แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671


    ครั้งที่ ๖๗๑


    สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว รู้ลักษณะของเมตตา รู้สภาพของจิตที่ประกอบ ด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่มีความเป็นตัวตนที่จะบังคับ แม้แต่ทาน หรือศีล หรือสมถะ เพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า สภาพธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ นอกจากจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เวลาที่กุศลขั้นทานเกิด ก็เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ตัวตน แต่ว่ามีปัจจัยให้กุศลขั้นทานเกิดขึ้นเป็นไป ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้ทานเกิดขึ้นในขณะนั้น เวลาที่กุศลขั้นศีลเกิดขึ้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น เวลาที่จิตสงบเกิดขึ้น ผู้นั้นก็รู้ว่ายับยั้งไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้แต่ความสงบของจิตก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่สติที่ระลึกตรงลักษณะในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และปัญญารู้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงรู้ชัด ก็เป็นลักษณะของปัญญาที่รู้ ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เกื้อกูลการเจริญกุศลทุกขั้นและก็รู้ด้วยว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน รู้ความต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิตแต่ละขั้น กุศลจิตขั้นสมถภาวนาก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รู้ตามความเป็นจริงในความสงบของจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะว่าปัญญาศึกษา รู้ในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่เป็นความสงบนั้น

    ถ. ผู้ที่นอกพระพุทธศาสนา ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่เคยรู้จักสภาพธรรม แต่เขาเจริญเมตตาจนกระทั่งไปเกิดเป็นพรหมบุคคลมีไหม

    สุ. มากมาย ผู้ที่เจริญความสงบก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไปเกิดในพรหมโลกนั้น มีมากมาย ในระหว่างที่เป็นพระโพธิสัตว์ แม้พระผู้มีพระภาคเองในกัปใดที่ว่างจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ท่านก็เจริญฌาน และไปเกิดในพรหมโลก แต่ในกัปใดที่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พระโพธิสัตว์เองก็ศึกษาและอบรมเจริญสติปัฏฐานในชาตินั้น เพราะฉะนั้น ถ้าพระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปแล้ว ไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ผู้ที่มีปัญญามีปัจจัยที่จะเจริญได้ก็เพียงขั้นความสงบในชาตินั้น ส่วนการเจริญสติปัฏฐานที่ได้เคยเจริญมาไม่ได้สูญหายไปไหน ก็มีสะสมอยู่ในจิต

    ถ. การเจริญเมตตาพรหมวิหาร ควรจะปฏิบัติอย่างไร

    สุ. เดี๋ยวนี้เมตตาหรือเปล่า ถ้าเมตตาเดี๋ยวนี้ ก็มีโอกาสที่จะเจริญเมตตาพรหมวิหารให้ยิ่งขึ้น ขณะปัจจุบันสำคัญที่สุด อนาคตยังไม่มาถึง อดีตก็ผ่านไปแล้ว ขณะที่กำลังพูด ขณะที่กำลังฟัง เป็นอดีตไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ขณะปัจจุบัน คือ ขณะนี้ ถ้าจะเจริญเมตตาพรหมวิหารก็คือ ขณะนี้เมตตาไหม

    ถ. ขณะที่เจริญ โดยการนึกคิดในขณะนี้ จะเป็นฌานจิตถึงกับเป็นเมตตาพรหมวิหารเชียวหรือ

    สุ. ทำไมจะหวังฌานจิต แสนยาก เพียงแค่ขณะนี้เมตตาเกิดขึ้นได้ไหม มีปัจจัยที่จะให้สงบจนกระทั่งถึงฌานจิตไหม คือ แต่ละขณะเพิ่มเมตตาเป็นกำลังขึ้น

    ถ. ผู้ที่จะเจริญเมตตาพรหมวิหารจนกระทั่งได้ถึงฌานจิต ข้อปฏิบัติที่ในตำราท่านกล่าวไว้ว่า ก่อนอื่นจะต้องแผ่เมตตาให้แก่ตัวเอง

