แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
ครั้งที่ ๖๒๐
ทุกคนมีความทุกข์หรือเปล่า คนละนิดคนละหน่อย หรือว่าคนละมากคนละน้อยก็ตามแต่ แต่ว่าชีวิตที่จะไม่มีความทุกข์เลย เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น สาวกของพระผู้มีพระภาคผู้อันความทุกข์ท่วมทับแล้ว เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค และขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง คือ ทุกขอริยสัจจะ สภาพธรรมที่เป็นทุกข์ หมายความถึงการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งเกิดขึ้นแล้วไม่ดับไป
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ซึ่งมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในขณะหนึ่งขณะใด ทุกข์นั้นก็ต้องเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็มีกรรมมากมายเหลือเกินที่จะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่น ลักษณะอื่นเกิดขึ้นเป็นไปตามกาล เฉพาะกาลๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยของกุศลกรรมที่จะให้ผลทำให้สุขเกิดขึ้น หรือว่าเป็นปัจจัยของอกุศลกรรมที่จะทำให้ทุกข์เกิดขึ้น
แต่ว่าสาวกทั้งหลายอันทุกข์ครอบงำ อันทุกข์ท่วมทับแล้ว เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค และถามถึงอริยสัจธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงพยากรณ์ ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติให้จิตของสาวกเหล่านั้นยินดี หมายความว่าปลดเปลื้องทุกข์ของสาวกได้ เพราะฉะนั้น นี่เป็นธรรมข้อที่ ๔ ซึ่งสาวกทั้งหลายของพระองค์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา และพึ่งพระองค์อยู่
สำหรับประการสุดท้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔
นี่คือข้อปฏิบัติซึ่งสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาค เมื่อได้เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ที่จะไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นไปได้ไหม ถ้าเกิดความรู้ ความเข้าใจในอริยสัจ ๔ โดยสัจจญาณแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต่อจากนั้นก็เป็นการเจริญสัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ และสำหรับบุคคลซึ่งมีการสะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัย ก็ย่อมเจริญธรรมประการอื่นด้วย เช่น วิโมกข์ ๘ หรือแม้ฌาน และอิทธิฤทธิ์ต่างๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ละกิเลส ดับกิเลสได้หมดสิ้นด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นที่สุดของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้สาวกทั้งหลายปฏิบัติตาม ซึ่งสาวกทั้งหลายก็เคารพ สักการะ นับถือ บูชาพระองค์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้
จาก มหาสกุลุทายิสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของพระองค์สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระองค์ และพึ่งพระองค์อยู่ ซึ่งก็มีศาสดาหรือมีครูเป็นจำนวนมากที่สาวกไม่ได้นับถือเคารพโดยแท้จริง แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคนั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง สาวกสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และก็พึ่งพระองค์อยู่โดยการที่ว่า สาวกทั้งหลายนั้นอยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค
สาวกในครั้งโน้นเมื่อฟังพระธรรมแล้ว ก็อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค คือ โดยการมีชีวิตอยู่ด้วยการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น สำหรับสาวกของพระผู้มีพระภาคในสมัยนี้ที่มีชีวิตอยู่ อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า
ถ้าเป็นชีวิตที่อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมจะศึกษา ฟังธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรม โดยการเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และระลึกศึกษา เพื่อรู้ชัดในสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของการฟังธรรมมีมาก แม้ว่าสกุลุทายิปริพาชกจะเป็นปริพาชก เดียรถีย์ ยังไม่ได้เข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยชัดเจน แต่แม้กระนั้นสกุลุทายิปริพาชกก็ยังเห็นประโยชน์ โดยที่แม้ขณะที่สกุลุทายิปริพาชกกำลังสนทนาเดรัจฉานกถาอยู่กับพวกสาวก แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไป และตรัสถามว่า สนทนาอะไรกันค้างอยู่ สกุลุทายิปริพาชกก็ยังใคร่ในการที่จะได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคมากกว่าที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบข้อความเดรัจฉานกถาที่พวกตนสนทนากันอยู่ เพราะฉะนั้น สกุลุทายิปริพาชกจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายประชุมสนทนาเมื่อกี้นี้นั้น ขอ งดไว้ก่อนเถิด เรื่องนั้นพระผู้มีพระภาคจักได้ทรงสดับแม้ในภายหลังโดยไม่ยาก
