แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639


    ครั้งที่ ๖๓๙


    เรื่องของการเจริญอานาปานสติสมาธิ เป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญาดังเช่น มหาบุรุษทั้งหลายจริงๆ อันมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ อิจฉานังคลสูตร ข้อ ๑๓๖๓ มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้น (พักผ่อน) อยู่สักสามเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว ใครๆ ไม่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น โดยล่วงสามเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนมาก เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานา-ปานสติมาก

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีความสามารถที่จะเจาะจงเลือกเจริญอานา-ปานสติสมาธิได้ เช่นในขณะนี้ จะรู้รูปหยาบหรือว่ารูปละเอียด ปัญญาเลือกได้ไหมว่า รูปหยาบที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะไม่รู้ แต่จะรู้ลมหายใจที่ละเอียดกว่า เลือกได้ไหม ในเมื่อทางตายังไม่ได้สังเกต ยังไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปหยาบตามความเป็นจริง แต่ถึงแม้ว่าจะว่าเป็นรูปหยาบ หรือรู้ว่าทรงแสดงไว้ว่าเป็นรูปหยาบ แต่ก็ยังไม่ได้เห็น ไม่ได้รู้ว่า รูปหยาบนั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าพอเห็น ก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของแล้ว

    อวิชชามีมาก ทำให้ปิดบังแม้รูปหยาบก็ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้น จะไปเจาะจงเลือกเฟ้นเจริญอานาปานสติได้อย่างไร และเมื่ออานาปานสติเป็นการระลึกรู้ลมหายใจ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ละเอียดมาก เพราะว่าเมื่อจิตละเอียดขึ้น ลมหายใจก็ยิ่งละเอียด ยากแก่การที่จะรู้ได้ ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ จะให้สมาธิตั้งมั่นที่ลมหายใจเป็นอานาปานสติสมาธิไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะอบรมเจริญข้อปฏิบัติอย่างไร ต้องศึกษาในข้อปฏิบัตินั้นโดยละเอียดจริงๆ ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของอานาปานสติสมาธิโดยละเอียด เพียงแต่ว่าได้รับคำชี้แจง หรือคำสั่งว่าให้ทำอย่างไรเท่านั้น ประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่ใช่ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา

    ถ้าได้รับคำสั่งให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด ให้จดจ้องที่หนึ่งที่ใด ปัญญารู้อะไร เป็นปัญญาหรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่ใช่ปัญญา ผลคือว่า แทนที่จะประกอบด้วยสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็เป็นความหวั่นไหว ความเอนเอียงของกาย และปรากฏประสบการณ์ แปลกๆ ไม่ใช่ปกติตามความเป็นจริง ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเลย

    เพราะฉะนั้น เพียงแต่จะทำ โดยที่ไม่อบรมเจริญความเข้าใจให้ถูกต้อง ในข้อปฏิบัติ ในเหตุในผลเสียก่อน แทนที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ก็เป็นการสะสมกิเลสอกุศลธรรมมากกว่าการที่จะละกิเลส เพราะว่าไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. ถ้าเรารู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างนี้ เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ใช่จะจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยเฉพาะ จะเรียกว่าถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องอย่างไร

    สุ. เวลาที่ลมหายใจปรากฏ และรู้บ้างเป็นครั้งคราว รู้แล้วเป็นอย่างไร อยากรู้ต่อไป หรือจดจ้องต่อไป หรือดับแล้วก็แล้วไป

    ถ. ดับแล้วก็แล้วไป

    สุ. ดับแล้วก็แล้วไป ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

    ถ. สมมติว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวปรากฏ ก็รู้ไป แต่บางครั้งมีการระลึกรู้ที่ลมหายใจเป็นครั้งคราว หมายความว่ารู้ที่นั่น แล้วก็ผ่านไป ไม่ได้จดจ้องอยู่ที่อารมณ์นั้นโดยเฉพาะ จะเป็นการถูกต้องหรือผิดประการใด

    สุ. ลมหายใจที่ปรากฏเป็นของจริง เมื่อปรากฏแล้วอย่าหวั่นไหวเท่านั้นเอง และอย่าต้องการจงใจที่จะรู้ ทั้ง ๒ ประการ

    ในพระไตรปิฎกพระสูตรหนึ่งมีข้อความว่า การอบรมเจริญปัญญานี้ ควรจะเป็นลักษณะเหมือนจับนกคุ่ม คือ อย่าบีบให้แรงนัก และไม่ปล่อย

