แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648


    ครั้งที่ ๖๔๘


    สำหรับผู้ที่เว้นการพนัน ก็เป็นผู้ที่จะไม่ได้รับโทษจากการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการ

    ในชีวิตนี้ แม้บางครั้งจะไม่ใช่การพนัน แต่ก็อาจจะมีการแพ้การชนะในเรื่องอื่น หรืออาจจะเป็นในเรื่องของการถกเถียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ผู้ชนะจะทำอย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่มีอกุศลจิตจะทำอย่างไร อาจจะเยาะเย้ยผู้แพ้ หรือว่าดูถูกดูหมิ่น หรือว่าริบเอา ของๆ ผู้แพ้ก็ได้ ซึ่งนั่นเป็นอกุศลจิต แต่ถ้าเป็นกุศลจิต ก็ไม่ทำให้ผู้อื่นเกิดความน้อยใจ เสียใจ หรืออับอาย ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านชนะในเหตุผล ก็เป็นความจริงอย่างนั้นตามเหตุผลเท่านั้น อย่าถือโอกาสที่จะเยาะเย้ย หรือว่าทำให้บุคคลอื่นเสียใจ น้อยใจ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้บุคคลผู้นั้นอาจจะคิดก่อเวร หรือต้องการที่จะชนะท่านในภายหลัง ในทางที่ไม่เป็นธรรมก็ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพของจิตใจ แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นไปในเรื่องของอบายมุข หรือทางแห่งความเสื่อมโดยตรง แต่แม้กระนั้นกุศลจิตและอกุศลจิตก็ย่อมจะเกิดได้ตามการสะสม ตามการพิจารณาที่ละเอียดขึ้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการเหล่านี้ คือ นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑ นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑ นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๑ นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม ๑ นำให้เป็นคนโกงเขา ซึ่งหน้า ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑

    ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตรเหล่านี้แล ฯ

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาชีวิตในอดีตของท่าน จะเห็นได้จากการคบกับมิตรที่ไม่ดีว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะนำให้ชีวิตของท่านประพฤติในทางทุจริตได้นานาประการ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน ๖ ประการเหล่านี้ คือ มักให้อ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผลัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความสิ้นไป

    ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้านเหล่านี้แล ฯ

    ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด ไม่ใช่ให้พิจารณาคนอื่น แต่ให้พิจารณาตนเอง

    ก่อนที่จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นคนเกียจคร้านบ้างหรือเปล่า บางท่านหนาวนัก ไม่ทำ เป็นผู้ที่ย่อท้อต่อเหตุการณ์ทั้งปวง เพราะว่าความเกียจคร้านก็คือความย่อท้อต่อการงานหรือต่อเหตุการณ์นั่นเอง ส่วนความไม่ย่อท้อ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม คือ ความแกล้วกล้า อาจหาญ ที่จะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอุปสรรค ซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่เห็นคุณประโยชน์ของการที่จะใช้เวลาให้มีค่า ซึ่งก่อนนั้นท่านอาจจะเป็นคนที่เกียจคร้านบ้าง โดยการศึกษาพิจารณาดูว่า ข้ออ้างในการที่ท่านย่อท้อต่อการงานนั้น เป็นไปในประการที่ว่าหนาวนักบ้างไหม สำหรับท่านที่กลัวหนาว หรือว่าไม่ชอบหนาว และสำหรับท่านที่กลัวร้อน ก็บอกว่าร้อนนัก ทำไม่ไหวบ้างไหม

    แต่ว่าผู้ที่มีความอดทน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หนาวก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ร้อนก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย กำลังหนาว จะเปลี่ยนหนาวให้เป็นร้อนก็ไม่ได้ กำลังร้อนจะเปลี่ยนร้อนให้เป็นหนาวตามที่ต้องการก็ไม่ได้ เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และรู้ว่าชีวิตที่มีประโยชน์ คือ การไม่ย่อท้อต่อเหตุการณ์ทั้งปวง ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่เห็นค่าของกาลเวลาที่ผ่านไป ท่านก็จะขาดประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมด้วย

    บางท่านก็อาจจะอ้างว่า เย็นแล้ว ไม่ทำการงาน มีไหมอย่างนี้ เย็นแล้ว จะค่ำแล้ว ทำก็ไม่เสร็จ ทำก็ไม่ทัน

