แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615


    ครั้งที่ ๖๑๕


    ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่า ฉันทะเป็นเหตุให้เกิดขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ผมฟังแล้วรู้สึกว่า ฉันทะนี่น่ากลัวเหลือเกิน ขอให้อาจารย์แนะนำวิธี หรือมีเคล็ดลับอะไรที่จะกำจัดฉันทะให้ออกไป มีไหมอาจารย์

    สุ. ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าปัญญายังไม่เกิด จะไปกำจัดฉันทะ ไม่มีหนทางเลย

    ถ. ....

    สุ. ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อไรรู้ เมื่อนั้นละ หรือกำจัดฉันทะได้ เวลานี้ยังไม่รู้เลยว่ากำลังมีฉันทะอยู่ จะละฉันทะได้อย่างไร ที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้มีฉันทะอยู่ คือ สติระลึก และรู้ว่ามีฉันทะ มีความพอใจ ซึ่งขณะนั้นเห็นว่า เป็นเราหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว นั่นแหละคือฉันทะ มีความพอใจแล้ว เพราะฉะนั้น วิธีที่จะกำจัดฉันทะ คือ ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะละฉันทะซึ่งเคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    ถ. ฉันทะที่เป็นความพอใจในกุศล ในการเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้เกิดขันธ์ ๕ หรือไม่

    สุ. ยังเกิดอยู่ จนกว่าจะดับเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันบุคคลยังมีขันธ์ ๕ พระสกทาคามีบุคคลก็ยังมีขันธ์ ๕ พระอนาคามีบุคคลก็ยังมีขันธ์ ๕

    ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดที่ระลึกรู้ มีโลภมูลจิตเป็นอารมณ์ เมื่อโลภมูลจิตเกิดขึ้น มีสติระลึกรู้โลภมูลจิตนั้น จิตในขณะนั้นยังมีโลภะอยู่หรือไม่

    สุ. ขณะใดที่สติเกิดกับจิตใด จิตนั้นเป็นโสภณะ เป็นกุศลจิต จะมีโลภะเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นไม่ได้ แต่โลภะปรากฏให้รู้ เพราะว่าโลภะเกิดกับจิตอื่นซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก

    ถ. หมายความว่า ขณะใดมีสติรู้โลภะ ขณะนั้นก็ ...

    สุ. ก็ปรากฏเป็นอารมณ์ให้สติรู้ได้

    ถ. แต่จิตในขณะนั้นไม่ใช่โลภะแล้ว

    สุ. จิตที่เกิดกับสติจะมีโลภะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย โลภะเกิดกับอกุศลจิต สติเกิดกับกุศลจิต ไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน

    ถ. อยู่กันคนละส่วนแล้ว และสติที่จะระลึกรู้สภาพของโลภะ สภาพของโลภะยังปรากฏอยู่หรือเปล่า

    สุ. ต้องปรากฏ เหมือนขณะนี้กำลังเห็น สติไม่ได้เกิดกับจักขุวิญญาณ แต่มีจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นให้รู้ ให้ระลึกได้ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังเห็น

    ถ. จักขุวิญญาณก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่โลภะดับไปแล้ว

    สุ. โลภะเกิดขณะเดียวหรือ

    ถ. แสดงว่า เกิดสลับกับกุศลที่เป็นสติ

    สุ. แน่นอน เหมือนทางตาที่กำลังเห็นนี่ ทางตานี่ก็กำลังเกิดดับ ถ้าไม่ดับ กุศลจิตที่จะระลึกรู้ก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก และก็ยังปรากฏให้สติระลึกรู้ได้

    ถ. ตอนเช้าที่ผมจะมานี่ พอนึกคิดว่า จะมาที่วัดบวรนิเวศ กำลังคิดนั่นเป็นนามใช่ไหม

    สุ. สภาพที่คิดเป็นนามธรรม

    ถ. ถ้าระลึกรู้ว่า ไม่ใช่ผมคิด ก็ดับไปหมดแล้ว แปลว่าวางหรือยัง เพราะ ดับไปหมดแล้ว ตัวผมก็ไม่เกี่ยวแล้ว ไม่ใช่ผมที่นึกคิด

    สุ. ไม่มีตัวตนเลย

    ถ. หมายความว่า ผมจะออกจากบ้าน จะเดิน จะยกเท้า หรือจะเดินมาอย่างไรก็ดี ผมก็ระลึกว่า ที่มานี่มาด้วยมหาภูตรูป ๔ ไม่ใช่ผม ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด อย่าเอาตัวตนไปเกี่ยวข้องกับนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ถ. พอผมมาถึงวัดบวรนิเวศ ก็เห็นพุทธบริษัททั้งหลายใส่เสื้อสีต่างๆ กัน สภาพที่เห็นก็คงจะเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ใช่ผมเห็น ใช่ไหม

    สุ. ค่ะ

    ถ. ถ้าเป็นอย่างนั้น ...