    เพียงฟังข้อความอย่างนี้ ท่านผู้ฟังซึ่งไม่ได้อบรมการฟังให้เกิดความเข้าใจใน ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็อาจจะมีตัวตนไปพากเพียรพยายามที่จะไม่ให้แรงเกินไป ไม่ให้เบาเกินไป ด้วยความเป็นตัวตนที่กำลังพยายาม ตั้งใจเหลือเกินที่จะให้เป็นอย่างนั้น แต่นั่นไม่ใช่การอบรมปัญญา เพราะว่าการอบรมปัญญาจริงๆ คือ เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ สติระลึก สังเกต รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น นั่นเป็นการอบรมปัญญาความรู้ในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้น จะไม่มีการที่จะตั้งใจจดจ้องจับอารมณ์นั้นให้แรงเกินไป หรือว่าปล่อยให้เบาเกินไป แต่ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนที่จะทำไม่ให้แรงนัก ไม่ให้เบานัก นั่นเป็นเรื่องของการไม่อบรมปัญญา แต่ถ้าเป็นเรื่องการอบรมปัญญาแล้ว เมื่ออารมณ์นั้นเกิดปรากฏก็รู้ เมื่อหายไป หรือดับไปหมด ก็ละไป ไม่ต้องมีความจงใจต้องการอีก

    ถ. ระลึกรู้แล้ว ก็ผ่านไป โดยที่ว่าไม่ได้เจาะจง ไม่ได้จงใจ บางทีก็ผ่านมาที่ลมหายใจ สติระลึกรู้อย่างนี้ ระลึกรู้ที่กระทบตรงจมูก

    สุ. อย่าต้องการ อย่าจงใจ อย่าเจาะจง เมื่อสติเกิดขึ้น อารมณ์ใดปรากฏก็หมายความว่า สติระลึก จึงสังเกต รู้ในลักษณะของอารมณ์นั้นเท่านั้นเอง ส่วนที่ท่านจะแทงตลอดในความดับไปของรูปลมหายใจซึ่งไม่ใช่ตัวตนหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหวั่นไหวหรือเกรงกลัว เพราะถ้าท่านมีเหตุปัจจัยที่ท่านสะสมมาจะประจักษ์ได้ ก็ประจักษ์ได้ ไม่ต้องห่วงว่า เมื่อเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เดี๋ยวท่านจะเป็นมหาบุรุษเสีย ก็เกิดจะตกใจ หวั่นไหว ไม่กล้าที่จะระลึกรู้ แล้วแต่เหตุปัจจัย ข้อสำคัญคือ การละ ด้วยความรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ

    หรือบางท่านอาจจะเกิดตื่นเต้นดีใจว่า จะได้เป็นมหาบุรุษ เพราะว่าได้รู้ลักษณะของลมหายใจ นี่เป็นกิเลสที่แสนละเอียด คอยที่จะหวั่นไหวบ้างด้วยอภิชฌา หรือคอยที่จะหวั่นเกรงบ้างด้วยโทมนัส

    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้าจากเมืองเพชรบุรี ข้อ ๔ ที่ท่านถามว่า ผู้ที่ได้บรรลุเป็นโสดาบัน ละอคติ ๔ ได้หรือยัง เพราะเหตุไร

    ก่อนอื่นจะต้องทราบว่า อคติ ๔ นั้น ได้แก่

    ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะรัก หรือเพราะพอใจ

    โทสาคติ ความลำเอียงเพราะไม่พอใจ เพราะโกรธ

    โมหาคติ ความลำเอียงเพราะไม่รู้

    ภยาคติ ความลำเอียงเพราะกลัว

    อคติ หมายความถึง การทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ฉันทาคติ หมายความว่า ผู้ใดที่มีฉันทาคติ ผู้นั้นทำสิ่งที่ไม่ควรทำด้วยอำนาจของฉันทะ คือ ความพอใจ

    เพราะฉะนั้น ตามปกติธรรมดา ในวันหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวัน การกระทำทางกาย ทางวาจาของท่าน ที่จะเป็นไปโดยตรงเป็นกุศล โดยไม่ลำเอียงเลย มีบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา นี่คือ สภาพธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้ว่าจะเป็นคำพูด หรือการกระทำก็ตาม เป็นไปในทางที่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำด้วยอำนาจของฉันทะ ความพอใจว่า ผู้นี้เป็นมิตรของเรา หรือว่าเป็นเพื่อนของเรา หรือแม้แต่เป็นเพื่อนเห็นของเรา คือ แม้ไม่สนิทสนม แต่ก็เคยพบปะกัน เห็นหน้ากันสักครั้งสองครั้ง ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่ควรทำด้วยฉันทะ ด้วยความพอใจก็ได้

