แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
ครั้งที่ ๖๒๔
ถ. วิตกเจตสิกกับการคิดนึกเหมือนกันไหม
สุ. สภาพลักษณะของวิตกเจตสิกเป็นการจรดในอารมณ์
ถ. ขณะที่นึกคิด ขณะนั้นจะเรียกว่าวิตกเจตสิกได้ไหม
สุ. ที่จรดในคำ
ถ. ตรงนี้รู้สึกว่าจะเข้าใจกันยากมาก ในขณะที่ผู้ปฏิบัติเริ่มต้นปฏิบัติ คือ บางทีมือไปแตะกาน้ำร้อน ขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้เหมือนกันว่าร้อน แต่ขณะที่ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อรู้ว่าร้อนแล้ว ก็มักจะตรึกคิดต่อไปว่า ร้อนนี้เป็นเป็นลักษณะของรูปๆ หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ขั้นแรกๆ ของผู้ปฏิบัติมักจะตรึกไปอย่างนั้น แต่ผู้ที่ตรึกไปอย่างนั้น ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้เลยว่า ที่ถูกนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง อาจารย์ก็ได้เคยกล่าวไว้ว่า เป็นการมนสิการ แต่ถ้าผ่านการปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เป็นปกติยิ่งขึ้น คือ ขณะที่เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ถ้าผ่านการปฏิบัติไปจนกระทั่งสติเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็จะรู้สึกว่า ไม่รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกับการที่สติเกิดขึ้นครั้งแรกๆ และถ้าอบรมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสติเกิดขึ้นวันละหลายครั้งๆ ความตื่นเต้นจะลดน้อยหายไป ความปกติก็จะมีมากขึ้นๆ
ขณะที่มีสติ มีสัมปชัญญะเกิดขึ้น เห็น ก็ไม่ได้ตรึกว่า เห็นนั้น เห็นเพียงสี แต่รู้ว่าลักษณะของการเห็นมี เป็นลักษณะหนึ่งโดยไม่ได้ตรึก ขณะนั้นวิตกเจตสิกก็มีอยู่ในจิตดวงนั้นแล้วใช่ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. วิตกเจตสิกนี่ สังเกตยากเหลือเกิน ในพระอภิธรรมท่านกล่าวไว้ว่า เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น นอกจากนั้นก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย
แต่วิตกเจตสิกนี้ จะสังเกตลักษณะ รู้สึกว่าจะสังเกตยากมาก ทีแรกเข้าใจว่า คิดเป็นวิตกเจตสิก ถ้าขณะนั้นไม่ได้คิด เห็นแล้วรู้เฉยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นเพียงเห็น หรือเป็นเพียงสีเท่านั้น ก็คงจะไม่มีวิตกเจตสิก เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกเกิดขึ้น สังเกตไม่ได้
สุ. อย่าใช้ชื่อ แต่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ ถ้าสิ่งที่ละเอียดจะรู้ก่อนในตอนต้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
อย่างทางตา สภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่แล้ว มีสภาพธรรมปรากฏ มีการเห็นซึ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ สติระลึกและรู้ในลักษณะของสภาพรู้ เพื่อที่จะได้ชินในอาการรู้ ในธาตุรู้ และระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อที่จะให้รู้ว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน โดยเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ บ้างนั้น เป็นความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องค่อยๆ ระลึกรู้ไป เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน ส่วนเจตสิกมีจำนวนเท่าไร เกิดร่วมกับจิตดวงไหน ขณะไหน โดยการศึกษาปริยัติทราบ แต่ว่าสภาพธรรมนั้นจะปรากฏแก่ปัญญาหรือยังนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงไม่ปรากฏ แต่ว่าสามารถที่จะแยกขาดลักษณะนามธรรมและรูปธรรมออกจากกันได้ ก็เป็นการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล และสิ่งต่างๆ ได้
ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่ที่กำลังคิดถึงเรื่องวิตกเจตสิก ถ้าสติระลึก ก็รู้ว่าเป็นเพียงสภาพที่คิด และระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมที่กำลังปรากฏต่อไป
