แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623


    ครั้งที่ ๖๒๓


    สำหรับข้อต่อไปที่ท่านถามว่า อีกรายหนึ่งแม่ลูกกัน มักไปวัดด้วยกัน เวลานั่งใช้เทียนจุด

    นี่ก็ไม่มีเหตุผลเลย เจริญปัญญาคืออย่างไร ปัญญารู้อะไร นั่งทำอะไร ใช้เทียนจุดทำไม ถ้าใครปฏิบัติอย่างนี้ จะต้องอธิบายให้ได้เหตุผลว่า ทำไมจึงต้องนั่ง และทำไมจึงต้องใช้เทียนจุด ต้องเป็นความเข้าใจของผู้ปฏิบัติก่อน เมื่อได้เหตุผล จริงๆ จึงสมควรที่จะปฏิบัติ แต่เมื่อไม่มีเหตุผล ไม่มีความเข้าใจว่าทำเพื่ออะไร เพราะฉะนั้น ก็ไม่เกิดปัญญาตั้งแต่ในขั้นต้น โดยการนั่งใช้เทียนจุด และวันหนึ่ง ลูกสาวนั่งเองที่บ้าน ไม่ได้มีอาจารย์คุมเหมือนที่วัด

    ไม่ได้เป็นปัญญาของผู้ปฏิบัติเพื่อให้รู้สภาพธรรม รู้หนทางที่จะให้ปัญญาเกิดเลย และที่นั่งคุม คุมอย่างไร คุมไม่ให้ลุกไปไหน หรือว่าคุมไม่ให้เทียนดับ หรือว่าคุมอะไรก็ไม่ทราบ เพราะเหตุว่าไม่ได้แสดงหนทางข้อปฏิบัติให้แจ่มแจ้งว่า เหตุผลของการกระทำอย่างนั้นคืออย่างไร เพียงแต่บอกว่า ไม่ได้มีอาจารย์คุมเหมือนที่วัด และที่กล่าวว่า ใช้เทียนของแม่จุด ไม่ใช่เทียนของตัวเอง นี่ก็ไม่มีเหตุผลอีกเหมือนกัน เทียนเป็นอย่างไร จุดทำไม ของใคร เพื่ออะไร แต่ท่านเจ้าของจดหมายที่เขียนมาถามคิดว่า นั่นไม่สำคัญ และได้เขียนต่อไปว่า ขณะนั่งอยู่เกิดร้องขึ้นมาดังๆ

    ไม่มีเหตุไม่มีผลเลย ปัญญาอะไรที่จะทำให้ร้องขึ้นมาดังๆ

    ตั้งแต่นั้นกลายเป็นคนไร้สติ พูดจาไม่รู้เรื่อง

    เพราะเหตุว่าไม่ได้อบรมเจริญปัญญา จึงมีโทษมาก ซึ่งถ้าไม่เกิดปัญญาจริงๆ และเข้าใจว่า ก็ดีเหมือนกัน ก็ได้กุศลเหมือนกัน ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ นั่นไม่ใช่กุศลเลย เพราะถ้าเป็นกุศล ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ไม่ว่าจะเป็นกุศลในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของสมถภาวนา หรือในขั้นของวิปัสสนาภาวนา

    เมื่อชื่อว่าเป็นกุศลแล้ว เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ให้ผลเป็นสุข จะไม่ให้โทษ จะไม่ให้ผลเป็นทุกข์ และจะไม่ทำให้ขาดสติ จะไม่ทำให้เสียสติ จะไม่ทำให้เป็นผู้ที่ปราศจากเหตุผล

    และที่ว่า ผู้เป็นอาจารย์ก็บอกให้แม่ไปนั่งกัมมัฏฐานช่วยรักษาลูก ก็ไม่มีเหตุผลอีกเหมือนกัน แม่ก็กลัวบ้า ลูกจึงบ้าต่อไป

    นี่เป็นข้อปฏิบัติซึ่งส่วนมากหลายท่านคิดว่า จะผิดจะถูกอย่างไรก็เป็นกุศล แต่ความจริงแล้วไม่เป็นกุศลเลย ซึ่งผลก็ปรากฏ เห็นโทษจริงๆ ว่า ต้องเป็นเพราะเจริญอกุศล ไม่ใช่เจริญกุศลแน่นอน ผลจึงได้เป็นอย่างนี้

