แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
ครั้งที่ ๖๐๔
ถ. ธรรมก็มีหลายข้อ หลายแง่ หลายมุม คำว่า กาย เวทนา จิต ธรรม นั้น หมายความว่าอย่างไร
สุ. คำว่า กาย ก็เป็นสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นร่างกายนั่นเอง เวทนา ก็เป็นความรู้สึกต่างๆ ซึ่งกำลังมีอยู่ในขณะนี้ ข้อสำคัญที่สุด คือ ที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ จิตก็เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ธรรม ก็หมายความถึงสิ่งที่มีจริงอื่นๆ ที่ไม่ใช่กาย เวทนา จิต
ถ้าจะตอบโดยย่อ และโดยนัยของการปฏิบัติ สภาพธรรมที่มีจริงที่จะรู้ได้ ก็ต้องเนื่องกับกาย ถ้าไม่มีกายจะรู้สภาพธรรมได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่มีการกล่าวถึงกาย เวทนา จิต ธรรม ที่แยกประเภทออกไปต่างๆ นั้น มาจากการที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั่นเอง ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงที่จะให้สติระลึกรู้ได้ที่กาย เพราะว่ากายเป็นแหล่งที่รวม ที่เกิด ที่ปรากฏของสภาพธรรมทั้งหลาย
ในขณะนี้ของจริงมีปรากฏอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ทางกาย ก็คือ ที่กายนั่นเอง ถ้าสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายขณะใด ขณะนั้นก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย
สำหรับทางตา ตาอยู่ที่กาย แต่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายหรือทางกาย ตาอยู่ที่กาย แต่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง มีอยู่ที่มหาภูตรูป แต่เวลาปรากฏนั้น ปรากฏทางตาเป็นสีสันต่างๆ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าตาจะอยู่ที่กาย แต่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั้น ปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่ตึงไหว
เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง เป็นเสียงที่ปรากฏทางหูบ้าง เป็นกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก เป็นรสที่ปรากฏทางลิ้น เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ปรากฏทางกาย ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งปรากฏแต่ละทาง แยกขาดจากกัน เกิดขึ้นและดับไป
อย่างทางตากำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่การได้ยิน เป็นลักษณะคนละอย่าง การเห็นเป็นอย่างหนึ่ง การได้ยินเป็นอย่างหนึ่ง ตาอยู่ที่กาย หูก็อยู่ที่กาย แต่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตากับสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่สภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย เป็นลักษณะแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของกาย หมายความถึงระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่สามารถจะรู้ได้ทางกาย ที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือว่าเป็นร่างกายของเราด้วย
ส่วนความรู้สึก หรือเวทนา ซึ่งเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นสภาพความรู้สึก ไม่ใช่กาย กายมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่ความรู้สึก ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน ไม่ตึง ไม่ไหว ความรู้สึกเป็นความรู้สึก ดีใจ หรือว่าเสียใจ หรือว่าเฉยๆ หรือว่าเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ ในขณะที่รู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ในวันหนึ่งๆ ก็มีการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกก็จะต้องมีอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน แต่ถึงแม้ความรู้สึกจะมีอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึก ย่อมไม่รู้ชัดว่า ความรู้สึกแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน และก็ดับไป ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ความรู้สึกเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเห็นสิ่งที่พอใจ ชอบมาก ความรู้สึกก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ก็ต่างกันไป ซึ่งถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่า ความรู้สึกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป ซึ่งความรู้สึกนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวที่ปรากฏทางกาย เพราะฉะนั้น ก็เป็นของจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน
ส่วนจิต ก็เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะไม่ใช้คำว่า จิต ก็ได้
ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ต้องใช้คำ ไม่ต้องใช้ชื่อ เป็นแต่เพียงระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งกำลังรู้ทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งสติระลึกรู้ในสภาพรู้ ในอาการรู้ ในธาตุรู้ที่กำลังรู้ ไม่ต้องใช้ชื่อ และ ไม่ต้องคิดว่า กำลังระลึกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าในขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้