    สุ. เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ที่เห็น เราฉันใด คนอื่นฉันนั้น เราเมื่อย เขาเมื่อยไหม เราหิว เขาหิวไหม นั่นคือการเริ่มของเมตตา อาหารนี้อร่อยจริง เราชอบ เขาชอบไหม นั่นคือ การเจริญเมตตาไปเรื่อยๆ แต่ละขณะ

    ถ. ก็ถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ

    สุ. ไม่ใช่ถาม แต่จนกระทั่งเป็นนิสัย เป็นปกติ เป็นธรรมชาติของคนนั้นที่จะเมตตา โดยไม่ต้องมานั่งตั้งต้นคิดถึงตัวเอง สำหรับคนซึ่งเมตตาไม่เกิด ไม่เคยเกิด หรือว่าแสนยากที่จะเกิด เพราะว่าช่างเป็นคนที่เห็นแก่ตัวเสียเหลือเกิน อะไรๆ ก็ต้องตัวเองก่อนเสมอทุกทีๆ ไป จึงต้องตั้งต้นด้วยตัวเราอย่างไร คนอื่นก็อย่างนั้น แต่ทีนี้ถ้าอบรมจนเป็นนิสัยแล้ว จะคิดถึงคนอื่นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องน้อมมาระลึกถึงตัวเองว่า เราอย่างไร เขาก็อย่างนั้น

    ถ. อาจารย์พูดในลักษณะนี้ ผมก็เข้าใจว่าต้องถามตัวเอง

    สุ. ไม่เคยเกิดเมตตาเลยหรือ จึงต้องตั้งต้นด้วยการถามตัวเอง ถ้าเคยก็รู้ว่า คนอื่นต้องการอย่างไร ต้องการสุข ไม่ต้องการทุกข์ มีทางใดที่จะเกื้อกูลให้เขาได้รับความสะดวกสบาย สภาพธรรมที่เป็นกุศลและเป็นประโยชน์จริงๆ คือ ขันติ ความอดทน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบ ย่อมไม่รู้ลักษณะของขันติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมความสงบ หรือว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเริ่มรู้ลักษณะของขันติ และถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ว่า แม้ความอดทนนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน

    ชีวิตในวันหนึ่งๆ ต้องอาศัยความอดทนมากสักแค่ไหน ขอให้คิดดู ทุกสิ่งไม่ใช่ว่าจะราบรื่นไปตั้งแต่เช้าจรดเย็น เริ่มตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ขันติก็ควรที่จะเริ่มมีแล้ว ไม่ว่าจะเห็นอะไรรกหูรกตาไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ ได้ยินเสียงอะไร จะเป็นเสียงดังสนั่น เป็นเสียงน่ารำคาญประการหนึ่งประการใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอดทนแล้ว ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย การที่จะประสบพบเห็นบุคคลต่างๆ อากาศร้อนไป หนาวไป อาหารเค็มไป เผ็ดไป จืดไป อาหารต่างชาติรับประทานไม่ลง หรือว่ารับประทานไม่ได้ เหล่านี้ จะแสดงให้เห็นว่าขันติอยู่ที่ไหน

    ถ. สิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ สติปัฏฐาน มีสติระลึกรู้ มีปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัด ประเสริฐสุด

    สุ. แน่นอน ไม่มีอะไรประเสริฐเท่า เพราะเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. อย่างเช่น เราเกิดที่เมืองไทย นับถือศาสนาพุทธ ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปจะไปเกิดที่ศรีลังกา หรืออินเดีย ถ้าเราไม่ได้ไปเกิดที่นั่น เราก็ไม่ได้พบอีก

