แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
ครั้งที่ ๖๐๗
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า การงานภายในบ้านของสามี คือ การทำขนสัตว์ หรือการทำผ้า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้นๆ จักประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานนั้นๆ อาจทำ อาจจัด ดูกร กุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
ไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคจะให้อบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยไม่ให้ทำการงานใดๆ นั่นผิด ทั้งทางโลกและทางธรรม สำหรับทางโลก ผู้ใดมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติอย่างไร มีกิจอย่างไรที่จะต้องกระทำ ก็ต้องทำกิจนั้น ไม่ใช่อ้างว่า จะเจริญกุศลด้วยการอบรม เจริญสติปัฏฐาน ก็จะไม่กระทำอะไรทั้งนั้น นั่นไม่ถูก และไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย เพราะว่ายังเป็นบุคคลซึ่งมีกิจที่จะต้องกระทำ และถึงแม้ว่าจะต้องกระทำกิจต่างๆ เหล่านั้น อันเป็นการสงเคราะห์บุคคลอื่น ช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็ต้องไม่เว้นการทำกิจของตน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แม้ในขณะที่ทำกิจการงานนั้นๆ ก็เจริญสติปัฏฐานได้
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ทำแล้ว ว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คนป่วยไข้ว่ามีกำลังหรือไม่มีกำลัง และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามที่ควร ดูกร กุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
ควรระลึกถึงหน้าที่ของท่านภายในบ้านด้วย จากข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนกุมารีเหล่านี้ มิฉะนั้นแล้ว ท่านจะเป็นคนที่ใจดำและดูดาย ไม่ว่าใครป่วยไข้ มีกำลังหรือไม่มีกำลัง ก็ไม่สนใจ ไม่อาทร ไม่ห่วงใย นั่นเป็นอกุศลจิต และถ้ายังมีอกุศลจิตอยู่มากๆ อย่างนี้ และยิ่งเพิ่มขึ้น การที่จะดับหมดเป็นสมุจเฉทก็ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ฉลาดรอบคอบ คือ รู้การงานที่คนในบ้านทำแล้ว ว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ ก็ยังมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้ว่าคนป่วยไข้มีกำลังหรือไม่มีกำลัง และแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามที่ควร
ถ. อันโตชน คืออย่างไร
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังเห็นคำที่ไม่เข้าใจ เช่น คำว่า อันโตชน ภาษาไทยมีประโยชน์มากที่เมื่อใช้คำศัพท์แล้ว จะมีคำแปลตามหลังมาด้วย เช่น ข้อความที่ว่า เราทั้งหลายจักรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี ก็คือ คนที่อยู่ภายในบ้าน คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร
เพราะฉะนั้น ถ้าพบคำศัพท์ที่ไม่ทราบความหมาย ถ้าอ่านต่อไปก็ทราบว่า ข้อความข้างหลังเป็นคำอธิบายของคำศัพท์ที่กล่าวมาก่อน
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทอง ที่สามีหามาได้ให้คงอยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ดูกร กุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
ดูกร กุมารีทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ
สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประพฤติแสดงความหึงหวงสามี และย่อมบูชาผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติตามความพอใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ
จบ สูตรที่ ๓
ท่านผู้ฟังเห็นความยาก ความลำบากของการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏฏ์ไหม ตามข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ยากหรือง่าย ความไม่ดูหมิ่นระหว่างกัน ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงที่จะไม่ดูหมิ่นคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง เป็นไปได้ไหม แต่ถ้าทราบว่าเป็นอกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าควรละ ถ้าเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพื่อที่จะละคลาย และเห็นว่าสภาพธรรมที่เกิดนั้นเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์ที่ยังจะมีอยู่ต่อไปอีกยาวนานมาก สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะเห็นความยากลำบากของการมีชีวิตอยู่ เช่น ถ้าเป็น สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ต้องระลึกถึงคุณเพื่อที่จะได้ไม่ดูหมิ่น ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประพฤติแสดงความหึงหวงสามี นี่ก็ยากอีกเหลือเกิน
