แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
ครั้งที่ ๖๐๙
ในพระไตรปิฎก มีบุคคลที่แสดงกิริยาที่ไม่เคารพต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่จะไม่มีเลย ตามการสะสมของบุคคลนั้นๆ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของบุคคลทั้งหลายที่ปรากฏ เป็นตัวอย่างในพระไตรปิฎก ชีวิตจริงในทุกวันนี้ ไม่ใช่เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน สภาพธรรมก็ยังคงเกิดดับสะสมวิจิตรต่างๆ กันไปตามความเป็นจริง ซึ่งเรื่องของบุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะกระทำอย่างใดได้ แต่ว่าสำหรับจิตของท่านเอง มีอกุศลธรรมอย่างนี้ไหม มีหรือไม่มี สามารถที่จะรู้ชัดขึ้นได้ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของสภาพจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่า ถ้าเป็นอาการที่หยาบกระด้าง ถือตัว สำคัญตน ในขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่แข็ง เป็นอกุศล ตรงกันข้ามกับขณะที่ท่านมีความรู้สึกอ่อนน้อม เพราะเห็นว่าบุคคลอื่นก็มีคุณธรรม มีความดีที่ควรแก่การที่จะอ่อนน้อม ซึ่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ได้
แต่ละท่านยังมีมานะ บุคคลที่ไม่มีมานะคือพระอรหันต์เท่านั้น พระโสดาบันบุคคลก็ยังมี พระสกทาคามีบุคคลก็ยังมี พระอนาคามีบุคคลก็ยังมี พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท รวมทั้งความสำคัญตน การถือตนด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของมานะ
ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้น คือ จะต้องรู้นามรูปปริจเฉทญาณก่อนใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. ผมได้ไปศึกษากับเจ้าคุณองค์หนึ่งที่กรุงเทพ ท่านกล่าวว่า บุคคลที่เจริญสติปัฏฐานสมัยนี้ ส่วนมากต้องเริ่มจากนามรูปปริจเฉทญาณก่อน แต่ในครั้งพุทธกาล มีบุคคลบางบุคคล เช่น ผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคล ท่านไม่ต้องรู้นามรูปปริจเฉทญาณ ท่านรู้ตั้งแต่อุทยัพพยญาณไปเลย และอุทยัพพยญาณท่านก็แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ มีอย่างอ่อนกับอย่างแก่ ถ้าเนยยบุคคลต้องไต่ขึ้นไปตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณจนกระทั่งถึงอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ส่วนฌานลาภีบุคคลนั้น ท่านรู้ตั้งแต่อุทยัพพยญาณอย่างแก่ไปเลย เป็นไปได้ไหม
สุ. ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้ายังไม่เจริญอบรม ปัญญาที่จะรู้อย่างนั้นก็ยังเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า อบรม คืออย่างไร
กิเลสที่มีกำลังแรงเกิดได้เพราะว่าเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ฉันใด ปัญญาที่คมกล้า ถ้าไม่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งมีกำลังแล้วจะเป็นปัญญาที่คมกล้าได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงปัญญา ต้องเข้าใจถึงอรรถว่า หมายความถึงสภาพ ปรมัตถธรรมที่สามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้นเลย วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ แม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิดไม่ได้ โดยชื่อ นามรูปปริจเฉทญาณเป็นวิปัสสนาญาณที่รู้ความต่างกัน ประจักษ์แจ้งในสภาพของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงแค่นี้ นามรูปปริจเฉทญาณคืออย่างไร เกิดแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เกิด จะไปประจักษ์ความเกิดดับของอะไรได้ ในเมื่อปัญญาขั้นต้นก็ยังไม่เกิดที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย
