แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
ครั้งที่ ๖๓๗
สุ. จดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่งจากเพชรบุรี คำถามข้อ ๑ ที่ถามว่าพองหนอ ยุบหนอ ได้เห็นหนอ ได้ยินหนอ ฯลฯ ถ้าปฏิบัติวิปัสสนาแบบนี้ จะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ เพราะเหตุใด
เรื่องของปัญญาไม่ใช่เรื่องที่จะให้ใครคนหนึ่งคนใดรับรองชี้ขาด เพราะว่าถ้าคนหนึ่งบอกว่าถูก อีกคนหนึ่งบอกว่าผิด จะทำอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องศึกษาและพิจารณาในเหตุผลโดยละเอียด ซึ่งการปฏิบัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นโดยข้อปฏิบัติใดก็ตาม ปฏิบัติแล้วปัญญารู้อะไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่าวิปัสสนาเป็นปัญญาที่รู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ ปฏิบัติแล้วรู้อะไร ที่ว่าเป็นปัญญา ต้องเป็นความรู้ เพราะฉะนั้น รู้อะไร นี่สำคัญที่สุด
ขณะที่กำลังนั่ง พองหนอ ยุบหนอ ได้เห็นหนอ ได้ยินหนอ ฯลฯ พองหนอรู้อะไร ยุบหนอรู้อะไร ได้เห็นหนอรู้อะไร ได้ยินหนอรู้อะไร ถ้าบอกว่า ไม่ทราบ ก็ไม่ใช่ปัญญา
อย่างทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริง กำลังปรากฏ ปัญญารู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และรู้ว่าสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง กำลังเห็น คือ กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ธาตุรู้ หรืออาการรู้นั้น ไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น มีสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ อีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เฉพาะทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางอื่นเลย นี่คือการรู้ชัด ซึ่งจะต้องอาศัยการสังเกต ระลึก ศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ้าท่านคิดว่า ได้เห็นหนอ ในขณะนั้นไม่ใช่การสังเกต สำเหนียก รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าจิตในขณะนั้นกำลังรู้คำ เกิดตรึกถึงคำว่า ได้ คำว่า เห็น คำว่า หนอ ไม่ใช่เป็นการสังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา และสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ประกอบด้วยเหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏให้รู้แต่ละทาง
สำหรับท่านที่กล่าวว่า ท่านอบรมเจริญอานาปานสติ แต่การอบรมเจริญวิปัสสนาไม่เลือกอารมณ์ เป็นการศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพื่อที่จะดับความเห็นผิด ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ทางตากำลังเห็น เพราะฉะนั้น จะศึกษาทางตาไหม จะสังเกต ระลึกให้รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หรือว่าจะไม่ศึกษา ทอดทิ้งไป ละเลยไปเรื่อยๆ และหวังที่จะไปรู้อย่างอื่นซึ่งไม่มีลักษณะปรากฏตามความเป็นจริง แต่เป็นการนึกถึงลักษณะโดยการเข้าใจว่า ถ้าทำให้จิตจดจ้องที่ลักษณะนั้นแล้ว จะสามารถรู้ชัดในอริยสัจธรรมได้
แต่อริยสัจธรรม คือ ความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดดับ แต่ไม่สังเกต จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้อย่างไร ทันทีที่เห็น เกิดดับ เมื่อไม่สังเกตจะประจักษ์ได้อย่างไร ทันทีที่ได้ยิน เกิดดับ เมื่อไม่สังเกตจะรู้ได้อย่างไรว่า สภาพธรรมนั้นเกิดดับ
เพราะฉะนั้น อริยสัจธรรม คือ ความเกิดดับของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังปรากฏ และในขณะนี้ลมหายใจของใครปรากฏให้สติระลึกรู้บ้าง ตามความเป็นจริงเดี๋ยวนี้ ตามปกติ ลมหายใจของใครกำลังปรากฏให้สติระลึกรู้บ้าง มีไหม มีหรือ แต่ว่าตามปกติแล้ว หนึ่งในเท่าไร ลองคิดดู ขณะนี้ทางตากำลังเห็น อะไรปรากฏโดยไม่ต้องนึก ทางหู เสียงปรากฏ มีได้ยินที่กำลังรู้เสียงโดยไม่ต้องนึก ไม่ต้องทำอะไรเลย เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูปหยาบจริงๆ
ในพระไตรปิฎกทรงแสดงลักษณะของรูปหยาบ คือ รูปที่สามารถปรากฏให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ลมหายใจมีจริง รู้ได้ทางกาย เป็นโผฏฐัพพารมณ์ แต่ว่าเป็นรูปที่ละเอียดกว่าโผฏฐัพพารมณ์อื่น เพราะว่าเป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน และลักษณะของลมหายใจเป็นสติปัฏฐานของผู้ที่มีปัญญามาก เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวก ผู้มีปัญญาที่เป็นมหาบุรุษ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใด โดยที่ไม่ได้ศึกษา ก็จะไปจับจ้อง จดจ้องอยู่ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใดโดยที่ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ไม่ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง
พอง กับยุบ มีอะไรปรากฏที่จะให้รู้ได้ ที่จะมีลักษณะตรงตามพระไตรปิฎก เพราะว่ารูปที่ได้ทรงแสดงไว้มี ๒๘ รูป รูปที่ปรากฏทางตา คือ สีสันวัณณะต่างๆ เป็นรูปหยาบรูปหนึ่ง รู้ได้เพราะว่าปรากฏให้เห็นได้ เสียงเป็นอีกรูปหนึ่ง ปรากฏทางหูให้รู้ได้ กลิ่นเป็นรูปหยาบอีกรูปหนึ่งซึ่งปรากฏให้รู้ได้ทางจมูก รสเป็นรูปหยาบอีกรูปหนึ่งซึ่งปรากฏให้รู้ได้ทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นรูปหยาบ ๓ รูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย
เป็นพอง เป็นยุบ หรือเปล่า เย็นเป็นเย็น อ่อนเป็นอ่อน ร้อนเป็นร้อน แข็งเป็นแข็ง ตึงเป็นตึง ไหวเป็นไหว ไม่ใช่อาการที่ทรงจำไว้ว่า เป็นลักษณะที่พองขึ้น และก็ยุบลง ในขณะที่พองขึ้น มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการทรงจำในอาการที่พองขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น และในขณะที่จะเป็นรูปที่ยุบลงไป หรือไม่ยุบลงไป หรืออย่างไรก็ตาม มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว รวมกันอยู่ สติระลึกรู้ในอาการของรูปที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ในอาการที่ยุบลงไป หรือว่าในลักษณะที่จำได้ว่าพองขึ้นมา ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริง และสำหรับ อานาปานสติ ซึ่งเป็นลมหายใจที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน จะปรากฏที่ช่องจมูก หรือที่กระทบกับริมฝีปากเบื้องบนเท่านั้น เป็นอารมณ์ที่สติจะระลึกรู้ที่เป็นลมหายใจ
ข้อความในอรรถกถาได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้ตามรู้ลักษณะของลมต่อจากนั้น หมายความว่า ถ้าบุคคลใดจะอบรมเจริญอานาปานสติ ที่เป็นลมหายใจจริงๆ ที่ควรแก่การระลึกรู้อย่างแท้จริงนั้น อยู่ในช่องจมูก หรือที่กระทบเบื้องบนริมฝีปาก เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น ถ้าไม่ระลึกรู้ตรงที่เกิด ก็จะไม่ประจักษ์รูปที่ดับไปในขณะที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จะตามรู้ไปจนถึงข้างใน นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่เป็นอานาปานสติ หรือแม้แต่ที่เป็นอานาปานสติสมาธิ ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของลมที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก
คามิกะ เรื่องยุบหนอ พองหนอนี้ ท่านผู้เปรื่องปราชญ์คนหนึ่งว่ากันมาอย่างนี้ ผมก็ตามว่าท่านเอามาจากไหน วันหนึ่งพอดีผมไปฟังท่านยกบาลีขึ้นว่าทีเดียวว่า วา อสฺสสนฺโต อสฺสสามีติ ปชานาติ วา ปสฺสสนฺโต ปสฺสสามีติ ปชานาติ
ซึ่งในสติปัฏฐานท่านว่า หายใจเข้า ก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก ก็ให้รู้ว่าหายใจออก ก็เป็นอานาปานสติกัมมัฏฐาน แปลกันมาอย่างนั้นไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว
