แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675


    ครั้งที่ ๖๗๕


    ถ. ผมฟังอาจารย์มาหลายปี ได้เจริญวิปัสสนา และปรารถนาจะเจริญสมาธิ เคยนั่งกำหนดลมหายใจ แต่ส่วนมากจะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนามากกว่า สมถะไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ฟังอาจารย์บรรยายว่า ผู้ที่จะเจริญสมถะให้เข้าถึงฌาน ถ้าปราศจากสติปัญญาในวิปัสสนา ก็ยากที่จะเข้าถึงสมถะ

    สุ. ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เช่นเดียวกันกับถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานโดยถูกต้อง ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาโดยละเอียดจริงๆ ใครจะไปเจริญสมถภาวนาได้ นอกจากจะไปจดจ้องให้เป็นสมาธิแล้วไม่สงบ เพราะว่าขณะที่ต้องการจดจ้องไม่ใช่ความสงบ ขณะที่คิดว่ากำลังจดจ้องได้อยู่ที่เดียวและมีความยินดีพอใจ ขณะที่ยินดีพอใจก็ไม่สงบ ขณะที่มีคนมารบกวนทำให้ไม่สามารถจดจ้องได้อยู่ที่อารมณ์เดียว เกิดโทสะ ก็ไม่สงบ เพราะฉะนั้น คนนั้นไม่ได้อบรมเจริญความสงบเลย ซึ่งความสงบจริงๆ ไม่ว่าจะกระทบกับอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็สงบ ไม่เป็นโทสะ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่ายินดีที่พอใจ ก็สงบ ไม่เป็นโลภะ

    ถ. ที่อาจารย์พูดอย่างนี้ ผมเห็นว่า นี่เป็นสติปัฏฐานโดยตรง เป็นปัญญาโดยตรงที่รู้ในลักษณะ แต่คนที่ไม่รู้อย่างนี้เขาก็นั่งกำหนดลมหายใจ อาจารย์เขาให้อารมณ์อะไรมา ก็ทำไปอย่างนั้นเรื่อยๆ แต่จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

    สุ. ก็ไม่สงบเลยตลอดเวลานั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องรู้ลักษณะสภาพของความสงบจึงจะเจริญความสงบได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพความสงบของจิต เจริญสมถภาวนาหรือความสงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาลักษณะของอารมณ์ของสมถภาวนาโดยละเอียดจะเข้าใจจริงๆ ว่า เพราะเหตุใดอารมณ์นั้นจึงเป็นปัจจัยให้จิตสงบ และที่จะสงบได้ ปัญญาจะต้องเกิด รู้ในเหตุผลของอารมณ์นั้นว่า อารมณ์นั้นเป็นปัจจัยในขณะนั้นหรือเปล่า

    เช่น ในขณะนี้ ถ้าใครจะระลึกที่ลมหายใจ สงบไหม หรือว่าเพียงอยาก ต้องการที่จะให้จดจ้องอยู่ที่นั่น ถ้าอยากก็ไม่สงบแน่ เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่ สมถภาวนา

    การเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่วิปัสสนาแล้ว ก็เป็นสมถภาวนาทั้งหมด ไม่ใช่เช่นนั้นเลย แต่เป็นอกุศลสมาธิ เพราะว่าไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา และถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพียงขั้นการเจริญสมถภาวนาก็ยังสามารถรู้ลักษณะความสงบของจิตได้ แต่ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ได้เข้าไปถึงลักษณะสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของแม้ความสงบที่ปรากฏในขณะนั้น

    เหมือนอย่างความโกรธ ทุกคนรู้จักดีใช่ไหม จึงไม่ชอบเลย และยึดถือความโกรธนั้นว่าเป็นเราโกรธ แต่ถ้าเป็นความสงบจริงๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเจริญเมตตา เป็นผู้ที่มีปกติสงบด้วยเมตตา ในขณะนั้น ผู้นั้นรู้ลักษณะความเมตตาที่เกิดกับจิตซึ่งเป็นความสงบ แต่ก็ยังยึดถือว่าเป็นเราที่สงบ ที่มีเมตตา เพราะเหตุว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญสมถภาวนากัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใดก็ตาม จะต้องมีปัญญาเข้าใจในเหตุผลของอารมณ์นั้น พร้อมทั้งรู้สภาพของจิตที่กำลังมีอารมณ์นั้นว่า สงบหรือเปล่า

