แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661


    ครั้งที่ ๖๖๑


    ข้อความต่อไปใน สิงคาลกสูตร

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่ควรปฏิบัติต่อสมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑ ด้วยให้ อามิสทานเนืองๆ ๑ ฯ

    สมณพราหมณ์มีอยู่ทุกยุค ทุกสมัย เพราะฉะนั้น ท่านที่จะเจริญเมตตา ไม่ควรที่จะจำกัดบุคคล แม้แต่สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

    ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑

    ด้วยกายกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาก็มี ใช่ไหม

    หยาบกระด้าง กระแทกกระทั้น ในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าเป็นผู้ที่อ่อนโยน อ่อนน้อม ช่วยเหลือ สงเคราะห์ด้วยกาย ในขณะนั้นเป็นเมตตากายกรรม เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น ยังไม่หวังถึงฌานจิต ขอเพียงแต่ได้พบกับสมณพราหมณ์ ก็จะได้ทราบว่า ขณะนั้นได้เจริญกุศลที่เป็นเมตตาหรือเปล่า

    ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑

    คำพูดก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการต้อนรับ หรือว่าในการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษ

    ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑

    ทุกท่านคงจะระลึกถึง หรือว่านึกถึงสมณพราหมณ์ในวันหนึ่งๆ เพราะว่าได้พบเห็นสมณพราหมณ์อยู่เสมอ สำรวจจิตใจของท่านว่า นึกถึงสมณพราหมณ์ด้วยจิตประเภทใด ด้วยอกุศลจิต เกลียดชัง โกรธ พยาบาท ไม่พอใจ หรือว่าด้วยมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา คือ นึกถึงด้วยกุศลจิตที่จะสงเคราะห์ในทางที่เป็นประโยชน์

    ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑

    หมายความว่า ถ้ามีสิ่งที่จำเป็นที่พอจะถวายให้ได้ ก็ถวายในสิ่งที่จำเป็นที่ท่านต้องการ และในสิ่งที่ท่านเองสามารถจะถวายได้

    ด้วยให้อามิสทานเนืองๆ ๑

    หมายความว่า ให้บริโภคในเวลาเช้าก่อนเที่ยง

    นี่เป็นสิ่งที่จะกระทำได้ด้วยเมตตา และเป็นกุศลด้วย ท่านที่จะเจริญเมตตา เริ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นทาส กรรมกร บุคคลใดๆ ในบ้าน หรือว่าสมณพราหมณ์

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. อะไรทำให้อดทน ถ้าไม่ใช่ความเข้าใจประโยชน์ เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะรู้โทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล คนอื่นไม่เดือดร้อนเลยในความคิดที่เป็นอกุศลของตัวท่าน เพราะฉะนั้น ท่านต้องทราบว่า ตัวท่านเท่านั้นที่จะละคลายถ่ายถอนอกุศลได้ คนอื่นไม่สามารถที่จะทำแทนได้เลย

    อกุศลไม่มีประโยชน์เลย แม้ในการคิดนึกด้วยจิตที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นการคิดถึงด้วยมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา กุศลจิตที่เป็นเมตตา นั่นเป็นประโยชน์สำหรับตัวท่านด้วย และสำหรับบุคคลที่ท่านระลึกถึงด้วย

    ถ. เมตตาจะละมานะได้ไหม

    สุ. ความอ่อนน้อม ถ้าโดยตรงแล้ว ความอ่อนน้อมเป็นการละมานะ

    ถ. เมตตา เราถือว่าสัตว์อื่นเสมอด้วยตน สัตว์ทุกคนเสมอกับเรา เราต้องการอย่างไร สัตว์ทั้งหลายก็ต้องการอย่างนั้น นี่เป็นเมตตาไหม

    สุ. เป็น แต่ว่าอย่าเพียงนึก ต้องกระทำจริงๆ เวลาที่พบบุคคลหนึ่งบุคคลใด เมตตาอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเก่งมากเวลาอยู่ลับหลัง เมตตามากมาย พอเจอหน้าเข้า ก็โทสมูลจิต โลภมูลจิตเสียแล้ว

    ถ. แต่ละมานะได้ไหม

    สุ. ละอกุศลทั้งหลายได้ แต่ถ้าโดยตรงต้องเป็นการอ่อนน้อม เพราะฉะนั้น ใครที่รู้สึกตัวเองว่า เป็นผู้ที่ถือตัว หยาบกระด้าง มีมานะ ก็ควรที่จะประพฤติธรรมที่ตรงกันข้าม คือ อ่อนน้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นการขัดเกลากิเลสของตนเอง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ฯ

    ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว นี่ก็เป็นกุศลขั้นหนึ่ง

    ให้ตั้งอยู่ในความดี ก็เป็นการเจริญกุศลอีก

    อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม คือ ด้วยเมตตา

    ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง บอกทางสวรรค์ให้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และก็กระทำด้วยกุศลจิตทั้งนั้น เพราะว่าบุญทั้งหลายย่อมหลั่งไหลมาด้วยกุศลกรรม

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องบนนั้น ชื่อว่าอันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้ ฯ