    สุ. มีการเห็นแน่นอน

    ถ. ธรรมของพระพุทธองค์ละเอียดมาก คำว่าละเอียดมาก ผมก็มาคิดอีกครั้งว่า ถ้ายากเสียเหลือเกิน ท่านอาจารย์มาบรรยาย ใครจะฟัง ผมก็คิดอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าไม่มีคนรู้คนเข้าใจเสียเลย ใครจะมาฟังและมาสนทนากับอาจารย์ ตกลงพอผมมายืนที่นี่ เห็นอาจารย์ พอระลึกรู้ ก็คงไม่มีอาจารย์ ที่ผมยืนนี่ ก็คงไม่ใช่ผมอีกแล้ว

    สุ. ขอประทานโทษ การเห็นมี การเห็นเป็นสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าการเห็นไม่มี ก็จะไม่มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อการเห็นมี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น การเห็นนั้นหรือจะเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ ในเมื่อดับไปแล้ว การเห็นเมื่อครู่นี้ดับไปแล้ว ไม่ใช่ตัวตน โลภะเกิดขึ้น และก็ดับไปแล้ว

    แต่ถ้าเป็นคน มีชื่อต่างๆ ใช่ไหม คนนี้ชื่ออะไร คนนั้นชื่ออะไร แต่สภาพธรรมมีชื่อไหม สุขเวทนาชื่ออย่างนั้น สุขเวทนาชื่ออย่างนี้ โลภะชื่ออย่างนั้น โลภะชื่ออย่างนี้ มีไหม สภาพปรมัตถธรรมเป็นปรมัตถธรรมแท้ๆ สุขก็เป็นสุข ทุกข์ก็เป็นทุกข์ แต่ว่าพอเป็นคนขึ้นมา ก็กลายเป็นชื่อต่างๆ แต่โดยสภาพธรรมที่แท้จริงไม่มีชื่อ สุขเวทนาก็เป็นสภาพลักษณะของสุขเวทนา ทุกขเวทนาก็เป็นลักษณะสภาพของทุกขเวทนา การเห็น สภาพเห็นก็เป็นสภาพปรมัตถธรรม เป็นการเห็น ไม่ควรจะเป็นชื่อเลยใช่ไหม แต่พอมีความดำริ การตรึก การเกี่ยวข้องกับนามธรรม ถือว่าเป็นตัวตน ก็เกิดชื่อต่างๆ ขึ้น

    ถ. โสตปสาท เสียงกระทบ ตอนนี้ต้องระลึกหรือเปล่า

    สุ. ไม่มีใครบังคับ อบรมเจริญ

    ถ. ถ้าเกิดแล้วดับ ก็เป็นรูปธาตุ ใช่ไหม

    สุ. ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อะไรกำลังปรากฏ รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ. พอรู้แล้ว ก็ต้องดับ ตกลงว่าตอนที่ผมระลึก ก็ไม่ใช่ผม ตอนพูดนี่ก็คงไม่ใช่ผม

    สุ. ระลึกอะไร ที่ว่าเดี๋ยวก็ดับๆ อะไรก็ไม่ทราบสักอย่างเดียว ระลึกแล้วดับๆ แต่ไม่ได้รู้ว่าลักษณะอะไรปรากฏให้ระลึกรู้ ที่กำลังระลึกที่จะรู้นั้น รู้ในอะไร ต้องมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้

    ถ. ที่จะระลึกรู้ ระลึกรู้เรื่องของธาตุ หรือผัสสะเรากระทบ

    สุ. เป็นชื่อทั้งหมด แต่การระลึก ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ มีลักษณะปรากฏให้ระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังเห็นว่าเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นชื่อว่า ยังไม่ได้รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น

    ถ. ขอขอบพระคุณ

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องระลึก ทางตา ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้ได้จริงๆ ว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ นั้น ความจริงแล้วเมื่อปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น และขณะที่กำลังเห็นนี้ ก็ต้องระลึกจนกว่าจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ และถ้าไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ก็ไม่ใช่ สติปัฏฐาน

    โลภะจะเกิด เป็นสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ปัญญาสามารถที่จะรู้ในลักษณะของโลภะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เกิดความรู้ขึ้น จึงจะประจักษ์การดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ อย่างทางตา ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่า นามธรรมไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา สภาพรู้เป็นธาตุรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าปัญญายังไม่สามารถรู้ชัดอย่างนี้ อะไรจะดับ จะกล่าวว่าประจักษ์การดับของอะไรไม่ได้ เพราะว่าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังเห็น จึงยังไม่รู้ว่าการเห็นดับ

