แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
ครั้งที่ ๖๕๑
ข้อความต่อไปใน สิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรแท้ว่า มี ๔ จำพวก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร คฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดี (เป็นมิตรแท้) ฯ
สำหรับความหมายของมิตร ข้อความในอรรถกถามีว่า
ผู้ที่เดินทางร่วมกันตั้งแต่ ๗ ก้าวขึ้นไป เรียกว่ามิตร ผู้ที่เดินทางด้วยกันตั้งแต่ ๑๒ ก้าวขึ้นไป เรียกว่าสหาย ผู้ที่เยี่ยมกันครึ่งเดือนต่อครั้งหรือเดือนละครั้ง เรียกว่า ญาติ ผู้ที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ดีกว่ามิตร สหาย และญาติ
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะย่อยของมิตร ๔ จำพวกนี้ ซึ่งมีข้อความว่า
ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า (เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก) ๑
ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
มิตรย่อมเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปการะกัน เพราะฉะนั้น ลักษณะของผู้ใดจะเป็นผู้ที่จะอุปการะเกื้อกูลเพื่อนได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑
ทุกท่านย่อมมีเวลาที่เผลอสติ ผิดบ้าง พลั้งบ้าง พลาดบ้าง ใครที่จะช่วยเตือน หรือที่จะบอก หรือที่จะป้องกันในขณะที่ท่านอาจจะผิดไป พลั้งไป พลาดไป เผลอไป ผู้ที่กระทำอย่างนั้น คือ ผู้ที่เป็นมิตรมีอุปการะ ไม่ว่าจะในเรื่องการงาน หรือว่าในเรื่องส่วนตัว หรือว่าในเรื่องความคิดเห็น หรือว่าในขณะที่มีภัยต่างๆ
นอกจากนั้น ยังรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว สำหรับพระธรรมที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ก็จะมีเรื่องของทรัพย์ เรื่องของสมบัติเป็นส่วนมาก เพราะเหตุว่าชีวิตของคฤหัสถ์นั้น ย่อมเป็นผู้ที่จะต้องมีชีวิตดำเนินไปอยู่ได้ด้วยทรัพย์
และเมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ซึ่งอาจจะให้กำลังใจ ปลอบใจ หรือว่าช่วยเหลือในขณะที่เพื่อนต้องการความช่วยเหลือ
เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า คือ เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้ เกินกว่าที่ออกปาก ก็เป็นเรื่องของเงินทอง ซึ่งอาจจะมีการขาด หรือว่าอาจจะต้องใช้ในธุรกิจ ผู้ที่เป็นมิตรมีอุปการะ ถ้าเพื่อนต้องการช่วยเหลือ ไม่ใช่ปฏิเสธ หรือช่วยอย่างเสียไม่ได้ แต่ว่ามีความเต็มใจที่จะให้ทรัพย์เกินกว่าที่ออกปากด้วย มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้
พระธรรมทั้งหมด ถ้าคิดพิจารณา จะมีแง่มุมต่างๆ ละเอียดมากทีเดียว แต่ส่วนมากในพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่ปรากฏทั่วไป ไม่ยากแก่การที่จะพิจารณา
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงมิตรแท้อีกประเภทหนึ่ง มีข้อความว่า
ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑
ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
ถึงจะเป็นมิตรแท้ด้วยกัน แต่ก็มีลักษณะต่างกัน บางท่านเป็นผู้ที่อุปการะ ถ้ามีภัย มีธุระ ขอความช่วยเหลือได้ทันที เป็นผู้ที่มีอุปการะจริงๆ แต่ไม่สนิทสนม ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มิตรที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ ซึ่งบางท่านนั้นก็เป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
ถ. ที่อาจารย์พูดมา น่าชื่นชมที่สุด แต่ผมอยากจะถามว่า หาได้ที่ไหน เท่าที่ผมเกิดมายังไม่เคยเจอมิตรประเภทนี้เลย บางครั้งไปช่วยคนอื่น ก็ยังโดนเขาสับแทบแย่เหมือนกัน กลายเป็นเขามีความสามารถต้มเราได้ เราเป็นมิตรแท้ของเขา แต่เขาคิดไปอีกแง่หนึ่ง พูดยาก ลำบาก
