แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
ครั้งที่ ๖๗๒
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๓๑๘ เป็นเรื่องมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ อย่าง มีข้อความว่า
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธไว้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มักโกรธ มักผูกโกรธไว้นั้น ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดาอยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ ยำเกรงแม้ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมจะไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ไม่เคารพไม่ ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อความวิวาทซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศแก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายขึ้นในสงฆ์
ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงพยายามที่จะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นเสีย
ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นต่อไป เมื่อพยายามได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้เสียได้ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้อีกต่อไป ฯ
สำหรับข้อความตอนอื่น เป็นเรื่องที่เป็นผู้ลบหลู่ตีเสมอ เป็นผู้ที่มักริษยา มีความตระหนี่ เป็นผู้ที่โอ้อวด มีมารยา เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด เป็นผู้ที่ยึดมั่นในความเห็นของตน มักถือรั้น คลายได้ยาก
ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด จะเห็นได้ว่า ผู้นั้นไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์ เพราะความนอบน้อมที่สุด คือ การประพฤติปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยการที่เห็นอกุศลเป็นอกุศลจริงๆ และขัดเกลาบรรเทาให้น้อยลง เช่น ผู้ที่มักโกรธ หรือมักผูกโกรธ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท เพราะว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ถ้าโกรธแล้วไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ จะเป็นปัจจัยให้ความโกรธ โกรธนาน เกิดดับก็จริง แต่ก็เกิดอีกบ่อยๆ เป็นความผูกโกรธ ไม่ลืมเลย อาจจะผูกไว้เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี และถ้าผูกไว้มากๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์
หรือผู้ที่ลบหลู่ตีเสมอก็เช่นเดียวกัน บางท่านเป็นผู้ที่มีความรู้น้อยกว่า แต่ก็เข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้เสมอ หรือเท่ากันกับผู้ที่มีความรู้มากกว่า กิเลสเล็กน้อยเพียงแค่นี้แต่ลองคิดดูว่า จะเป็นปัจจัยทำให้กายและวาจาเป็นไปในทางที่ผิดได้ไหม เป็นผู้ที่รู้น้อย แต่เข้าใจว่าเป็นผู้ที่รู้เสมอ หรือเท่ากันกับผู้ที่รู้มาก จะเป็นปัจจัยให้เกิดกายวาจาซึ่งเป็นไปในทางอกุศลได้ไหม
นี่เป็นความละเอียดและความรวดเร็วของจิต ซึ่งถ้าสติไม่เกิดก็จะไม่ทราบเลยว่า การกระทำและคำพูดสามารถจะเกิดได้แม้ในความเข้าใจผิด โดยการเป็นผู้ที่ลบหลู่ และตีเสมอกับผู้อื่น หรือผู้ที่มักริษยา มีความตระหนี่ ก็จะเป็นเหตุให้กายวาจาประพฤติเป็นไปในอกุศลกรรม เป็นผู้ที่โอ้อวด มีมารยา เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด เป็นผู้ยึดมั่นในความเห็นของตน มักถือรั้น คลายได้ยาก
นี่เป็นบริวารอกุศลทั้งหลาย ซึ่งปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความ เห็นถูก ความอ่อนน้อมในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะทำให้บุคคลนั้นละคลายอกุศลธรรมได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจในพระธรรมจริงๆ มิฉะนั้นแล้วถึงแม้ว่าจะได้ติดตามพระผู้มีพระภาคเวลาที่พระองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ ก็ยังเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดเพราะว่าไม่เข้าใจในพระธรรมได้
มีพระสูตรหนึ่งที่ยาว แต่คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟัง ก่อนที่จะถึงกุศลขั้นต่อไป คือ เวยยาวัจจะ ในข้อของศีล ข้อความใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาฏิกสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งติดตามพระผู้มีพระภาคเวลาที่พระองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ แต่เพราะความไม่เข้าใจในพระธรรม จึงทำให้เป็นผู้ที่ไม่เคารพ ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