สำหรับธรรมอื่น หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่กาย ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต เช่น เสียง หรือกลิ่น เป็นต้น เวลาที่กำลังปรากฏ สติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ให้ทราบว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องแยกโดยชื่อ แต่ให้รู้จริงๆ ว่า สติมีลักษณะอย่างไร โดยการที่สติเกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนี้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
ถ. ผมสงสัยเรื่องสติปัฏฐาน คือ การพิจารณากายในกาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายในการลวงของสังขาร คือ ไม่ยึดอัตตา จะต้องพิจารณาถึงขั้นไหน ประการที่ ๒ การพิจารณาธรรมในธรรม จิตในจิต เวทนาในเวทนา พิจารณาถึงขั้นไหน ผมไม่ใช่นักวิปัสสนา สมมติว่า เคยฝึกสมถะจนจิตรวมลง จนมองเห็นไส้ของตนในกายเป็นขดๆ เราจะพิจารณาไปแบบไหนจึงจะไม่ยึดถืออัตตาเป็นที่ตั้ง บางทีก็อธิษฐานด้วยใจ สาวไส้ออกมา เราจะพิจารณาอย่างไรจึงจะเรียกว่า เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย คือ ไม่ยึดถืออัตตาเป็นที่ตั้ง
สุ. จุดประสงค์ของท่านผู้ฟังก็เพื่อให้ถึงความหน่าย ความคลายการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ใช้ศัพท์ว่า นิพพิทา คือ การหน่าย การคลายการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน แต่ว่าไม่ใช่ด้วยการเจริญความสงบ และก็เห็นสิ่งที่ไม่จริง คือ เห็นไส้เห็นพุงและจะสาวไส้ออกมาก็ได้ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เกิดความหน่าย ความคลายการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นเรา หรือของเราได้ เพราะว่าไม่มีใครเลยที่สามารถจะละความยึดถือในสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเราได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านผู้ฟังมีจุดประสงค์ที่จะให้ถึงความหน่าย ความคลายการติดการยึดถือในตัวตนสักเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถที่จะละ หน่าย คลายได้เลย เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะไปถึงการหน่าย การคลายการยึดมั่นในตัวตน ในร่างกาย แต่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัญญาที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะทำกิจละคลาย หน่ายการติดในตัวตนได้จริงๆ นั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้อะไร และอบรมเจริญอย่างไร ปัญญานั้นจึงจะเกิดขึ้นได้
ถ้าไม่เข้าใจในเหตุในผลให้ตรงตามความเป็นจริงอย่างนี้ ต่อให้ท่านไปทำสมาธิ และก็เห็นตับ ไต ไส้ พุง ม้าม ปอด และก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับจะละคลาย ไม่ติด ไม่ยึดมั่นสักเท่าไรก็ตาม แต่ตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลที่ละเอียดมากยังไม่สามารถที่จะดับลงไปได้ เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง นั่นเป็นแต่เพียงภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดที่จะให้เห็นความเป็นปฏิกูล แต่ตามปกติในเวลานี้ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อตามปกติในขณะนี้ไม่เป็นอย่างนั้น จะเอาปัญญาอะไรมาละ มาหน่าย มาคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นตัวตน เป็นร่างกายของเราได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะละคลายได้จริง ต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ผิดปกติ เพราะว่าเกิดการนึกขึ้นมาเป็นภาพที่เป็นปฏิกูลต่าง ๆ
สมาธิไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เลย เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ และรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพตามความเป็นจริงของธรรมที่กำลังปรากฏได้
ชีวิตประจำวันแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า กิเลสมีมากเหลือเกิน เป็นการยากเหลือเกินที่จะดับให้หมดเป็นสมุจเฉทได้ แม้แต่ในเรื่องของการอ่อนน้อมหรือไม่อ่อนน้อมที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือภิกษุณี ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง เรื่องความเคารพ ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องความเคารพ ข้อ ๒๖๐ มีข้อความว่า
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จจาริกทางพระนครสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์รีบไปข้างหน้าภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