สุ. หาที่คนอื่นไม่ได้ หาที่ตัวเองได้ โดยการเป็นมิตรแท้ของคนอื่น ซึ่งก็น่าชื่นชมยินดีแล้ว คือ ถึงแม้คนอื่นจะไม่ใช่มิตรแท้ของท่าน แต่ไม่ทำให้หมดกำลังใจที่ตัวท่านเป็นมิตรแท้สำหรับคนอื่น ยังหาได้คนหนึ่ง คือ ตัวของท่านเอง เป็นมิตรแท้ของคนอื่น ซึ่งก็ยังดี แต่สักวันหนึ่งหรือต่อๆ ไป เมื่อกระทำความดีมากขึ้นๆ ผลของความดีนั้นย่อมจะทำให้ท่านได้มิตรแท้ประเภทต่างๆ มากขึ้น
และขณะใดที่ได้พบกับมิตรเทียม หรือว่าคนเทียมมิตร ก็ให้ทราบว่า นั่นเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าผลของกุศลให้ผลในขณะใด ก็ทำให้ได้มีเพื่อนแท้ คือ ผู้ที่เป็นมิตรร่วมทุกข์ร่วมสุขบ้าง หรือว่ามิตรมีอุปการะบ้าง เป็นผลของกุศลที่ได้มิตรอย่างนั้น เพราะฉะนั้น คนที่มีกุศลมาก จะเห็นได้ว่า เขาช่างมีมิตรดีทั้งนั้นเลย ส่วนคนที่มีผลของอกุศล ถึงจะมีเพื่อนมากก็จริง แต่ว่าเป็นคนเทียมมิตรเสียส่วนมาก
ผู้ฟัง ทำยาก สมมติว่า เราเป็นมิตรแท้ของเขา แต่เขากลับไม่รู้ว่าเราเป็นมิตรแท้ กลับมาว่าเรา ว่าเรานี่ชั่ว อย่างเช่น เพื่อนคนหนึ่ง ก่อนที่จะไปติดคุกผมก็ได้เตือนแล้ว บอกว่าลักษณะนี้ไม่ควรทำ เพื่อนประเภทนี้ไม่ควรคบ แต่เขากลับว่าผม ว่าเป็นคนไม่ยอมเข้าสังคม หาความเจริญยาก นี่เราเป็นมิตรแท้ แต่เขาไม่ได้เห็นความเป็นมิตรแท้ของเราเลย
สุ. เป็นผลของกรรม ถ้าทำความดีต่อไปอีกเรื่อยๆ เวลาที่ธุรกิจเดือดร้อน มีความจำเป็น จะต้องมีมิตรแท้แน่นอนที่ให้ความช่วยเหลือ เวลาที่เป็นผลของกุศล
ผู้ฟัง เรื่องลูกเมียเขา ผมก็พอช่วยเหลือได้บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าที่ควร ผมถามเขาว่า อยู่ในตะรางมีใครมาเยี่ยมบ้างหรือเปล่า ปรากฏว่าพรรคพวกที่เคยไปกินเหล้ากันสนุก ไม่มีใครมา น้อยมากเหลือเกิน
สุ. จะเห็นได้ว่า คนเทียมมิตรมีมากกว่ามิตรแท้ เพราะว่าอกุศลย่อมมีมากกว่ากุศล ซึ่งถ้าทุกท่านอบรมเจริญกุศลมากขึ้น ก็จะมีมิตรแท้มากกว่าคนเทียมมิตร เพราะฉะนั้น ก็ช่วยกันศึกษาพระธรรมให้มากขึ้น และชักชวนชี้แจงให้บุคคลทั้งหลายได้เห็นโทษของอกุศลกรรม เจริญกุศลกรรม ต่างคนก็ต่างจะมีมิตรแท้เพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องของความลับ มีกันทุกคนหรือเปล่า มี เพราะฉะนั้น เคยบอกความลับกับเพื่อนบ้างไหม หรือเก็บไว้สนิท ไม่บอกใครเลย อายเขา เพราะฉะนั้น ที่ว่า ท่านพึงทราบว่ามิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับของตนแก่เพื่อน
สิ่งที่เป็นความลับนี้ หมายถึงเรื่องที่ท่านคิดว่าควรปกปิด หรือว่าควรอับอาย ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีของโลก หรืออาจจะเกี่ยวกับการเสื่อมเสียชื่อเสียงในสิ่งที่ได้กระทำไปก็เป็นได้ หรือว่าบางครั้ง ความลับนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอุบาย เรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย หมายความว่า เป็นสิ่งที่ดำเนินงานนั้นให้สำเร็จ โดยที่ว่าถ้าเปิดเผยแล้วงานก็อาจจะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ควรจะทราบว่าใครเป็นมิตรแท้ หรือผู้ที่ท่านเลือกแล้วว่าเป็นมิตรแท้ของท่าน คือ ผู้ที่ท่านบอกความลับของท่านแก่เพื่อนคนนั้น โดยที่ท่านพิจารณาเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่จะบอกความลับได้
เรื่องของความลับที่จะบอกใคร ขอกล่าวถึงเมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเสวยพระชาติเป็นมโหสถ ซึ่งในครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินได้ตรัสถามนักปราชญ์ทั้ง ๕ ว่า ควรไว้ใจ หรือควรที่จะบอก หรือเปิดเผยความลับแก่ใคร เสณกะก็ได้กราบทูลขอให้พระเจ้าวิเทหราชแสดงความเห็นของพระองค์ก่อน และพวกอำมาตย์ทั้งหลายจะได้ทูลเหตุผลของตนต่อภายหลัง
ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชได้ตรัสว่า
ควรบอกความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่ภรรยาที่ดี มีศีลาจารวัตรดี
คงจะไม่มีใครเป็นที่ไว้ใจได้ยิ่งกว่าภรรยาที่ดี นี่เป็นความเห็นของพระเจ้า วิเทหราช
อำมาตย์เสนกะได้กราบทูลว่า
สหายใดเป็นที่พึ่งพาอาศัยในเวลาทุกข์ร้อน บุคคลควรเปิดเผยความลับที่ควร ติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่สหายนั้น
บางท่านอาจจะคิดว่า ภรรยาก็ยังไม่เสมอกับเพื่อนที่พึ่งพาอาศัยได้ในเวลาทุกข์ร้อน เพราะฉะนั้น ถ้ามีความลับ ก็ควรที่จะเปิดเผยความลับนั้นแก่สหายเช่นนั้นได้
ปุกกุสะได้กราบทูลว่า
พี่ชาย น้องชายคนใด เป็นคนมีศีล บุคคลควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือที่ควรสรรเสริญแก่พี่ชาย น้องชายคนนั้น
กามินทะกราบทูลว่า
บุตรคนใดทำตามบิดา มีปัญญา ไม่เลวกว่าบิดา บิดาควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือที่ควรสรรเสริญแก่บุตรนั้น
เพราะบุตรย่อมเคารพมารดาบิดาเสมอชีวิต หรือยิ่งกว่าชีวิต ในฐานะที่เป็นผู้ที่ให้กำเนิด เป็นผู้ที่มีคุณสูงสุดในชาตินั้นๆ ทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าบุตรคนใดทำตามใจบิดา และเป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่เลวกว่าบิดา ถ้าเป็นบุตรที่โง่ จะไปเปิดเผยความลับนั้น ก็ทำให้ได้รับความเสียหายขึ้นได้ แต่ถ้าบุตรนั้นเป็นผู้มีปัญญา ไม่เลวกว่าบิดา บิดาควรเปิดเผยความลับที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่บุตรนั้น
เทวินทะกราบทูลว่า
มารดาคนใดเลี้ยงบุตรด้วยความรักใคร่พอใจ บุตรควรเปิดเผยความลับที่ควร ติเตียนหรือควรสรรเสริญแก่มารดาคนนั้น
เพราะเหตุว่าคงจะไม่มีใครเป็นที่พึ่ง เป็นที่รัก เป็นที่ไว้ใจของบุตรยิ่งกว่ามารดาผู้ให้กำเนิดบุตร
มโหสถกราบทูลว่า
การปิดความลับไว้เป็นการดี การเปิดเผยความลับเป็นการไม่ดี ผู้มีปัญญาต้องปิดความลับไว้จนกว่าจะได้ทำให้สำเร็จไป จึงเปิดเผยต่อมาภายหลัง ดังนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าชื่อว่าเป็นความลับ ก็ควรที่จะเก็บเป็นความลับจริงๆ จึงจะชื่อว่าเป็นความลับ แต่ว่าเก็บได้ไหม บางคนเก็บไม่ได้ เพราะฉะนั้น ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ว่า ถ้าเก็บไว้ไม่ได้จะเกิดโทษหรือเกิดความเสียหายประการใดบ้าง เพราะว่าโดยมากเรื่องของความลับนั้น มักจะเป็นเรื่องที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ ก็แล้วแต่เรื่อง
ถ้าพูดถึงสิ่งที่ควรติเตียน เพื่ออะไร ถ้าเพียงพูดความลับของคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่เสื่อมเสีย หรือว่าเป็นที่อับอายของบุคคลนั้น เพื่อประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเป็นความลับของคนอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์สำหรับคนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่บุคคลนั้นจะพูดถึงเลย เพราะว่าไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้น นอกจากจะทำให้จิตใจของคนที่ได้รับฟังเป็นอกุศล โดยที่อาจจะปราศจากความเห็นใจ ปราศจากความเข้าใจ และก็ ติเตียนบุคคลอื่นโดยที่ไม่พิจารณาเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งมีแล้วอย่างนั้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น เรื่องทั้งหมด ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรเปิดเผย เป็นสิ่งที่ควรจะเก็บไว้เป็นความลับ เพราะว่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย แต่ถ้ารู้สึกว่าความลับของบุคคลอื่นสำคัญเหลือเกิน ถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สำคัญมาก ก็อาจจะทำให้ท่านไม่สามารถจะเก็บความลับนั้นได้