    นี่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าลองทำดู จะได้ประโยชน์มากจากการที่ไม่ ย่อท้อ หรือไม่เกียจคร้าน ในขณะที่อ้างว่าเย็นแล้วและจะไม่ทำ เสียประโยชน์ไป แต่ถ้าลองทำดู ได้ประโยชน์แล้ว จะเป็นการอ่านหนังสือธรรม หรือว่าจะเป็นประกอบการกุศลใดๆ ก็ตาม หรือว่าจะเป็นการทำสิ่งที่มีประโยชน์ ก็สามารถที่จะทำได้โดยที่เป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อ แม้ว่าในขณะนั้นจะเป็นเวลาเย็นแล้ว

    บางท่านก็อาจจะอ้างว่า ยังเช้าอยู่ ก็เช่นเดียวกัน ที่อ้างว่ายังเช้าอยู่ ถ้าท่านไม่เกียจคร้าน ในขณะที่ยังเช้าอยู่ ท่านจะทำประโยชน์จากเวลาที่ยังเช้าอยู่นั้นได้มากทีเดียวจากการเป็นผู้ที่ตื่นเช้า ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่เดือดร้อนเลยว่ายังเช้าอยู่ ทันทีที่ตื่น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ และยังจะสามารถที่จะเป็นประโยชน์ในทางโลก โดยเห็นว่า มีเวลาเพิ่มขึ้นในวันนั้นอีกมาก เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ตื่นเช้าโดยไม่คิดว่า เช้าเกินไปในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    บางท่านอาจจะอ้างว่า หิวนัก และไม่ทำการงาน นี่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เกียจคร้าน คือ เป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อแล้ว หิวเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะกระทำในระหว่างนั้นให้เสร็จ การงานที่คิดว่าจะพักไว้ก่อนก็ยังเสร็จได้ นั่นเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อต่อความหิว

    บางท่านอาจจะอ้างว่า กระหายนัก แล้วก็ไม่ทำอะไร ในขณะที่กระหายนัก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อ ก็จะทำให้ประโยชน์ได้ แต่ผู้ที่เกียจคร้านก็จะเสียประโยชน์ไป

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    เพื่อนในโรงสุราก็มี เพื่อนกล่าวแต่ปากว่าเพื่อนก็มี ส่วนผู้ใดเป็นสหายในเมื่อความต้องการเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้

    เหตุ ๖ ประการ คือ การนอนสาย ๑ การเสพภรรยาผู้อื่น ๑ ความประสงค์ผูกเวร ๑ ความเป็นผู้ทำแต่สิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ มิตรชั่ว ๑ ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่นนัก ๑ เหล่านี้ ย่อมกำจัดบุรุษเสียจากประโยชน์สุขที่จะพึงได้พึงถึง คนมีมิตรชั่ว มีเพื่อนชั่ว มีมรรยาทและการเที่ยวชั่ว ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ จากโลกนี้และจากโลกหน้า

    เหตุ ๖ ประการ คือ การพนันและหญิง ๑ สุรา ๑ ฟ้อนรำขับร้อง ๑ นอนหลับในกลางวัน บำเรอตนในสมัยมิใช่กาล ๑ มิตรชั่ว ๑ ความตระหนี่เหนียวแน่นนัก ๑ เหล่านี้ ย่อมกำจัดบุรุษเสียจากประโยชน์สุขที่จะพึงได้พึงถึง

    ชนเหล่าใดเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพหญิงภรรยาที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น คบแต่คนต่ำช้า และไม่คบหาคนที่มีความเจริญ ย่อมเสื่อมเพียงดังดวงจันทร์ในข้างแรม

    ผู้ใดดื่มสุรา ไม่มีทรัพย์ หาการงานทำเลี้ยงชีวิตมิได้ เป็นคนขี้เมา ปราศจากสิ่งเป็นประโยชน์ เขาจักจมลงสู่หนี้เหมือนก้อนหินจมน้ำ ฉะนั้น จักทำความอากูลแก่ตนทันที

    คนมักมีการนอนหลับในกลางวัน เกลียดชังการลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลง ขี้เมาเป็นนิจ ไม่อาจครอบครองเหย้าเรือนให้ดีได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยชายหนุ่มที่ละทิ้งการงาน ด้วยอ้างเลศว่า หนาวนัก ร้อนนัก เวลานี้เย็นเสียแล้ว ดังนี้ เป็นต้น ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาวและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุขเลย ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาความอดทนว่า เป็นสิ่งที่สมควร เพราะว่าแม้แต่หญ้าก็ยังทนต่อความหนาวความร้อนได้ และทำไมผู้ที่ต้องการประโยชน์จากการมีชีวิต จะไม่ทำสิ่งที่มีประโยชน์โดยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก ตามข้อความที่ว่า ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาวและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุขเลย

    ชีวิตที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมของคฤหัสถ์ จะปราศจากการกระทำกิจการงานหรือภาระหน้าที่ต่างๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากทางโลก ที่จะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่สามารถประพฤติธรรมได้โดยสะดวกสบาย ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท โดยการที่สิ่งใดที่เป็นโทษ ก็เห็นว่าเป็นโทษ และก็ละสิ่งนั้นเสีย ส่วนสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ และก็ควรที่จะประพฤติตามสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการประคับประคองชีวิตของคฤหัสถ์ผู้ใคร่ต่อการดับกิเลส ให้ถึงความดับทุกข์สิ้นกิเลสได้ โดยไม่ยาก โดยสะดวกสบาย

    ถ. ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผู้ที่เล่นการพนัน ผู้ที่ดื่มสุรา จะไม่มีความสุขในชาตินี้และชาติหน้า แต่คนที่เขากำลังเล่นการพนันก็ดี กำลังดื่มสุราก็ดี ขณะนั้นเขาถือว่าเขามีความสุข ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความสุขในชาตินี้

    สุ. เล่นแล้วชนะทุกทีครั้งหรือ จะได้มีความสุขเสียทุกที

    ถ. ขณะที่เล่นน่ะ ถ้าพูดถึงการพนัน ผมเล่นแต่ละทีได้เป็นแสน ทรมานที่สุด ๓ วัน ๓ คืน คืนวันเสาร์เล่นตลอดคืน คืนวันเสาร์นั้นรับประทานอาหารได้ แต่รุ่งเช้าวันอาทิตย์ได้แต่ไข่ลวกบ้าง ข้าวต้มบ้างเท่านั้น ไปถึงกลางคืนวันอาทิตย์ไม่ต้องกินอะไรอีก นอกจากน้ำและบุหรี่ อย่างอื่นกินไม่ได้แล้ว เพราะตลอดคืนไม่ได้นอน ทรมานที่สุดขณะที่เล่น แต่ผู้ที่เล่นเล็กๆ น้อยๆ สลึง ๒ สลึง เขาก็ถือว่าเขาเพลิดเพลิน มีความสุข

    สุ. ก็ให้มากอย่างที่ว่า จะได้ซาบซึ้งในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ได้นำความสุขอะไรมาให้เลย แม้ในขณะที่เล่น จิตใจก็หวั่นไหว มีใครบ้างไหมที่อยากแพ้ ไม่มี ขณะนั้นเป็นสุขไหม ระหว่างที่ไม่อยากเป็นผู้แพ้ กลัวว่าจะแพ้ และกลัวต่อการที่จะสูญเสียทรัพย์ เพราะไม่แน่ว่าจะได้ทรัพย์ หรือจะเสียทรัพย์ นอกจากนั้น ถ้าเสียทรัพย์มากๆ เกิดเป็นหนี้ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข และถ้าเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรมที่จะเป็นผู้ชนะในการพนัน หรือว่าจะพ้นหนี้ในทางทุจริต ก็ย่อมเป็นทุกข์ทั้งในชาตินี้และในชาติหน้าด้วย เพราะว่าจะต้องได้รับผลของอกุศลกรรม

    ถ. ทางเสื่อมแห่งโภคะทั้ง ๖ ประการ ในสมัยก่อนผมครบหมดทั้ง ๖ ประการ และในพระไตรปิฎก พระองค์ทรงแสดงถึงโทษ คงจะแสดงเป็นระเบียบกระมัง แท้ที่จริงมีกว่านั้น ตัวผมมีมากกว่านั้น

    แต่ว่าเวลานี้ละหมดแล้ว เหลือแต่บุหรี่ บุหรี่นี้ยังไม่เห็นโทษเท่าไร แต่เห็นน่ะเห็นแล้ว ไปไหนมาไหนอีรุงตุงนัง ต้องพกบุหรี่ พกไฟแช็ก กระเป๋าเสื้อต้องใหญ่ๆ ถึง ๒ ใบ ถ้าไม่มี ๒ ใบ ใส่ไม่ได้ เพราะต้องมีแว่นตา บุหรี่ ไฟแช็ก สมุด เต็มไปหมด ก็เห็นโทษเพียงเท่านี้ ส่วนโทษอื่นยังมองไม่เห็น เพราะฉะนั้น บุหรี่ยังเลิกไม่ได้ อื่นๆ เลิกไปหมดแล้ว

