แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
ครั้งที่ ๖๗๙
ถ. คำว่า โลกียกุศล กับโลกุตตรกุศล มีความแตกต่างกันอย่างไร โดยการปฏิบัติ บุคคลธรรมดาเจริญโลกุตตรกุศลได้ไหม
สุ. กุศลมีหลายขั้น กุศลขั้นต้น คือ กามาวจรกุศล หรืออีกชื่อหนึ่ง อีก นัยหนึ่ง คือ มหากุศล ที่ชื่อว่ากามาวจรกุศล ก็เพราะว่าเป็นกุศลที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชื่อว่ามหากุศล ก็เพราะว่าสามารถที่จะเป็นไปได้โดยกว้างขวาง เช่น เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล หรือเป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต เพราะฉะนั้น กามาวจรกุศล เช่น การให้ทาน ก็มีวัตถุที่สละให้ การรักษาศีล ก็มีวัตถุ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น แม้แต่การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา การอบรมความสงบของจิต หรือการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งตราบใดที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพานธรรม ตราบนั้นจิตที่เป็นกุศล ก็ต้องเป็นโลกียกุศล
เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหมด คือ กามาวจรกุศล หรือมหากุศล เป็นโลกียกุศล
การเจริญสมถภาวนา ถึงแม้ว่าจิตจะบรรลุความสงบขั้นสมาธิถึงฌานจิตแล้ว ก็ยังเป็นโลกียกุศล ยังไม่ใช่โลกุตตรกุศล ผู้ใดที่อบรมเจริญมหาสติปัฏฐาน และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ หรือขณะที่วิปัสสนาญาณกำลังรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นโลกียกุศล ไม่ใช่โลกุตตรกุศล
แต่ขณะใดที่โลกุตตรจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น รู้แจ้งในสภาพของนิพพานธรรม ในขณะนั้นเป็นโลกุตตรกุศล และเวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพานต่อจาก โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิตเป็นผลของโสตาปัตติมรรคจิต เพราะฉะนั้น โสตาปัตติผลจิตเป็นวิบากจิต ไม่ใช่เป็นกุศล
ถ. ขณะที่ทุกๆ คนกำลังเจริญสติอยู่ รู้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นก็ยังเป็นโลกียะ
สุ. ต้องเป็นโลกียะ โลกุตตรกุศลจิต ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต สกทาคามีมรรคจิต อนาคามีมรรคจิต อรหัตตมรรคจิต จิต ๔ ดวงเป็นโลกุตตรกุศล และจิตอีก ๔ ดวงเป็นโลกุตตรวิบาก คือ โสตาปัตติผลจิต สกทาคามีผลจิต อนาคามีผลจิต อรหัตตผลจิต เป็นโลกุตตรวิบากจิต เพราะว่าเป็นผลของโลกุตตรกุศล เกิดต่อจาก โลกุตตรกุศลทันที เพราะฉะนั้น โสตาปัตติมรรคจิตเป็นกุศลที่เป็นปัจจัยให้เกิดผล เวลาที่โลกุตตรกุศลจิตนั้นดับ ไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นในระหว่างได้เลย ทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตดับไป โสตาปัตติผลจิตก็เกิดต่อ มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน เวลาที่สกทาคามีมรรคจิตดับไป สกทาคามีผลจิตเกิดต่อทันที มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน เวลาที่อนาคามีมรรคจิตดับไป อนาคามีผลจิตก็เกิดต่อทันที เวลาที่อรหัตตมรรคจิตดับ อรหัตตผลจิตก็เกิดต่อทันที
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีโลกียกุศลไหม มี หรือไม่มี ต้องไม่มี เพราะว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ดับทั้งกุศลและอกุศล
ธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ต้องรอบคอบ หลงลืมไม่ได้เลย ผู้ที่เป็น พระอรหันต์แล้ว จะไม่มีอกุศลจิตหรือกุศลจิต จะมีก็แต่วิบากจิตและกิริยาจิตเท่านั้น วิบากจิตเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเองได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กุศลจิตและอกุศลจิตไม่เกิดอีกเลย แต่ยังมีวิบากจิต คือ ผลของอดีตกรรมทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัส การเจ็บไข้ได้ป่วย ตลอดไปจนกว่าจะถึงปรินิพพาน คือ เมื่อจุติจิตดับแล้วไม่เกิดอีก แต่เวลาที่มีการเห็น การได้ยินแล้ว จะไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือแม้ กุศลจิต ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตหลังปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น จิตของพระอรหันต์ทั้งหมดเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิตหรืออกุศลจิต และเป็นวิบากจิต ในขณะที่เป็นผลของอดีตกรรม