    สุ. ใครจะไปรู้ว่า เราจะไม่เกิดที่นั่น

    ถ. เราเป็นคนไทย ไม่ได้พูดภาษาแขก

    สุ. เราจะจับจองอยู่ที่นี่ตลอดไปทุกชาติๆ หรือ ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง พระธรรมมาก่อนเลย มีโอกาสที่จะได้ยินพระธรรม และเกิดความซาบซึ้ง เข้าใจ จะศึกษาปฏิบัติต่อไปไหม

    พวกเดียรถีย์นิครนถ์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก หรือพวกที่เคยได้ยินพระธรรมที่พระวิหารเชตวันบ้าง พระวิหารเวฬุวันบ้างในอดีต ปัจจุบันนี้อยู่ที่ไหน จะเกิดอยู่ที่ไหนบ้าง จะเป็นชาติไหนบ้าง มีใครที่จะรู้ได้ เพราะว่าท่านเหล่านั้นยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการเกิดวนเวียนต่อไป ผู้ที่มีความเห็นผิดในพระไตรปิฎกก็มีมากมายหลายท่าน จะมาเกิดเป็นคนไทยที่มีความเห็นผิดได้บ้างไหม หรือจะต้องไปเกิดเป็นคนเห็นผิดเฉพาะในประเทศอินเดียนั่น ไม่มีใครทราบได้เลยว่า แต่ละท่านเคยเกิดแล้ว ณ ที่ใด และได้เคยพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วหรือไม่ และเมื่อพบแล้ว ได้ยินได้ฟังพระธรรมหรือเปล่า เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว เกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ ความศรัทธามากน้อยแค่ไหน หรือว่ายังมีความเห็นผิดที่ยังคัดค้านพระธรรมอยู่ แม้จนกระทั่งในสมัยปัจจุบันนี้ ซึ่งจะเกิดเป็นบุคคลชาติใดก็ตาม

    ที่ศรีลังกา ที่แคนดี้ มีโอกาสได้ไปที่โรงเรียนเด็กแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่น่าสนใจมาก ชื่อมหาเวรีมหาวิทยาลัย โดยมี Mr. H.L. Jay เป็นครูใหญ่ เป็นผู้ที่พยายามอบรมกุลบุตรกุลธิดาให้เป็นชาวพุทธที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม และการอบรมจิตใจ

    โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างจะขัดสน ไม่มีอุปกรณ์ในการศึกษามากนัก เด็กบางคนไม่มีสมุดเลย แต่ครูก็ไม่ว่าอะไร ให้ใช้สิ่งอื่นแทนได้ และฝึกเด็กให้รู้จักประหยัด ใช้สิ่งอื่นชดเชยในสิ่งที่ไม่มี ไม่มีสมุดก็ใช้กระดาษอื่น หรือส่วนของกระดาษพิมพ์ ซึ่งโดยมากมักจะพิมพ์หน้าเดียว อีกหน้าหนึ่งทิ้งไป ครูใหญ่โรงเรียนนี้ก็อนุญาตให้เด็กเหล่านั้นเอากระดาษเหล่านั้นมาใช้ในการเรียนได้

    และในวันนั้นก็ได้มีโอกาสไปตอบปัญหาธรรมของเด็กๆ ลองคิดว่า เด็กจะถามอะไร ส่วนใหญ่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่นี่หรือที่ไหน ก็มักจะสนใจเรื่องตายแล้วเกิด เรื่องหนึ่ง และเรื่องผลของกรรมอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์และเชื่อได้สำหรับเด็กๆ เช่น เรื่องพระอินทร์ซึ่งได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นต้น และเรื่องสวรรค์ เรื่องนรก เป็นเรื่องที่เด็กๆ สนใจมาก

    เด็กถามว่า จะเชื่อได้อย่างไรว่ามีนรกหรือสวรรค์ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนรก สวรรค์ เรื่องพระอินทร์ หรือเรื่องตายแล้วเกิดก็ตาม สำหรับเด็กควรจะอภัยให้ได้ เพราะว่าเด็กไม่รู้อะไรก็ถามอย่างนั้น และมีความมั่นใจในผู้ใหญ่ว่า ผู้ใหญ่สามารถที่จะให้ความรู้ความเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น เด็กก็ถามทุกอย่างที่เด็กอยากจะทราบ

