แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
ครั้งที่ ๖๗๖
ต่อจากนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะก็ได้เข้าไปหาโกรักขัตติยอเจลกะ เล่าเรื่องทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ให้โกรักขัตติยอเจลกะฟัง และ ยังได้กล่าวกับโกรักขัตติยอเจลกะว่า ฉะนั้น ท่านจงกินอาหารและดื่มน้ำแต่พอสมควร จงให้คำพูดของพระสมณโคดมเป็นผิด
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้นับวันตั้งแต่วันที่ ๑ ที่ ๒ ตลอดไปจนครบ ๗ วัน เพราะเขาไม่เชื่อต่อพระตถาคต ครั้งนั้นโกรักขัตติยอเจลกได้ตายด้วยโรค อลสกะในวันที่ ๗
ข้อความในอรรถกาอธิบายว่า ก่อนนั้นเขานอนอดอาหารอยู่ที่ข้างเตาไฟถึง ๗ วัน แต่ว่าในวันที่ ๗ อุปัฏฐากของเขาเห็นเขาหายไป ไม่ได้มาบริโภคอาหารที่บ้าน ๗ วันแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ปิ้งเนื้อหมูไปให้ วางไว้บนพื้นดินตรงหน้า โกรักขัตติยะก็คิดว่า คำพูดของพระผู้มีพระภาคจะจริงหรือไม่ก็ตาม ถ้าตายด้วยความอิ่มหนำสำราญก็เป็นการดี ก็เลยลุกขึ้นคุกเข่าทั้งสอง คู้ศอกทั้งสองลงกับพื้นดิน และก็กินอาหารจนเต็มท้อง ตอนกลางคืนอาหารไม่ย่อย เขาก็เลยสิ้นชีวิตในคืนนั้น
แล้วได้ไปบังเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกาซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และถูกเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ
พวกเดียรถีย์ปรารถนาที่จะให้คำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคไม่เป็นจริงทั้งหมด จึงเอาเถาวัลย์ผูกศพของโกรักขัตติยะลากไป เพื่อที่จะเอาศพไปทิ้งที่อื่น แต่ว่าทางที่ลากศพไปนั้นเป็นที่ลาดที่เนิน พอลากไปถึงป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ เถาวัลย์ก็ขาด ไม่สามารถลากศพออกจากที่นั้นได้ เมื่อจนใจก็เลยพากันทิ้งศพหนีไป เพราะฉะนั้น ซากศพของเขาก็ถูกทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ ตามที่ทรงพยากรณ์ไว้
ข้อความต่อไปมีว่า
โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้ทราบข่าวว่า โกรักขัตติยอเจลกได้ตายด้วย โรคอลสกะ ได้ถูกเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาศพ โกรักขัตติยอเจลกที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ แล้วจึงเอามือตบซากศพเขาถึง ๓ ครั้ง แล้วถามว่า ดูกร โกรักขัตติยะ ท่านทราบคติของตนหรือ
ครั้งนั้น ซากศพโกรักขัตติยอเจลกได้ลุกขึ้นยืน พลางเอามือลูบหลังตนเองตอบว่า ดูกร สุนักขัตตะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือ ข้าพเจ้าไปบังเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกาซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง ดังนี้ แล้วล้มลงนอนหงายอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ดูกร ภัคควะ ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้นได้มีแล้วเหมือนดังที่เราได้พยากรณ์โกรักขัตติยอเจลกไว้แก่เธอ มิใช่โดยประการอื่น ฯ
สุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากนั้นได้มีแล้วเหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์โกรักขัตติยอเจลกไว้แก่ข้าพระองค์ มิใช่โดยประการอื่น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนสติสุนักขัตตะต่อไปว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงไว้แล้วมิใช่หรือ
สุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอันทรงแสดงไว้แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดงไว้ ก็หาไม่ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร โมฆบุรุษ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอยังจะกล่าวกะเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้ ดูกร โมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น
ดูกร ภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น ฯ
แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่คนที่จะไม่เชื่อ อย่างไรก็ยังไม่เชื่อ แม้แต่สุนักขัตตะก็ยังพูดว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความผิดของสุนักขัตตะเท่านั้นที่มีความเห็นผิดต่างๆ
ถ. สุนักขัตตะไปตบศพเข้า ๓ ที ก็ลุกขึ้นมา ถ้าเราไปตบศพคนอื่นเข้า ๓ ที จะลุกขึ้นมาหรือเปล่า
สุ. ลองไหม
ถ. ถ้าเป็นจริงก็อยากจะลอง
สุ. พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ทุกศพ แต่ถ้าทรงพยากรณ์ศพไหน ต้องเป็นคำจริงตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสคำที่ไม่จริง และคำจริงที่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ถ. หมายความว่า ศพที่จะลุกมาได้ ก็เฉพาะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วเท่านั้น และศพนั้นก็มาพิสูจน์ความจริงให้กับสุนักขัตตะเท่านั้นหรือ