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งถ้าผู้ใดได้รับฟังพระธรรมและเห็นคุณจริงๆ ว่า จะมีชีวิตด้วยความผาสุกจริงๆ ที่จะไม่ให้เดือดร้อนบุคคลอื่น หรือแม้ไม่เดือดร้อนใจของตนเอง ก็ต้องเป็นผู้ที่พึ่งพระธรรม และน้อมพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งจะทำให้จิตใจผ่องใสปลอดโปร่ง พ้นจากความเศร้าหมองได้
แต่ถ้าขณะใดหลงลืม ไม่ทราบว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ขณะนั้นก็หวั่นไหวไปด้วยกำลังของกิเลส ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเศร้าหมอง
ถ. ในสูตรนี้ฟังแล้ว พระผู้มีพระภาคคล้ายสอนเรื่องจิตวิทยากับกุมารีทั้งหลาย ให้ประพฤติปฏิบัติตามใจสามี คล้อยตามสามี ก็จะเป็นสุขกาลนาน แต่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแค่ ถ้าสามีเคารพนับถือยำเกรงใคร มีบิดา มารดา สมณพราหมณ์ เป็นต้น ก็ให้กุมารีเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติเคารพยำเกรงตามไปด้วย แต่ถ้าตรงกันข้าม บุคคลซึ่งสามีเกลียดชัง อาฆาตจองเวร ถ้ากุมารีเหล่านั้นไปเกลียดชังด้วย จองเวรด้วย จะเป็นความสุขกาลนานหรือไม่
สุ. นี่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะให้เกลียดชังบุคคลอื่น เกลียดชังคนอื่นแล้วจะเป็นสุขได้อย่างไร
ถ. ก็ตามใจสามี
สุ. ไม่ได้ จะต้องเป็นไปในทางที่เป็นบุญเป็นกุศลด้วย ในทางที่ถูกที่ควร เพราะฉะนั้น ข้อความใดที่ไม่ถูก ยังบกพร่อง ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่คำสอนของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ให้เห็นความยากลำบากของชีวิตในสังสารวัฏฏ์ว่า การที่จะมีชีวิตด้วยความผาสุก สงบ ที่จะขัดเกลากิเลสได้แต่ละภพแต่ละชาตินั้น เป็นความยากลำบากจริงๆ และถ้าใครยังมีภพชาติอีกมากมาย ก็จะต้องผจญกับกุศลวิบากและอกุศลวิบากของแต่ละภพแต่ละชาติในลักษณะที่ต่างๆ กันไป ตามควรแก่เหตุ ซึ่งชีวิตของท่านในชาตินี้ ท่านอาจจะเห็นว่า ยากลำบากเหลือเกินแล้ว แต่ต่อไปจะไม่ทราบเลยว่า จะยิ่งกว่านี้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องตามควรแก่เหตุ เหตุในอดีตที่ได้กระทำมาแล้วทั้งหมดมีมากมายเกินกว่าที่จะรู้ได้ว่า จะเป็นเหตุปัจจัยให้วิบากประเภทใดเกิดขึ้น ในลักษณะใดในภพหนึ่งชาติหนึ่ง แต่ถ้ามีโอกาสได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ขัดเกลาความไม่รู้ ความเห็นผิดไปเรื่อยๆ ก็เป็นลาภอันประเสริฐ ที่จะทำให้พ้นจากความทุกข์ยากของการที่จะดำเนินชีวิตในสังสารวัฏฏ์อย่างยากลำบากต่อไปได้ เพราะว่าทุกชีวิตก็ย่อมต้องมีความลำบากในการที่จะดำเนินชีวิต คงจะไม่มีใครบอกว่า สบายมาก และนับวันก็ไม่ทราบเลยว่า จะลำบากยิ่งขึ้นอีกหรือเปล่า
สำหรับเรื่องของมานะ ความสำคัญตน ความถือตน อันเป็นเหตุให้มีการเปรียบเทียบเป็นเขา เป็นเรา เป็นใคร ในวันหนึ่งๆ ซึ่งทำให้กาย วาจา ประพฤติเป็นไปในทางที่ไม่สมควร ก็ย่อมแล้วแต่การสะสมความหนาแน่นของมานะที่เป็นความถือตนความสำคัญตนนั้น
ในพระไตรปิฎก มีข้อความที่กล่าวถึงพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่อ่อนน้อม ไม่นอบน้อมแม้แต่กับมารดาบิดา ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มานัตถัทธสูตร ที่ ๕ มีข้อความว่า
สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่ามานัตถัทธะ พำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี เขาไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย ฯ
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมทรงแสดงธรรมอยู่ ฯ ครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์มีความดำริว่า พระสมณโคดมนี้อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไรเราจะเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับ ถ้า พระสมณโคดมตรัสกะเรา เราก็จะพูดกะท่าน ถ้าพระสมณโคดมไม่ตรัสกะเรา เราก็จะไม่พูดกะท่าน
ลำดับนั้นแล มานัตถัทธพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสด้วย มานัตถัทธพราหมณ์ต้องการจะกลับจากที่นั้น ด้วยคิดว่าพระสมณโคดมนี้ไม่รู้อะไร ฯ
นี่คือ มานะ ความถือตน ความสำคัญตน ท่านผู้ฟังมีบ้างหรือเปล่า นิดหน่อยก็ได้ ไม่ต้องมากถึงกับมานัตถัทธะ ใครไม่พูดกับท่าน ท่านก็จะไม่พูดด้วย เคยมีบ้างไหม ก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ด้วยสติที่ระลึกรู้ในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่สำคัญตน ถือตน แต่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้แม้ว่ากายจะไม่ได้กระทำ วาจาจะไม่ได้พูด แต่ใจก็คิด เพราะฉะนั้น ใจคิดได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะคิดด้วยโลภะ คิดด้วยโทสะ หรือคิดด้วยมานะ แม้ว่ายังไม่แสดงออก