และที่ว่าเป็นนามธรรมๆ ไม่มีรูปปะปน สักเล็กน้อยก็ไม่มี เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ ขอยกตัวอย่าง เสียง ปรากฏได้ไหมถ้าไม่มีสภาพที่รู้เสียง เสียงไม่ปรากฏทางตาเลย แต่เสียงมีจริง เสียงไม่ใช่ตัวตนด้วย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะว่าเป็นเสียงของใครก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะว่าอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับไปแล้ว จะเป็นเสียงของใครอยู่ที่ไหนได้ เพราะฉะนั้น สภาพที่ได้ยินเป็นธาตุรู้เสียง เป็นเพียงอาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่เสียง เสียงไม่ปรากฏทางตา แต่แม้กระนั้นเสียงก็ไม่ใช่สภาพรู้ เสียงเป็นแต่เพียงสภาพของจริงที่ปรากฏทางหู ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เสียง เพราะฉะนั้น ได้ยินมีจริง เกิดขึ้นบ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ แต่ได้ยินนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้เสียงเท่านั้น ปัญญาประจักษ์ลักษณะของนามธรรม ของธาตุรู้เสียงแล้วหรือยัง ถ้าปัญญายังไม่ประจักษ์ในธาตุที่รู้เสียงว่าต่างกับเสียง จะไปประจักษ์การเกิดดับของอะไรได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ที่ว่าปัญญาต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้น หมายความว่าจะต้องอบรม เจริญปัญญาให้เกิดความรู้จริงๆ ประจักษ์ในสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่โดยฟังและโดยเข้าใจว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม โดยขั้นของการฟังเข้าใจว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม แต่ประจักษ์ตอนไหน ประจักษ์เมื่อไร ที่ว่า ไม่มีตัวตนเลย ไม่มีโลก ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ขณะที่มีการรู้เสียง ก็ไม่มีโลกอื่นทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เข้ามาปะปนในโลก คือ ธาตุที่กำลังรู้เสียง ซึ่งเกิดขึ้นรู้เสียงแล้วก็ดับไป นี่คือความจริง ประจักษ์ตอนไหนที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ้ายังไม่ได้อบรมปัญญา อย่ากล่าวว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เพียงแต่รู้ว่า เห็นเป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพเห็น เพียงความรู้แค่นี้อย่าคิดว่า นั่นเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่ได้ประจักษ์อะไรเลย เพียงแต่คิด ตรึกตรอง พิจารณาและก็เข้าใจ แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น จะไปประจักษ์การเกิดดับของอะไรได้ ในเมื่อแม้แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ว่า เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร
กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ประจักษ์เมื่อไรว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ประจักษ์ในธาตุรู้เสียงซึ่งเป็นสภาพรู้ ประจักษ์ในเสียงซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ ประจักษ์เมื่อไร ได้ยินอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ประจักษ์เมื่อไร เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ยังไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมปัญญาเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง กำลังเห็นขณะนี้ รู้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ทำอย่างไรจึงจะรู้ขึ้น นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรจึงจะรู้ขึ้นๆ เพิ่มความรู้ขึ้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย ถ้ายังไม่รู้ขึ้น ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เมื่อวานนี้ยังไม่รู้ขึ้น แม้ในขณะนี้ก็ยังไม่รู้ขึ้น เพียงแต่เริ่มระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ขึ้น ก่อนที่จะถึงการประจักษ์ในธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และมีหลายขั้น ปัญญาขั้นการฟัง ขั้นความเข้าใจ เป็นปัญญาเบื้องต้นที่จะทำให้รู้หนทางข้อปฏิบัติว่า การที่จะประจักษ์จริงๆ ได้นั้น คืออย่างไร
ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่สามารถที่จะอบรมปัญญาให้รู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น แต่ละวันพิสูจน์ปัญญาของตัวท่านได้ว่า ได้อบรมให้มีความรู้ขึ้นบ้างหรือยัง ถึงแม้ว่ายังไม่รู้ขึ้น แต่มีการระลึกรู้บ้าง นั่นก็เริ่มเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ใจร้อนไม่ได้ เร่งรีบไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจนกว่าจะเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เมื่อได้ฟังเหตุผลอย่างนี้แล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณก่อน ในเมื่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ยังไม่ประจักษ์แจ้งว่าไม่ใช่ตัวตน ซึ่งถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้ง ก็ต้องอบรมไปจนกว่าปัญญานั้นจะเกิดขึ้นก่อน ก่อนที่จะประจักษ์แจ้งในความเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละนามแต่ละรูป เพราะเวลานี้สภาพธรรมรวมกัน ปนกันหมด เป็นความยึดมั่น เห็นผิดว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน โดยที่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะ รูปธรรมแต่ละรูป
ถ. ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลจะต้องเจริญสติปัฏฐาน และไต่เต้าญาณขั้นต่างๆ ไปถึง ๑๖ ขั้น ถ้าพระโสดาบันบุคคลจะเจริญสติปัฏฐานเพื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามีบุคคล จะต้องไต่เต้าญาณเท่าไร
สุ. เป็นห่วงถึงพระสกทาคามีบุคคล ถ้ารู้แล้ว ก็ปลอดภัยจากอบายภูมิแล้ว ไม่ต้องกลับไปไม่รู้อีก ที่รู้แล้วจริงๆ ไม่ต้องกลับไปรู้อีก หรือว่ารู้ใหม่ ถ้าประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรม ผลคือไม่สงสัยในลักษณะของนามธรรม แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์นามธรรมเป็นอย่างไร ที่ว่ากำลังเห็นไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย ยังเป็นความสงสัย เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อประจักษ์แล้ว จะกลับไปสงสัยอีกได้ไหม ถ้ากลับไปสงสัยอีกก็หมายความว่า ไม่ได้ประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมที่เป็นนามธรรม จึงสงสัย
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ปรากฏแก่ปัญญา และปัญญารู้แจ้งชัดในสภาพนั้นแล้ว ปัญญาก็เพิ่มการละคลายการยึดมั่น การติด การเพลิดเพลินไปด้วยกิเลสประการต่างๆ
สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ละความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ละความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ละการปฏิบัติหนทางผิด เพราะรู้ว่านั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท พระโสดาบันบุคคลรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงทั้งหมด แม้โลภะ แม้โทสะ แม้อกุศลธรรมซึ่งยังมีปัจจัยให้เกิดขึ้น พระโสดาบันก็ไม่ยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
พระโสดาบันบุคคลอบรมปัญญาเพื่อที่จะละคลายการติดการพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้เบาบาง เพื่อการบรรลุถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะทำให้ดับความยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบๆ ได้ ท่านก็ดำเนินหนทางของท่านต่อไปโดยไม่สงสัย โดยไม่เห็นผิดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่าจะต้องไปตั้งต้นใหม่ และสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งที่เป็นวิปัสสนาญาณ ทำให้ปัญญาของท่านมีกำลังคมกล้าขึ้น สามารถที่จะดับกิเลสที่ยังมีเหลืออยู่ได้ต่อไป
ถ. ดิฉันสนใจในทุกๆ ศาสนา มีความสงสัยว่า ถ้าเราจะแยกว่า กำลังศึกษาศาสนาพุทธ หรือกำลังศึกษาศาสนาคริสต์ หรือกำลังศึกษาศาสนาอิสลาม อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นการติด การยึดมั่นในชื่อ หรือในความเชื่อถือได้ไหม เพราะหนทางที่จะไป หรือทำให้เกิดปัญญา อาจจะมีหลายทาง