สุ. การที่ซากศพลุกขึ้นตอบคำถามของสุนักขัตตะก็ด้วยพุทธานุภาพ ทรงรู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมทุกอย่าง แต่บุคคลธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะเข้าใจถึงเหตุปัจจัยนั้นๆ ได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ก็ไม่มีใครทราบว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นอย่างนั้นได้จริง แต่เพราะว่าทรงทราบเหตุปัจจัยของสภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ตามเหตุตามปัจจัย จึงทรงพยากรณ์อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สำหรับทุกศพ แต่ว่าสิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ ก็เป็นอย่างนั้น
ถ. สมัยนี้มีวิธีทำให้ศพลุกขึ้นมา ซึ่งผมก็ไม่เคยเห็น แต่ได้ยินเขาเล่า ที่จะทำให้ศพลุกขึ้นมาเพื่อจะขอหวย
สุ. โกรักขัตติยอเจลกะถึงแม้ว่าจะไปเกิดเป็นอสูรแล้ว สามารถที่จะกระทำรูปให้เกิดขึ้นเป็นการลุกขึ้นยืนในขณะนั้นก็ได้ ถ้ามีกำลัง หรือมีเหตุมีปัจจัย มีสมาธิ มีความสามารถที่จะทำได้ ก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก
ถ. ผมเคยได้ยินมา เขาเรียกว่าอจินไตย นี้เป็นพุทธวิสัย เราไม่ควรคิด ถ้าเราคิดจะเป็นบ้า
สุ. อีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงพยากรณ์อย่างนี้ ก็ควรที่ สุนักขัตตะจะเลื่อมใสเห็นในอิทธิปาฏิหาริย์ เห็นในพระคุณสูงสุดของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผู้ที่สะสมความเห็นผิดมา ก็ยังคงมีความเห็นผิดต่อไป เช่น อีกเรื่องหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้ปริพาชกภัคควโคตรฟัง มีข้อความว่า
ดูกร ภัคควะ สมัยหนึ่งเราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลีสมัยนั้น อเจลกคนหนึ่งชื่อกฬารมัชฌกะ อาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตเมืองเวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขาได้ยึดถือสมาทานข้อวัตรทั้ง ๗ คือ
๑. เราพึงเปลือยกาย ไม่นุ่งห่มผ้าตลอดชีวิต ฯ
๒. เราพึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนธรรมตลอดชีวิต ฯ
๓. เราพึงเลี้ยงชีวิตด้วยการดื่มสุราและกินเนื้อสัตว์ ไม่กินข้าวและขนมตลอดชีวิต ฯ
๔. เราพึงไม่ล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศบูรพาแห่งเมืองเวสาลี ฯ
๕. เราพึงไม่ล่วงเกินโคตมเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศทักษิณแห่งเมืองเวสาลี ฯ
๖. เราพึงไม่ล่วงเกินสัตตัมพเจดีย์ ซึ่งอยู่ที่ทิศประจิมแห่งเมืองเวสาลี ฯ
๗. เราพึงไม่ล่วงเกินพหุปุตตกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศอุดรแห่งเมืองเวสาลี ฯ
เพราะการสมาทานข้อวัตรทั้ง ๗ นี้ เขาจึงเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศอยู่ที่ วัชชีคาม ครั้งนั้นโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้าไปหาอเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ แล้วถามปัญหากะเขา เขาไม่สามารถแก้ปัญหาของโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ โทสะและความโทมนัสให้ปรากฏ
ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้คิดว่า ตนได้รุกรานสมณะผู้เป็น พระอรหันต์ที่ดี ข้อนั้นอย่าได้มีแก่เรา เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
เป็นความเห็นผิดไหม จนกระทั่งถามแล้วตอบไม่ได้ ก็แสดงความโกรธ ความโทมนัส ความเสียใจ โทสะให้ปรากฏ แต่คนที่เห็นก็ยังคิดว่า คนนี้เป็นพระอรหันต์ที่ดี เราไม่ควรที่จะทำให้เขาเกิดความขุ่นเคืองใจ พระอรหันต์จะยังโกรธไหม แต่คนที่ไม่รู้ก็เข้าใจว่าคนนั้นเป็นพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่ไม่สามารถแสดงธรรมให้แจ่มแจ้ง และกลับเห็นว่าเป็นความผิดของตนเองที่ไปทำให้พระอรหันต์โกรธ
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าต่อไปว่า
ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า ดูกร โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ
สุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกร โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เธอได้เข้าไปหาอเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ แล้วถามปัญหากะเขา เขาไม่สามารถแก้ปัญหาของเธอให้ถูกต้องได้ จึงได้แสดงความโกรธ โทสะและความโทมนัสให้ปรากฏ เธอจึงได้คิดว่า ตนได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ที่ดี ข้อนั้นอย่าได้มีแก่เรา เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ดังนี้ มิใช่หรือ ฯ