แต่ท่านผู้นี้ วา อสฺสสนฺโต อสฺสสามีติ ปชานาติ เมื่อพอง ก็ให้รู้ว่าพอง หายใจเข้าท่านไปแปลว่าพองเสีย ก็อาจจะเป็นได้ว่า เมื่อหายใจเข้าไปแล้ว ท้องมันโป่งขึ้นมา ก็เอาตรงนั้นน่ะเรียกว่า พอง แล้วไปสมมติว่าเป็นอานาปานสติกัมมัฏฐาน วา ปสฺสสนฺโต ปสฺสสามีติ ปชานาติ หายใจออกท้องมันยุบ ท่านก็ว่ายุบ คือ แปลคำว่า หายใจเข้าเป็นพอง หายใจออกเป็นยุบ
สุ. เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าท่านจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ควรที่จะได้พิจารณาก่อนว่า ข้อปฏิบัตินั้นๆ จะทำให้สามารถรู้แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้หรือไม่
กำลังเห็น ถ้านึกว่าได้เห็นหนอ จะมีประโยชน์อะไร จะรู้ลักษณะของนามธรรมอะไร จะรู้ลักษณะของรูปธรรมอะไร เพราะขณะนั้นไม่ใช่การสังเกตที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนี้เพียงปรากฏ และสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏมีจริง เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ถ้าโดยลักษณะนี้ ต้องไม่ใช่การไปนึกว่าได้เห็นหนอ หรือในขณะที่ได้ยินก็เหมือนกัน ถ้าขณะนี้ไม่ได้สังเกต ก็เริ่มสังเกตว่า เสียงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และยังมีธาตุรู้เสียง ซึ่งจะต้องสังเกตบ่อยๆ จนกระทั่งรู้ว่าธาตุที่รู้เสียงในขณะนั้นมี กำลังรู้เสียง ไม่ใช่ธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นี่เป็นการเพิ่มความรู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยเป็นผู้ละเอียด ไม่ใช่นั่งนึกว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือว่าได้เห็นหนอ ได้ยินหนอ ซึ่งไม่ใช่การสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และจะต้องเข้าใจในเหตุผลว่า ท่านเลือก หรือท่านเจาะจงที่จะรู้อย่างนั้นเพื่ออะไร
ถ้าเป็นการเจาะจงเลือกที่จะรู้ พองหนอ ยุบหนอ ก็ไม่ใช่สติที่เป็นการเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด แต่เป็นสภาพของตัวตนที่ต้องการ ที่เจาะจง ที่ตั้งใจที่จะรู้พองหนอ ยุบหนอ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติแล้ว ไม่มีการเลือกเลย เพราะว่าทางตาก็จะต้องศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก จนกว่าจะเป็นความรู้ในลักษณะของธาตุรู้กับสิ่งที่ปรากฏ ทางหูก็จะต้องเป็นการสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ในลักษณะของธาตุรู้กับสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสติจะเกิดขึ้นเมื่อไร ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็เป็นอนัตตาจริงๆ ไม่มีความเป็นตัวตนที่จะจัดแจง ที่จะจงใจ เพราะถ้าโดยลักษณะนั้น จะไม่ปรากฏความเป็นอนัตตาของสัมมาสติ
เพราะฉะนั้น ผู้ตรงและผู้ละเอียด จะทราบได้ว่า จะเกิดปัญญาความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้บ้างหรือไม่ ถ้าไปนั่งนึกว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือว่าได้ยินหนอ ได้เห็นหนอ
ผู้ฟัง เมื่อ ๒๐ ปีมาแล้ว ดิฉันได้เคยปฏิบัติ ตอนโน้นยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยเหมือนกัน ปฏิบัติอยู่เดือนกว่า อาจารย์ท่านก็ว่า ดิฉันสำเร็จพระโสดาบัน แต่ดิฉันเองพอออกมาจากห้องกัมมัฏฐานแล้ว ดิฉันไม่รู้เรื่องอะไรเลย และก็รู้ตัวด้วยว่า ไม่ใช่ เพราะดิฉันมาอ่านดู คุณสมบัติของพระโสดาไม่ครบ แต่ดิฉันตั้งใจเอาไว้ว่า สักวันหนึ่งถ้าหากมีเวลาดิฉันจะต้องพยายามแสวงหาธรรม และดิฉันก็เข้าใจว่า ขณะที่ไปทำนั้น ดิฉันก็ได้กุศล แต่ปัญญาไม่มีเลย ต่อมาได้ยินอาจารย์บรรยาย ดิฉันได้ฟังอาจารย์บรรยายมาได้ ๓ ปี ครั้งแรกดิฉันไม่ชอบธรรมอาจารย์ ชอบแต่เสียงอาจารย์ก็เลยฟัง และเพราะมีคนแนะนำให้ดิฉันฟังด้วย ดิฉันก็ฟัง พอฟังๆ เข้า ก็ค่อยๆ รู้สึกประทับใจกับคำบรรยายของอาจารย์ คือ ดิฉันเข้าใจคำพูดของอาจารย์ที่ว่า ระลึกรู้ตามความเป็นจริง เท่านี้ ดิฉันก็พยายามระลึกรู้ตามความเป็นจริง แต่กว่าจะเข้าใจ ระลึกรู้ตามความเป็นจริง