ข้อความต่อไปมีว่า
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกในใจของมานัตถัทธพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะมานัตถัทธพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
ดูกร พราหมณ์ ใครในโลกนี้มีมานะ ไม่ดีเลย ผู้ใดมาด้วยประโยชน์ใด ผู้นั้นพึงเพิ่มพูนประโยชน์นั้นแล ฯ
ครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมทราบจิตเรา จึงหมอบลงด้วยศีรษะที่ใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นเอง แล้วจูบพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วยปาก และนวดด้วยมือ ประกาศชื่อว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์มีนามว่ามานัตถัทธะ ข้าพระองค์มีนามว่า มานัตถัทธะ ฯ
ครั้งนั้น บริษัทนั้นเกิดประหลาดใจว่า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีหนอ มานัตถัทธพราหมณ์นี้ไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย แต่พระสมณโคดมทรงทำคนเห็นปานนี้ให้ทำนอบนบได้เป็นอย่างดียิ่ง ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะมานัตถัทธพราหมณ์ว่า
พอละพราหมณ์ เชิญลุกขึ้นนั่งบนอาสนะของตนเถิด เพราะท่านมีจิตเลื่อมใสในเราแล้ว ฯ
ลำดับนั้น มานัตถัทธพราหมณ์นั่งบนอาสนะของตน แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ไม่ควรทำมานะในใคร ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรงในใคร บูชาใครด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ไม่ควรทำมานะในมารดา บิดา พี่ชาย และในอาจารย์เป็นที่ ๔ พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคลเหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี บุคคลพึงทำลายมานะเสีย ไม่ควรมีความกระด้างในพระอรหันต์ผู้เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะอนุสัยนั้น ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว มานัตถัทธพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
อาจจะมีหลายท่านซึ่งมีความถือตน สำคัญตน แม้กับมารดา บิดา พี่ชาย หรือครูอาจารย์ คือ อาจจะมีการลบหลู่ว่า ตนมีความรู้กว่า มีฐานะดีกว่า หรือว่ามีเกียรติยศมากกว่าบิดา มารดา พี่ชาย หรือครูอาจารย์
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ถ้าน้อมมาพิจารณาถึงตนเองหรือบุคคลอื่นก็ได้ ย่อมจะเห็นสภาพธรรมที่สะสมมาว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีมานะแล้ว อาจจะมีความถือตน สำคัญตนได้ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะในฐานะ ในทรัพย์สมบัติ หรือในวิชาความรู้ ซึ่งถ้ามีมากอาจจะทำให้ถึงกับดูหมิ่น ดูถูก หรือว่าลบหลู่ผู้ที่มีคุณอย่างสูง คือ มารดา บิดา พี่ชาย และครูอาจารย์ได้ แต่สำหรับท่านมานัตถัทธพราหมณ์ก็เป็นผู้ฉลาด ที่สามารถจะเข้าใจได้ทันทีที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า ดูกร พราหมณ์ ใครในโลกนี้มีมานะ ไม่ดีเลย ผู้ใดมาด้วยประโยชน์ใด ผู้นั้นพึงเพิ่มพูนประโยชน์นั้นแล ฯ
ข้อสำคัญที่สุด คือ ประโยชน์ ถ้าท่านไปหาใคร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้มากกว่า และท่านใคร่ที่จะได้ศึกษา ได้เข้าใจ ได้รับความรู้จากท่านผู้นั้น ก็ไม่ควรที่จะมีมานะกับท่านผู้นั้นเลย ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อมานัตถัทธพราหมณ์ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่เกิดมานะที่จะกลับจากที่นั้น ก็แสดงว่า ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่จะได้ศึกษา ได้ความรู้จากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสกับท่าน ท่านก็เห็นได้ทันทีว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นมีประโยชน์สำหรับท่าน เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ใครในโลกนี้มีมานะ ไม่ดีเลย แสดงให้เห็นลักษณะสภาพของมานะว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีคุณ เช่น มารดา บิดา ครูอาจารย์ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะต้องทราบว่า ควรที่จะต้องระลึกถึงพระคุณของท่าน ไม่ควรที่จะเกิดมานะกับท่านแม้เพียงเล็กน้อย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐๑ – ๖๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660