ซึ่งสุนักขัตตะก็ยังไม่เข้าใจถูก กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงหวง พระอรหันต์อยู่หรือ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร โมฆบุรุษ เรามิได้หวงพระอรหันต์ แต่ว่าเธอได้เกิดทิฏฐิลามก เธอจงละมันเสีย ทิฏฐิอันลามกนี้อย่าได้เกิดแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
อนึ่ง เธอย่อมเข้าใจอเจลกชื่อกฬารมัชฌกะว่า เป็นสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง ต่อไปไม่นานเขาจักกลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไป
ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง และสุนักขัตตะก็ได้ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับสุนักขัตตะว่า
สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้นได้มีแล้วเหมือนดังที่เราได้พยากรณ์อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะไว้แก่เธอ มิใช่โดยประการอื่น ฯ
ซึ่งสุนักขัตตะก็ยอมรับ และพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงไว้แล้วหรือมิใช่ ฯ
ซึ่งสุนักขัตตะก็ยอมรับ แต่ไม่ยอมเปลี่ยนใจที่จะนับถือและเลื่อมใสพระผู้มีพระภาคในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าให้ปริพาชกชื่อภัคควโคตรฟังอีกเรื่องหนึ่ง
ข้อความมีว่า
ดูกร ภัคควะ สมัยหนึ่งเราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลีนั้นเอง สมัยนั้น อเจลกชื่อปาฏิกบุตร อาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตเมืองเวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขากล่าววาจาในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า
แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จไปกึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าสมณโคดมจักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราก็จักกระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ
เมื่อโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะทราบข่าวนั้น ก็มากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้ปริพาชกภัคควโคตรฟังต่อไปว่า
เมื่อโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะกล่าวอย่างนี้ เราได้กล่าวกะเขาว่า สุนักขัตตะอเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฏฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฏฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ฯ
เมื่อสุนักขัตตะได้ทราบอย่างนี้ กลับกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้น ขอ พระสุคตจงทรงรักษาพระวาจานั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร สุนักขัตตะ ก็ไฉนเธอจึงกล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้น ขอพระสุคตจงทรงรักษาพระวาจานั้น ฯ
สุนักขัตตะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสวาจาโดยแน่นอนว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฏฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฏฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อเจลกชื่อปาฏิกบุตรอาจแปลงรูปมาพบเห็นพระผู้มีพระภาคก็ได้ ในคราวนั้น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคก็พึงเป็นมุสา ฯ
ยังอุตส่าห์คิดว่า จะมีคนอื่นเก่งกว่าพระผู้มีพระภาคจนถึงกับจะแปลงรูปมาพบกับพระผู้มีพระภาคได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเตือนสุนักขัตตะว่า
ดูกร สุนักขัตตะ ตถาคตเคยกล่าววาจาที่เป็น ๒ ไว้บ้างหรือ ฯ
เพื่อให้สุนักขัตตะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกประการที่ตรัส ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น แต่สุนักขัตตะยังไม่สิ้นความสงสัย กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ที่พระองค์ทรงทราบอย่างนั้น ทรงทราบด้วยพระทัยของพระองค์เอง คือ ด้วยพระปัญญาของพระองค์ หรือว่าเพราะเทวดามาทูลความนั้นแด่พระองค์
เป็นไปได้ไหมที่จะไม่เลื่อมใสถึงอย่างนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า พระองค์ทรงทราบด้วยพระองค์เอง และตรัสกับสุนักขัตตะต่อไปว่า
แม้เสนาบดีแห่งเจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะ ซึ่งได้ตายไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าถึงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ก็ได้เข้ามาบอกเราอย่างนี้ว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเป็นคนไม่ละอาย ชอบกล่าวมุสา ทั้งได้พยากรณ์ข้าพระองค์ว่า เสนาบดีแห่งเจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะ ในวัชชีคาม เข้าถึงมหานรก แต่ข้าพระองค์มิได้เข้าถึงมหานรก ได้เข้าถึงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720