    ท่านผู้ฟังถามว่า การเจริญกัมมัฏฐานทำให้คนเป็นบ้าจริงหรือ

    คำว่า กัมมัฏฐาน ใช้กันมาก แม้แต่ที่ไปนั่งจุดเทียน ก็บอกว่ากัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่ากัมมัฏฐานนั้น ไม่ได้ศึกษาเลยว่า กัมมัฏฐานคืออย่างไร สมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานแตกต่างกันอย่างไร เพราะเหตุใดจึงเจริญวิธีที่ต่างกัน และแต่ละวิธี แต่ละหนทางของการเจริญกัมมัฏฐาน เช่น สมถกัมมัฏฐานนั้นประกอบสมบูรณ์ด้วยเหตุผลอย่างไร เมื่อไม่ศึกษา ปัญญาแม้เล็กน้อยก็ไม่เกิดขึ้น

    เพียงแต่ใช้คำว่า กัมมัฏฐาน แต่เป็นการเจริญอกุศล ผลคือโทษปรากฏ เพราะฉะนั้น เพียงกัมมัฏฐานเท่านั้น ตอบไม่ได้ว่าทำให้คนเป็นบ้าจริงหรือ

    สำหรับผู้ถามเอง เข้าใจความหมายของกัมมัฏฐานแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ และถามเพียงว่า การเจริญกัมมัฏฐานทำให้คนเป็นบ้าจริงหรือ ซึ่งตามเรื่องที่ท่านเล่า ท่านใช้คำว่ากัมมัฏฐาน ผลคือเป็นบ้า และท่านถามต่อไปว่า การเจริญกัมมัฏฐานจำเป็นต้องมีอาจารย์คุมทุกครั้งหรือ นี่เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่ากัมมัฏฐานนั้นเจริญเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่กัมมัฏฐานเป็นกุศลทั้งสิ้น

    สมถกัมมัฏฐานเป็นการสงบระงับจากกิเลส แม้ทางใจ เพราะเหตุว่ากิเลสมีหลายขั้น กิเลสที่สามารถจะกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบซึ่งปรากฏ แต่เวลาที่ไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่กิเลสเกิดแล้ว มีโลภะเกิดขึ้นแล้ว มีโทสะ มีความขุ่นใจ มีความไม่แช่มชื่นของจิตเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่ายังไม่ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา แต่ผู้ที่เห็นโทษก็เห็นว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นโลภะ เป็นโทสะ ปัญญาที่เห็นโทษอย่างนั้น จึงรู้หนทางที่จะสงบจากโลภะ โทสะในขณะนั้น เช่น ถ้าจิตไม่แช่มชื่นและเห็นว่าเป็นโทษเป็นอกุศล เจริญเมตตา ไม่มีความโกรธ ก็เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นโทสะ ผู้ที่มีปัญญาก็เกิดเมตตาแทนความไม่แช่มชื่นของจิต ด้วยปัญญาที่รู้ว่า ความไม่แช่มชื่นแม้เพียงเล็กน้อยนั้นเป็นอกุศล ส่วนเมตตาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกุศล

    การอบรมเจริญสมถะ หรือความสงบของจิต ไม่ใช่ว่าจะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด แต่เป็นเพราะว่าขณะใดที่จิตไม่สงบ และรู้วิธีว่าสภาพธรรมใดตรงกันข้ามกับสภาพที่ไม่สงบในขณะนั้น ซึ่งเมื่อสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามนั้นเกิดขึ้น เช่น ความเมตตาเกิดขึ้นแทนโทสะ ขณะนั้นก็เป็นการอบรมสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน

    ถ้าเมตตาในชีวิตประจำวันไม่เกิด แต่จะไปหาที่สงบๆ เจริญเมตตาสัก ๑๕ นาที ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าทั้งวันเมตตาไม่เคยเกิดเลย สภาพของเมตตามีลักษณะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เป็นกุศลอย่างไร แตกต่างกับขณะที่จิตไม่แช่มชื่นอย่างไรก็ไม่ทราบ

    เรื่องของการไม่ศึกษา เรื่องของการไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถที่จะอบรมกัมมัฏฐานประเภทใดประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสมถกัมมัฏฐาน หรือว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ถูกต้องได้ ก็ไปเจริญอกุศล และก็บอกว่า ไปเจริญกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ผลก็คือ โทษของอกุศลย่อมปรากฏให้เห็น

    และที่ถามว่า การเจริญกัมมัฏฐานจำเป็นต้องมีอาจารย์คุมทุกครั้งหรือ ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจว่า สมถกัมมัฏฐานคืออย่างไร วิปัสสนากัมมัฏฐานคืออย่างไร นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่กุศล ถึงแม้จะใช้คำว่ากัมมัฏฐาน และเมื่อเป็นความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ก็เจริญอกุศลแทนที่จะอบรมเจริญกุศล

    คำถามสุดท้ายของท่านที่ว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควรทำได้ทุกที่ ไม่ว่าเวลาใด สถานที่ใด จริงหรือไม่

