แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
ครั้งที่ ๖๕๖
สุ. มีบางคนต้องการทราบลักษณะของเมตตากับโลภะว่าต่างกันอย่างไร
มีข้อความในพระธรรมที่แสดงว่า เมตตานั้นเหมือนการกระทำของมารดาทั้งหลายที่มีต่อบุตร แต่ไม่ใช่ว่าด้วยโลภะ คือ เอาความรู้สึกผูกพันว่าเป็นบุตรของตนออกเสียก่อน ซึ่งมารดาที่กระทำต่อบุตรด้วยความรัก ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังดีอย่างไร และบุคคลอื่นสามารถที่จะเจริญเมตตา ความรัก ความหวังดีต่อบุคคลทั้งหลายในลักษณะอย่างนั้น นั่นคือลักษณะของเมตตา
แต่ต้องเอาความผูกพันรักใคร่ในฐานะที่เป็นบุตรของเราออกเสีย และก็ดูการกระทำของมารดาที่กระทำต่อบุตรอย่างไร ท่านก็สามารถที่จะกระทำต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่มารดาสามารถกระทำต่อบุตรฉันนั้น นั่นเป็นลักษณะของเมตตา โดยที่ว่าคนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรของท่าน แต่ว่าการกระทำของท่านต่อบุคคลอื่นเหมือนกับการกระทำของมารดาต่อบุตร นั่นเป็นความหวังดี เป็นความปรารถนาความสุข เป็นการมีเมตตาต่อบุคคลอื่น
เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาสภาพธรรมโดยละเอียด เพราะว่าสภาพธรรมบางอย่างมีลักษณะที่ใกล้ชิดกัน แต่ว่าสภาพธรรมหนึ่งเป็นอกุศล สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นกุศล คือ โลภะเป็นอกุศล เมตตาเป็นกุศล รักบุตรธิดา ต้องการที่จะให้บุตรธิดาเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง
คามิกะ คำว่า รัก เท่าที่ผมเรียนมา รักบุตรธิดา เขาเรียกว่า สิเนหา ปุตฺตสิเนโห แปลเป็นภาษาไทยก็รักเหมือนกัน แต่ศัพท์นั้นเป็นสิเนหา หรือสิเนโห ต่างกับโลภะ ลาภะ ศัพท์ต่างกัน แต่ภาษาไทย คำว่า รัก รักเพื่อนก็รัก รักแฟนก็รัก รักใครก็รัก แต่ว่าศัพท์ที่ใช้ในภาษาบาลีต่างกัน รักเพื่อนอย่างหนึ่ง รักเมียนี้ต่างกัน รักบุตรธิดาใช้คำว่า สิเน่หา มีในลักษณะกฎหมายยกให้ ให้ทรัพย์โดยสิเน่หา รักเมีย รักเพื่อนฝูง คนละอย่าง
มิตร เพื่อน สหาย ภาษาไทยใช้คำว่าเพื่อนทั้งนั้น แต่ที่มาต่างกัน อย่างฝรั่ง friend ก็เพื่อนทั้งนั้น ใครๆ ก็เพื่อน แต่ภาษาบาลี คนที่ไปร่วมกันเสมอๆ เรียกว่าสหาย คนที่สนิทชอบกันเรียกว่ามิตร คนที่ใจดีต่อเราเรียกว่าสุหชฺชา แต่ทั้ง ๓ อย่าง ภาษาไทยแปลว่าเพื่อน
สุ. รักคนละอย่าง รักหลายๆ อย่าง รักทุกๆ อย่าง โดยสภาพธรรมแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล จะใช้ศัพท์อะไรก็ตามแต่ รักบุตรธิดา รักมารดาบิดา รักญาติมิตรสหาย จะรักอะไรอีกก็แล้วแต่ รักสัตว์นานาชนิด โดยสภาพธรรมเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล ต้องตรงต่อความเป็นจริง ก็เป็นอกุศลทั้งนั้น
ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศล ต้องสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตรงตามความเป็นจริง อกุศลเป็นกุศลไม่ได้ และกุศลก็ไม่ใช่อกุศล เมตตาไม่ใช่โลภะ โลภะไม่ใช่เมตตา
เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน ๒ ลักษณะ บางท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ท่านเจริญกุศลมาก ท่านมีเมตตามาก แต่ว่าความจริงแล้ว หาใช่เมตตาไม่ ตรงกันข้ามท่านมีโลภะมากเหลือเกิน
บางคนรักบุตรธิดาของตนมาก จนกระทั่งสามารถที่จะกล่าวร้ายบุตรธิดาของคนอื่นได้ เพื่อที่จะยกบุตรธิดาของตนแล้วข่มบุตรธิดาของคนอื่น นี่หรือเมตตา อกุศลธรรมทั้งนั้นที่มีกำลังแรงขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้ ด้วยความรักซึ่งเป็นอกุศล เป็นโลภะที่มีต่อบุตรธิดา ไม่ใช่ด้วยเมตตา
ถ้าเป็นเมตตา เสมอเหมือนกันหมด มีความหวังดี ไม่ใช่ความผูกพันว่า เป็นของเรา ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต
การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่หลงให้อกุศลเป็นกุศล ไม่หลงเอาโลภะ ความติด ความต้องการผล ความอยากรู้ลักษณะความเกิดดับของนามรูป โดยที่ไม่อบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น
ลักษณะของโลภะมีมากมายเหลือเกิน ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะแล้ว โลภะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นอิงอาศัย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น หรือในขณะที่ท่านคิดว่า ท่านทำเพื่อบุตรธิดาด้วยความเมตตา แต่ความจริงแล้ว เป็นไปด้วยอกุศล คือ โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นบิดามารดา และศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจธรรมมากขึ้น จะมีความเมตตาต่อบุตรธิดามากกว่าที่จะมีโลภะต่อบุตรธิดาอย่างที่เคยเป็น
ถ. ดิฉันเคยได้ยินมาตั้งนานแล้ว เขาขึ้นต้นว่า ตัณหารักลูกเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักสามีภรรยาเหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของเหมือนปลอกสวมตีน เขาว่าอย่างนี้ ถือว่าความรักนี้เป็นอกุศล แค่ลูกกลับจากโรงเรียนช้าผิดเวลา ก็เป็นทุกข์แล้ว กระสับกระส่าย ตาคอยมองอยู่ที่ประตู คิดว่าลูกจะมา แต่ถ้าหากว่ามีการเจริญสติระลึกได้ว่า แม้แต่ตัวของเราเองก็ไม่อาจกั้นกระแสกรรมของเราได้ ทุกอย่างที่มีความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ได้รับ คือ วิบาก ลูกก็เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น ตัวของเรา ความทุกข์ขณะนี้ก็เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น ขณะที่ทุกข์ก็เพราะความยึดถือ เพราะอุปาทาน ถือว่าเป็นลูก ก็เลยทุกข์ พอได้สติเช่นนี้ ก็รู้สึกว่าดีขึ้น
สุ. จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นกุศลแล้วไม่นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ความทุกข์ของท่านเกิดจากอะไร ให้ทราบว่า มีอกุศลธรรมเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นั้น ถ้าเป็นกุศลธรรม เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว จะไม่เกิดทุกข์ และจะเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น
ที่เกิดมานี้ ถ้าไม่มีกิเลส ไม่เกิดแน่ เพราะฉะนั้น ต้องยังมีกิเลสอยู่แน่นอน จึงมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นได้ ที่จะกล่าวว่า ไม่มีกิเลสแล้วเกิด เป็นไปไม่ได้
ถ้าเกิดในกามสุคติภูมิ ในมนุษย์ ในสวรรค์ ก็เป็นผู้ที่ยังไม่ละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความยินดีพอใจมีมากมายเหลือเกิน ในภพ ในชาติ ในวัตถุ ในบุคคล ในสิ่งต่างๆ แต่เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้น บุคคลต่างๆ เหล่านั้น หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ ท่านมีความยินดีพอใจในอะไร
นี่เป็นปัญหาที่น่าคิด เพราะถ้าไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมให้ตรงตามความเป็นจริง ท่านก็บอกว่า ท่านมีความรักบุตรธิดา มีความรักผูกพันในบุคคลนั้นบ้าง ในวัตถุสิ่งนั้นบ้าง แต่ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงเป็นความยินดีของท่านเอง
ท่านติดเหลือเกินในสุขเวทนา ในความพอใจ ในความรู้สึกเป็นสุขนั้น และต้องการจะให้เกิดกับท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก บุคคลภายนอกเป็นแต่เพียงอารัมมณะ หรือว่าอารมณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกยินดีของท่านเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้น จึงดูเสมือนว่าท่านรักบุคคลอื่นนี้มากมายเหลือเกิน ถ้าเป็นปู่ย่าตายาย ก็ดูเหมือนว่ารักหลานนี้มากมายเหลือเกิน
