แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
ครั้งที่ ๖๓๕
ถ. เป็นตัวตนอยู่แท้ๆ ท่านอาจารย์ก็พยายามที่จะอธิบายจากพุทธพจน์ จากพระอภิธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สุ. ก่อนอื่นที่ว่า ตัวตนมีอยู่แท้ๆ จะมากล่าวว่าไม่ใช่ตัวตน จะต้องพิจารณาก่อนว่า ความคิดความเข้าใจอย่างนี้ผิดหรือถูก เพราะถ้าถูกจริงๆ แล้ว ตัวตนไม่มี แต่สิ่งที่ปรากฏมี เป็นสภาพธรรม เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ที่ปรากฏแต่ละลักษณะเท่านั้น ซึ่งความเห็นผิดว่ามีตัวตนเกิดขึ้นเพราะไปยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น และไม่ได้ศึกษาให้รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้น
ถ. สมมติว่าเห็น บางครั้งมีสติระลึกรู้เห็น แต่บางครั้งก็ไม่มีสติระลึกรู้
สุ. ความรู้จะเกิดได้ต่อเมื่อสังเกต สำเหนียกที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะเพียงเห็นเฉยๆ หรือว่ามีสติโดยที่ไม่ศึกษา ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ไม่เพิ่มความรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้
ถ. บางครั้งขณะเห็น ก็มีโลภะเกิดต่อทันที
สุ. โลภะเป็นของจริง โลภะเกิดแล้วห้ามไม่ได้ สติระลึกรู้ในอาการลักษณะของโลภะ เพื่อที่จะอาจหาญ ร่าเริง ไม่หวั่นไหว รู้ว่าแม้โลภะก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องดับด้วยความรู้
ถ. บางครั้งเห็นปั๊บ โทสะเกิดเลย
สุ. ก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้จะเห็นได้ว่า กว่าจะทั่ว กว่าจะสามารถรู้จริงในสภาพธรรมจนไม่หวั่นไหว เป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริง ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงได้ เพราะถ้ายังหวั่นไหวอยู่ ย่อมเป็นที่แอบแฝงของตัวตน ของความเห็นผิดว่า ยังเป็นเราที่เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นปัญญาไม่สามารที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม
เรื่องของสภาพธรรมกับเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าเคยได้รับฟังเรื่องของการปฏิบัติของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนท่านจะมีความแน่ใจพอสมควรว่า ท่านได้ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่ว่าข้อปฏิบัติของท่านไม่ตรง นี่เป็นเหตุหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้ในหลายทางว่า เป็นปัญญาที่ถูกต้องแล้วหรือยัง
ท่านผู้นั้นไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเลย ท่านกล่าวว่า วันหนึ่งท่านเห็นแสงสว่างซึ่งทำให้ท่านตกใจ และก็หวั่นไหว แต่หลังจากนั้นเวลาที่ท่านได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ท่านตัดสินว่า ท่านได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏ คือ สีที่ปรากฏทางตาแล้ว แต่ท่านลืมว่า ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ภายหลัง แต่ต้องเป็นขณะที่ลักษณะนั้นกำลังปรากฏ และปัญญาที่เกิดพร้อมในขณะนั้น รู้ชัด ไม่หวั่นไหวในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามอื่นและรูปอื่นซึ่งเกิดต่อได้โดยความไม่หวั่นไหว
ถ้าท่านผู้นั้นจะพิจารณาด้วยความแยบคาย และไม่เข้าข้างตัวของท่านเอง สักนิดหนึ่ง ท่านจะรู้ได้ว่า ขณะที่มีแสงสว่างปรากฏเกิดขึ้นโดยการไม่รู้ตัวนั้น ปัญญาไม่ได้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นเลย เพราะว่าในขณะนั้นท่านสงสัยว่านี่อะไร ท่านกล่าวว่า ท่านสงสัยในขณะนั้นว่านี่อะไร แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ท่านหมดสงสัย ท่านรู้ว่าขณะนั้นท่านได้เคยประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่นี่ไม่ถูก เพราะว่าวิปัสสนาญาณต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ต้องเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏในขณะนั้นเองทันที ไม่ใช่ภายหลัง
คามิกะ ผมเรียนมาได้ฟังคำๆ หนึ่ง จะเป็นเถรพจน์หรือพุทธพจน์ จำไม่ได้ มีศัพท์บาลีว่า อนตฺตา อนตฺตวา ที่เราเรียกว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา หมายความว่าอะไร คือ ที่เรียกว่าไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะว่ามันไม่ฟัง หมายความว่า มันไม่เชื่อเรา พูดทางปรมัตถ์ก็หมายความว่า เมื่อเกิดมาแล้ว เราบอกว่าอย่าแก่ มันก็แก่ บอกว่าอย่าเจ็บ มันก็เจ็บ บอกว่าอย่าตาย มันก็จะตาย นี่เป็นศัพท์ อนัตตา อนัตตวา เมื่อมันไม่ฟัง ไม่เชื่ออย่างนี้ จึงไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะฉะนั้น โปรดเข้าใจตามนี้ เป็นเถรพจน์ หรือพุทธพจน์ ผมจำไม่ได้
