แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
ครั้งที่ ๖๗๓
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว สุนักขัตตะได้กราบทูลแย้งต่อไปอีก ซึ่งมีแต่ความคิดเห็นที่ต่างกับความคิดเห็นที่ควรจะเป็น หรือเป็นความเห็นที่ถูก
สุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ แก่ข้าพระองค์เลย ฯ
ไม่พูดถึงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะยอมรับแล้วว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้น สุนักขัตตะได้กราบทูลต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่ข้าพระองค์เลย
สิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หมายความถึงเรื่องของโลกว่าเป็นมาอย่างไร เป็นที่สุดของความเห็น คือ เป็นการบัญญัติเรื่องโลกที่เข้าใจว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด
เรื่องโลกนี่เป็นเรื่องที่ทุกคนข้องใจ สงสัย ลังเล และมักจะคิดแต่เรื่องโลกอยู่เสมอว่า โลกนี้เป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และที่สุดของโลกเป็นอย่างไร
โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามสุนักขัตตะว่า สุนักขัตตะเคยมากราบทูลพระองค์ไหมว่า จะบวชจะอยู่อุทิศพระองค์เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่ตน หรือว่าพระองค์เคยชวนสุนักขัตตะให้มาอยู่อุทิศพระองค์ และพระองค์ก็จะบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่สุนักขัตตะหรือไม่
ซึ่งสุนักขัตตะก็กราบทูลว่า หาเป็นอย่างนั้นไม่
เพราะฉะนั้น ก็เป็นความผิดของสุนักขัตตะเท่านั้น เพราะว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงสัญญา ไม่ได้ทรงชวน หรือสุนักขัตตะเองก็ไม่ได้มากราบทูลว่า จะบวชจะอยู่อุทิศต่อพระองค์
ถ. ผมเคยคิดอยู่ในใจเหมือนกันว่า จะทำอย่างไรให้คนเลื่อมใสศรัทธาเกิดปัญญาความเข้าใจในคำสอนของพระผู้มีพระภาค ก็คิดว่า ต้องมีเหยื่อล่อ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อย่างเช่นโรงละครหรือโรงลิเก ก็มีเสียงกลองดังเชิญชวน คนก็ไปมุงดูว่า จะเล่นเรื่องอะไรกัน ซึ่งถ้าคนนั้นเขามีสัจธรรมจริงๆ มีความรู้จริงๆ เขาก็ให้ความรู้ที่ถูกไป ก็อาจจะช่วยเพิ่มจำนวนคนให้มีปัญญาที่ถูกต้องมากขึ้น ผมคิดอย่างนี้
สุ. ก็ยังดีที่สุนักขัตตะไม่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าอย่างนี้ ที่ว่าจะต้องมีเหยื่อล่อทางโน้นทางนี้ เพียงแต่ได้กราบทูลแย้งว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่ตน
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร
ดูกร สุนักขัตตะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือ เมื่อเราได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือมิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบหรือหาไม่ ฯ
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเน้นให้เห็นความสำคัญของพระธรรมที่แจ่มแจ้งที่สุด ที่เป็นสาระที่สุด ที่จะทำให้หมดความข้องใจสงสัยในเรื่องทั้งปวงได้ แทนที่จะแสดงเพียงการบัญญัติเรื่องโลกตามความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งบางคนก็ถือว่าความเห็นอย่างนี้ถูกที่สุด บางคนก็ถือว่าความเห็นอย่างอื่นถูกที่สุด และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ สุนักขัตตะก็มีปัญญาเพียงที่จะพิจารณาว่าควรจะตอบอย่างไรเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมโดยแจ่มแจ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงยังมีปัจจัยที่จะทำให้มีความคิดเห็นที่ผิดพลาดต่อไป แต่ก็มีปัญญาพอที่จะพิจารณาว่า คำตอบควรจะเป็นอย่างไร เพราะ สุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือมิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ฯ