    การที่เลิกได้นั้น ไม่ใช่ตั้งใจว่าจะเลิก ที่เลิกได้ก็เพราะเห็นโทษ ในเมื่อเห็นโทษแล้ว ก็พยายามละ ทีแรกก็ยังละไม่ได้ ต้องใช้เวลา

    การพนันเลิกมาเห็นจะเป็นปีที่ ๓ พวกเพื่อนๆ ก็อัศจรรย์ว่า เล่นถึงขนาดนี้แล้วเลิกได้จริงๆ หรือ บางทีไม่แน่ใจตัวเอง ลองไปสักที ไปลองดูซิว่าจะเล่นหรือไม่เล่น พอไปถึงเพื่อนก็ดูว่าจะแน่ขนาดไหน เขาก็พยายามแช่ง พยายามด่า พยายามจูง พยายามชวน ทีแรกๆ ก็เล่นอีก ไม่แน่ใจตัวเอง ไปอีกๆ ทีนี้เลิกจริงๆ ชวนอย่างไรก็ไม่เอา ผมคิดว่า เวลานี้คงจะเลิกเด็ดขาด หนังนี่ดูเหมือนกัน ๑๐ ปีแล้วดูเรื่องเดียว คือ เห้งเจีย ที่โอเดียน จำได้เลย

    ทางเสื่อมแห่งโภคะทั้ง ๖ ประการนี้ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเลิก แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเกิด รู้คุณรู้โทษ เห็นว่านี่เป็นโทษ ก็ละเอง พยายามละ ทีแรกๆ ก็ยังละเด็ดขาดไม่ได้ ต้องให้เวลา ติดมานานเสียแล้ว เห็นว่าเป็นโทษก็พยายามละ วันหนึ่ง ก็ละได้ ไม่ใช่ว่าละได้เดี๋ยวนั้น จะให้เลิกเดี๋ยวนี้เลย เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องทางเสื่อมแห่งโภคะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้น ถ้าผู้ใดเจริญสติ อบรมเจริญปัญญาแล้ว ละได้เด็ดขาดจริงๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังซึ่งยังละไม่ได้ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เรื่องที่จะละหรือไม่ละ ไม่ต้องคิดไว้ก่อนเลย แต่ว่าเมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็จะทำกิจของปัญญา โดยการที่จะละคลายอัธยาศัยในทางอกุศล และน้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น

    ถ. ลอตเตอรี่กับสนามม้า เราจะหาทางอย่างไรที่จะปลดเปลื้องสองอย่างนี้ออกไป จะเอาพระไตรปิฎกไปบอกเขา หรือจะเอานรกไปขู่เขา เขาก็ไม่เห็นด้วย เราจะมีหนทางอะไร ทำให้หยุดยั้งลอตเตอรี่และสนามม้าได้บ้าง พอจะบอกทางได้ไหม

    สุ. ไม่ต้องทำอะไรกับเขา กับเราคนเดียวก็พอ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด สำหรับให้พิจารณาสภาพธรรมที่ท่านเองสะสมมา เพราะว่าบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขท่านได้ฉันใด ท่านก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขบุคคลอื่นได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น เห็นคุณค่าของพระธรรม และน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม ท่านก็จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม โดยที่ไม่สามารถจะไปบังคับบัญชา หรือว่าไปเปลี่ยนแปลงตามใจชอบ แต่ว่าจะต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือ ปัญญาที่เกิดขึ้น

    ถ. ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับสิงคาลกอุบาสก คือ ธรรมที่ทรงแสดงกับอุบาสก แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงกับพระภิกษุนั้น ผมเห็นว่า มีจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่น การดื่มสุรา พระองค์ทรงแสดงไว้ในสูตรอื่นๆ ว่า เป็นการทำให้เกิดความประมาท การดูมหรสพต่างๆ ก็ดี พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า เป็นข้าศึกต่อกุศลธรรม แต่ในสูตรนี้พระองค์ทรงมุ่งว่า จะทำให้เสื่อมโภคะ เสื่อมโภคสมบัติ ผมสงสัยว่า ในเมื่อคฤหัสถ์ดื่มสุราแล้ว จะไม่มีความประมาทอย่างนั้นหรือ

    สุ. ประมาททั้งหมด ไม่ว่าคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต

    ถ. ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง แต่ทรงแสดงว่า เป็นการเสื่อมทรัพย์

    สุ. การเสื่อมทรัพย์นั่นแหละ ประมาทมากทีเดียว ที่ให้ทรัพย์เสื่อมไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๖๔๑ – ๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564