    คน ๒ คนมีลมหายใจเป็นอารมณ์ คนหนึ่งอยากจะจดจ้องที่ลมหายใจ แต่อีกคนหนึ่งรู้ว่าเพราะเหตุใดจึงสงบเมื่อระลึกที่ลมหายใจ และรู้ลักษณะขณะที่กำลังสงบ ในขณะที่กำลังระลึกที่ลมหายใจด้วย ต่างกับคนที่กำลังจ้องต้องการที่จะให้จิตอยู่ที่ลมหายใจโดยที่ไม่ได้ศึกษา ไม่รู้ในลักษณะความสงบของจิตเลย เพราะฉะนั้น ผลย่อมต่างกัน

    ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ศึกษา ไม่รู้ลักษณะของความสงบของจิต จิตก็ย่อมไม่สงบ เพราะฉะนั้น จึงมีนิมิตประหลาดๆ ซึ่งไม่ใช่นิมิตของอานาปานสติสมาธิ จะเป็นการเจริญสมถภาวนาได้อย่างไร ในเมื่อผลปรากฏ คือ นิมิตประหลาดต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ความสงบ ถ้าจะเห็นนรกหรือสวรรค์ โลภะ หรือโทสะในขณะนั้น สงบหรือเปล่าขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่นิมิตของอานาปานสติสมาธิที่เป็นการเจริญสมถภาวนาเลย

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจจะเป็นการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่เลย แต่เป็นอกุศลสมาธิ เพราะความไม่สงบของจิต เพราะความไม่รู้ในขณะนั้นว่า เป็นลักษณะของความต้องการ ไม่ใช่สงบ

    ขณะใดที่เกิดความต้องการที่จะจดจ้อง ที่ต้องการนั้นสงบหรือเปล่า ก็ยังไม่ทราบเลยว่าไม่สงบ เพราะฉะนั้นผลคืออะไร ไม่ใช่นิมิตของอานาปานสติสมาธิที่เป็นการเจริญสมถภาวนาแน่นอน แต่กลับยึดถือว่า ขณะใดที่ไม่มีโทสมูลจิต ขณะนั้นเข้าใจว่าสงบ

    ถ. อานาปานสติที่จะเป็นอารมณ์ของสมาธิ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง

    สุ. อารมณ์ของสมถภาวนาทั้งหมด ต้องทำให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขอกล่าวถึงอารมณ์อื่นที่อาจจะเข้าใจได้ชัดเจนก่อน และจะกล่าวถึงอานาปานสติทีหลัง

    เวลาที่เห็นคนตาย สงบหรือกลัว ใครบอกได้ สภาพของจิตของแต่ละคน ก็ต่างกัน ถ้าตกใจกลัว คนนั้นจะกล่าวว่ากำลังเจริญสมถภาวนาได้ไหม เพราะว่าเห็นซากศพ หรือคนตายด้วยกัน คนหนึ่งเห็นแล้วกลัว ขณะนั้นก็ไม่มีปัญญา ไม่รู้อะไรเลย จิตไม่สงบเลย เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ แต่อีกคนหนึ่งสงบได้ เห็นความจริง เห็นสภาพธรรมซึ่งไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ทุกสิ่งซึ่งเป็นที่หวงแหน ซึ่งเป็นที่ยึดมั่น ซึ่งเป็นที่ปรารถนาต้องการ หมดสิ้นหมดเมื่อถึงความตาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องการทั้งหมด เท่าไรก็ไม่พอในชีวิต โลกทั้งโลกก็ยังไม่พอ โดยลืมคิดถึงความตาย ลืมว่า ตัวเราเองก็จะเป็นอย่างนั้น

    ขณะใดที่เพลิดเพลิน ก็หลงลืมไปด้วยโลภะ ด้วยความเมาในชีวิต ด้วยความเมาในลาภ ในสุข ในยศ ในสรรเสริญ ในผิวพรรณวรรณะต่างๆ ในความเป็นตัวตน ในความเป็นของเรา แต่ถ้ามีปัญญาที่รู้ว่า ทุกคนจะไม่พ้นจากสภาพที่กำลังเห็นนั้นได้ คือ ซากศพซึ่งเป็นอสุภะ แทนที่จะเกิดความกลัว ก็จะเกิดความสงบจากโลภะ โทสะ และต้องมีปัญญาที่จะสังเกตรู้ว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่ บางคนกล่าวว่า เห็นหัวกะโหลกทีไรก็ไม่สงบสักที เมื่อจิตไม่สงบ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่สงบ