    ถ. กรุณาแก่สัตว์ ต้องรู้ว่าสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ต่อหน้า เราก็อยากให้เขาพ้นทุกข์ไป แต่เมื่อกล่าวถึงคำว่า อยาก เป็นโลภะหรือไม่

    สุ. เป็นฉันทะ ฉันทะเกิดกับกุศลจิตได้ ฉันทะเป็นกุศล ไม่ใช่โลภะ เจตสิกที่ต่างกันมี ๒ ดวง โลภเจตสิกเป็นอกุศล ฉันทเจตสิกเป็นอัญญสมานาเจตสิก เป็น ปกิณณกเจตสิก เกิดได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต สภาพธรรมละเอียดมาก เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าประมาทปัญญาว่า จะรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงไม่ได้

    กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมหลายอย่างที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันไปแล้วอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตเห็น ผัสสเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตเห็น เพราะถ้าผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่กระทบกับอารมณ์นั้น การเห็นก็มีไม่ได้

    ในขณะนี้ บางขณะเห็น บางขณะได้ยิน บางขณะคิดนึก ถ้าผัสสเจตสิกไม่กระทบรูปารมณ์ การเห็นก็ไม่มี ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง การได้ยินก็ไม่มี ถ้าผัสสะไม่กระทบเรื่องที่คิดนึก เรื่องที่คิดนึกก็ไม่ปรากฏ ไม่มีในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ชั่วขณะแต่ละขณะที่ผ่านไป ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ก็เป็นสภาพธรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปหมดแล้วเรื่อยๆ ในขณะนี้ ซึ่งถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่สามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นและดับไป

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าประมาทปัญญา เมื่อเป็นปัญญาแล้ว รู้ได้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จนกระทั่งสามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้เป็นสมุจเฉท เมื่อปัญญาคมกล้าถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถ. ที่อาจารย์บอกว่า ตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคลไม่มี ผมมาพิจารณาว่า นาม ความรู้สึก ไม่มีได้ แต่มาคิดอีกที รูปล่ะ ยังมีอยู่ จะให้หมดไปอย่างไร ตัวตน เรา เขา นาม ไม่มีจริง แต่รูปมี

    สุ. รูปอะไรมีอยู่

    ถ. ถ้าจะพิจารณา ก็มีรูปกับนาม

    สุ. แล้วก็ดับไป มีชั่วขณะที่ปรากฏเกิดขึ้น และก็ดับไป แต่เพราะยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับจึงคิดว่ายังมีอยู่ ที่คิดว่ารูปยังอยู่ เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความเกิดดับของรูปนั้น

    ถ. รูปดับช้ากว่านามใช่ไหม

    สุ. ถึงจะว่าช้าเป็น ๑๗ ขณะของจิต ก็เร็วสุดประมาณ

    ข้อความตอนท้ายใน สิงคาลกสูตร มีว่า

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน คฤหัสถ์ในสกุลผู้สามารถควรนอบน้อมทิศเหล่านี้

    บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนหมั่น ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ เนืองๆ ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ

    การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายในคนนั้นๆ ตามควร ๑ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล เป็นเหมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่ ถ้าธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดาและบิดาไม่พึงได้ความนับถือหรือความบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้น จึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า ดังนี้ ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสฉะนี้แล้ว สิงคาลกคฤหบดีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล ฯ

    จบ สิงคาลกสูตรที่ ๘

    สำหรับข้อความตอนท้ายในสิงคาลกสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ฉลาดในกาลทุกเมื่อ และในทิศทั้งหลาย ฉลาดในการที่จะเป็นกุศล เพราะว่าคฤหัสถ์ในสกุลผู้สามารถควรนอบน้อมทิศเหล่านี้ คือ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน

    การนอบน้อม หมายความถึงการประพฤติในทางที่ถูกที่ควร ที่เป็นกุศล ถ้าอกุศลจิตเกิด ประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกในทางที่ควรไม่ได้ แม้กับมารดาบิดา อาจารย์ บุตรภรรยา มิตรอำมาตย์ ทาสกรรมกร หรือสมณพราหมณ์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กุศลจิตสามารถที่จะเกิดประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรในชีวิตประจำวัน และผู้ที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ว่าละเลยสิ่งเหล่านี้ และมุ่งที่จะ เจริญสติเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่สภาพของกุศลจิตไม่เกิด ไม่เป็นไปในทิศทั้งหลายเหล่านี้เลย

    แต่ให้ทราบว่า ผู้ใดที่มีกิเลสน้อย และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ประพฤติในทางที่ถูกที่ควรกับบุคคลทั้งหลาย ซึ่งเปรียบเสมือนทิศทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ

    จำเป็นมาก ไหวพริบ คือ ความว่องไวในการปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖ ไม่ละเลย หรือว่าเฉยเมยต่อหน้าที่ หรือกิจที่พึงกระทำต่อมารดาบิดา เป็นต้น