ข้อความใน ปาฏิกสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของชาวมัลละ ในแคว้นมัลละ ครั้งนั้นแลเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอนุปิยนิคม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า ยังเช้านักที่จะเข้าไปบิณฑบาตยังอนุปิยนิคม ถ้ากระไรเราพึงไปหาปริพาชกชื่อภัคควโคตร ที่อารามของเขา ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาปริพาชกชื่อภัคควโคตร ที่อารามของเขาแล้ว ฯ
แม้ว่าเป็นปริพาชก ยังไม่ใช่พระภิกษุ แต่เมื่อได้ฟังพระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องของพระภิกษุที่ไม่เคารพในพระองค์ ภัคควโคตรปริพาชกก็ยังมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ยังมีปัจจัยที่จะเห็นว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดควร ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระดำริที่จะเสด็จไปหาปริพาชกชื่อภัคควโคตรที่อารามของเขา
ปริพาชกชื่อภัคควโคตร ได้กราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า
ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะมีโอกาสเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้แล้ว ฝ่ายปริพาชกชื่อ ภัคควโคตร ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ท่านผู้ฟังจะเห็นถ้อยคำที่ปริพาชกภัคควโคตรกราบทูลเชื้อเชิญพระผู้มีพระภาค เป็นถ้อยคำที่แสดงอัธยาศัยไมตรีด้วยความเคารพ แม้ว่าจะไม่ได้นับถือในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ แต่ก็ได้กราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคให้เสด็จมา และได้กล่าวว่า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะมีโอกาสเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้
เป็นการดีไหมที่จะให้ผู้อื่นเห็นว่า ท่านผู้ฟังเต็มใจที่จะต้อนรับเชื้อเชิญว่า ผู้นั้นไม่ค่อยจะได้มีโอกาสมาหา เพราะฉะนั้น เป็นการดีจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมา นานๆ พระองค์จึงมีโอกาสเสด็จมาทีนี้
ข้อความต่อไป
ครั้นแล้ว จึงได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ พระโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า ดูกร ภัคควะ บัดนี้ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพเจ้าไม่อยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนั้นเป็นดังที่เขากล่าวหรือ ฯ
ในสมัยที่โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ ท่านเป็นสหายกับภัคควโคตรปริพาชก เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกในใจอย่างไรก็ได้มาสนทนากับภัคควโคตรปริพาชก และได้เล่าให้ปริพาชกฟังว่า เขาจะบอกคืนพระผู้มี พระภาค จะไม่อยู่อุทิศต่อพระองค์อีกต่อไป แม้ว่าจะเป็นพระภิกษุซึ่งติดตามพระผู้ มีพระภาคเวลาที่พระองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ จึงทำให้ภัคควโคตรปริพาชกมีความสงสัยมาก และได้กราบทูลถามว่า เป็นจริงอย่างนั้นหรือ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็เป็นดังที่โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะกล่าวนั้นแล ภัคควะ ในวันก่อนๆ เขาได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอบอกคืนพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักไม่อยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวว่า ดูกร สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา ดังนี้บ้างหรือ ฯ ซึ่ง สุนักขัตตะก็กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
หรือว่าเธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ฯ ซึ่งสุนักขัตตะก็กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
ดูกร สุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เราไม่ได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะเธอจงอยู่อุทิศต่อเรา ดังนี้ อนึ่ง เธอก็ไม่ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ฯ