    แต่วันไหน เมื่อไรที่มีโยนิโสมนสิการแล้วสงบ ก็จะเข้าใจว่า สภาพความสงบของจิตเป็นอย่างไร จึงใช้อารมณ์นั้นเป็นเครื่องระลึกเพื่อที่จะให้จิตสงบ และระลึกถึงอารมณ์นั้นเพื่อที่จะให้เกิดความมั่นคงของความสงบยิ่งขึ้น

    แต่ความมั่นคงที่ใช้คำว่า สมาธิ ต้องไม่ปราศจากความสงบ ไม่ใช่ว่ามุ่งไปที่สมาธิโดยลืมความสงบ ความสงบจะมีหรือไม่มีไม่สนใจเลย ขอให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิเท่านั้น นั่นเป็นโลภะ โทสะได้ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาโดยละเอียด แม้แต่เรื่องของการเจริญสมถภาวนา

    ที่ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเจริญสมถะจนกระทั่งได้เป็นฌานจิต คล้ายๆ กับว่าจะขอคำแนะนำถึงวิธีปฏิบัติที่จะอบรมสมถภาวนาโดยระลึกรู้ที่ลมหายใจ หรือที่ไหนก็ได้จนกว่าจะเป็นฌานจิตขึ้นมา แต่ถ้าขณะนี้จิตไม่สงบ เจริญไม่ได้ อย่าไปหวังที่จะถึงฌานจิต นั่นแสนไกล

    โลกุตตรจิตจะเกิดก็แสนยาก สมถะหรือความสงบของจิตจะมั่นคงจนถึงฌานจิตก็ยากเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าไปหวังว่า ในชาตินี้ฌานจิตจะเกิด เพียงแต่จะอ่านตำราและดูวิธีว่า ให้จิตจดจ้องที่อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ และก็จะเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่อบรมเจริญความสงบในขณะนี้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งเป็นพื้นฐานที่จะสามารถให้จิตสงบได้ ด้วยความชำนาญทีเดียว ในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยให้ความสงบมั่นคงขึ้น

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ทำไมสงสัยเขา เรื่องของคนอื่น ต้องมีเหตุมีผล ถ้าเขาจะติดต่อกันได้ เพราะเขามีปัญญารู้สภาพความสงบของจิต รู้การที่จะให้ความสงบเพิ่มขึ้นๆ แต่ตราบใดที่ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ฤๅษีชีไพรไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการอบรมความสงบของจิต แต่ไม่รู้ว่าความสงบนั้นไม่ใช่ตัวตน เหมือนกับรู้ว่าโทสะมีลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ความสงบซึ่งปราศจากโทสะ โลภะ พร้อมด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะของความสงบนี้มีได้ เจริญได้ แต่เมื่อไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่มีการดับกิเลส ไม่รู้ว่าความสงบนั้นไม่ใช่ตัวตน

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรมแล้ว สาวกผู้บรรลุธรรมเป็น พระอริยเจ้า ไม่ใช่ว่าโดยปราศจากความสงบ หรือปราศจากสมาธิ แต่สมาธินั้นประกอบด้วยความสงบพร้อมด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นความมั่นคงของจิตที่สงบในขั้นของสมถภาวนาที่ยังยึดถือว่าความสงบนั้นเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้เจริญสมถภาวนาจนถึงขั้นฌาน แต่เป็นผู้ที่สามารถรู้ลักษณะความสงบของจิตขณะที่ให้ทาน ขณะที่วิรัติทุจริต ขณะที่ฟังธรรม ขณะที่เข้าใจธรรม ขณะที่สติเกิด ขณะที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และสามารถรู้ลักษณะของความสงบว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ไม่ได้เจริญจนกระทั่งถึงฌานจิต เพราะว่าเป็น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    แต่คนที่ไม่มีปัญญา ไม่ได้พิจารณา ไม่รู้ลักษณะของความสงบ ถึงจะทำสมาธิ ก็ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะจิตไม่สงบ

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาฏิกสูตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้ปริพาชกชื่อภัคควโคตรฟังถึงการที่สุนักขัตตะได้สรรเสริญพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอันมาก แต่ถึงกระนั้นก็ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์อบาย เหมือนสัตว์นรก ฉะนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภัคควะ สมัยหนึ่งเราอยู่ที่นิคมแห่งชาวถูลู ชื่ออุตตรกา ในถูลูชนบท ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร มีโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปบิณฑบาตที่อุตตรกานิคม สมัยนั้นมีอเจลกคนหนึ่ง ชื่อ โกรักขัตติยะ ประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก ดูกร ภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เห็นแล้วจึงคิดว่า เขาเป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง ครั้งนั้นเราได้ทราบความคิดในใจของโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะด้วยใจแล้ว จึงกล่าวกะเขาว่า ดูกร โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนว่า เป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ

    เป็นไปได้ไหมที่จะมีความคิดความเข้าใจอย่างนี้ เวลาที่เห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีความประพฤติอย่างสุนัข คือ เดินด้วยข้อศอกและเข่า เวลาจะไปไหนไม่เดินอย่างปกติธรรมดา แต่ทำอาการกิริยาอย่างสุนัข คือ เดินด้วยข้อศอกและเข่า แม้แต่อาหารก็ไม่ใช้มือหยิบ แต่กินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก ซึ่งสุนักขัตตะคิดว่า ผู้นี้เป็น พระอรหันต์ เป็นสมณอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง ถ้าไม่เคยสะสมความเข้าใจผิดมาก็คงจะไม่คิดอย่างนี้ คิดว่าทำอย่างนั้นจะหมดกิเลส เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำอย่างนั้นได้ ก็คงจะเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อโอรสเจ้าลิจฉวีคิดอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดในใจของเขา จึงได้กล่าวกะเขาว่า ดูกร โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนว่า เป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ คือ คนที่เห็นผิดอย่างนี้ ยังคิดว่าตัวเองเป็นศากยบุตร เป็นผู้ที่ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ

    แต่โอรสเจ้าลิจฉวีก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาผิดอย่างไร จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกร โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนว่าเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร สุนักขัตตะ เธอได้เห็นโกรักขัตติยอเจลกคนนี้ ซึ่งประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก แล้วเธอจึงได้คิดต่อไปว่า เขาเป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง มิใช่หรือ ฯ

    พวกอเจลกะเป็นพวกที่ไม่ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเลย และสำหรับโกรักขัตติยอเจลกะก็ยังมีความประพฤติที่มากกว่าอเจลกะอื่น คือ นอนก็นอนข้างกองไฟ ภาชนะจะใส่อาหารก็ไม่มี ทำให้สุนักขัตตะเข้าใจว่า ผู้นี้ต้องหมดกิเลสแน่นอน เพราะว่าไม่มีแม้แต่ภาชนะที่ใส่อาหาร และใช้ปากคาบเอาอาหารที่กองอยู่ที่พื้นดินเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ดูเหมือนเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส เพราะไม่ใช้ทั้งภาชนะใดๆ เลย

    สุนักขัตตะก็ยังไม่เข้าใจว่าตัวเองเห็นผิด จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคยังทรงหวงพระอรหันต์อยู่หรือ ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะให้คนอื่นได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับทุกข์ทั้งสิ้นได้เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวงได้ แต่แม้กระนั้นสุนักขัตตะก็ยังเข้าใจว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคยังหวงพระอรหันต์อยู่หรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร โมฆบุรุษ เรามิได้หวงพระอรหันต์ แต่ว่าเธอได้เกิดทิฏฐิลามกขึ้น เธอจงละมันเสีย ทิฏฐิลามกนั้นอย่าได้มีแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

    อนึ่ง เธอย่อมเข้าใจโกรักขัตติยอเจลกว่า เป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง อีก ๗ วัน เขาจักตายด้วยโรคอลสกะ (คือ บริโภคอาหารมากไปจนไม่ย่อย) ครั้นแล้วจักบังเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกาซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และจักถูกเขานำไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ และเมื่อเธอประสงค์อยู่ พึงเข้าไปถามโกรักขัตติยอเจลกว่าดูกร โกรักขัตติยะผู้มีอายุ ท่านย่อมทราบคติของตนหรือ ข้อที่โกรักขัตติยอเจลกพึงตอบเธอว่า ดูกร สุนักขัตตะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือ ข้าพเจ้าไปเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกาซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง ดังนี้ เป็นฐานะที่มีได้

    พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ถึง ๕ ประการ คือ ข้อที่ ๑ อีก ๗ วันจะตาย ข้อที่ ๒ จะตายเพราะโรคอลสกะ ข้อที่ ๓ จะเกิดเป็นอสูรพวกกาลกัญชิกา ข้อที่ ๔ ซากศพจะถูกนำไปทิ้งที่ป่าช้าวีรณัตถัมภกะ ข้อที่ ๕ เมื่อสุนักขัตตะไปถาม โกรักขัตติยอเจลกะเพราะความอยากจะทราบว่าไปเกิดที่นั่นจริงหรือเปล่า โกรักขัตติยอเจลกะก็จะพึงตอบว่า ดูกร สุนักขัตตะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือ ข้าพเจ้าไปเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกาซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564