แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
ครั้งที่ ๖๑๙
ทั้ง ๕ ประการนี้ พุทธบริษัทควรพิจารณาว่า ท่านเลื่อมใสบุคคลใดเพราะเหตุ ๕ ประการนี้ หรือเพราะปัญญาที่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะถ้าเป็นเพียงเพราะเหตุ ๕ ประการนี้ ไม่ต้องเป็นพุทธบริษัทก็ได้ นักบวชใดๆ ทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นผู้สันโดษในการบริโภค ในเครื่องนุ่งห่ม ในการแสวงหาปัจจัย ในการเป็นผู้ที่สันโดษในที่อยู่ ในการเป็นผู้ที่ชอบสงัด เพราะว่าบรรพชิตทั้งหมดชอบสงัด จึงได้เป็นบรรพชิต
เพราะฉะนั้น ถ้าเพียง ๕ ประการนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาหรือรู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ทรงแสดงเพื่อให้พุทธบริษัทเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างไร
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหารเพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งโกสะก็มี เพียงเท่าเวลุวะ (จุในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี ส่วนเราแล บางครั้งบริโภคอาหารเสมอขอบปากบาตรนี้ก็มี ยิ่งกว่าก็มี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อยไซร้ บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียงเท่าโกสะหนึ่งบ้าง เพียงกึ่งโกสะบ้าง เพียงเท่า เวลุวะบ้าง เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่
ถ้าจะวัดระดับความประพฤติ ความเป็นอยู่ เพียงด้วยการบริโภคอาหารน้อย และก็จะเคารพ นอบน้อม สักการะ ผู้ที่บริโภคน้อยกว่าพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมไม่เคารพ นอบน้อม บูชาพระองค์ เพราะว่าบางครั้งพระผู้มีพระภาคก็เสวยพระกระยาหารเสมอขอบปากบาตรก็มี ยิ่งกว่าก็มี
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร อุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวกของเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมอง เธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นผ้าสังฆาฏิใช้ก็มีอยู่ ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น ระกะด้วยเส้นด้ายมั่นคง มีเส้นด้ายเช่นกับขนน้ำเต้า (มีเส้นด้ายละเอียด) อุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ไซร้ และทรงสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ทรงผ้าบังสุกุล ใช้จีวรเศร้าหมอง เลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นผ้าสังฆาฏิใช้ ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่
ดูกร อุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ไซร้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ยินดีในภัตตาหารทั้งสูงทั้งต่ำ เธอเหล่านั้น เมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วนเป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ยินดีในภัตตาหารทั้งสูงทั้งต่ำ เมื่อเข้าไปยังละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดี ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่.
ดูกร อุทายี สาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ไซร้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเราถือโคนไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้นไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทาทั้งข้างในข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือน ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่
ดูกร อุทายี สาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรา ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านี้ย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางคราวก็อยู่เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัดไซร้ บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าชัฏอยู่ มาประชุมในท่ามกลางสงฆ์เฉพาะเวลาสวดปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน ก็จะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรมนี้ แล้วพึ่งเราอยู่
อุทายี สาวกทั้งหลายจะไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราโดยธรรม ๕ ประการนี้ แล้วพึ่งเราอยู่ ด้วยประการฉะนี้
ดูกร อุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่น อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกร อุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในเพราะอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง อุทายี ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราสรรเสริญในเพราะอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง นี้แล ธรรมข้อที่หนึ่ง อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่
เป็นอย่างนี้หรือเปล่า
อธิศีล หมายความถึง พร้อมด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง หมายถึงว่า การรักษาศีลตามพระวินัยบัญญัติ โดยที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ศีลนั้นก็เป็นเพียงศีล แต่ไม่ใช่อธิศีลสิกขา
เพราะฉะนั้น สาวกที่เข้าใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสรรเสริญ พระผู้มีพระภาคไม่ใช่ในเพราะศีลโดยที่ปราศจากสติ แต่เพราะในอธิศีล คือ ศีลอย่างยิ่ง
พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ยาว ซึ่งจะเตือนท่านผู้ฟังในยุคนี้ และในยุคต่อๆ ไปให้พิจารณาถึงความนอบน้อมสักการะในธรรมว่า ธรรมที่ท่านนอบน้อมสักการะนี้ เป็นธรรมที่ควรนอบน้อมสักการะถูกต้องแล้วหรือยัง เพราะว่าโดยอาหารหรือโดยเสนาสนะแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธบริษัท ถ้าท่านเพียงแต่จะนอบน้อมในผู้ที่สามารถจะอยู่ในที่สงัด หรือเป็นผู้ที่บริโภคอาหารน้อย เป็นผู้ที่มีความสันโดษในจีวรและแสวงหาบิณฑบาต