ถ. ขณะที่ระลึกรู้ว่า สภาพที่คิดนึกขณะนั้นเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดไหน
สุ. ไม่ต้องรู้ รู้แต่ว่าเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพคิด
ถ. เมื่อไรจะรู้นามธรรมที่ต่างประเภท ต่างชนิด
สุ. แล้วแต่ว่าจะปรากฏแก่ปัญญาหรือไม่ขณะใด เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมไปเรื่อยๆ แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานทั้งหมดเพื่อวัตถุประสงค์ หรือจุดประสงค์อันเดียว คือ ละความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน คือ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็ยังไม่มีการรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนการที่จำได้ รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ไม่ใช่ขณะที่เห็นเสียแล้ว และสิ่งที่ปรากฏทางตา แท้ที่จริงแล้วหาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาไม่ได้ แต่ว่าทางใจจำได้ รู้ลักษณะ รู้ส่วนสัด รู้รูปร่าง รู้ความหมายต่างๆ นั่นเป็นเรื่องของทางใจ ไม่ใช่เรื่องของการเห็น
ทำไมต้องรู้ ก็เพื่อละความเห็นผิดที่เคยรวมสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกจนกว่าจะปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือการละความเห็นผิด ไม่ใช่ละในขณะอื่น ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ก็เห็น และมีการระลึกจนกว่าจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ สภาพที่จำสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่จำ
ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องระลึกรู้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ จนกว่าจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์ อาจจะไปพากเพียรทำอย่างอื่น ซึ่งจะไม่ละความเห็นผิดในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ
ปัญญาสามารถรู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่จะต้องอบรม อวิชชาที่สะสมมามาก ไม่สามารถจะทำให้ปัญญาของใครเกิดความแจ่มแจ้งแทงตลอดได้ โดยไม่อบรมปัญญาแต่ละขั้นให้เกิดขึ้น
การที่จะเป็นปัญญาถึงขั้นพระอรหันต์ได้ จะต้องอบรมปัญญาจนกระทั่งถึงขั้นความเป็นพระอนาคามีบุคคลก่อน การที่จะอบรมปัญญาจนกระทั่งถึงพระอนาคามีบุคคลได้ ก็ต้องอบรมปัญญาจนกระทั่งถึงขั้นพระสกทาคามีบุคคลก่อน การที่จะให้ปัญญาถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคลได้ จะต้องอบรมปัญญาให้ถึงขึ้นขั้น พระโสดาบันบุคคลก่อน เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องเป็นลำดับขั้นจริงๆ
และก่อนที่จะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ปัญญาที่ยังไม่เกิดเลย ซึ่งเป็นขั้นของภาวนา เป็นการประจักษ์แจ้ง จะต้องมีขั้นของการฟังด้วยดี ด้วยสติ ด้วยการมนสิการ ด้วยปัญญาที่พิจารณาในเหตุผล ซึ่งความจำที่มั่นคงในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพธรรมจะเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาเพื่อความรู้ชัด เพื่อละความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ทำอะไรอย่างอื่นเลย เป็นปกติที่สุด ซึ่งความเป็นปกตินี้จะเป็นปกติขึ้นเรื่อยๆ เหมือนอย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า สติเกิดครั้งแรกตื่นเต้น ความตื่นเต้น ความดีใจ ความเป็นตัวตน ไม่ได้หมดไปง่ายๆ เลย เพราะยังไม่รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไปแล้ว ความตื่นเต้นก็เข้ามาปิดบังความไม่เป็นตัวตนต่อไป ตามความเคยชินที่สะสมมา
เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญา คือ การสะสมเหตุปัจจัยใหม่ที่จะละอวิชชาความไม่รู้ ความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ว่าปัญญายังไม่เกิด ยังไม่ได้กระทำกิจของปัญญา ต้องอบรมก่อน เหมือนกับการปลูกพืชซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้น เติบโตขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ถ. ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ เวลามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น มีสติเกิดขึ้น เขาบอกว่า ดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ มักจะเป็นอย่างนี้
สุ. ต้องระวัง อย่าปนลักษณะของสติกับสมาธิ ที่ดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง เพราะว่ากำลังคิดเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าระลึกตามธรรมดาและก็หมดไป และก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อไป ตามธรรมดา และก็หมดไป เป็นปกติ
และทำไมเฉพาะดูโทรทัศน์ กำลังเห็นขณะนี้เป็นโทรทัศน์ด้วยไหม ลองคิดดู ชีวิตจริงๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เหมือนกับดูโทรทัศน์ไหม
ถ. ไม่ใช่เฉพาะโทรทัศน์ นี่เป็นตัวอย่าง คือ ขณะที่ดูโทรทัศน์ก็ไม่รู้เรื่อง ขณะที่ทำงานก็ทำไม่ถูก ขณะนั้นกำลังฝึกอะไร หยิบอะไรก็มักจะไม่ถูก เข้าใจไม่ถูก คือ ขณะที่ทำงานก็ดี จิตนึกว่า การเห็นเป็นเพียงสี ขณะที่คิด อาจจะคิดเป็นเรื่องราว ทำให้คิดเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะขณะนั้นกำลังคิดถึงเรื่องสี การดูโทรทัศน์เป็นตัวอย่างหนึ่ง เขาเข้าใจว่า ขณะที่สติเกิดขึ้นมีความรู้สึกตัวแล้ว จะนึกคิดเรื่องอื่นๆ ไม่รู้เรื่อง คิดไม่ได้
สุ. ข้อสำคัญที่สุด ขอให้เข้าใจความจริงว่า การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ให้หยุดทำงานและไปเจริญปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ สามารถที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมในขณะที่ทำงาน ไม่อย่างนั้นแล้วอย่าไปให้ชื่อว่าปัญญากับสภาพธรรมที่ไม่รู้ หรือไม่สามารถที่จะรู้ได้ในขณะที่ทำงาน
ทุกคนที่เกิดมาแล้วต้องมีกิจการงาน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การไปตลาด การอ่านหนังสือ การศึกษา การฟังธรรม ขณะที่ฟังธรรม สติเกิดได้ไหม การฟังธรรมกับการฟังโทรทัศน์ มีอะไรที่ต่างกัน ทางหู ต้องมีสภาพธรรมที่ได้ยิน และต้องมีการตรึกนึกถึงคำ หรือความหมาย ซึ่งสติจะต้องเกิดขึ้นระลึกและรู้ความต่างกันของสภาพธรรมที่รู้เสียงกับรู้คำ แม้ในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่ดูโทรทัศน์ ไม่ใช่ฟังโทรทัศน์ มีการได้ยินเสียง การรู้คำ พิจารณาตรึกถึงเหตุผลว่า สภาพที่รู้เสียง ไม่ได้คิดถึงคำ เพียงแต่เป็นธาตุรู้เสียงเท่านั้น ส่วนการที่จะรู้ความหมายของแต่ละคำได้นั้น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นอีกขณะหนึ่งที่คิดถึงความหมาย จึงปรากฏเป็นคำขึ้น
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ซึ่งไม่ใช่ดูโทรทัศน์ ไม่ใช่ฟังโทรทัศน์ ก็มีสภาพธรรมทางหู ทางตาที่กำลังปรากฏเช่นเดียวกัน ทั้ง ๖ ทางนี้ ไม่คำนึงถึงว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพราะว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีกรรมทำให้จักขุปสาทเกิดขึ้น จะกระทบกับรูปารมณ์อะไร จะเกิดการเห็นอะไร ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อสติระลึก ก็รู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง
กำลังดูหนัง เวลาดู เห็นแล้วก็คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น เวลาได้ยินก็คิดถึงคำ ถึงความหมายของเสียงที่ได้ยิน เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คือ สภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น จะไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นดับไปของสภาพธรรมใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะว่าที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ ต้องเป็นปัญญาที่เพิ่มความรู้ขึ้นจนทั่ว ไม่ใช่ไม่รู้ หรือว่าขณะที่คิดรู้ไม่ได้ ขณะที่ทำงานรู้ไม่ได้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการอบรมเจริญปัญญา
ถ. ทีแรกๆ ผมรู้ชัดอย่างนั้นจริงๆ รู้ลักษณะที่กำลังรู้ตัวตน รู้ว่าลักษณะนี้ไม่ใช่รู้ปรมัตถ์
สุ. นั่นเป็นความเข้าใจ แต่ที่ว่าผมรู้ชัดนี่ จริงไหม
ถ. ใช้คำว่า ผมรู้ชัด จำเป็นต้องใช้บัญญัติ จึงจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ
สุ. คิดว่าเป็นบัญญัติที่ต้องใช้คำ แต่ในจิตใจที่ลึกจริงๆ หมดความเป็นผม
แล้วหรือยัง
ถ. ยังมีอยู่ ตัวตนนี่แกะกันไม่ออก
สุ. เพราะฉะนั้น ขั้นการที่เข้าใจว่ารู้ชัด ยังไม่ได้ทำลายความเป็นตัวผมออกไปได้
ถ. ขณะนั้นไม่ครับ
สุ. ถึงแม้ว่าจะกล่าวว่า รู้ชัดแล้ว แต่ความรู้ชัดนั้น ก็ไม่ทำลายความเป็นตัวผมออกไปได้
ถ. จริงครับ
สุ. เพราะฉะนั้น ยังไม่พอ ยังมีอีกมากเหลือเกินที่สติและปัญญาจะต้องระลึกรู้ จนกระทั่งสามารถที่จะทำลายความเป็นตัวผมออกไปได้จริง ๆ
ถ. ความว่องไวของบัญญัติธรรม กับการที่ปัญญาเราอ่อน ปัญญายังเหมือนเด็กแบเบาะ
สุ. เพราะฉะนั้น ยังไม่ใช่ปัญญาที่จะทำลายตัวผม ก็จะต้องเจริญปัญญาที่สามารถทำลายความเป็นตัวผมให้ได้
ถ. ยาก และอีกนาน ถ้าปัญญาจะสมบูรณ์อย่างที่อาจารย์ว่า
สุ. เพราะฉะนั้น ยัง ที่รู้ว่ายัง ก็เพื่อที่จะได้อบรมให้เป็นความรู้เพิ่มขึ้น และอย่าเพิ่งใจร้อน การที่จะเอาตัวผม ตัวใหญ่นี้ออกไปได้ จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ เรื่อยๆ ลักษณะของปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้จริง รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏจึงไม่หวั่นไหว แต่ถ้ามีการหวั่นไหวว่า นั่นไม่ได้ นี่ไม่ได้ ดูโทรทัศน์ไม่ได้ อ่านหนังสือพิมพ์ไม่ได้ ก็เป็นความหวั่นไหว ไม่ใช่ความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ถ. ปัญญาที่รู้ชัด ผมเคยปรากฏมาแล้ว ตอนที่ปัญญารู้ชัด จริงอยู่ที่ดีใจเพราะลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ เราสามารถรู้ชัด รู้ได้ถูกต้องตามที่อาจารย์บรรยาย แต่ที่ดีใจนั้น เป็นภายหลัง ไม่ใช่ขณะที่ปัญญารู้ชัด
สุ. เพราะฉะนั้น จะต้องไม่หวั่นไหวที่จะระลึกรู้แม้ความดีใจในขณะนั้น เรื่องที่จะระลึกรู้ เท่าไรก็ไม่พอ ไม่พอจริงๆ ตราบใดที่ยังหวั่นไหวอยู่ ก็เรียกว่าไม่พอ จะต้องระลึกรู้ลักษณะของความคิด ของความดีใจ ของความเสียใจ ของความโกรธ ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน
ถ. ที่รู้ชัดนั้นไม่หวั่นไหว และก็ดีใจ
สุ. เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็จะต้องระลึกต่อไปอีก แม้ความดีใจก็เป็นสติปัฏฐาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่ใช่เรา
ถ. ถึงขั้นนั้น ผมว่าเฉียดๆ พระโสดาบัน
สุ. ไม่เลย อีกไกลมากทีเดียว อย่าเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นเลย
ถ. ถ้าไม่หวั่นไหว มีความชำนาญและแคล่วคล่องในสติปัฏฐาน ไม่หวั่นไหวทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ่อยๆ ยังไม่เฉียดอีกหรือ
สุ. ยัง ยังอีกมากทีเดียว อย่าเพิ่งไปใกล้ท่านเร็วนัก พระอริยเจ้า จากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ต้องประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ปะปนกันเลย
ถ. ขั้นที่ว่าสติเกิดขึ้นรู้ชัดในสติ วิริยะ ปัญญา สมาธิ ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว จะได้บรรลุหรือเปล่า
สุ. ยัง อย่าฝันเลย ดูเหมือนใจร้อนเหลือเกิน ขอให้รู้จริงๆ ไม่ปะปนกันในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับขั้นจริงๆ ขอให้ตามลำดับขั้นจริงๆ ปัญญาเป็นเสมือนแก้วมณีที่มีค่า ไม่ใช่จะหาได้หรือเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า รู้ เป็นความรู้จริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๖๒๑ – ๖๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660