    มีหลายอย่างที่จะกระทำได้ แม้สิ่งเล็กน้อย ในขณะหนึ่งขณะใด เพียงชั่วขณะนั้น ถ้าจิตเป็นกุศล ก็กระทำได้แล้ว การช่วยเหลือ การสงเคราะห์ การหยิบ การยก การจัดแจงธุระ การคิดถึงสิ่งที่ควรในขณะนั้น ความรู้สึกเกรงใจ หรือว่ามีความเคารพนอบน้อม ไม่มีกายวาจาที่ไม่สมควร แต่ละอย่าง แต่ละขณะ ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะต้องไม่ลืมว่า ชีวิตของแต่ละคนอยู่ในขณะจิตหนึ่ง แต่ละขณะเท่านั้นเอง ชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้น ชีวิตก็อยู่ในขณะหนึ่งๆ ของจิต และขณะหนึ่งๆ ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งปรากฏ กายเป็นอย่างไร วาจาเป็นอย่างไร สะท้อนถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล

    แม้แต่คำพูด ก็เป็นเครื่องสอบให้ทราบถึงลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นได้ หรือแม้แต่กาย ก็เป็นเครื่องที่ส่องถึงลักษณะของจิตใจในขณะนั้นได้ว่า เป็นผู้ที่คำนึงถึงบุคคลอื่นบ้างไหม หรือว่าเป็นผู้เห็นแก่ตนเองตลอดเวลา ไม่ได้คำนึงถึงบุคคลอื่นเลย ไม่มีการช่วยเหลือ ไม่มีการสงเคราะห์ ไม่มีการคิดถึงความสะดวกสบายของบุคคลอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของอกุศลจิต แต่ถ้าเพียงชั่วขณะหนึ่งที่จะสงเคราะห์คนอื่น โดยการช่วยเหลือ โดยการคิดถึงความสะดวกสบายของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ ในแต่ละขณะ ในแต่ละเหตุการณ์

    นอกจากนั้น มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง ไม่ยกยอตนเอง และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพยำเกรง หรือว่าเกรงใจบุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของบัณฑิต

    คนหมั่น ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย

    บางคนคิดว่า ในการที่จะประพฤติสิ่งที่ดีนี้ น่าเกียจคร้าน คือ ไม่ขยันที่จะทำความดี คิดว่าเสียเวลาเปล่าๆ หรือว่าไม่มีประโยชน์เลย หรือว่าจะทำความดีไปทำไม คือไม่เห็นคุณของความดี และก็คิดว่าเป็นการเสียเวลา เสียโอกาสที่จะใช้เวลานั้นไปในทางที่จะทำให้ตนเองได้รับความสะดวกสบายต่างๆ แต่ว่าผู้ที่เห็นกิเลสของตนเอง และทราบว่าถ้ากุศลจิตไม่เกิดย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด เพียงเท่านี้ ถ้าเห็นจริงๆ ผู้นั้นก็จะขยันที่จะทำความดีทุกโอกาส เพราะว่าการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนี้ ยังอีกแสนไกล ถ้าไม่หมั่นอบรมสะสมเจริญความดีให้ยิ่งขึ้นอกุศลก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นๆ ยากแก่การที่จะดับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นกิเลสของตนเองว่ามีมาก ก็ย่อมจะเจริญกุศลทุกประการ

    คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ

    ความประพฤติไม่ขาดสาย ในที่นี้ควรจะเป็นความประพฤติในกุศลโดยไม่ขาดสาย เพราะว่าการประพฤติอย่างอื่นเป็นสิ่งซึ่งไม่มีสาระที่ควรแก่การที่จะสะสมให้มากขึ้น แต่กุศลธรรมแต่ละอย่างเป็นสิ่งที่จะขัดเกลากิเลส ละคลายให้น้อยลง เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่ขาดสายในการเจริญกุศล

    บางครั้งกุศลที่ทำก็อาจจะหยุดไป ไม่เป็นโอกาสที่จะกระทำต่อไป ทั้งๆ ที่คิดว่าจะกระทำเป็นอาจิณ คือ โดยสม่ำเสมอ โดยไม่ขาดสาย แต่ว่าในบางครั้งก็มีอกุศลจิตคั่น ทำให้หยุดไป ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลต่อไปได้

    ข้อความในอรรถกถาอุปมาว่า การกระทำที่ทำๆ หยุดๆ นี้เหมือนกับกิ้งก่าที่วิ่งไปตอนแรกๆ แล้วก็หยุด ผงกศีรษะอยู่นานๆ แล้วก็วิ่งต่อไปอีก ลักษณะของคนที่กระทำกุศลโดยขาดสาย ก็เหมือนลักษณะของกิ้งก่าที่วิ่งไปแล้วก็หยุด ผงกศีรษะอยู่นานๆ จึงจะวิ่งต่อไปได้

    เป็นการแสดงถึงลักษณะของสภาพของจิตใจว่า บางครั้งก็เป็นโอกาสของกุศลจิต แต่บางครั้งก็มีอกุศลจิตคั่นทำให้กุศลนั้นหยุดไป เป็นชีวิตจริงหรือเปล่า ถ้าไม่มีจริง พระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงแสดงว่า การกระทำกุศลควรจะกระทำโดยไม่ขาดสาย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๖๑ – ๖๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564