แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650


    ครั้งที่ ๖๕๐


    ถ. เปรียญ ๙ เขาแปลมาจากภาษาบาลี เขาบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นของอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ แม้จะกล่าวอย่างนี้ก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย อวิชชาต้องมีอยู่ ลงท้ายเพราะเหตุนี้จึงมีอวิชชา ก็เกิดจะชกปากกัน ก็เพราะเหตุนี้ หมายความว่าอะไรกัน เพราะเหตุนี้อวิชชาจึงมีอยู่ อยากจะฟังบาลีของท่านเปรียญ ๖ ที่นั่งที่นี่บ้าง คำว่า อวิชชา

    สุ. เวลานี้เห็นอวิชชาหรือยัง

    ถ. ถามผมหรือ กำลังเจริญสติ

    สุ. ถ้าเจริญสติ ไม่เห็นอวิชชา จะดับอวิชชาได้อย่างไร มีอวิชชาไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. ไม่มี ก็เป็นพระอรหันต์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ทั้งหมด แม้แต่อวิชชาให้เกิดสังขาร ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ใช่ว่าไม่สามารถจะรู้จริงตามนั้นได้ แต่ผู้ที่จะประจักษ์อริยสัจธรรมจะต้องรู้แจ้งสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่า พระธรรมประการใดที่ทรงแสดงไว้ สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ไม่สงสัย เพราะว่าได้ระลึก รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง เช่น ทางตา ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ รู้ไหมว่าเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ และรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่สภาพรู้เสียง ไม่ใช่ธาตุรู้เสียง รู้ไหมอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเห็นอวิชชาว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่มีการระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นความ ไม่รู้ ถูกปิดบังไว้ด้วยอวิชชา ถูกครอบงำให้มืดสนิทด้วยอวิชชา ไม่เห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของอวิชชาว่า เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และขณะใดที่มีกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดขึ้น ผู้นั้นรู้ในสภาพของธรรมที่เป็นอกุศล รู้ว่ามีอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเจริญกุศลขั้นอื่น เช่น การให้ทาน แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของการเห็นที่กำลังเห็น หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ยังมีอวิชชาเป็นปัจจัยอยู่ ขณะที่รักษาศีล วิรัติทุจริต แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังวิรัติทุจริตในขณะนั้น ก็ยังมีอวิชชาอยู่

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง รู้ว่าอวิชชาเป็นสภาพธรรมที่ปิดกั้นไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ต่อเมื่อใดสติเกิดขึ้น ศึกษา ซึ่งเป็นการเริ่มรู้ เพราะว่าความรู้ทั้งหลายย่อมมาจากการศึกษา ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติ เพียงแต่อ่านแล้วเข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมให้เกิดขึ้น

    การอบรมให้เกิด คือ การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมเพื่อให้เกิดความรู้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดขึ้น ขณะที่กำลังศึกษา ขณะนั้นเป็นการเริ่มรู้ของปัญญา ปัญญา คือ ธรรมที่สามารถรู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่การรู้แจ้งชัดจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการศึกษาเสียก่อน

    บางท่านอาจจะคิดว่า การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏอาจจะไม่ใช่ปัญญา แต่ความจริง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่การศึกษา จะไม่ใช่การเริ่มรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิด และมีการศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ คือ สภาพรู้ก็เป็นเพียงสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏก็เป็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ การศึกษาอย่างนี้ คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นเริ่มรู้โดยศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ในคราวก่อนเป็นข้อความเรื่องของคนเทียมมิตร ๔ จำพวก คือ คนที่ไม่ใช่มิตร แต่เป็นคนเทียมมิตร คือ คนที่นำของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว หรือคนปอกลอก ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางพินาศ ๑ ท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร

    เรื่องมิตรเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิต เพราะว่าในสังสารวัฏฏ์ที่จะบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ถึงความเป็นพระอรหันต์ผู้ดับกิเลส ซึ่งจะไม่ต้องมีการเกิดอีกต่อไปนั้น แม้ในชาติสุดท้าย ก็จะปราศจากมิตรไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทราบว่า มิตรเป็นผู้ที่มีความสำคัญ เป็นมิตรที่ดี เป็นกัลยาณมิตร หรือว่าเป็นมิตรที่เป็นเพียงคนเทียมมิตร แต่ไม่ใช่มิตร พร้อมกันนั้นผู้ที่อบรมปัญญาที่จะดับกิเลสก็จะต้องทราบด้วยว่า แม้ตัวท่านเองก็เป็นมิตรในลักษณะหนึ่งลักษณะใด แล้วแต่ว่ากิเลสที่มีนั้นจะทำให้ท่านเป็นคนเทียมมิตรในบางกาล ในบางโอกาส หรือว่าในอดีต แต่ผู้ที่อบรมปัญญาส่วนมากย่อมเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส และเป็นผู้ที่อบรม คุณความดี เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นมิตรที่เป็นมิตรแท้ ไม่ใช่คนเทียมมิตร

    แต่กิเลสก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเป็นเรื่องที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก ถ้าไม่พิจารณาข้อความโดยละเอียดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรต่างๆ บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า กิเลสที่ท่านสะสมมาในบางครั้ง บางขณะ หรือว่าในบางเหตุการณ์ กิเลสอาจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้ท่านมีลักษณะของคนเทียมมิตรบางประการได้

    ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมของผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ซึ่งมิตรเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญมาก และใน ข้อ ๑๘๙ ได้กล่าวถึงลักษณะของคนเทียมมิตรประเภทหัวประจบ มีข้อความว่า ดูกร คฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔

    มีใครไม่ชอบคนประจบบ้างไหม รู้หรือเปล่าว่าถูกประจบในบางครั้ง หรือรู้หรือเปล่าว่าในบางครั้งก็เป็นการประจบนิดๆ หน่อยๆ กับมิตรสหายของท่าน นี่เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมากที่จะต้องศึกษาและเป็นคนที่ตรงจริงๆ ที่จะระลึกรู้ได้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศล หรืออกุศลประการใด

    ลักษณะของคนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ

    ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว (จะทำชั่วก็คล้อยตาม) ๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี (จะทำดีก็คล้อยตาม) ๑ ต่อหน้าสรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑

    ถ. อาจารย์ช่วยอธิบายขยายข้อความที่ว่า ตามใจเพื่อนให้ทำความดี ก็ยังเป็นคนหัวประจบ

    สุ. ความดีมีหลายอย่าง และถ้าทำตามสมควร พอเหมาะ พอดี ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ถ้าทำจนกระทั่งอาจจะทำให้เกิดความทุกข์ยาก หรือความเดือดร้อนขึ้นภายหลัง โดยที่ขาดความรอบคอบ นั่นก็ไม่เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ อย่างบางท่านกระทำบุญกุศลอาจจะมากไปหรือน้อยไป เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม

    ถ้าใครเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุผล ในประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งไม่มีการเสียประโยชน์เลย และแนะนำมิตรในสิ่งที่ควร คือ ในความพอดี ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์เต็มที่ ไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลังได้ แต่ลักษณะของคนหัวประจบนั้น ไม่มีการขัดข้องเลย ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าให้ตนเองเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเพื่อน โดยที่ไม่ให้เหตุผล หรือไม่เตือน ไม่ท้วงในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร

    การฟังธรรมเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ดี การฟังธรรมมีมาก ถูกบ้าง ผิดบ้างก็มี ถ้าฟังธรรมที่ผิดๆ ดีไหม ควรที่จะทักท้วง หรือควรที่จะให้ฟัง เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา แม้แต่ในเรื่องที่คิดว่า เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องของการทำความดี ก็จะต้องอาศัยการพิจารณาให้ได้เหตุผลเพื่อที่จะได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะว่าการฟังที่ไม่ถูก การฟังโดยไม่พิจารณาในเหตุผล ย่อมทำให้เข้าใจธรรมผิด และทำให้ยึดธรรมผิดนั้นโดยเข้าใจว่าเป็นธรรมที่ถูกก็ได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของคนเทียมมิตรประเภทที่ ๔ มีข้อความว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางพินาศ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ ๑ ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