ดิฉันต้องใช้เวลาฟังถึง ๓ – ๔ เดือน ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ให้ระลึกรู้ตามความเป็นจริง ระลึกรู้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระลึกรู้ที่เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว อะไรพวกนี้ ดิฉันดีใจอย่างหนึ่งว่า อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องออกไปเสียเวลาที่ไหน ก็เจริญสติได้โดยไม่เสียเงิน และอยู่ดูแลบ้านได้ ดิฉันก็ดีใจตรงนี้ ดิฉันพยายามฟังอาจารย์บรรยาย พอเจริญสติไป ต่อมาความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น คือ เข้าใจคำพูดของอาจารย์ตรงคำว่า ระลึกรู้ตามความเป็นจริง คำนี้ ย้ำแล้วย้ำอีก ดิฉันฟังจนขึ้นใจ หลังจากนั้น มีความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นว่า หิริโอตตัปปะในจิตของตัวเองค่อยๆ ละเอียดขึ้น เมื่อก่อนนี้หยาบ ปาณาต่อหน้าคนอื่น อาย ทำไม่ได้ หลังจากนั้นก็เจริญสติมานานทีเดียว ต่อมาก็อายตัวเอง
ดิฉันคิดย้อนหลังเหมือนกัน เมื่อก่อนเคยทำพองหนอ ยุบหนอ กว่าจะรู้ว่า พองหนอนี่ ไม่มีอะไรจะรู้เรื่องเลย ไม่ได้อะไร ปัญญาอะไรก็ไม่ได้ ทีหลังมานี่ค่อยเข้าใจขึ้น คือ ระลึกรู้ตามความเป็นจริง เท่านี้ รู้สึกว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากความไม่เข้าใจอะไรเลย เข้าใจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ รู้จักตัวเองขึ้น บางครั้งแม้แต่ขณะที่จิตเราจะพูดเรื่องนี้ เพราะอะไรจึงพูด จิตเป็นอะไร เป็นโลภะ เป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ แม้แต่อยากจะได้อะไรสักอย่างหนึ่งจากใครสักคนหนึ่ง พอมีสติระลึกรู้ ก็รู้เลยว่า ที่จะกล่าวคำพูดคำนั้นก็เพราะอยากได้ของเขา อย่างนี้ก็มี
สุ. นี่คือประโยชน์ของการที่รู้จักตัวเองขึ้นจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นขั้นๆ ถึงแม้ว่ายังไม่ประจักษ์ในความเป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ก็เป็นการอบรมสติให้มีความชำนาญที่จะเกิดบ่อย และรู้สภาพของจิต ลักษณะของกุศลธรรมและอกุศลธรรมตามปกติตามความเป็นจริง โดยไม่เข้าข้างตัวเอง เช่น เมื่อมีความละอาย ไม่กล้ากระทำสิ่งที่ไม่ดีเวลาที่คนอื่นอยู่ นั่นละอายเพราะอายคนอื่น แต่เวลาที่คนอื่นไม่อยู่ก็ยังทำได้ นั่นก็เป็นขั้นหนึ่ง และภายหลังเมื่อมีการอบรมมากขึ้น รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นโทษ ควรละอาย ก็ละอายตนเอง ถึงแม้ว่าไม่มีคนอื่น เกิดความละอายที่ละเอียดขึ้น นี่ก็เป็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในชีวิตของแต่ละคนนี้วิจิตรมาก ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลประการใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหิริโอตตัปปะ หรือว่าโลภะ โทสะ โมหะ การพูดเพราะความอยากจะได้ของคนอื่น นี่เป็นผู้ที่ตรง ชีวิตประจำวัน รู้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ หลงลืมสติ แต่ถ้ารู้ จะรู้จักตัวเองชัดขึ้น ละเอียดขึ้น สติเริ่มศึกษาระลึกรู้ แต่ว่ายังไม่พอ จะต้องศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็จะปรากฏว่า เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นมีลักษณะต่างกันแต่ละทาง ตามความเป็นจริง
สำหรับข้อความที่ท่านผู้ฟังกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ก็ตรงกับคำถามข้อที่ ๒ ของพระคุณเจ้าจากเมืองเพชรบุรี ซึ่งท่านเขียนมามีข้อความว่า อาตมาเคยนั่งกำหนดพองหนอ ยุบหนอ แล้วเกิดปีติ ทำจิตใจให้สบายดี แล้วหลังจากนั้น มด ยุง ก็ไม่ฆ่า ซึ่งก่อนนั้นเคยฆ่า ถามอาจารย์ว่า จะบรรลุคุณธรรมอะไรบ้าง
เพียงไม่ฆ่ามด ไม่ฆ่ายุง ก็จะบรรลุคุณธรรมแล้วหรือ ถ้าอย่างนั้น วันนี้ทุกท่านบรรลุแน่ อย่าฆ่ามด อย่าฆ่ายุงเสียเท่านั้นเอง ก็จะบรรลุคุณธรรมแล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660