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราย่อมสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์ อุทายี ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงธรรมไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์ อุทายี นี้แล ธรรมข้อที่สอง อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา แล้วพึ่งเราอยู่
ท่านผู้ฟังเคารพ นอบน้อม สักการะท่านผู้ใด เพราะท่านผู้นั้นแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่งหรือเปล่า หรือว่ามิใช่แสดงเพื่อความรู้ยิ่ง
การฟังธรรม จะเห็นได้ว่า บางทีไม่ได้เป็นไปในเรื่องของสภาพธรรมเพื่อให้รู้ยิ่งในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น จะเคารพ สักการะ นอบน้อมเพราะเหตุใด ก็ต้องเป็นไปในเหตุอื่น แต่สำหรับสาวกของพระผู้มีพระภาค นอบน้อม เคารพ สักการะในพระผู้มีพระภาค เพราะความรู้เห็นที่แท้จริง ซึ่งเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง
บางท่านฟังธรรมแล้ว ไม่ได้เกิดความรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ ตรงกันข้าม เกิดความไม่รู้มากขึ้น แม้ในการปฏิบัติซึ่งกล่าวว่าเป็นการอบรมเจริญภาวนา ซึ่งความหมายของภาวนา คือ การเกิดขึ้นของปัญญา แต่เมื่อไม่ได้อบรมปัญญา เวลาปฏิบัติไปๆ ก็เป็นความไม่รู้ขึ้นๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ และบางท่านก็เข้าใจว่า เป็นความอัศจรรย์มาก สิ่งปรากฏแปลกๆ ประหลาดๆ ผิดปกติ ท่านเห็นว่าเป็นความน่าอัศจรรย์
แต่สำหรับธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งสาวกทั้งหลายของพระองค์สรรเสริญ เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์
อัศจรรย์ในที่นี้ คือ ปัญญาสามารถจะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลัง เกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ได้ นี่คือความอัศจรรย์ยิ่ง เพราะว่าเป็นความอัศจรรย์ที่เป็นธรรมที่มีเหตุ เหตุกับผลต้องตรงกัน ไม่ใช่อัศจรรย์โดยปฏิบัติไปก็ไม่รู้ว่านี่อะไรเกิดขึ้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมรู้สึกเหมือนตัวลอยขึ้นไป แต่ตามความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย นั่นไม่ใช่ความอัศจรรย์ ความอัศจรรย์ต้องเป็นปัญญา ที่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ จึงจะเป็นความอัศจรรย์ตามเหตุตามผล
ต่อไปเป็นข้อที่ ๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราย่อมสรรเสริญในเพราะปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันยิ่ง ข้อที่ว่า พระสมณโคดมจักไม่ทรงเล็งเห็นทางแห่งถ้อยคำอันยังไม่มาถึง หรือจักทรงข่มคำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการข่มได้ด้วยดีพร้อมทั้งเหตุไม่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ อุทายี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาวกทั้งหลายของเรา เมื่อรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จะพึงคัดค้านถ้อยคำให้ตกไปในระหว่างๆ บ้างหรือหนอ
สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ไม่มีเลย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุทายี ก็เราจะหวังการพร่ำสอนในสาวกทั้งหลายก็หาไม่ สาวกทั้งหลายย่อมหวังคำพร่ำสอนของเราโดยแท้ อุทายี ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราสรรเสริญในเพราะปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง ข้อที่ว่า พระสมณโคดมจักไม่ทรงเล็งเห็นทางแห่งถ้อยคำอันยังไม่มาถึง หรือจักทรงข่มคำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการข่มได้ด้วยดีพร้อมทั้งเหตุไม่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ อุทายี นี้แล ธรรมข้อที่สาม อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่
ข้อที่ ๓ สาวกของพระผู้มีพระภาคสรรเสริญพระองค์ในพระปัญญาอันยิ่ง เมื่อเป็นพระปัญญาอันยิ่งแล้ว ที่จะไม่สามารถแสดงให้คนอื่นได้เข้าใจนั้น เป็นไปไม่ได้ หรือเวลาที่คนอื่นมีความเห็นผิดและมากราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสามารถจะตอบให้เข้าใจแจ่มกระจ่าง ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีพระปัญญาอันยิ่ง ที่จะไม่ทรงเล็งเห็นทางแห่งถ้อยคำอันยังไม่มาถึง หรือจักทรงข่มคำโต้เถียงของฝ่ายอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เป็นการข่มได้ด้วยดีพร้อมทั้งเหตุไม่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ หมายความว่า ไม่ว่าผู้ใดจะมีความเห็นผิด คัดค้านพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยประการใดๆ ก็ตาม ด้วยพระปัญญาอันยิ่งแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถที่จะแสดงธรรมชี้แจงให้บุคคลนั้นได้เห็นว่า ธรรมที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร นี่คือลักษณะของผู้ที่มีปัญญาอย่างยิ่ง
สำหรับข้อที่ ๔
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงทุกขอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ทุกขนิโรธอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา
อุทายี ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขอริยสัจ ... ถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ถามถึงทุกขนิโรธอริยสัจ ... ถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ก็พยากรณ์ให้ ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา นี้แล ธรรมข้อที่สี่ อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660