    ถ้าหากว่าเคยแม้พบปะกันบ้าง ก็ยังช่วยเหลือ ถ้าเป็นกุศลก็เป็นด้วยเมตตา แต่ถ้าเป็นการทำในสิ่งที่ไม่ควรทำซึ่งเป็นความลำเอียง เป็นเพราะอกุศล เป็นเพราะ โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง หรือว่าเพราะความกลัวบ้าง

    จะเห็นได้ว่า เหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่ควรทำ อาจจะคิดว่า ผู้นั้นเป็นญาติของเรา หรือแม้ผู้นั้นให้สินบนแก่เรา นี่คือ การกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำซึ่งเป็นความลำเอียง

    เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชนผู้ที่ยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าสติเกิด จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นไปด้วยโลภะ หรือว่าเมตตาที่เสมอหน้ากันหมด โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงว่า ผู้นี้เป็นมิตร เป็นเพื่อน เป็นเพื่อนเห็น หรือว่าเป็นญาติ หรือว่าเคยให้สิ่งใดแก่เรา นั่นเป็นกุศลจิต การช่วยเหลือโดยที่ไม่คำนึงถึงว่า บุคคลนั้นเป็นใคร เป็นความเมตตาจริงๆ เป็นกุศลจิต

    แต่ถ้าเกิดการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย หรือด้วยวาจา ในชีวิตประจำวัน ขอให้พิจารณาว่า เป็นความลำเอียงบ้างไหม ถ้าลำเอียงก็ต้องรู้ว่า นี่เป็นไปด้วยฉันทะ คือ ความพอใจ หรือว่าเป็นไปด้วยความโกรธ การประทุษร้าย แต่ละครั้งทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นได้ มีได้ ในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย หรือผู้ใหญ่กับเด็ก ให้พิจารณาว่า การลงโทษหรือว่าการว่ากล่าวนั้นเป็นไปด้วยจิตใจที่ตรง เป็นเหตุเป็นผล ควรที่จะกระทำด้วยความเมตตา หรือว่าขณะนั้นประกอบด้วยโทสะ ไม่ควรจะแรงอย่างนั้น ก็แรงมากเพิ่มขึ้นเพราะโทสะหรือเปล่า นั่นคือ ความลำเอียง ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำด้วยอำนาจของโทสะ คือ ความโกรธ

    เพราะฉะนั้น ธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงสภาพที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแต่ละขณะตามการสะสมที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น เมื่อปุถุชนยังเป็นผู้ที่มากด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าพิจารณาดูการกระทำทางกาย ทางวาจาในแต่ละวัน ก็จะตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า หวั่นไหวไปเพราะกิเลสเหล่านั้น และก็กระทำสิ่งที่ไม่ควรทำด้วยฉันทะ หรือว่าด้วยโทสะ หรือว่าด้วยโมหะ หรือว่าด้วยความกลัวภัยบ้างหรือเปล่า

    นอกจากการกระทำแล้ว การเขียนหรือการสนทนากันในแต่ละเรื่องในวันหนึ่ง ลองพิจารณาดูว่า เป็นเรื่องที่ท่านรู้จริงทั้งหมดหรือเปล่า เวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือว่าคุยกันตามเรื่องที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ จะได้ฟังความคิดเห็นของหลายท่านต่างๆ กัน แต่ท่านที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นก็ดี หรือเรื่องที่อ่านมาทั้งหมดก็ดี เป็นเรื่องที่ได้ยินกับหู รู้กับตา หรือว่าสืบสวนไตร่ตรองแล้วว่าเป็นความจริงอย่างนั้น หรือว่าเพียงได้ยิน เพียงได้อ่าน ก็พูดตามๆ กันไป แม้ว่าจะไม่มุ่งที่จะให้เกิดความรักหรือความชังกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดกันขึ้นมาแล้วด้วยความไม่รู้เลยว่า ความจริงนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยโมหะ

    จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำและวาจาซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ และถ้าเป็นความลำเอียง ก็เป็นไปด้วยอำนาจของฉันทะ ความพอใจ ด้วยอำนาจของโทสะ ความโกรธ หรือความไม่ชอบใจ ด้วยอำนาจของโมหะ คือ ความไม่รู้ และด้วยอำนาจของความกลัวภัย ซึ่งเป็นภยาคติ

    เรื่องความไม่รู้ ส่วนมากถ้าถามจริงๆ ว่า รู้จริงหรือเปล่า ก็อาจจะตอบแต่เพียงว่า ได้ยินมา หรือว่าได้อ่านมาเท่านั้น เพราะถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์จริงๆ แล้ว เรื่องทั้งหลายรู้ยากเหลือเกินว่าอย่างไรจริง อย่างไรไม่จริง และส่วนมากทุกท่านก็เคยได้รับฟังผิดๆ มาแล้ว และได้ทราบทีหลังว่าความจริงไม่เป็นอย่างนั้น แต่ก่อนที่ท่านจะทราบถึงความจริงว่าไม่เป็นอย่างนั้น ท่านก็ได้พูดถึงเรื่องนั้นเสียมากแล้ว โดยโมหาคติ เพราะว่าไม่รู้ความจริงในเรื่องนั้น จึงได้กล่าวตาม หรือว่าพูดตาม

    สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านดับ หรือละอคติทั้ง ๔ ได้ทั้งหมด เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง การเป็น พระอริยเจ้าไม่ใช่เป็นได้โดยง่ายเลย ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ศึกษา สังเกตเพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว ไม่มีวันที่จะได้เป็นพระอริยเจ้าเลย เพราะว่าการเป็นพระอริยเจ้านั้น เป็นปัญญาที่ได้อบรมเจริญจนสามารถเป็นปัจจัยให้ปัญญาถึงขั้นแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง

    ข้อ. ๕ ท่านถามว่า พระที่นิพพานแล้วไปอยู่ที่ไหน

    ถ้านิพพานจริงๆ จะไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูป เวลาที่จุติจิตของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับ จะไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต เจตสิก รูปเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีที่หนึ่งที่ใดที่เป็นที่อยู่ นิพพานไม่ใช่สถานที่ หรือว่าไม่ใช่สภาพของจิต เจตสิก หรือรูปซึ่งมีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ลักษณะของนิพพานนั้น เป็นการดับสิ้นไม่มีการเกิดอีกเลย ไม่ใช่เป็นสภาพของจิต หรือเจตสิก ซึ่งเป็นความรู้สึกเป็นสุข เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต นิพพานไม่ใช่เจตสิก นิพพานไม่ใช่รูป

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านทราบตามความเป็นจริงว่า นิพพานเป็นสภาพที่ดับสิ้นทุกอย่างทุกประการ ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูป จะปรารถนาความไม่มีอะไรอย่างนั้นหรือเปล่า หรือพอทราบว่าเป็นการดับสิ้นทุกสิ่งทุกประการ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ก็ไม่ปรารถนาแล้ว แต่ก่อนที่จะรู้อย่างนี้ เข้าใจว่านิพพานเป็นอย่างอื่น จึงได้ปรารถนา แต่ถ้าทราบตามความเป็นจริงว่า สภาพของนิพพานนั้น เป็นสภาพที่ดับสิ้นทุกสิ่ง ทุกประการ ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูปเลย ยังคงปรารถนาหรือเปล่า หรือว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็เลิก ไม่ปรารถนาแล้ว เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อจุติจิตดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้มีการปฏิสนธิ

    ตอนสุดท้ายของจดหมาย มีข้อความว่า สุดท้ายขอให้อาจารย์จงอายุยืน ๑๒๐ ปีเท่านางวิสาขามหาอุบาสิกา และยังสาวเหมือนคนอายุ ๑๗ – ๑๘ เช่นเดียวกับ นางวิสาขา

    ทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเป็นไป ตามบุญตามกรรม ไม่มีใครจะทำอะไรได้เลย วิสาขามหาอุบาสิกาจะเป็นอย่างไร แล้วแต่บุญกรรมของท่าน และแต่ละคน ไม่ว่าในครั้งพระผู้มีพระภาค หรือแม้ในครั้งนี้ หรือในครั้งต่อไป แต่ละท่านก็ต้องเป็นไปตามบุญตามกรรมของแต่ละท่านที่ได้สะสมมาจริงๆ ข้อสำคัญคือว่า ถ้าบุคคลใดจะเกิดขึ้นเป็นไปเป็นที่น่าชื่นชมของบุคคลอื่น เช่น วิสาขามหาอุบาสิกา ติดในสิ่งที่ได้รับหรือเปล่า ติดในสภาพที่เป็นไปและเกิดขึ้นเพราะบุญกรรมนั้นหรือเปล่า

    ข้อสำคัญที่สุด ไม่ว่าท่านจะได้รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ บริวาร ประการใดก็ตาม ท่านติดในสิ่งนั้นหรือเปล่า ถ้าสิ่งนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดการติด การไม่ละคลาย ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดจะเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ข้อสำคัญที่สุดขอให้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่าติด และรู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือจะชั่ว จะประณีตหรือจะทราม ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น แต่ว่าต้องอบรมปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงที่จะไม่ติด มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ได้สิ่งใดมาก็เป็นวัตถุปัจจัยของการติดไปทั้งนั้น เมื่อไรหรือว่าวันไหนจะละการยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นได้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะขัดเกลาดับกิเลสให้หมดสิ้นเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๔ ตอนที่ ๖๓๑ – ๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564