แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
ครั้งที่ ๖๗๗
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสกับสุนักขัตตะว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เรานี้แลเที่ยวไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วเข้าไปยังอารามของอเจลกชื่อปาฏิกบุตรเพื่อพักผ่อนกลางวัน บัดนี้ ถ้าเธอปรารถนา ก็จงไปบอกเขาเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จไปที่กึ่งทาง แต่ไปจนถึงสำนักของอเจลกะชื่อ ปาฎิกบุตร และก็จะทรงพักผ่อนกลางวันที่นั่น ให้สุนักขัตตะไปบอกอเจลกะมาแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกับพระองค์ ตามที่เขาได้กล่าวไว้แล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าให้ปริพาชกภัคควโคตรฟังต่อไปว่า
ดูกร ภัคควะ ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วเข้าไปยังอาราม ของอเจลกชื่อปาฏิกบุตรเพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะรีบเข้าไปเมืองเวสาลี แล้วเข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีที่มีชื่อเสียงบอกว่า ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลา ปัจฉาภัต แล้วเสด็จเข้าไปยังอารามของอเจลกชื่อปาฏิกบุตรเพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ของพวกสมณะที่ดี ฯ
ต่อจากนั้น สุนักขัตตะก็ได้เข้าไปหาพวกพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง และได้บอกให้บริษัทเหล่านั้นรีบไปดูการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ของพวกสมณะที่ดี
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้เข้าไปยังอารามของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร ดูกร ภัคควะ บริษัทนั้นๆ มีหลายร้อย หลายพันคน ฯ
อเจลกชื่อปาฏิกบุตรได้ทราบข่าวว่า บรรดาเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้พากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ทรงนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของเรา ครั้นแล้วจึงเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ครั้งนั้น อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อกลัว หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า จึงเข้าไปยังอารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ บริษัทนั้นได้ทราบข่าวว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตรกลัว หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า เข้าไปยังอารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ ฯ
ครั้งนั้น บริษัทนั้นได้เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปหา อเจลกชื่อปาฏิกบุตรที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ แล้วจงบอกกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป
เพราะว่าใครๆ ก็มาคอยดูกันอยู่มาก ซึ่งบุรุษนั้นรับคำสั่งนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาอเจลกชื่อปาฏิกบุตรที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ และได้บอกให้ปาฏิกบุตรกลับไปที่อารามของตน เพื่อที่จะได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามที่เคยกล่าวไว้
เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว อเจลกชื่อปาฏิกบุตรจึงกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ ฯ
แม้จนถึงที่สุดก็ไม่กล่าวว่า จักไม่ไป แต่กล่าวว่า เราจะไปๆ แต่ทั้งๆ ที่พูดอย่างนั้น ก็ยังซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้
ครั้งนั้น บุรุษนั้นได้กล่าวกะเขาว่า ท่านปาฏิกบุตร ไฉนท่านจึงเป็นอย่างนี้ ตะโพกของท่านติดกับที่นั่ง หรือว่าที่นั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า เราจะ ไปๆ แต่กลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้
บุรุษนั้นจึงกลับมาหาบริษัทนั้น แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้วก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ ฯ