    ปัญญาต้องประจักษ์ในสภาพของรูปธรรมที่ปรากฏ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงจะประจักษ์ว่า รูปธรรมนั้นดับ ต้องแยกกันว่าอะไรดับด้วย เห็นดับ หรือว่ารูปที่ปรากฏทางตาดับ แต่ถ้าความรู้ยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจน ไม่สามารถที่จะรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่ต้องห่วงกังวลอะไร นอกจากระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ พิจารณา ศึกษา สังเกต สำเหนียก ซึ่งในขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกแล้ว และก็เป็นความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด

    นี่คือความหมายของไตรสิกขา ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะที่กำลังระลึก คือ ศึกษาเพื่อที่จะให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ. ชอบอาจารย์บรรยาย เป็นความชอบ เป็นโลภะใช่หรือเปล่า

    สุ. การที่จะกล่าวว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติไม่เกิด แยกไม่ออก เพราะว่าเกิดดับสลับกันเร็วมาก ตั้งแต่ท่านมาฟังธรรมจะกล่าวว่ามีแต่กุศลจิตโดยตลอด เป็นไปไม่ได้ เป็นโลภะโดยตลอดก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อะไรจะแยกได้ ขณะไหน ในเมื่อสภาพธรรมที่เกิดก็ดับไปแล้วอย่างรวดเร็ว และก็สลับกันด้วย เพราะฉะนั้น ที่จะแยกได้จริงๆ ก็เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกทันทีจึงรู้ว่า เป็นลักษณะของโลภะ หรือว่าเป็นลักษณะของกุศล และเวลาที่เกิดสติระลึกแล้วรู้ นั่นเป็นกุศล

    ถ. ถ้าฟังเพลิน ก็คล้ายๆ กับฟังเสียงเพลง ก็เป็นอกุศล

    สุ. ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นอกุศล สติเท่านั้นที่จะแยกได้ เวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นว่า การทำอย่างนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บอกไม่ได้ เพราะว่าสภาพของจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ย่อมมีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิตเกิดสลับกัน แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดขึ้น สามารถที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล เป็นความผ่องใส เป็นความสะอาด ไม่เจือปนด้วยโลภะ เพราะถ้าเป็นอกุศล ลักษณะของโลภะก็อย่างหนึ่ง ลักษณะสภาพของจิตที่ผ่องใส สะอาด เป็นศรัทธา ปราศจากอกุศล นั่นเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมนี้ใกล้เคียงและละเอียดมาก โลภะกับศรัทธา มีลักษณะที่คล้ายคลึงใกล้เคียงกันมาก แต่ว่าลักษณะหนึ่งหนัก เป็นอกุศล เป็นความพอใจ ถ้าไม่เทียบกับกุศลจะไม่รู้ในลักษณะสภาพธรรมที่หนัก ที่เป็นอกุศลเลย แต่ว่าขณะใดที่เป็นกุศลจิตปราศจากโลภะ จะเบา และใสสะอาด ถ้าเริ่มสังเกตรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ใสสะอาด เบาจากโลภะ ขณะนั้นทราบได้ว่า เป็นกุศล เป็นศรัทธา

    บางคนมีโลภะมาก และมีศรัทธาด้วย ซึ่งถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานจะแยกไม่ออกเลย อาจจะเข้าใจว่าตัวท่านมีศรัทธามาก เข้าใจว่าเป็นกุศลหมด แต่ตามความจริงแล้ว ถ้าสติไม่เกิด ไม่เทียบเคียงสภาพที่หนักด้วยโลภะ กับสภาพที่เบา สะอาด ใสปราศจากโลภะที่เป็นกุศลจริงๆ จะไม่รู้ความต่างกันเลย

    สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วเหลือเกิน วันหนึ่งเมื่อปัญญาคมกล้าขึ้น ก็สามารถที่จะแยกรู้ชัดในสภาพธรรมแต่ละอย่างออกจากกันได้ ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของศรัทธาออกจากโลภะได้ จะละโลภะได้อย่างไร ก็ไม่มีหนทางที่จะดับโลภะ เพราะไม่รู้ลักษณะของโลภะ แต่เมื่อปัญญาสามารถที่จะแยกลักษณะของศรัทธาและโลภะออกจากกันได้ ก็สามารถที่จะดับโลภะได้ เพราะรู้ว่าโลภะนั้นต่างกับศรัทธา

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งวันหนึ่งปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้ง แทงตลอดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ. ทำอย่างไรตัวตนจึงจะไม่เกิดได้

    สุ. แนะวิธีที่จะใช้ได้ในวันนี้และดับตัวตนเลยหรือ คิดหรือว่าจะมีวิธีที่จะดับได้ในวันนี้

    ถ. ....