ได้เพียงแค่เหตุผลว่า ธรรมที่ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ แต่เมื่อตนเองยังไม่เข้าถึงธรรม ยังไม่สิ้นทุกข์ ก็เป็นแต่เพียงคำพูดที่แสดงถึงเหตุผล แต่ว่าไม่ได้แสดงถึงการได้รับรสพระธรรมจริงๆ
ถ. (ฟังไม่ชัด)
สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น สุนักขัตตะจะอยู่แถวไหนก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือมิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบเช่นนี้ เธอจะปรารถนาการบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศไปทำไม ดูกร โมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น
สุนักขัตตะ เธอได้สรรเสริญเราที่วัชชีคามโดยปริยายมิใช่น้อยว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรม ดังนี้
เธอได้สรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามโดยปริยายมิใช่น้อยว่า พระธรรมอันพระ ผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้
และเธอได้สรรเสริญพระสงฆ์ที่วัชชีคามโดยปริยายมิใช่น้อยว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นั่นคือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรรับของบูชา เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นบุญเขตของชาวโลก ไม่มีเขตอื่นยิ่งกว่า ดังนี้
สุนักขัตตะ เราขอบอกเธอ เราขอเตือนเธอว่า จักมีผู้กล่าวติเตียนเธอว่า โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ดังนี้
ดูกร ภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ถึงแม้ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์อบาย เหมือนสัตว์นรก ฉะนั้น ฯ
เป็นไปได้ไหม ผู้ที่สรรเสริญพระรัตนตรัยอย่างมาก แต่เมื่อไม่ได้เข้าถึงพระธรรม ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ได้ประจักษ์แจ่มแจ้งในพระธรรม จึงเห็นผิด เข้าใจผิด พูดผิด กระทำผิดอย่างสุนักขัตตะ เป็นต้น
ถ. ถ้าได้ยินใครพูด ธรรมดาก็ต้องรู้แล้วว่า คนนั้นคนนี้เขาพูด และพูดเรื่องอะไร คือ หลังจากได้ยินแล้วก็รู้เรื่อง ทีนี้ถ้าจะละสักกายทิฏฐิ ก็ต้องรู้ว่า การได้ยินนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง การรู้เรื่องก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง การรู้แบบนี้โดยไม่ตรึก ก็เป็นความชำนาญของปุถุชนทั่วไป แต่เมื่อรู้แล้วจะทำอะไร ก็มักจะตรึก ขณะที่ตรึก ขณะนั้นก็ไม่ได้มีการสังเกต เมื่อไม่ได้มีการสังเกต ขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิหรือไม่
สุ. เวลาที่เกิดการยึดถือว่าเป็นเราเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะว่า โลภมูลจิตมี ๘ ดวง ๘ ประเภท ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง
เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบขณะของโลภมูลจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นว่าขณะไหนเป็นอย่างไร จะเป็นโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ตลอดไปได้ไหม หรือว่าจะเป็นแต่เพียงทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด
ปุถุชนมีโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง หรือทั้ง ๘ ประเภท ส่วนผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้น มีแต่โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดใดๆ เลยทั้งสิ้นเพียง ๔ ดวง หรือ ๔ ประเภท นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่เป็นปุถุชนกับผู้ที่เป็น พระอริยเจ้า