แต่ถ้าไม่สนใจ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด และเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของธรรม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมอย่างไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นอย่างไร ก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ก็จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่สนใจในความลับนั้น และไม่คิดที่จะเปิดเผยความลับของคนอื่นด้วย และจะทำให้ท่านเลือกเฟ้นแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ถ้าพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็เป็นที่สรรเสริญ ไม่เป็นความลับสำหรับใคร เพราะว่าความลับมักจะเป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย เป็นเรื่องที่ควรปกปิด เป็นเรื่องที่น่าอับอาย
สำหรับการ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ซึ่งนอกจากในขณะที่มีภัย มีทุกข์ร้อนแล้ว ก็ต้องรวมถึงในขณะที่มีกิเลส หรือว่ามีความเห็นผิด มีความประพฤติผิดทางหนึ่งทางใดด้วย เพราะว่านั่นก็เป็นอันตรายของชีวิตประการหนึ่ง
ส่วนข้อที่ว่า แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ พร้อมที่จะสละชีวิตแก่เพื่อนหรือเปล่า
ถ. เพื่อนที่จะสละชีวิต ในเมืองไทยจะหาได้สักกี่คน ยาก
สุ. ชีวิตเป็นที่รัก และชีวิตที่มีประโยชน์ก็ควรที่จะถนอมไว้ให้ดำรงอยู่ได้ นานๆ เพื่อประโยชน์ โดยเฉพาะการสะสมบุญกุศล และการขัดเกลากิเลส ไม่ใช่หมายความว่าจะให้สละทิ้งชีวิตนั้นโดยง่าย โดยไม่รอบคอบ แต่หมายความว่า ไม่ใช่กลัวเสียจนกระทั่งไม่ยอมช่วยเหลือใคร โดยที่ว่าเห็นแก่ชีวิตของตนเองเป็นสำคัญ กว่าชีวิตของคนอื่น
นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เสมอทีเดียว แล้วแต่ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ที่สุดก็กระทำสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้สละโดยง่าย โดยไม่รอบคอบ เพียงเพื่อบุคคลซึ่งอาจจะได้ประโยชน์น้อยกว่า เพราะฉะนั้น การที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็ไม่ควรที่จะเพ่งเล็งถึงว่า เห็นแต่กับประโยชน์ของชีวิตของท่านเองเท่านั้น แต่ให้กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ทั้ง ๒ ฝ่าย
ผู้ฟัง การเสียสละชีวิตให้กับเพื่อน ก็แล้วแต่บุคคล คนที่เสียสละง่ายๆ แม้ไม่ใช่เพื่อนก็ยังสละได้ ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น เช่น เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคยังเป็น พระโพธิสัตว์อยู่ ท่านสละชีวิตของท่านไม่รู้ว่าเท่าไร แม้กระทั่งเห็นเสืออยู่ในเหวเห็นว่ากำลังหิว เดี๋ยวจะกัดกินลูกของตัวเอง ท่านก็พิจารณาตัวท่านว่า ตัวท่านไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น ร่างกายนี้ท่านเสียสละให้เสือกินเสีย เพื่อโพธิญาณของท่าน ไม่ใช่ว่าเพื่อน หรือว่ามนุษย์ หรืออะไรๆ ท่านก็เสียสละได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเสียสละชีวิต ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นที่อบรมมาเรื่องของทานมามาก ก็จะเสียสละได้ง่ายๆ ไม่ใช่จะยากนักหรอก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๕๑ – ๖๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660