คือ เรื่องที่สกุลุทายิปริพาชกสนทนากับสาวกเป็นเรื่องที่ใครๆ จะได้ฟังโดยไม่ยาก เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องประจำวัน เป็นเรื่องประจำโลก ซึ่งทุกคนก็สนทนากันอยู่ เวลาที่สนทนากันนี่ ก็สนทนาเรื่องประจำวัน เรื่องธรรมดา เรื่องประจำโลก ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดสติปัญญาสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเรื่องชีวิตธรรมดา ประจำวัน ประจำโลก สกุลุทายิปริพาชกก็เห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับเรื่องที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมให้พวกปริพาชกฟัง
จากข้อความในพระสูตร ถ้าเปลี่ยนชื่อบุคคลในพระสูตรจากสกุลุทายิปริพาชก จากชื่อต่างๆ ในพระไตรปิฎกมาเป็นชื่อในยุคนี้สมัยนี้ ก็เหมือนกันใช่ไหม เวลาที่ข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวถึงบุคคลต่างๆ ชื่อต่างๆ สนทนากันเรื่องต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเวลา ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่พอถึงยุคนี้สมัยนี้เปลี่ยนชื่อในพระไตรปิฎกให้เป็นชื่อสมัยนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ในพระไตรปิฎก ก็เหมือนเหตุการณ์ต่างๆ ประจำวัน ประจำโลก ทุกยุคทุกสมัย
เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ ท่านผู้ฟังแม้ชื่อไม่เหมือนในพระไตรปิฎก แต่ว่าท่านสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ก็ยังคงเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน ประจำโลก เหมือนอย่างพวกที่สนทนากันในพระไตรปิฎก
และถ้าเป็นผู้อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค ก็ย่อมจะมีชีวิตที่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เช่น ตามธรรมดาทุกท่านก็ย่อมจะสนทนากันด้วยเรื่องต่างๆ เวลาที่มีแขกไปหาที่บ้าน ท่านก็มีการปฏิสันถาร คือ มีการต้อนรับด้วยอามิสปฏิสันถาร ด้วยน้ำ ด้วยอาหาร หรือว่าด้วยการสนทนาในเรื่องต่างๆ แต่สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาคนั้น ก็ต้องมีธรรมปฏิสันถารด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็สามารถที่จะพูดถึงเรื่องนั้นให้สอดคล้องกับสภาพธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล ซึ่งเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ธรรมปฏิสันถารนั้น เป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีชีวิตโดยอาศัยพระผู้มีพระภาค ก็ควรที่จะได้ระลึกว่า แม้ในการสนทนา ซึ่งก็สนทนากันอยู่เป็นประจำ ก็ควรที่จะได้มีธรรมปฏิสันถาร เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งผู้พูดและผู้ฟังด้วย เพราะส่วนมากถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่พ้นจากสภาพของนามธรรมและรูปธรรมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกิด ก็น้อมนำมาให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมรูปธรรมในขณะนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความตาย ธรรมปฏิสันถาร ก็สามารถที่จะน้อมเรื่องนั้นไปสู่ธรรม คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็น้อมไปสู่สภาพของธรรม เกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย โดยที่ไม่มีใครทราบแน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันไหน สภาพธรรมทั้งหมดต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น สาวกที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค ย่อมไม่ขาดธรรมทั้งในขณะที่ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือแม้ธรรมปฏิสันถาร ข้อสำคัญ คือ ควรจะเป็นธรรมจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพร้อมทั้งเหตุผลในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นการคิดหรือว่าการคาดคะเนเอาเอง ซึ่งส่วนมากมักจะแสดงความคิดเห็น แม้ในข้อปฏิบัติ โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้ตรงตามพระไตรปิฎก และก็เข้าใจว่า การประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นเป็นหนทางลัดที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เร็วกว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
บางท่านก็กล่าวว่า ทำไมทำให้สติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ยากนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ยากจริงๆ ในการที่จะดับกิเลส ละกิเลสแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเองก็คงไม่ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่อบรมให้เกิดขึ้นได้ เพราะถึงแม้ผู้ที่เป็นสาวกและได้บรรพชาอุปสมบทด้วยศรัทธา แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เมื่อยังไม่ได้บรรลุมรรคผล และมีเหตุทำให้ต้องลาสิกขาสึกไป แต่แม้กระนั้น สาวกเหล่านั้นก็ยังกล่าวสรรเสริญคุณของ พระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ ตามที่สกุลุทายิปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า สาวกของพระผู้มีพระภาคที่มีเหตุทำให้ลาสิกขาสึกไปนั้น ก็เป็นแต่ติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นว่า ถึงพวกเราจักได้มาบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ แต่ไม่อาจจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ ให้บริบูรณ์จนตลอดชีวิตได้ เป็นคนไม่มีบุญ มีบุญน้อยเสียแล้ว สาวกของพระสมณโคดมเหล่านั้น จะเป็นอารามิกก็ดี เป็นอุบาสกก็ดี ก็ยังประพฤติมั่นอยู่ในสิกขาบท ๕ สาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสมณโคดม ด้วยประการดังนี้ และสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่