    สุ. วันหน้าดับได้แน่นอน แต่จะเป็นวันไหน ก็ต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จะไม่มีความอดทนได้อย่างไร ในเมื่อตัวท่านเองสะสมกิเลสมามากมายเหลือเกิน และก็จะให้คนอื่นหาวิธีที่จะดับให้ได้ในวันนี้หรือว่าอย่างรวดเร็ว ก็วิธีนี้แหละที่แสดงอยู่ว่าเป็นทางเดียวเท่านั้น คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นและรู้ชัด

    ถ. ขณะที่มีสติระลึกรู้ว่ายังเป็นตัวตนอยู่ จะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    สุ. สติ คือ สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นคำตอบสำหรับให้ตัวท่านเจริญปัญญารู้สติของท่านเอง ว่าเป็นสติจริงๆ หรือเปล่า ขณะที่สติเกิด คนที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า เป็นสติที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ หรือเปล่า คนอื่นตอบไม่ได้ ทางตา อะไรกำลังปรากฏ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน คือ ระลึก ศึกษา รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้นเป็น สติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ. โกรธนี่เป็นอกุศล ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    ถ. ขณะที่ระลึกว่าโกรธ เป็นกุศลหรือยัง มีสติระลึกรู้ต่อจากโกรธ รู้สึกว่า สภาพโกรธที่เกิดขึ้น เดือดร้อนใจ ระลึกรู้สภาพความเดือดร้อนใจอย่างนั้น และสติระลึกรู้ตรงตามความเป็นจริง ตรงตามสภาพที่เป็น ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือยัง

    สุ. ก็ต้องรู้อีก ตอนหลังก็จะทราบได้ว่าเป็นกุศลหรือเปล่าที่ระลึกถึงความโกรธ เพราะว่าความโกรธเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนรู้ เหมือนความอ่อน หรือความแข็ง ถามว่าอ่อนหรือแข็ง ทุกคนตอบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ตอบว่าอ่อนหรือแข็งนี้ เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าการรู้สิ่งที่ปรากฏเป็นเรื่องธรรมดา วันหนึ่งๆ ใครโกรธ คนนั้นก็รู้ตัวว่าโกรธ แต่เป็นตัวตนหรือเปล่าที่โกรธ

    ถ. ขณะโกรธเป็นตัวตน

    สุ. ถ้าศึกษาในขณะที่สภาพโกรธปรากฏ รู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นั่นแหละเป็นสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมให้เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็ต้องตรงต่อความเป็นจริงว่ายังไม่ใช่ปัญญา ถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องตรงต่อความเป็นจริงว่ายังไม่รู้ เมื่อรู้ว่ายังไม่รู้ จึงอบรมเพื่อให้รู้ แต่คนที่เข้าใจว่ารู้แล้ว จะไม่อบรมเลย เพราะคิดว่ารู้แล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีวันที่จะรู้ ถ้าเข้าใจอย่างนั้น

    ถ. สภาพธรรมทางตา อย่างผมเห็นอาจารย์ ก็รู้หมดว่า เป็นอาจารย์ เป็นผู้หญิง รู้หมดเลย เป็นตัวตน แต่ถ้าผมจะไม่ใส่ใจในตัวอาจารย์ หรือไม่ใส่ใจในชื่อ แต่ใส่ใจในสภาวลักษณะที่ปรากฏ จะเป็นวิธีที่ถูกไหม

    สุ. ต้องอบรมเจริญความรู้ขึ้น ทางตาที่กำลังเห็นตามปกตินี้ เห็นอะไรก็ได้ ให้เป็นความรู้ ระลึกได้ที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ สภาพรู้ เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ศึกษาเดี๋ยวนี้ในธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือคำแนะนำ ศึกษาเดี๋ยวนี้ในธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    . ที่อาจารย์บรรยายมา ยังมาถามกันมากมาย ตามความคิดของผม ฟังอาจารย์เปรียบเหมือนมาโรงเรียน อาจารย์ให้การบ้านไป ก็ไปเก็บ ไปเที่ยวเสีย ไม่ตรึกตรอง สอนอย่างนี้ก็ควรไปตรึกตรองต่อเอง ไปทำการบ้าน แต่คุณไม่ทำกันเลย แล้วจะรู้ได้อย่างไร ต้องไปทำการบ้าน ไปตรึกตรอง ตำราก็มี ฟังอาจารย์บรรยาย ออกจากห้องไปก็ลืมหมด กลับไปนี่ ก็ไม่ได้ทำการบ้าน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564