ถ. ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ กับอสังขาริกัง ยังไม่เข้าใจ
สุ. ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หมายความถึงเกิดพร้อมด้วยความเห็นผิด ถ้าเป็นอสังขาริกัง ก็คือ เกิดเอง ไม่ได้อาศัยการชักจูง เป็นจิตที่แรงกล้ากว่าจิตที่เป็น สสังขาริก
ถ. สติปัฏฐานทั้ง ๔ อกุศลจิตเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ขณะที่โทสมูลจิตเกิดขึ้น และรู้สึกตัวในขณะนั้น คือ รู้สึกตัวว่ากำลังโกรธ ขณะที่รู้ว่ากำลังโกรธ ขณะนั้นความโกรธก็ยังตั้งอยู่ ที่กล่าวว่า อกุศลจิตเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน หมายความว่าอกุศลจิตดับไปแล้ว กุศลจิตเกิดขึ้นทีหลัง หรืออย่างไร
สุ. แน่นอน เหมือนกับการเห็น กับการได้ยิน เป็นสภาพจิตคนละประเภท แต่ดูเหมือนกับว่า กำลังได้ยินในขณะที่กำลังเห็น
ถ. ก็ใช่ และจะแยกได้เมื่อไรว่านี่เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะดูคล้ายกับว่า โทสะก็กำลังปรากฏอยู่
สุ. โทสะปรากฏโดยสติไม่เกิดก็ได้ หรือว่าโดยกำลังศึกษา คือ รู้ในสภาพของโทสะว่าเป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นลักษณะหนึ่งเท่านั้นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะที่รู้อย่างนั้น ไม่ใช่โทสมูลจิต เป็นกุศลจิตที่เกิดพร้อมสติที่กำลังรู้ในลักษณะของโทสะ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สติเกิด ไม่ใช่หลับตาและพยายามนึกถึงการเห็น หรือศึกษาการเห็นโดยหลับตา ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีการระลึก ศึกษา รู้ว่าที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ที่กำลังเห็นนี่เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้เสียง
เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังได้ยินและเห็น ก็แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพที่ได้ยิน หรือว่าจะระลึกรู้สภาพที่เห็นก็ได้ สติเกิดพร้อมมหากุศลจิตที่กำลังระลึก ที่กำลังศึกษา ที่กำลังรู้ ไม่ใช่เห็น แต่เป็นการระลึกรู้ในการเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยิน สติเกิด ระลึกรู้ในอาการที่กำลังรู้เสียง หรือระลึกรู้เสียงที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่อาการรู้เสียง ไม่ใช่สภาพรู้เสียง ต้องกำลังมีลักษณะปรากฏให้รู้
แต่ขณะที่สติเกิดไม่ใช่อกุศล คนละขณะกัน เหมือนกับขณะเห็นเป็น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่มหากุศลจิต แต่มหากุศลจิตระลึก เกิดขึ้น รู้ในอาการเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้
ถ. เวลาที่โทสะเกิดแล้ว หลังจากนั้นมีสติระลึกได้ ขณะที่มีการระลึกได้นั้น ก็รู้สึกว่าค่อยยังชั่วขึ้นนิดหนึ่ง แต่ขณะนั้นสิ่งที่เกิดสลับขึ้นมาไม่ใช่เป็นแต่เพียงการระลึกได้อย่างเดียว ประเดี๋ยวเสียงก็แทรกเข้ามา การเห็นก็แทรกเข้ามา แต่ว่าขณะที่ไม่เจริญสติ ก็เสมือนว่าความโกรธนั้นยังคงอยู่ตั้งนาน ตั้งหลายชั่วโมง หรือครึ่งชั่วโมง อะไรทำนองนี้ ถึงจะลืมหายไปในเรื่องนี้ แต่ขณะที่เจริญสติแล้ว สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏต่อจากความโกรธนั้นก็มีหลายทวารด้วยกัน อาจจะมีเรื่องต่างๆ มาแทรก ความเคลื่อนไหว เรื่องตาเห็นรูป เรื่องหูได้ยินเสียง อะไรอย่างนี้ และความโกรธนั้นก็ค่อยๆ จางไป ประเดี๋ยวก็มาระลึกถึงความโกรธอีก ก็รู้สึกว่าค่อยเบาลง สภาพธรรมอย่างนี้ ระลึกอย่างนี้ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องไหม