ก็ยังไม่หมดความพยายามกัน ที่จะให้ปาฏิกบุตรอเจลกะมาที่อารามของตน เพื่อที่จะให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้น เมื่อบุรุษนั้นกลับมาโดยที่ปาฏิกบุตรอเจลกะไม่ได้กลับมาด้วย มหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีคนหนึ่งก็ได้ลุกขึ้นยืนกล่าวกับบริษัทนั้นว่า
ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอให้พวกท่านจงรอคอยสักครู่หนึ่ง พอให้ข้าพเจ้าไปบางทีข้าพเจ้าอาจนำเอาอเจลกชื่อปาฏิกบุตรมาสู่บริษัทนี้ได้
ไม่ละความพยายาม เมื่อเห็นว่าส่งคนหนึ่งไปแล้วไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น มหาอำมาตย์ท่านหนึ่งก็คิดว่า ถ้าท่านไปเองก็คงจะเอาตัวของอเจลกปาฏิกบุตรมาได้ ซึ่งเมื่อมหาอำมาตย์นั้นไป ก็ได้กล่าวกับอเจลกปาฏิกบุตรถึงข้อความที่อเจลกะเคยคิดที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกับพระผู้มีพระภาค และได้กล่าวกับอเจลกะปาฏิกบุตรว่า
ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป ด้วยการกลับไปนั่นแหละ พวกข้าพเจ้าจักให้ชัยชนะแก่ท่าน จักให้ความปราชัยแก่พระสมณโคดม
เมื่อมหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีกล่าวแล้วอย่างนี้ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรจึงกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้
มหาอำมาตย์ก็ได้กลับไปหาบริษัทที่กำลังรอคอยอยู่ และได้เล่าให้ฟัง ซึ่งเมื่อมหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีกล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ถ้าอเจลกปาฏิกบุตรไม่ละความเห็นผิดอย่างนั้น ย่อมไม่สามารถที่จะมาพบพระองค์ได้ และถ้าเขาคิดว่าเขาสามารถจะมาได้โดยที่ไม่ละความเห็นผิด ศีรษะของเขาก็จะพึงแตกออก หรือถึงแม้ว่าพวกเจ้าลิจฉวีจะช่วยกันเอาเชือกมัดอเจลกปาฏิกบุตร และเอาโคคู่มากคู่มาลากมาฉุด เชือกเหล่านั้นหรืออเจลกปาฏิกบุตรก็พึงขาดออก
ครั้งนั้น ศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ ลุกขึ้นยืนกล่าวกะบริษัทนั้นว่า
ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอให้พวกท่านจงรอคอยสักครู่หนึ่ง พอให้ข้าพเจ้าไปบางทีข้าพเจ้าอาจนำเอาอเจลกชื่อปาฏิกบุตรมาสู่บริษัทนี้ได้
ครั้งนั้น ศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ จึงเข้าไปหาอเจลกชื่อปาฏิกบุตร ที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ
และก็กล่าวข้อความที่อเจลกปาฏิกบุตรเคยพูดว่า จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกับพระผู้มีพระภาค ซึ่งถึงแม้ว่าศิษย์ของช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะจะได้กล่าวอย่างไร เปรียบเทียบ ยกตัวอย่างอย่างไรๆ ก็ไม่อาจทำให้อเจลกปาฏิกบุตรลุกขึ้นจากอาสนะได้ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะไม่สามารถจะให้อเจลกปาฏิกบุตรเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ แม้ด้วยคำเปรียบเปรยเช่นนี้ จึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกเข้าใจว่า ตนเป็นสีหะ จึงได้ถือตัวว่าเป็นมิคราช มันได้บันลือเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร การบันลือของสีหะเป็นอย่างไร ฯ ดูกร ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญการรุกรานพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านปาฏิกบุตรเป็นอย่างไร การรุกรานพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร
ดูกร ภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ ไม่สามารถที่จะให้อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ แม้ด้วยคำเปรียบเปรยเช่นนี้ จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกจ้องดูเงาของตนซึ่งปรากฏในน้ำที่บ่อ ไม่เห็นตนตามความเป็นจริง จึงถือตัวว่าเป็นสีหะ มันได้บันลือเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น เสียงสุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร การบันลือของสีหะเป็นอย่างไร ฯ