    แต่สำหรับผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะได้คิดว่า ถ้าบุคคลใดถามเรื่องตายแล้วเกิด อยากจะให้พิสูจน์แบบไหน คนที่ถามต้องการคำตอบ หรือการพิสูจน์ในลักษณะใด ในลักษณะที่จะให้เห็นการตายแล้วเกิดหรืออย่างไร เป็นไปได้ไหมที่จะให้มีคนตอบให้หมดสงสัยในเรื่องตายแล้วเกิด นอกจากผู้ที่ถามเองที่จะต้องคิดว่า จะทำอย่างไรจึงหายสงสัยได้ เพราะว่าเห็นไม่ได้แน่ ใครจะไปเห็นใครตายแล้วเกิดได้ เพียงแต่รู้ได้ว่า จิตเกิดขึ้นแล้วดับได้ ขณะสุดท้ายของชีวิตนี้ ของภพนี้ ของชาตินี้ ชื่อว่าตาย และก็ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งเมื่อยังมีกรรม ยังมีกิเลส ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องมีการเกิด

    ซึ่งการที่จะให้คนอื่นตอบโดยประการต่างๆ สักเท่าไร ก็ไม่มีวันที่จะหมดความสงสัยไปได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะถาม ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ตนเองนี้สมควรไหมที่จะถาม และเมื่อถามแล้ว ต้องการคำตอบชนิดใดที่จะให้หมดความสงสัยได้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นได้ด้วยตา ไม่ใช่เรื่องที่จะได้ยินด้วยหู แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผลว่า เป็นอย่างไร

    ถ. ทางตานี้ก็เห็นได้

    สุ. ใครล่ะจะทำ หรือเพียรที่จะทำ เพียงแต่ต้องการที่จะให้ตอบเท่านั้น เหมือนกับจะดูว่า ผู้ตอบจะตอบอย่างไรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็ตอบไปว่า ต้องการพิสูจน์อย่างไรจึงจะเชื่อ เพราะว่าเห็นไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุ ผลก็ต้องมี และถ้ายังไม่ใช่ เป็นพระอรหันต์ กิเลสยังมี กรรมยังมี ก็จะต้องมีการเกิดต่อไป

    สำหรับเรื่องนรกสวรรค์ ก็เคยพูดถึงแล้วว่า เป็นการได้รับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเป็นนรกก็ประสบกับอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจมาก แม้ในโลกมนุษย์นี้ก็เป็นได้ การที่จะอยู่ท่ามกลางกองไฟ หรือการที่จะได้รับอันตรายจากอาวุธต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้ในโลกนี้ก็ยังมีได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของกรรมซึ่งมีกำลังมากกว่านั้น ก็ย่อมทำให้ได้รับกระทบกับอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นที่ไม่น่าพอใจมากขึ้น

    สำหรับเรื่องพระอินทร์ก็เช่นเดียวกัน เพราะว่าเด็กอยากจะเห็น ก็ถามเด็กว่า อยากจะจับพระอินทร์ไหม หรือเพียงแค่อยากจะเห็นเท่านั้น อยากจะกระทบ อยากจะสัมผัสด้วยหรือเปล่า ซึ่งเด็กก็ตอบว่าอยาก ก็ถามเด็กว่า จับพระอาทิตย์พระจันทร์ได้ไหม ในเมื่อเห็นพระอาทิตย์พระจันทร์แล้ว จับได้หรือเปล่า กระทบสัมผัสถูกต้อง ได้ไหม ในเมื่อก็ปรากฏให้เห็น แต่แม้อยู่ใกล้กว่าพระอินทร์ ก็ยังจับไม่ได้ จับไม่ถึง เพราะฉะนั้น พระอินทร์ซึ่งมีจริง แต่ว่าอยู่ไกลกว่าพระอาทิตย์พระจันทร์มาก ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสัมผัสหรือจับถูกต้องพระอินทร์ได้ เพราะแม้ พระอาทิตย์พระจันทร์ซึ่งมองเห็น ก็ยังสัมผัสกระทบไม่ได้