สุ. สติเริ่มเกิด เริ่มระลึกรู้บ้าง แต่จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะชัด จนกว่าจะเพิ่มขึ้น ก็ต้องศึกษา ต้องระลึกรู้มากมายเหลือเกิน จนเป็นความรู้ชัดจริงๆ จนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง คือ เกิดขึ้นและดับไปทีละหนึ่งอย่าง ทีละอย่างเดียว
ถ. สมัยที่ยังไม่ได้เจริญสติ ถ้าโกรธก็ไม่มีความรู้ที่จะมาผ่อนคลาย แต่ก็หายได้เหมือนกันโดยไม่รู้ตัว
สุ. ตามเหตุตามปัจจัย
ถ. ขณะที่เจริญสติ ในระหว่างที่ความโกรธยังไม่หาย ก็มีสติรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง หรือทางการเคลื่อนไหว หรือมีอารมณ์อื่นมาแทรก อะไรทำนองนี้ ซึ่งความเป็นตัวตนก็ไม่ปรากฏในขณะนั้น
สุ. ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง ในชีวิต
ประจำวันแต่ละขณะผ่านไปไม่ได้เลย และจะเห็นได้ว่า สติจะค่อยๆ เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมนั้นบ้าง สภาพธรรมนี้บ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง แต่นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ทั่วจริงๆ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง ให้เกิดการละคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นตัวตน
ถ. เมื่อสัตว์ตายไป จะต้องไปพบยมบาล และยมบาลก็ต้องถามว่า เคยทำบุญอะไรมาบ้าง หรือเห็นคนเกิดไหม คนแก่ไหม คนตายไหม ขอถามว่า เมื่อสัตว์เดรัจฉานตายไป ยมบาลจะถามบ้างไหม จะพูดกันรู้เรื่องหรือเปล่า
สุ. ชีวิตที่กำลังอยู่ในโลกมนุษย์ ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่มีอะไรสงสัย ใช่ไหม แต่สงสัยในโลกอื่น
ถ. เป็นปัญหาที่คนอื่นถามผม และผมตอบไม่ได้
สุ. ใครจะตอบได้ ถึงตอบแล้ว เขาจะเชื่อไหม เพราะเขาก็ไม่เห็น ไม่เหมือนกับชีวิตในโลกนี้ซึ่งไม่สงสัย เพราะกำลังอยู่ในโลกนี้ แต่โลกอื่นทำอย่างไรที่จะให้เขาเชื่อได้จริงๆ โดยหมดความสงสัย แต่ถ้าเขาเกิดในโลกนั้นเมื่อไร ก็ประจักษ์แจ้งรู้จริงในโลกนั้นว่ามีสภาพอย่างนั้นๆ เขาก็หมดความสงสัยในโลกนั้น แต่ถ้าตราบใดยังไม่ได้อยู่ในโลกนั้น ก็ยังต้องมีการคิด มีความข้องใจสงสัยในโลกอื่น ซึ่งไม่มีใครสามารถทำให้ความสงสัยหรือความข้องใจเหล่านั้นหายไปได้ จนกว่าจะประจักษ์ โดยที่อยู่ในโลกนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็รอจนถึงเวลานั้น ก็จะหมดความสงสัย และถึงจะตอบอย่างไรก็ไม่ทำให้เขาหมดความสงสัยได้ เพราะเขาไม่เห็น
ถ. คนเรามีหลายชาติ หลายภาษา เมื่อตายไปแล้ว บางคนจะต้องผ่านยมบาล ยมบาลก็จะต้องถาม ขอถามว่า ยมบาลจะใช้ภาษาอะไรกับสัตว์นรกเหล่านั้น
สุ. ก็เหมือนกัน รอไว้จนถึงเวลานั้น เพราะถึงจะตอบอย่างไรก็ไม่หายสงสัย
ถ. ผมไม่สงสัย แต่คนอื่นเขาถามผม
สุ. คนอื่นหรือทุกคนที่สงสัย ถ้ายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ได้แต่เพียงคิดหรือคาดคะเนว่า โลกนั้นจะเป็นอย่างนั้นๆ แต่จะหมดความสงสัยจริงๆ ก็เมื่ออยู่ในโลกนั้น
ถ. ทุกคนที่ตายแล้ว จะต้องไปพบยมบาลเสมอไปหรือ
สุ. ก็จะหมดสงสัยเวลาที่อยู่ในโลกนั้น ถ้ายังไม่อยู่ในโลกนั้น ใครจะตอบอย่างไรก็ไม่หมดความสงสัย
ถ. ในพระสูตรสูตรหนึ่ง อาจารย์เคยนำมาเล่าเกี่ยวกับสัตว์นรก มียมบาลซักถามถึงเทวทูตทั้ง ๕
สุ. ตามที่ทรงแสดงไว้ ตามที่จะเข้าใจได้ แต่ไม่ใช่จะทำให้หมดความสงสัยได้ทุกประการ เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ ยังไม่ได้อยู่ในโลกนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720