    ไม่ใช่เพียงตอบสั้นๆ ว่า จริง แต่จะต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน และพิจารณาเหตุผลให้ถูกต้องว่า ปัญญาขั้นสมถะคืออย่างไร ปัญญาขั้นวิปัสสนารู้อะไร ซึ่งสมถะคือความสงบของจิตนั้น ขณะใดก็ได้ที่ไม่ใช่การเจริญกุศลขั้นทาน ไม่ใช่การเจริญกุศลขั้นศีล เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ขณะนี้ก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้

    ถ. ภาวนามยปัญญานั้น คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ใช่เกิดจากการคิดใคร่ครวญด้วยเหตุผล อาจารย์เคยกล่าวว่า การพิจารณานามรูปก็ดี พิจารณาได้โดยไม่ต้องคิด ผมสงสัยว่า ถ้าเราไม่คิดตาม หรือไม่มีการใคร่ครวญอะไรเลย ไม่มีลักษณะของความคิดในการพิจารณานั้น ผมยังมองไม่ค่อยออก

    สุ. โดยมากเวลาใช้คำว่า ความคิด เรามักจะคิดถึงคำ หรือคิดถึงเรื่อง มีท่านผู้หนึ่งถามว่า คำต่างๆ ที่เราพูดกันทุกวันๆ มีจริงไหม คำต่างๆ นี่มีจริงไหม

    ถ้าไม่มีการระลึกนึกถึงความหมายของคำนั้น คำต่างๆ นั้นก็ไม่มี ทุกครั้งที่นึกถึงคำอะไรก็ตาม ที่คิดว่าคำนี้มี ก็เพราะว่ามีการคิดนึกถึงคำนั้น คำนั้นจึงมี

    คำไม่ใช่สภาพธรรม แต่ว่าการคิดนึกถึงคำเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังคิดนึกถึงคำ ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นสภาพที่สามารถปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏทางหูเป็นเสียงต่างๆ ไม่ใช่คำ ปรากฏทางจมูกเป็นกลิ่นต่างๆ ก็ไม่ใช่คำ ไม่ใช่การนึกถึงคำอีก ปรากฏทางลิ้นก็เป็นรสต่างๆ ปรากฏทางกายก็เป็นเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงไหวบ้าง ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่ไม่ใช่คำ แต่ตามปกติทุกท่านคุ้นเคยกับการคิด ไม่เคยหยุดคิดเลย เวลาเห็นอะไรคิดต่อทันทีถึงสิ่งที่เห็น เวลาที่ได้ยิน ก็คิดถึงเรื่องที่ได้ยิน เวลาที่ได้กลิ่น ก็คิดถึงสภาพของกลิ่นที่ปรากฏ เป็นกลิ่นต่างๆ เกิดขึ้นในความทรงจำ ในความคิดนึก

    เพราะฉะนั้น การเจริญปัญญาไม่ใช่การหยุดคิด และไม่ใช่ว่าความคิดนั้น เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม การอบรมเจริญปัญญาต้องสามารถที่จะแยกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ตามความเป็นจริง การยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จึงจะหมดไปได้

    ต้องเป็นผู้ที่ตรงและละเอียด ต้องรู้ชัดว่า ความคิดขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่เพียงระลึก และศึกษา รู้ในสภาพที่ปรากฏโดยที่ไม่ได้คิด

    ท่านอาจจะคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการศึกษาพิจารณาโดยไม่คิด แต่ขอให้คิดถึงตามความเป็นจริงว่า เวลานี้ท่านเห็นหลายอย่าง ไม่ต้องคิดก็รู้ใช่ไหมว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะความชำนาญในการที่เคยจดจำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไว้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่เห็นรู้เลย อะไรนอนอยู่ที่นั่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเลย แต่ก็รู้ว่าอะไร โดยไม่ต้องคิดถึงคำด้วย ทำไมเป็นไปได้ ทำไมรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญาจริงๆ แม้ไม่คิด แต่เพราะศึกษาจนเป็นความรู้ที่ชำนาญจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้ในลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม และลักษณะของรูปที่ปรากฏโดยที่ไม่ปะปนกัน

    จิตเกิดดับรวดเร็วตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต หรือมหากุศลจิตที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ต้องเกิดดับรวดเร็วเสมอกันหมด เท่ากันหมด แต่ความชำนาญในการที่เคยรู้สิ่งที่ปรากฏโดยความเป็นตัวตน ก็ทำให้ยึดถือและเข้าใจว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นตัวตนอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็ได้ นั่นคือลักษณะสภาพของความเป็นตัวตน เพราะความรวดเร็วของความที่เคยชินและทรงจำไว้ โดยที่ไม่ได้กระจัดกระจาย ไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับ

    ด้วยเหตุนี้ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงต้องอาศัยการฟัง การอบรม มนสิการ และความเข้าใจ เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยที่ไม่ใช่เพียงแค่ขั้นของความคิด และปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

    ถ. ผมสังเกตดู เวทนาทางร่างกายเกิดขึ้นรู้สึกว่า ความเป็นตัวตนจะน้อยกว่าเสียงที่เราได้ยิน เมื่อเสียงที่ได้ยินกระทบหู จะเป็นตัวตนขึ้นมาทันทีว่า นั่นเสียงคนนั้น เสียงคนนี้ หรือรู้เรื่องว่า พูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวทนาที่เกิดความเจ็บความปวด ขณะที่เราพิจารณาก็เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าเราปวด หรือใครปวด รู้สึกว่าจะใกล้เคียงกว่าทางหู ทางตา จะเป็นไปได้ไหม

    สุ. เป็นไปได้ เพราะว่าสภาพธรรมที่กระทบกายเป็นรูปที่กระทบกัน หยาบกว่าทางอื่น

    การจำแนกรูป เป็นรูปที่เห็นได้ ๑ รูป คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา อีก ๒๗ รูป เห็นไม่ได้ ลักษณะของรูปทั้งหมดนี้ต่างกันออกเป็น ๒๘ ลักษณะ เฉพาะรูป คือ สีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นที่สามารถจะปรากฏให้รู้ได้ทางตา เพราะฉะนั้น รูปนี้รูปเดียวใน ๒๘ รูป ที่กระทบได้และเห็นได้

    การกระทบกันของเสียงกับโสตปสาทก็ดี ของกลิ่นกับฆานปสาทก็ดี ของรสกับชิวหาปสาทก็ดี ก็ยังเป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกับอุปาทายรูป ส่วนการกระทบกันทางกาย เป็นการกระทบกันของมหาภูตรูป รูปใหญ่ รูปที่เป็นประธาน เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ก็ดูเหมือนว่า เป็นความชัดเจนที่จะรู้ได้มากกว่าทางอื่น

    แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่ามีกายอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่สติจะระลึกรู้เมื่อไรก็ได้ ไม่เหมือนเสียง และไม่เหมือนสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เพราะถึงแม้ว่าจะหลับตา ทางกายก็ยังกระทบสัมผัสอยู่ ที่ทางกายจะขาดการกระทบสัมผัสนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น สติย่อมน้อมไปสู่การระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กายมากกว่าที่อื่น ทำให้รู้สึกว่า ชำนาญในการที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย

    อย่างเช่น เสียง เข้าใจว่าเป็นรูปแน่นอน เพราะว่าเสียงไม่ใช่สภาพรู้ แต่เสียงเป็นสภาพที่ปรากฏทางหู ความที่เสียงเกิดและหมดไปเร็ว ไม่ได้ปรากฏได้อยู่เรื่อยๆ เหมือนอย่างทางกาย อย่างเสียงเมื่อสักครู่นี้ ก็พอที่จะให้สติระลึกและพิจารณารู้ในลักษณะสภาพของเสียง หรือจะพิจารณาในลักษณะของธาตุที่รู้เสียงในขณะที่กำลังได้ยินก็ได้ สติปัฏฐานมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ดูเหมือนว่า จะยากแก่การที่จะรู้ได้ชัดเพียงไรก็ตาม แต่ว่าสภาพธรรมเหล่านั้น แต่ละลักษณะเป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง พร้อมที่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าขณะนี้สติเกิด ระลึกรู้ทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่ใจร้อน ระลึก ศึกษา ซึ่งหน้าที่ของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ศึกษา ปัญญาที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้นได้ในเมื่อศึกษา เพียรระลึก ศึกษา เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารขณะหนึ่งขณะใด นั่นก็เป็นมหากุศล ซึ่งเมื่อได้สะสมอบรมเจริญมากขึ้น ปัญญาย่อมรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ในวันหนึ่ง ดังเช่น พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะท่านได้อบรม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาจนกระทั่งปัญญาที่รู้ชัดสามารถที่จะเกิดขึ้นได้

    เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ซึ่งต้องเป็นปัญญาจริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญา คือ ไม่ใช่ความสามารถที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่ใช่ปัญญา

    และเมื่อปัญญายังไม่เกิด ก็อาจจะสงสัยว่า ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นจะรู้ได้หรือ แต่รู้ได้ โดยการที่เริ่มศึกษาไปเรื่อยๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางนี้ ทีละเล็กทีละน้อย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564