    ในคราวก่อนได้พูดถึงเรื่องของกุศลที่เป็นอปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ซึ่งเรื่องของสภาพจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าสติเกิดจะเห็นความวิจิตรต่างๆ นานาของจิตใจมากทีเดียว คิดอย่างนี้นิดหนึ่ง ก็เปลี่ยนเป็นคิดอย่างอื่นได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่ความคิดก็เปลี่ยนแปลงแล้ว วิจิตรมาก มีสภาพธรรมที่แทรกซ้อนเกิดขึ้น

    หลายท่านในการสนทนาธรรม แม้แต่ที่ศรีลังกา ในระหว่างผู้ที่ไปสนทนาธรรมด้วยกัน ก็ยังกล่าวถึงความวิจิตรของจิตใจในขณะที่กล่าวธรรม เพราะว่าเวลาที่สติเกิด บางท่านก็สามารถระลึกได้จริงๆ ว่า ในขณะที่กล่าวธรรมหรือตอบปัญหาธรรม อกุศลจิตเกิดคั่นได้ ด้วยความพอใจ หรือด้วยความมานะในตนเอง

    บางคนอาจจะคิดว่า คนนี้มีความรู้มากกว่าคนนั้น หรือว่าตัวท่านเองมีความรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะละคลายถ่ายถอนดับกิเลสเหล่านั้นได้เป็นสมุจเฉท แต่ว่าผู้ที่ฟังธรรมมากขึ้น และสติเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะที่ต่างกัน ก็จะเห็นได้ว่า ตัวของท่านเองยังดีไม่พอ ที่เข้าใจว่าดีแล้ว ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่พอ เพราะว่าอกุศลจิตยังเกิดได้บ่อย และอกุศลธรรมก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ

    เช่น กาย วาจา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้านั่งเฉยๆ ไม่พูด ไม่ทำอะไร ย่อมจะไม่ปรากฏลักษณะของอกุศลจิตให้เห็นได้ แต่ขณะใดที่พูด แม้แต่คำพูดก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นอกุศลบ้างไหม คำพูดที่ยกตน ยอตัวเอง มีไหม อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่ามีปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ถ้าสติเกิดก็ระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลที่ควรจะละคลายดับให้หมดเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าสติไม่เกิด อกุศลธรรมนั้นก็ย่อมจะพอกพูน และมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่า ขณะใดจิตไม่เป็นกุศลก็ย่อมจะเป็นอกุศลแต่ละประเภทซึ่งละเอียดมาก แม้บางครั้งไม่เป็นเหตุให้กระทำกายวาจา แต่จิตใจในขณะนั้นก็เป็นอกุศล เมื่อเห็นความละเอียดของอกุศลอย่างนี้ จึงไม่รั้งรอที่จะบำเพ็ญความดีเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งแม้ว่าจะกระทำความดีสักเท่าไรๆ ก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง เพราะว่าตราบใดที่ไม่กระทำความดี จิตก็ต้องเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ควรเจริญกุศลทุกประการ ด้วยการอบรมตนเองให้เป็นผู้ที่มีความอดทน คิดถึงคนอื่น แทนที่จะคิดถึงตนเองเสมอๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็มีโอกาสที่กุศลจิตจะเกิดมากกว่าอกุศล

    เพราะฉะนั้น การนอบน้อมถ่อมตน เป็นกุศลซึ่งจะทำให้เห็นชัดว่า ถ้าขาดการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม จะทำให้เป็นผู้ที่ขาดความยำเกรงแม้ในผู้ที่ควรเคารพอ่อนน้อมยำเกรงได้ แม้ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    21 เม.ย. 2566