สุ. ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ หรือว่าเกิดตายอยู่ จะห้ามจะยับยั้ง ก็ไม่ได้ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏแล้ว จะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทันทีที่เห็น ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงปรากฏแล้วทางหู จะห้ามจะยับยั้ง เสียงที่ปรากฏแล้วก็ไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของเสียงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับ หรือเกิดตาย ปรากฏความเกิดดับสำหรับปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม แต่เมื่อปัญญายังไม่สามารถ ก็จะต้องอบรมเป็นขั้นๆ คือ ศึกษาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะในแต่ละทาง ซึ่งความจริงในขณะนี้ก็กำลังเกิดดับ คือ เกิด ตาย เปลี่ยนแปลงบังคับไม่ได้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ คือ ของจริงที่ต้องศึกษา เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้ายังเห็นผิดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็จะต้องศึกษาจนกว่าจะถอนความเห็นที่เห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังจากบ้านเลขที่ ๒๕๙/๑ อำเภอรั้วใหม่ จังหวัดสุพรรณบุรี ข้อ. ๒ ซึ่งในคราวก่อนเป็นคำตอบข้อที่ ๑. ของท่านที่เขียนมาว่า ผมมีข้อสงสัยและเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้ เวลาสภาพธรรมปรากฏขึ้น ผมก็ระลึก (คิด) ว่า นั่นเป็นรูป อาการรู้เป็นนาม การระลึกอย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า เจริญสติ
สุ. ซึ่งก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า สติไม่ใช่การคิด ต้องสังเกตว่า ถึงแม้ไม่คิด สภาพธรรมก็ปรากฏ เช่น ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ นอกจากเข้าใจความหมาย เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมแล้ว ก็ยังมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้พิสูจน์พร้อมกับในขณะที่เข้าใจด้วย อย่างเช่น ในขณะนี้ไม่คิด สภาพธรรมปรากฏ เป็นของจริง เพราะกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สติไม่ใช่คิด หยุดคิด ไม่ได้คิดสภาพธรรมก็ปรากฏ สังเกต รู้ในสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือสังเกต รู้ในลักษณะของสภาพที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ นี่คือ การที่จะเข้าใจในลักษณะของสติ ซึ่งไม่ใช่การคิด แต่เป็นการระลึก สังเกต สำเหนียก ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
สำหรับข้อ. ๒ ท่านถามว่า ผมรู้สึกว่า ทางใจมีอะไรๆ ยุ่งๆ กันอยู่ คือ พอระลึก (คิด) ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ก็เป็นอาการรู้ทางใจ (นาม) ไป พอจะระลึกนามทางใจ เรื่องต่างๆ ที่กำลังปรากฏอยู่ก็หมดไป กลายเป็นอดีตไปอีก
สุ. นี่เป็นเรื่องของความสงสัย แต่ความสงสัยทั้งหมดจะค่อยๆ ลดน้อยลงและหมดสิ้นไปได้เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏตามปกติขณะนี้ใครจะยับยั้งจิต เจตสิก รูปไม่ให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ จะนั่งอยู่ จะเดินอยู่ จะนอนอยู่ จะคิด จะเห็น จะพูด จะทำกิจการงานใดๆ ก็ตาม ก็เป็นการเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก และรูปทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น สภาพธรรม โดยความเข้าใจเมื่อฟังแล้วรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่ความรู้จริงๆ เป็นไปตามความเข้าใจนั้นแล้วหรือยัง โดยขั้นการศึกษาทราบว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นการเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นจิตบ้าง เจตสิกบ้าง รูปบ้าง ปฏิเสธไม่ได้เลย แต่ความเข้าใจหรือความรู้อย่างนี้ประจักษ์แจ้งเป็นจริงกับท่านจริงๆ หรือยัง
ทางตากำลังเห็น เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นหรือยัง และในชีวิตประจำวันก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งจะต้องระลึกให้เป็นความเข้าใจของท่าน เป็นการรู้ชัดประจักษ์แจ้งจริงๆ ให้ตรงกับที่ได้ศึกษามาว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่สงสัยเวลาที่เกิดการคิดนึกขึ้น และจะไม่ยุ่งด้วย เพราะท่านถามว่า ผมรู้สึกว่าทางใจมีอะไรๆ ยุ่งๆ กันอยู่ คือ พอระลึก (คิด) ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ก็เป็นอาการรู้ทางใจ (นาม) ไป พอจะระลึกนามทางใจ เรื่องต่างๆ ที่กำลังปรากฏอยู่ก็หมดไป กลายเป็นอดีตไปอีก
อะไรที่ยุ่ง ความคิดนึกสับสน ความไม่เข้าใจว่า ขณะที่คิดก็เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมที่คิด และไม่น่าจะเดือดร้อนเวลาที่กลายเป็นอดีตไป เพราะว่ามีอะไรบ้างที่ไม่ดับ เมื่อครู่นี้ ถ้าหลงลืมสติก็หมดไปแล้ว เมื่อหมดไปแล้วก็เป็นอดีต ก็ไม่ต้องกังวลเลยกับอดีตสภาพธรรมที่หมดไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่มี สิ่งที่หมดไปแล้วก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น สติก็ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยไม่ต้องห่วง ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งเลย อะไรที่หมดไปแล้วก็หมดไปแล้ว ขณะนี้มีอะไรกำลังปรากฏ ก็สังเกต ศึกษา ระลึกเพื่อจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และจะไม่ยุ่ง ไม่มีอะไรจะต้องยุ่ง หมดไปแล้ว จะทำอะไรได้กับสิ่งที่หมดไปแล้ว จะไม่ให้หมดก็ไม่ได้ สิ่งที่หมดไปแล้วก็หมดไปโดยยับยั้งไม่ได้ และสิ่งที่เกิดปรากฏต่อ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็มี จะต้องกังวลถึงสิ่งที่หมดไปแล้วทำไม ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นของจริง ที่จะให้สังเกต ระลึก รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