การที่จะชี้แจงให้บุคคลใดเห็นว่า เป็นความผิดของตนเอง ก็จะต้องกระทำตั้งแต่ต้นทีเดียว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามสุนักขัตตะว่า พระองค์ได้ตรัสให้สุนักขัตตะมาอยู่อุทิศต่อพระองค์บ้างหรือ คือถามว่า พระองค์เคยเชิญ เคยชวนให้เข้ามาบวชบ้างหรือเปล่า ซึ่งสุนักขัตตะก็ทูลว่า หามิได้ พระองค์มิได้ทำอย่างนั้น และพระผู้มีพระภาคก็ตรัสย้อนถามอีกว่า หรือว่าสุนักขัตตะได้มากล่าวกะพระองค์ว่า จะอยู่อุทิศต่อพระองค์ ซึ่งสุนักขัตตะก็ได้กราบทูลว่า หามิได้
แสดงว่า สุนักขัตตะก็ไม่ได้มากราบทูลพระองค์ และพระองค์ก็ไม่ได้เชื้อเชิญ หรือว่าไม่ได้ชักชวนมา ดังนั้น การที่สุนักขัตตะเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร เพราะฉะนั้น การกระทำและคำพูดของสุนักขัตตะทั้งหมดเป็นความผิดของสุนักขัตตะเท่านั้น
นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของจิตที่จะรู้ได้ว่า ใครผิด ใครถูก จากคำพูด
ข้อความต่อไป
สุนักขัตตะลิจฉวีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย ฯ
ดูกร สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิดสุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา เราจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่เธอ ดังนี้บ้างหรือ ฯ ซึ่งสุนักขัตตะก็กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
หรือว่าเธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ฯ ซึ่งสุนักขัตตะก็กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
ดูกร สุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เรามิได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา เราจักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่เธอ ดังนี้ อนึ่ง เธอก็มิได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้ ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร ดูกร สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คือ เมื่อเราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ [หรือหาไม่] ฯ
ซึ่งสุนักขัตตะก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้ทรงกระทำก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ พระเจ้าข้าฯ
ดูกร สุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ไปทำไม ดูกร โมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคทรงเน้นด้วยพระองค์เองแม้ในครั้งโน้นกับสุนักขัตตะว่า ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้ หาใช่การกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ไม่ แต่คนที่มีความเห็นผิดกลับเห็นผิดว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคไม่ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้น เขาก็จะไม่อยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ซึ่งสุนักขัตตะ เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนั้นแล้ว ก็ได้กราบทูลยอมรับว่า เป็นเช่นนั้น คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้ทรงกระทำก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้
ท่านผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือไม่ ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์หรือไม่ทรงกระทำ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้
การกระทำอิทธิปาฏิหาริย์สำคัญไหม เพราะว่าพระองค์จะทรงกระทำหรือมิได้ทรงกระทำก็ตาม แต่ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ
ถ. เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ในครั้งพุทธกาลมีความสำคัญ ครั้งนี้ก็มีความสำคัญยิ่งกว่าครั้งโน้นอีก เพราะว่าการที่จะปลูกศรัทธาของคนทั่วๆ ไป ถ้ามีอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว คนมักจะตื่นไปหา แต่ถ้าไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ก็ไม่ไปหา เมื่อมีอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว คนก็เคารพนับถือ ยำเกรง พูดผิดก็เชื่อผิด พูดถูกก็เชื่อถูก คือ พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้นหมด ชี้นกเป็นนก ชี้กาเป็นกา เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะแสดงธรรมให้พ้นทุกข์ ถ้ามีอิทธิปาฏิหาริย์จะสะดวกสบายยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ก็ลำบากหน่อย อิทธิปาฏิหาริย์สำคัญอย่างนี้เอง
สุ. ต้องไม่ลืม คำพูดจะค้านกันไม่ได้ ถ้าเห็นจริงว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบหรือหาไม่
เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่าอะไรสำคัญแน่ ถ้าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีประโยชน์มากทำให้ผู้ที่ได้ฟังพิจารณาและใคร่ครวญในเหตุผลจนสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ ย่อมเป็นยอดของอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะว่าสามารถจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจธรรมที่ยากยิ่งได้
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. อิทธิปาฏิหาริย์ช่วยได้จริงหรือ อิทธิปาฏิหาริย์ช่วยให้เกิดอะไรขึ้น เลื่อมใสในอะไร ถ้าหาจริงๆ จะเจอไหมว่า ทำให้เลื่อมใสในอะไร ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับสุนักขัตตะ ซึ่งเมื่อสุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้ทรงกระทำก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ย่อมนำ ผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ พระเจ้าข้าฯ
และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ไปทำไม ดูกร โมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ฯ
ถ. สมมติว่า พระผู้มีพระภาคแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้เขาเลื่อมใส ให้เขาเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคพูดอะไรเขาอาจจะเชื่อ เพราะว่ายังเป็นผู้ที่มีกิเลส ไม่ใช่ไม่มีกิเลส ปัจจุบันนี้ผมก็คิดว่าเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ผู้ที่ไปวัด ไปเอาของขลัง ไม่ได้ไปฟังธรรม ไปเอาพระเครื่องที่ปืนยิงไม่เข้า ฟันไม่เข้า ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าไม่ดีทั้งนั้น ผู้ที่จะมาฟังพระสัทธรรมที่ถูกต้องจริงๆ น้อยมากเหลือเกิน วัดก็มากมาย แต่ผู้ที่จะเข้าไม่มี
สุ. นี่เป็นความคาดคะเนของท่านผู้ฟังเองว่า ถ้าสุนักขัตตะได้มีโอกาสเห็นพระผู้มีพระภาคทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว เขาก็คงจะอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาคต่อไป
ถ. ถ้าเขาเกิดความเลื่อมใสในตัวบุคคลแล้ว เช่น พูดธรรมให้ปฏิบัติ เขาก็จะเชื่อฟัง เหมือนสมัยนี้ที่มีสำนัก ถึงแม้อาจารย์จะให้ธรรมที่ผิด เขาก็เลื่อมใสในตัวบุคคลเช่นนั้น
สุ. ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว สุนักขัตตะก็จะบวชอุทิศต่อพระผู้มีพระภาคอยู่ต่อไป และมีความเลื่อมใสในพระองค์ คิดว่าอย่างนั้น ใช่ไหม
ถ. คิดว่าอย่างนั้น และเมื่อพระผู้มีพระภาคบอกธรรมให้เขาฟัง เขาก็จะปฏิบัติตาม เพราะเขาเลื่อมใสแล้ว
สุ. แต่พระสูตรนี้จะเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ในตอนหลังแม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อย่างไร สุนักขัตตะก็หาได้เลื่อมใสไม่
แสดงให้เห็นถึงการสะสม และความวิจิตรแห่งจิตใจ ท่านอาจจะคาดคะเนเองว่า ถ้าเขาได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์แล้วก็คงจะเลื่อมใส แต่คนที่สะสมความเห็นผิด ก็จะเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปอย่างไม่น่าที่จะเป็นไปได้เลย แม้ว่าจะเป็นพระภิกษุซึ่งติดตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง
ถ. อย่างปัจจุบันนี้ วัดในเมืองไทยมีตั้งมากมาย ผมเห็นแล้วน่าหนักใจที่สุด ผู้ที่ฟังผู้ที่ศึกษาก็มีน้อยเหลือเกิน
สุ. เพราะฉะนั้น ยิ่งเป็นความสำคัญที่จะต้องระวังความเห็นไม่ให้คล้อยไปในทางที่ผิด ถ้าสะสมปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นผิดคลาดเคลื่อนแล้ว ถึงแม้ว่าเป็นพระธรรมที่แจ่มแจ้งชัดเจน ก็ไม่ได้เข้าใจถูกตามควรแก่เหตุผล เพราะว่าสะสมความเห็นผิดที่จะเห็นผิดคลาดเคลื่อน และแม้จะคิดว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว สุนักขัตตะก็คงจะเกิดความเลื่อมใส แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นตามการสะสม ซึ่งเป็นความวิจิตรของแต่ละคน
ณ บัดนี้ สุนักขัตตะอยู่ที่ไหน ซึ่งถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ก็ยังจะต้องมีการเกิด แต่จะเกิดที่ใด ภพใด อย่างไรไม่ทราบ แต่ต้องเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะมีความเห็นผิด เพราะถึงแม้ว่าในครั้งที่ได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลังยังเห็นผิด จนกระทั่งกาลเวลาล่วงมาจนถึงสมัยนี้ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดได้มาก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720