ถึงแม้ว่าจะกล่าวเปรียบเทียบอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะให้อเจลกะเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ ซึ่งศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ ก็ได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สุนัขจิ้งจอกกินกบตามบ่อ และหนูตามลานข้าว ซากศพที่ทิ้งตามป่าช้า จึงอ้วนพีอยู่ตามป่าใหญ่ ตามป่าที่ว่างเปล่า จึงได้ถือตัวว่าเป็นมิคราช มันได้บันลือเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร การบันลือของสีหะเป็นอย่างไร ฯ
ซึ่งก็ได้ผลอย่างเดิม คือ ศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ ไม่สามารถที่จะให้ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรลุกจากอาสนะกลับมาที่บริษัทนั้นได้ เมื่อไม่เป็นผลแล้ว พระผู้มีพระภาคจะทรงทำอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภัคควะ ลำดับนั้น เราจึงยังบริษัทนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถา ทำให้พ้นจากเครื่องผูกใหญ่ รื้อถอนสัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ ขึ้นจากหล่มใหญ่ จึงเข้าเตโชธาตุกสิณ เหาะขึ้นสู่เวหาส สูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล นิรมิตไฟอื่นให้ลุกโพลงมีควันกลบ สูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วจึงกลับมาปรากฏที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ดูกร ภัคควะ ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราจึงได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่าสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้นได้มีแล้วเหมือนดังที่เราได้พยากรณ์อเจลกชื่อปาฏิกบุตรแก่เธอมิใช่โดยประการอื่น ฯ
ซึ่งสุนักขัตตะก็ยอมรับ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้อิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงแล้วหรือมิใช่ ฯ
ซึ่งสุนักขัตตะก็ยอมรับ แต่แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะตรัสกับสุนักขัตตะอย่างนี้ว่า เป็นความผิดของสุนักขัตตะเท่านั้น แต่ว่าสุนักขัตตะก็ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น ฯ
พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่มีข้อความยาวมาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแก้ความเข้าใจและความเห็นของสุนักขัตตะทุกประการ แม้แต่ในข้อที่สุนักขัตตะกล่าวหาว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติสิ่งที่เลิศแก่ตน
การบัญญัติสิ่งที่เลิศ หมายความถึงการแสดงเรื่องของโลก ซึ่งคนส่วนมากเห็นว่า ความเห็นอย่างนั้นเป็นความเห็นที่เลิศที่สุด เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงถึงสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ซึ่งพระองค์ทรงรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับได้เฉพาะตน ฉะนั้น พระองค์จึงไม่ถึงทุกข์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภัคควโคตรต่อไป และได้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับการพินาศของโลก การเจริญของโลก และความเห็นผิดว่ามีผู้สร้าง ความเห็นผิดว่าเทวดาบางพวกเที่ยง ความเห็นต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร ซึ่งท่านที่สนใจ จะอ่านได้ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาฏิกสูตร
ซึ่งข้อความสั้นๆ มีว่า พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสมณพราหมณ์บางพวกที่บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ พระพรหมทำให้ เมื่อพระองค์ทรงทราบอย่างนี้ พระองค์ได้เข้าไปตรัสถามว่า การที่บัญญัติอย่างนั้นเพราะเหตุใด ซึ่งพวกนั้นก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงแสดงเหตุที่ทำให้เกิดความเห็นผิดนั้นว่า มีบางกาลบางสมัยที่โลกนี้พินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม ซึ่งสัตว์เหล่านั้นอยู่ในภพนั้นนานมากทีเดียว จนกระทั่งถึงสมัยที่โลกกลับเจริญขึ้น
เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง โลกที่เราเห็นว่าใหญ่โตมาก มีทวีปหลายทวีป มีคนจำนวนมากมายทีเดียว แต่ว่าโลกก็เป็นสังขารธรรม ตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ ซึ่งการเกิดดับสืบต่อกันที่ทรงลักษณะของโลกก็เป็นระยะเวลาที่นานมาก จนกว่าจะถึงเวลาที่มีเหตุปัจจัยทำให้โลกพินาศ ถูกทำลายไป ด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยลม ในแต่ละครั้ง
สมัยใดที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ ก็จะมีพระอาทิตย์หลายดวง ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และความร้อนก็จะมากขึ้นจนกระทั่งโลกถูกทำลาย และในบางสมัยที่ไม่ได้ถูกทำลายด้วยไฟ โลกถูกทำลายด้วยน้ำก็ได้ น้ำท่วมขึ้นจนกระทั่งพัดพาทุกสิ่งทุกอย่างแตก และในที่สุดก็พินาศไป และบางครั้งโลกก็ถูกทำลายด้วยลม มีลมพายุพัดกระหน่ำจนทุกสิ่งทุกอย่างแตกพินาศไป
ซึ่งในสมัยที่โลกพินาศ ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม โดยมาก ไม่ใช่ทั้งหมด
ซึ่งพวกพรหมที่เป็นรูปพรหมทั้งหมดมี ๑๖ ภูมิ แบ่งออกตามขั้นของฌานจิต สำหรับปฐมฌานจิต ซึ่งประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เวลาที่ฌานไม่เสื่อม หมายความว่าฌานจิตสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นก่อนจุติจิต เป็นปัจจัยให้ รูปาวจรปฐมฌานวิบากเกิดขึ้นในพรหมภูมิหนึ่งพรหมภูมิใดในปฐมฌานภูมิ ๓ ภูมิ ซึ่งได้แก่ ปาริสัชชาภูมิ ๑ ปุโรหิตาภูมิ ๑ มหาพรหมาภูมิ ๑ ตามกำลังของสมาธิ
ถ้าเป็นสมาธิอย่างอ่อน เป็นปัจจัยให้เกิดในปาริสัชชาภูมิ ถ้าเป็นกำลังของสมาธิอย่างกลาง ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในปุโรหิตาภูมิ ถ้าเป็นผลของสมาธิที่มีกำลังแก่กล้า เป็นสมาธิที่ประณีต ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในมหาพรหมาภูมิ
แต่ถ้าก่อนจุติจิต ทุติยฌานจิตเกิด ซึ่งละวิตกวิจารในขณะนั้นแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้รูปาวจรทุติยฌานวิบากจิตเกิดขึ้นในทุติยฌานภูมิ ๓ ภูมิ ซึ่งได้แก่ ปริตรตาภาภูมิ ๑ อัปปมาณาภาภูมิ ๑ อาภัสสราภูมิ ๑ ซึ่งผู้ที่ได้สมาธิอย่างอ่อนเกิดในปริตรตาภาภูมิ อย่างกลางเกิดในอัปปมาณาภาภูมิ และอย่างแก่กล้าที่มีกำลังเกิดในอาภัสสราภูมิ
ถ. ... บุคคลที่เหลือ
สุ. ไปภูมิอื่นตามเหตุ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในขณะที่โลกพินาศ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม ซึ่งเป็นภูมิของทุติยฌาน
สำหรับรูปาวจรฌานภูมิของตติยฌาน โดยนัยของจตุตถนัย ก็มี ๓ ภูมิ คือ ปริตตสุภาภูมิ ๑ อัปปมาณสุภาภูมิ ๑ สุภกิณหาหรือสุภากิณณาภูมิ ๑ รวมเป็น ๓ ภูมิของตติยฌานภูมิ
นั่นคือสำหรับปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน โดยนัยของจตุตถนัย
สำหรับจตุตถฌานภูมิโดยนัยของจตุตถนัย หรือปัญจมฌานภูมิโดยปัญจกนัย มีทั้งหมด ๗ ภูมิ เป็นภูมิของรูปพรหม มีทั้งนามและรูป ๑ ภูมิ คือ เวหัปผลาภูมิ ๑ และเป็นภูมิของรูปปฏิสนธิอีก ๑ ภูมิ คือ อสัญญสัตตาภูมิ
เพราะฉะนั้น การที่จะมีแต่เพียงรูปปฏิสนธิโดยไม่มีนามปฏิสนธิเลย ต้องถึง ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย หรือจตุตถฌานโดยจตุตถนัย แต่ถ้าไม่มีความปรารถนาที่จะให้มีแต่เพียงรูปปฏิสนธิ ก็เกิดในเวหัปผลาภูมิ
ถ. ที่ว่าโลกเป็นสังขารธรรม ที่เราเห็นว่ากว้างใหญ่อย่างนี้ อาจารย์กล่าวว่า กำลังเกิดดับ หมายความว่าอย่างไร
สุ. ทุกอย่างกำลังเกิดดับ รูปอ่อนหรือแข็งกำลังเกิดดับ เย็นหรือร้อนกำลังเกิดดับ ตึงหรือไหวกำลังเกิดดับ และที่ว่าเป็นโลกกว้างใหญ่นี้ กระทบสัมผัสดู เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว
ถ. นี่โดยสติปัฏฐาน
สุ. โดยความจริงด้วย สติปัฏฐานเป็นการอบรมปัญญาที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเวลานี้ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงกับ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน
ถ. ที่อาจารย์กล่าวนี้เป็นโลกในวินัยของพระอริยะ ไม่ใช่โลกจริงๆ ที่เป็นวัตถุที่เกิดดับ
สุ. กำลังเกิดดับอยู่เรื่อยๆ แต่ยังมิได้พินาศ ถ้าพินาศก็ด้วยปัจจัย คือ ไฟ หรือน้ำ หรือลม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720