ไม่ควรจะเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่ง เพราะว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่ง แยกออกแต่ละทวาร ทางตาที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ทำให้สติสามารถที่จะระลึก คือ ศึกษา สิกขา สังเกต สำเหนียก จนกว่าจะเห็นว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น จริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นในขณะนี้ ถ้ายังไม่เท่านั้น ก็ระลึกอีก ศึกษาอีก สังเกตอีกจนกว่าจะเห็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่มีการตรึก นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น ความละเอียดเพิ่มขึ้น คือรู้ว่า เพียงเห็น ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะถ้ารู้ก็จะต้องมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็นแล้ว เมื่อไม่ได้ระลึกรู้จึงเห็นว่า ทันทีที่เห็นก็รู้ทันทีว่าสิ่งที่เห็นทางตานั้นเป็นอะไร แต่ถ้าสติเกิด ค่อยๆ ศึกษา สังเกต รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะรู้ว่าเพียงแค่เห็น ไม่ใช่ตอนที่สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะซึ่งเป็นรูปร่างสัณฐานแล้ว
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สิ่งที่มีจริงปรากฏ และจะต้องศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก ระลึกรู้เรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจำวัน ซึ่งสภาพธรรมแตกต่างกันไปแต่ละขณะ
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องอื่น นอกจากชีวิตจริงของแต่ละท่านตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีเหตุการณ์ต่างๆ วุ่นวายเดือดร้อนบ้าง สุขสบายบ้าง สนุกสนานบ้าง กังวลใจบ้าง ล้วนเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเป็นของจริง เมื่อเข้าใจแล้วว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ต้องเท่านั้นจริงๆ เพราะสติจะต้องระลึกจนกระทั่งรู้ชัด ไม่ใช่เพียงเผินๆ ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ถ้าเพียงเผินๆ รู้ว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ก็จะไม่ศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจนกว่าจะเป็นความจริง และถ้ามีความเข้าใจถูกอย่างนั้นจริงๆ ก็จะไม่กังวลกับสภาพธรรมที่เป็นอดีตไปแล้ว หรือว่าดับไปแล้ว แต่ว่าจะศึกษา สังเกต สำเหนียก รู้ว่าแม้แต่ที่คิดก็เป็นสภาพนามธรรมที่กำลังรู้คำ หรือรู้เรื่อง
ข้อ. ๓ ท่านถามว่า ผมอยากจะให้อาจารย์อธิบายว่า การเจริญสตินั้นทำอย่างไร เพราะเพียงอาจารย์กล่าวว่า ให้พิจารณาว่าสิ่งที่ปรากฏแต่ละทางนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏในแต่ละทางจริงๆ และมีอาการรู้สภาพที่ปรากฏจึงรู้ได้ แค่นี้ ผมยังเคลือบแคลงอยู่ คำว่าให้พิจารณานั้น เอาอะไรมาพิจารณา
สุ. การเจริญสตินั้น ไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องไปทำอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ หรือสอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่การทำอย่างทำขนม หรือทำวัตถุสิ่งต่างๆ แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจ
ความหมายของปัญญา คือ ความรู้ ถ้าไม่มีความเข้าใจ จะเป็นความรู้ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น คำว่า ปัญญา ที่เป็นความรู้ คือ ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั่นเอง ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก ปัญญาก็เกิดไม่ได้
ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องสอนให้ทำ มานั่งทำ หรือมาเดินให้ดู มาทำเดิน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องการฟังของท่านผู้ฟัง ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งเกิดความเข้าใจในลักษณะของสติ ในสภาพของธรรมที่ปรากฏ ก็จะทำให้เกิดการระลึกที่จะสังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งกำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้
การเจริญสติปัฏฐาน ขอให้เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะไหนก็ได้ ขณะที่ฟังนี้เอง สภาพธรรมกำลังปรากฏ ความเข้าใจมี จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการสังเกตขึ้นในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ ที่กำลังเห็นนี่ สิกขา ศึกษา สังเกต สำเหนียก พิจารณา รู้ รู้คือเข้าใจ และก็รู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ปรากฏทางอื่น และสภาพรู้ในขณะนี้ ไม่ใช่รู้อื่น แต่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660