    ดูกร คฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางพินาศ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

    ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ น่าสนุกไหมมีเพื่อนอย่างนี้ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ในวงสังคมต่างๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องขาดไม่ได้ หรือว่าเป็นเรื่องนำมาซึ่งความเบิกบานใจ สนุกสนานรื่นเริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะพิจารณาได้ว่า ใครจะเป็นคนเทียมมิตร หรือว่าใครจะเป็นมิตรแท้

    ถ. ในพระไตรปิฎกพูดแต่ว่าถูกชักชวน ให้รู้ว่าคนที่มาชักชวนนั้นไม่ใช่มิตร ผมสงสัยว่า ถ้าเราไปชักชวนเขา ซึ่งก็เป็นไปได้ ถ้าเราชอบดื่มสุรา เราก็ไปชวนเพื่อน เราชอบเที่ยวในตรอก เราก็ไปชวนเพื่อน เราชอบดูมหรสพ เราก็ไปชวนเพื่อน ถามว่าเราเป็นมิตรแท้หรือไม่

    สุ. ไม่มีเข้าข้างใคร เราหรือเขาเหมือนกันทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญ คือ ถ้าไม่พิจารณาธรรม จะไม่เห็นสภาพตามความเป็นจริงของชีวิตประจำวันของแต่ละคน เริ่มตั้งแต่ยังมีกิเลสมาก หนาแน่น เหนียวแน่น จนกระทั่งค่อยๆ ละคลาย และก็เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบางลง ลักษณะต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค ไม่ใช่ว่าไม่ทรงทราบถึงอัธยาศัยของผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ทรงแสดงทางเสื่อมหรือทางพินาศ ถ้าเป็นการมัวเมาในสิ่งนั้นๆ แม้แต่ในการดื่มสุรา ผู้ที่ละได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ไม่มีเจตนาที่จะดื่มอีกเลย ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ว่าแม้ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็ไม่ควรที่จะปล่อยตัวมัวเมาจนกระทั่งติด จนกระทั่งให้โทษแก่ร่างกาย หรือว่าแก่ทรัพย์สมบัติ แต่ถ้าเป็นการกระทำตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลสที่จะต้องคบหาสมาคมกับมิตรสหายในบางกาล ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร และไม่ใช่ฝืน เพราะว่าฝืนไม่ได้ ไม่มีอัตตาที่จะไปบังคับได้ แต่มีการอบรมปัญญาที่จะละคลายจนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    แม้แต่ในการดูมหรสพ ไม่มีใครที่ไม่ดูใช่ไหม ตามความเป็นจริง พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ท่านก็ยังดู แต่ว่าไม่ใช่มัวเมาในทางที่เสื่อมจากศีลธรรม

    นี่เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งตรงตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของทุกท่านที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ และผู้ที่มีกิเลสเบาบาง แม้แต่ในเรื่องการพนันก็เช่นเดียวกัน หลายท่านก็ยังไม่เลิก ยังไม่ละ ยังมีเป็นครั้งคราว เป็นบางโอกาส ตามเหตุตามปัจจัยที่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่ใช่ผู้ที่มัวเมา ถ้ามีมิตรสหายที่ชักชวนให้ทุ่มเท ให้หมกมุ่น ให้มัวเมา ให้สมบัติพินาศ ท่านก็จะทราบได้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่มิตรแท้ แต่ว่าเป็นคนเทียมมิตร