นี่แสดงให้เห็นถึงความยากที่จะอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะแต่ละชีวิต อาจจะได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผล ก็อาจจะมีเหตุที่ทำให้ลาสิกขา แต่แม้กระนั้นเมื่อได้เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ไม่ติเตียนพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ แต่ติเตียนตนเองว่า เป็นผู้ที่มีบุญน้อยเสียแล้ว ไม่อาจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้โดยส่วนเดียว
สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม และได้เข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมมีปรากฏ แต่ว่าแอบแฝงอยู่ เพราะความไม่รู้ปกปิดไว้ แม้จะทราบว่า นามธรรมเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่น ทางตาในขณะนี้ นามธรรมเป็นสภาพรู้ คือ เป็นสภาพเห็น แม้ว่าจะได้ฟังอย่างนี้ แม้ว่านามธรรมกำลังเห็นอยู่ ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จึงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏให้เห็นได้ แต่เมื่อปัญญายังไม่ได้อบรม ความสงสัยก็ยังมีอยู่ว่า สภาพนามธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้นเป็นอย่างไร
ซึ่งความจริงแล้ว ทั้งหมดจะไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกอยู่ในขณะนี้
ธรรมเป็นสิ่งที่ควรฟังและพิสูจน์ทันที ขณะนี้ทางกาย สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เป็นของจริง เป็นรูปธรรมซึ่งมีลักษณะปรากฏ ส่วนนามธรรมนั้นเป็นสภาพที่กำลังรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้ามีความรู้สึกเย็น เย็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่าเป็นเพียงลักษณะเย็น แต่ในขณะนั้นมีสภาพที่รู้เย็น สภาพเย็นนั้นจึงปรากฏ สภาพที่รู้เย็นนั่นแหละเป็นลักษณะของนามธรรม
เพราะฉะนั้น ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่ากี่ภพ กี่ชาติ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจหน้าที่ตามเหตุตามปัจจัย และก็ดับไป แต่อวิชชา ความไม่รู้ ปกปิดสภาพธรรมที่เป็นของจริงไว้ทั้งหมด
เมื่ออวิชชายังมีเต็ม แม้จะพูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังลิ้มรส ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่กำลังคิดนึก ที่กำลังเป็นสุข ที่กำลังเป็นทุกข์ ที่กำลังจำได้ ที่กำลังเป็นโลภะ ที่กำลังเป็นโทสะ ประการใดก็ตาม อวิชชาก็ปกปิดไว้จนไม่ให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหมดนั้น เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละลักษณะซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตน เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และก็ดับไปจริงๆ
ตราบใดที่อวิชชายังปกปิดอยู่ ก็ยังเกิดความสงสัย ความไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงเสมือนว่า สภาพธรรมที่มีจริงถูกปิดบังแอบแฝงอยู่ ไม่ให้ปรากฏชัดสำหรับผู้ที่ไม่อบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมเหล่านั้น
สภาพธรรมมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะให้ระลึกรู้ ให้พิสูจน์ว่า สภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเมื่อใดที่สติระลึกรู้ ปัญญาเพิ่มขึ้น และอวิชชาลดน้อยลง เมื่อนั้นก็จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น
ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังจากบ้านเลขที่ ๑๕๖๙ ถนนพระราม ๔ สามย่าน ซึ่งคำถามของท่านมีว่า
ในเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น เจ้าที่ พระภูมิ พระพรหม ท่านเหล่านี้มีจริงหรือ ช่วยได้จริงหรือ ถ้าเป็นจริง ทำไมชาติเราไม่เจริญเท่านานาประเทศ (ซึ่งไม่ได้ดูหมอ เข้าทรง แต่เขาเจริญรุ่งเรืองมาก) และถ้าไม่ไหว้ ไม่เซ่น จะมีโทษไหม
การเจริญกัมมัฏฐานเท่าที่ทราบจากญาติ ขนาดไปอยู่ถึงที่ ... พระท่านบอกว่า คนนี้จะปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ดี แต่เมื่อกลับมากลายเป็นคนซึมๆ เงียบๆ อีกรายหนึ่ง แม่ลูกกัน มักไปวัดด้วยกัน เวลานั่งใช้เทียนจุด วันหนึ่งลูกสาวนั่งเองที่บ้าน ไม่ได้มีอาจารย์คุมเหมือนที่วัด เขาว่าใช้เทียนของแม่จุด ไม่ใช่เทียนตัวเอง (แต่อันนี้ดิฉันคิดว่าไม่สำคัญ) ขณะนั่งอยู่เกิดร้องขึ้นมาดังๆ ตั้งแต่นั้นกลายเป็นคนไร้สติ พูดจาไม่รู้เรื่อง อาจารย์ก็บอกให้แม่ไปนั่งกัมมัฏฐานช่วยรักษาลูก แม่ก็กลัวบ้า ลูกจึงบ้าต่อไป
ใคร่ถามว่า การเจริญกัมมัฏฐานทำให้คนเป็นบ้าจริงหรือ และการเจริญกัมมัฏฐานจำเป็นต้องมีอาจารย์คุมทุกครั้งหรือ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรทำได้ทุกที่ ไม่ว่าเวลาใด สถานที่ใด จริงหรือไม่
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้ายังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะทำให้ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดจะปรากฏเป็นความเห็นผิดที่ใหญ่หลวง หรือเป็นโทษ เป็นอันตรายมาก
เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดที่จะเริ่มผิด ก็ต้องผิดไปทีละเล็กทีละน้อยก่อน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๑๑ – ๖๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660