แต่ความจริง ท่านรักใคร ท่านต้องการให้ตัวท่านเกิดสุขเวทนาบ่อยๆ สุขเวทนาที่มาจากบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ท่านรักตัวของท่านมากที่สุด ต้องการให้สุขเวทนาของท่านอันเนื่องมาจากบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นเกิดขึ้นอีกๆ
ถ้าท่านเป็นคนที่ชอบเพชรนิลจินดา ก็ดูเหมือนกับว่าท่านพอใจ ท่านยึดมั่นในเพชรนิลจินดานั้นมาก แต่ว่าสุขเวทนา ความรู้สึกยินดีพอใจของท่านสืบเนื่องหรือว่ามีเพชรนิลจินดานั้นเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ท่านจึงต้องการอารมณ์วัตถุภายนอกที่จะเป็นปัจจัยให้สุขเวทนาของท่านเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
เพราะฉะนั้น ท่านรักอะไรที่สุด ก็ต้องเป็นสุขเวทนา ความรู้สึกของท่านนั่นเองที่ต้องการที่จะให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งท่านก็รู้ว่า สุขเวทนาของท่านนั้นมีอารมณ์อะไรเป็นปัจจัย มีสิ่งใดเป็นปัจจัย ก็แสวงหาสิ่งนั้น เพื่อที่จะให้ความรู้สึกเป็นสุขของท่านนั้นเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก
เพราะฉะนั้น ท่านรักใคร ท่านรักอะไร ก็คือ สุขเวทนาของท่านเองต่างหาก
ถ. สุขเวทนาในธรรม แสวงหามาให้ตัวเองบ่อยๆ เพื่อให้เป็นที่พอใจ เป็นอกุศลหรือเปล่า
สุ. เป็นอย่างไร สุขเวทนาในธรรม
ถ. เช่น ฟังเข้าใจในข้อธรรมที่อาจารย์บรรยาย ทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ต่างๆ เป็นสุขเวทนาที่ตัวเองได้รับอยู่ ก็ปรารถนาจะได้ฟังบ่อยๆ ลักษณะอย่างนี้ แสวงหาอยู่ จึงได้มาที่นี่
สุ. เป็นกุศลหรืออกุศล
ถ. อารมณ์อื่นก็ตกอยู่ในสภาพนี้เหมือนกัน ผมไม่เข้าใจจึงได้ถามอาจารย์
สุ. ถ้าเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ว่า โสมนัสเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เป็นความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นโสมนัสจริง ไม่ใช่โทมนัส ไม่ใช่อุเบกขา แต่ว่าเกิดกับสภาพของจิตที่ต่างกัน เวลาที่จะรู้ลักษณะของศรัทธา สภาพของศรัทธาซึ่งเป็นกุศลธรรมปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ ลักษณะของโลภะเป็นอกุศลธรรม จึงหนัก ดูเหมือนเป็นความยินดี แต่เป็นความติด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นลักษณะของทุกข์อย่างหนึ่ง
แต่ลักษณะของศรัทธา เป็นลักษณะที่เบาจากความติด จากความเป็นทาส จากความผูกพัน จากเยื่อใย พ้นแล้วแม้ชั่วคราวในขณะนั้น ก็เป็นลักษณะที่ผิดกัน เพราะว่าเป็นลักษณะที่ใส ที่เบาจากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะเกิดโสมนัส ความรู้สึกที่เป็นสุข ที่ปัญญากำลังรู้ลักษณะของนามธรรมก็ดี รูปธรรมก็ดี กุศลจิตในขณะนั้นสามารถที่จะเกิดกับโสมนัสเวทนาได้ และบุคคลนั้นก็รู้ในสภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ของโสมนัสเวทนาในขณะนั้น
ถ. ขณะที่ฟังอาจารย์บรรยายอย่างนี้ มีความเข้าใจ มีความยินดีพอใจ แต่ปราศจากปัญญาได้ไหม มีแต่กุศลจิต แต่ไม่มีปัญญา เป็นไปได้ไหม
สุ. ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นเข้าใจในการฟังก็เป็นปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ได้อบรมจนถึงขั้นที่จะประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ต้องอบรมมากเหลือเกิน แต่ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องท้อถอย เพราะว่าของจริงก็ต้องยาก
สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง มาเป็นได้ยินได้ฟัง และก็สนใจ ศึกษา พิจารณาต่อไปอีก ฟังต่อไปอีกเรื่อยๆ ขัดเกลาต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ปัญญางอกงามเจริญขึ้น แต่ว่าเป็นไปได้อย่างช้าๆ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ยังต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป พระอริยสาวกทุกท่านที่แสดงประวัติของท่านเหล่านั้นเอง ก็กล่าวถึงอดีตอนันตชาติที่ได้เคยพบ ได้เคยเฝ้า หรือว่าได้เคยฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ท่านกล่าวว่า ฟังแล้วฟังอีก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาครั้งเดียวก็ไม่พอ ๒ ครั้งก็ไม่พอ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนย่ำเท้าอยู่กับที่ และหนทางที่จะต้องไปนั้นก็แสนไกล แต่ว่าย่ำต่อไปเถิด เพราะว่าขณะที่ย่ำไป ก็กระเถิบไปนิดหนึ่งอยู่เรื่อยๆ ย่ำไปๆ เรื่อยๆ ก็กระเถิบไปทีละนิดอยู่เรื่อยๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เป็นสติจริงๆ เป็นการระลึกศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ต้องเป็นของจริงทุกอย่าง ปัญญาจึงจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในวันหนึ่ง
อย่างท่านพระสารีบุตรในชาติสุดท้าย ท่านได้อบรมปัญญาถึงขั้นที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่แม้กระนั้นระหว่างที่ท่านบำเพ็ญบารมี โสตาปัตติมรรคไม่เกิด แต่มาเกิดในชาติสุดท้ายเมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรม และหลังจากนั้นต่อมา ๑๕ วัน บารมีทั้งหลายที่ท่านได้สะสมมาที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอัครสาวก ก็ทำให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์
สติเกิดขึ้น และสติก็ดับไป ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่ยังไม่ประจักษ์ถ้าไม่มีการพิจารณา ไม่มีการศึกษา จะเกิดความรู้ขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกแล้ว ยังต้องศึกษา พิจารณา น้อมไปสู่ความรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถอดสัตว์ บุคคล ตัวตนที่เคยยึดถือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตาออกให้หมด ก็สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ. ระหว่างที่ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญบารมี โสตาปัตติมรรคไม่เกิด แต่ญาณขั้นต่ำท่านเกิดหรือเปล่า หรือสามารถที่จะเกิดได้ไหม
สุ. ไม่มีกล่าวไว้ แต่จะเกิดหรือไม่เกิดไม่เป็นปัญหา อบรมต่อไป เป็นความสงสัยเท่านั้นเอง แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น หมายความว่ามีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เมื่อพร้อมแล้วใครจะยับยั้งก็ไม่ได้ แม้ว่าท่านกำลังติดตามท่านพระอัสสชิไป เพียงได้ฟังพระธรรมสั้นๆ จากท่านพระอัสสชิ ท่านก็สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่มีใครยับยั้งปัญญาของท่านพระสารีบุตรว่า ขณะนั้นอย่าเพิ่งเกิด หรือยังไม่ควรจะเกิด หรือต้องไปเกิดที่อื่น
ถ. สาวกองค์อื่นๆ ที่ปฏิบัติธรรม ได้ญาณขั้นต่ำ และตายไปโดยที่ยังไม่ได้โสตาปัตติมรรค มีหรือเปล่า
สุ. มี
ถ. ญาณที่ท่านได้รู้แล้ว ไปเกิดใหม่อีกชาติหนึ่ง ปัญญาที่รู้นั้นหายไปไหม
สุ. ไม่หาย ก็อบรมต่อไป
ถ. ถ้าในชาตินี้เจริญสติปัฏฐานได้ถึงอุทยัพพยญาณ ตายไปในชาตินี้ ปฏิสนธิในชาติต่อไป เป็นมนุษย์ อุทยัพพยญาณยังรู้ได้หรือเปล่า
สุ. ตราบใดที่ปัจจัยยังไม่พร้อมที่จะให้เกิด ก็ไม่เกิด แม้แต่พระโสดาบันบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ญาณก็ไม่เกิด หรือว่าเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ยังไม่พร้อมที่ญาณจะเกิด วิปัสสนาญาณก็ยังไม่เกิด ไม่ใช่วิปัสสนาญาณเกิดทุกขณะไป ไม่ใช่อย่างนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๕๑ – ๖๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660