    สำหรับผู้ที่ชักชวนในทางพินาศหรือในทางเสื่อม ก็ควรจะคิดรวมไปถึงในทางที่จะให้กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ด้วย ซึ่งได้แก่ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ ทางกาย ถ้ามีเพื่อนที่ชักชวนให้กระทำอย่างนี้ ก็เป็นคนเทียมมิตร เพราะว่าไม่ใช่เพียงที่จะให้เป็นอกุศลจิตตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลส แต่ถึงกับให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรม คือ การฆ่าสิ่งที่มีชีวิต หรือว่าการถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ ซึ่งแม้แต่ในหน้าที่ราชการ หรือในทางส่วนตัว ก็อาจจะมีมิตรสหายในวงการงานชักชวนได้ แต่ผู้ที่มั่นคงในศีลธรรม จะไม่ปล่อยให้ถูกชักจูงไปในเรื่องถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ซึ่งต้องหมายความรวมไปถึงทุกอย่างที่เจ้าของไม่ได้ให้ แม้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย

    นอกจากนั้น ถ้าบุคคลใดมักชักชวนให้มุสา พูดสิ่งที่ไม่จริง แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาให้ทราบได้ว่า ผู้นั้นเป็นคนเทียมมิตร หรือว่าเป็นมิตรแท้ เพราะว่าบางท่านไม่เห็นโทษของการมุสาเลย คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และก็ยังชวนกันให้มุสาด้วย นิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่เห็นว่าเป็นอกุศล เป็นโทษ แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นอกุศล ที่กระทำไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเห็นได้ว่า จะทำให้ติดนิสัย และสามารถที่จะมุสาในเรื่องที่ใหญ่ได้ ซึ่งก็คงจะเริ่มตั้งแต่เด็ก

    ในวัยเด็กมีใครบ้างที่ไม่เคยมุสา เพราะว่าเด็กย่อมมีความกลัว เพราะฉะนั้น ความกลัวแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กๆ ก็เป็นปัจจัยให้เด็กนั้นพูดสิ่งที่ไม่จริงได้ และถ้าโตขึ้น ไม่มีการอบรมตัวเอง ไม่มีการเห็นโทษว่าเป็นอกุศล เรื่องเล็กก็จะเพิ่มเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น และอาจจะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่ติดนิสัยที่จะมุสาไปจนตลอดชีวิต โดยไม่เลือกว่าเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เพราะว่าบางคนมุสาได้ทุกเรื่องจริงๆ โดยไม่จำเป็นเลย อาจจะต้องการลาภ หรือยศ หรือแม้สรรเสริญ แม้เรื่องที่ไม่จริง ไม่ได้กระทำความดีอะไร ก็ยังมุสาว่ากระทำได้ ซึ่งทำให้เห็นว่า อำนาจของกิเลสอกุศลมีกำลังจนกระทั่งสามารถที่จะกระทำอกุศลกรรมได้ แม้ว่าจะไม่มีความจำเป็นประการใด แต่เมื่อกิเลสมีกำลังแรง ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรม นอกจากนั้น ยังชักชวนให้บุคคลอื่นกระทำด้วย

    สำหรับอกุศลกรรมทางวาจา นอกจากมุสาวาท ก็มีปิสุณาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาปวาท ซึ่งแต่ละท่านต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ นอกจากจะศึกษาตัวของท่านเอง ก็จะต้องศึกษาบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยว่า บุคคลนั้นเป็นบุคคลประเภทใด ท่านจะชักชวนเขาให้เป็นผู้เบาบางจากอกุศล หรือว่าท่านจะพลอยตามเขาไป โดยที่เป็นอกุศลร่วมกันไป นั่นก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละท่าน

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางพินาศ ๑ ว่าไม่ใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัย ฉะนั้น ฯ

    นอกจากจะเว้นคบคนที่เป็นคนเทียมมิตรในลักษณะต่างๆ เหล่านี้แล้ว ท่านก็จะต้องเว้นที่จะไม่ให้กิเลสที่ยังมีอยู่ในจิตใจของท่าน ทำให้ท่านเป็นบุคคลประเภทคนเทียมมิตรในบางกาล หรือในบางเหตุการณ์ด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๖๔๑ – ๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 43
    28 ธ.ค. 2564