แสดงถึงกิเลสที่มีอยู่ในใจ ทำให้เกิดการที่จะรีบไปข้างหน้าภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ภิกษุอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์รีบไปข้างหน้าภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข หวงวิหาร กันที่นอนไว้ว่า ที่นี้ของอุปัชฌาย์ของพวกเรา ที่นี้ของอาจารย์ของพวกเรา ที่นี้ของพวกเรา
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปล้าหลังภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อภิกษุทั้งหลายจองวิหารและที่นอนหมดแล้ว หาที่นอนไม่ได้ จึงนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้นเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้น ทรงพระกาสะ แม้ท่าน พระสารีบุตรก็กระแอมไอ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ใคร ที่นั่น
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ข้าพระพุทธเจ้า สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
สารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่โคนต้นไม้นี้เล่า
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ฯ
ชีวิตจริงของท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือไม่ เวลาที่มีคนมากๆ และท่านก็มีมิตรสหาย เพราะฉะนั้น เวลาที่จะไปไหนในเรื่องที่เกี่ยวกับที่นั่งที่นอน ท่านก็มักจะมีกิเลสเกิดขึ้น ทำให้หวงกันที่นั่งที่นอนนั้นไว้สำหรับตัวท่านเอง หรือว่าสำหรับมิตรสหาย นี่ก็เป็นเรื่องชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าชีวิตในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือแม้บุคคลในสมัยนี้ ก็ไม่ได้ผิดกันเลยในเรื่องของกิเลสและอกุศลธรรม ซึ่งบางครั้งก็จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร
ข้อความต่อไปมีว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น ... ฯลฯ
ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
เป็นเรื่องของความเคารพ ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้คิดด้วยว่า ท่านผู้ใดควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ หรือถ้าเป็นพราะภิกษุก็บิณฑบาตอันเลิศ
ข้อความต่อไปมีว่า
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูลกษัตริย์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูล พราหมณ์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูล คหบดี ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดจำทรงพระสูตรไว้ได้ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดทรงพระวินัย ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดเป็นธรรมกถึก ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้ปฐมฌาน ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้ทุติยฌาน ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้ตติยฌาน ... ภิกษุใดได้จตุตถฌาน ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดเป็นพระโสดาบัน ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดเป็นพระสกทาคามี ... ภิกษุใดเป็นพระอนาคามี ... ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะ อันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้วิชชา ๓ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดได้อภิญญา ๖ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ฯ
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสตอบว่า ภิกษุใดควรจะได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุเหล่านั้นพิจารณาด้วยตนเองว่า ภิกษุใดควรจะได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ โดยพระผู้มีพระภาคตรัสถึง เรื่องของสัตว์ ๓ สหาย ซึ่งมีข้อความว่า
ข้อ ๒๖๒
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งอยู่แถบหิมพานต์ สัตว์ ๓ สหาย คือ นกกระทา ๑ ลิง ๑ ช้าง ๑ อาศัยต้นไทรใหญ่นั้นอยู่ ทั้งสามสัตว์นั้น มิได้เคารพ มิได้ยำเกรงกัน มีความประพฤติไม่กลมเกลียวกันอยู่ จึงสัตว์ ๓ สหายนั้นปรึกษากันว่า โอ พวกเราทำอย่างไรถึงจะรู้ได้แน่ว่า บรรดาพวกเราผู้ใดเป็นใหญ่โดยกำเนิด พวกเราจะได้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาผู้นั้น และจะได้ตั้งอยู่ในโอวาทของผู้นั้น จึงนกกระทาและลิงถามช้างว่า
สหายท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง
ช้างตอบว่า
สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันเดินคร่อมต้นไทรนี้ไว้ในระหว่างขาหนีบได้ ยอดไทรพอระท้องฉัน ฉันจำเรื่องเก่าได้ ดังนี้
นกกระทากับช้างถามลิงว่า
สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง
ลิงตอบว่า
สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันนั่งบนพื้นดินเคี้ยวกินยอดไทรนี้ ฉันจำเรื่องเก่าได้ ดังนี้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐๑ – ๖๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660