สุ. ที่กล่าวว่า เมื่อท่านศึกษาหลายๆ ศาสนาแล้ว จะหมายความว่า เป็นการติดในศาสนาที่ศึกษาหรือไม่ ท่านจะต้องพิจารณาเองว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรในแต่ละศาสนาที่ท่านศึกษา ถ้าท่านมีความเชื่อ เป็นแต่เพียงความเชื่อโดยที่ขาดการพิจารณาในเหตุผล นั่นเป็นการติดอย่างแน่นอน แต่ถ้าก่อนที่ท่านจะเชื่อ ท่านศึกษาและพิจารณาในเหตุผลว่า คำสอนนั้นสามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏได้ นั่นก็เป็นกุศล คือ เป็นความเห็นถูก เพราะว่าเป็นคำสอนที่มีเหตุผล ทำให้เข้าใจสภาพธรรมและเกิดปัญญา ความเห็นถูกเพิ่มขึ้น
ถ. สมมติว่า ศึกษาคำสอนของศาสนาหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ศาสนาพุทธ และคิดว่า ไม่ใช่เป็นหนทางที่จะทำให้เราเห็นแจ้งในธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่แท้จริง เพียงแต่ศึกษาไปอย่างนั้น ถ้าคนอื่นกล่าวว่า ต้องเป็นศาสนาพุทธจึงจะถึง ไม่ใช่ศาสนาอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้น บุคคลนั้นจะติดในชื่อหรือเปล่า ตามที่ดิฉันเข้าใจ สภาพธรรมที่แท้จริง คือ สิ่งใดเป็นอย่างใดก็รับรู้ว่าเป็นอย่างนั้น เราก็มองว่า คำสอนศาสนานี้ เป็นอย่างนี้ๆ
สุ. นั่นเป็นการพิจารณาคำสอนของแต่ละศาสนา แต่ยังจะต้องศึกษาต่อไปอีกว่า ศาสนาใดช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงจึงสามารถพิสูจน์ได้ พิสูจน์คำสอนนั้นต่อไปว่า คำสอนนั้นสอนอะไรอีกในเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นคำสอนที่มีเหตุผล ที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมได้เพิ่มขึ้นมากขึ้น ก็ศึกษาในคำสอนนั้นต่อไปอีก เพราะว่าเป็นคำสอนที่มีประโยชน์ เพราะว่าเป็นคำสอนเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏให้พิสูจน์ได้ด้วยว่า คำสอนอย่างนั้นถูกหรือผิด
อย่างสอนเรื่องการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ถ้าคำสอนนั้นสอนให้เข้าใจในสภาพธรรมเหล่านี้ ก็พิสูจน์ว่า คำสอนนี้สอนเรื่องสภาพธรรมเหล่านี้ว่าอย่างไร จริงหรือไม่ เช่น สอนว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทุกคนอยากจะมีแต่สุขเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข แต่ทำไมวันหนึ่งๆ มีความรู้สึกไม่สบายใจบ้าง ความรู้สึกวิตกกังวลต่างๆ บ้าง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า คำสอนใดที่สอนเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ควรที่จะศึกษาต่อไป เป็นการพิสูจน์คำสอนนั้นด้วย
ถ. ความคิดกับปัญญา เหมือนกันไหม
สุ. ปัญญามีหลายขั้น ถ้าความคิดเป็นความคิดถูก เป็นความคิดที่ตรงตามเหตุตามผล ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง
ถ. เราจะใช้สติเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง
สุ. ใช้สติไม่ได้ แต่ให้รู้ว่าสติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว จึงระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าขณะใดสติไม่เกิด ก็ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ถ. พระสกทาคามีบุคคล ละอะไรได้บ้าง
สุ. ละการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบ
ถ. อย่างหยาบ
สุ. เป็นผู้ที่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างเบาบางกว่าผู้ที่เป็น พระโสดาบันบุคคล
ถ. พระโสดาบันบุคคลนี่หมายความว่าอย่างไร
สุ. ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม และดับกิเลสเป็นสมุจเฉทบางประการได้ เช่น ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
สำหรับเรื่องของกิเลสมีมากทีเดียว ยิ่งได้ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละขณะ ก็จะยิ่งทราบว่า การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนั้นยากเพียงไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐๑ – ๖๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 620
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 660