ถ. การเจริญสติปัฏฐานทุกวันนี้ เขามีข้อปฏิบัติที่ตั้งเป็นกฎเลยว่า เวลาเห็นให้รู้เพียงเห็น ไม่ใช่รู้สิ่งที่ถูกเห็น เขาอ้างเหตุผลว่า เวลาไปพิจารณาสิ่งที่ถูกเห็น กิเลสของเราไปติดอยู่ที่เห็น ความยินดีพอใจอยู่ที่ใจ ไม่ได้ไปติดอยู่ที่วัตถุ เพราะฉะนั้น เขาก็พยายามอบรมเพื่อจะรู้ลักษณะของเห็น เขาพูดต่อไปว่า ถ้าไปรู้สิ่งที่ถูกเห็นแล้วไม่ใช่ปรมัตถอารมณ์ เช่น การเห็นวัตถุสิ่งของต่างๆ รู้ว่าเป็นพื้น เป็นถ้วยแก้ว เป็นชาม ที่ไปรู้อย่างนั้นไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นบัญญัติ ซึ่งการรู้บัญญัติไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาภาวนา ผมขอถามว่า ขณะที่รู้บัญญัติ จะเสียหายต่อการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่
สุ. สภาพธรรมที่กำลังรู้บัญญัติมีจริงหรือไม่จริง มี แต่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น การที่จะละกิเลส ละความเห็นผิดได้ ต้องเจริญความรู้ละเอียดจริงๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้าถึงขั้นที่สามารถจะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ท่านผู้ฟังเคยคิดสงสัยไหมว่า ทำไมจะต้องระลึกรู้ขันธ์ทั้ง ๕ ทำไมต้องระลึกรู้รูปขันธ์ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำไมจะต้องระลึกรู้เวทนาขันธ์ ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ทำไมจะต้องระลึกรู้สัญญาขันธ์ สภาพที่กำลังจำ กำลังรู้ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำไมจะต้องระลึกรู้สังขารขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโลภะเกิดขึ้นแรงหรือเบาประการใด มานะ ความสำคัญตน ความถือตนเกิดขึ้นแรงหรือเบาประการใด อิสสาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเบาหรือแรงประการใด มัจฉริยะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเบาหรือแรงประการใด ทำไมจะต้องระลึกสังขารขันธ์เหล่านี้ด้วย
ก็เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงในสภาพธรรมซึ่งเกิดดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว ปัญญาจะไม่สามารถคมกล้าถึงกับจะละการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับพร้อมกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ในขณะนี้ โดยการศึกษาปริยัติทราบว่า จิต เจตสิก รูป เกิดดับไปแล้วแต่ละขณะมากมาย ขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกมากมายเกิดร่วมด้วย และก็หมดไปพร้อมกันอย่างรวดเร็วแต่ละขณะๆ ขณะที่กำลังเห็น กำลังฟังในขณะนี้ จิต เจตสิกเกิดดับมากมายทุกๆ ขณะ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ ไม่แยกสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน ที่รวมกัน ที่เกิดร่วมกัน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะกระจัดกระจายแยกสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันออกได้ ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมเหล่านี้ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาเพียงเล็กน้อย ก็ไม่พอที่จะละการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ และขอให้ลองพิจารณาที่ท่านกล่าวว่า มีการยึดมั่นพอใจในสิ่งที่เห็น นั่นเป็นเพราะไม่รู้ชัดในสภาพความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายความติดข้อง ความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นทางตา ก็มีโดยวิธีเดียว คือ อบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่เจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา แต่หวังจะไปบังคับไม่ให้พอใจ ไม่ให้ยินดี ไม่ให้ติดข้อง ไม่ให้ยึดถือในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย
ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาเพียงรู้เท่านั้นยังไม่พอ ต้องเจริญต่อไปอีก จะพอก็ต่อเมื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นลำดับขั้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์
ถ. ข้อปฏิบัติแบบนี้ ก็เห็นว่าเขามีลูกศิษย์และปฏิบัติตามกันมากมายกว้างขวาง ซึ่งก็เนื่องจากว่า คนที่ไม่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นมีมาก เท่าที่ฟังดูเป็นข้อปฏิบัติที่อบรมความไม่รู้ พยายามอบรมไม่ให้รู้ ถ้ารู้แล้วเขาก็ไม่พอใจ ถ้าไม่รู้เขาก็พอใจ เช่น ผู้ปฏิบัติผู้หนึ่งเล่าว่า เขาพอใจมาก วันหนึ่งเขาอยู่ในบ้าน ได้ยินเสียงหวูดรถไฟ ขณะที่ได้ยินหวูดรถไฟ แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นหวูดรถไฟ เขาพอใจมาก ผมถามว่าขณะได้ยินมีสติหรือเปล่า เขาก็ตอบว่ามี แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นหวูดของรถไฟ เขาแสดงความพอใจมาก สำนักนี้พยายามอบรมให้คนไม่รู้ พอใจในความไม่รู้
สุ. เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า บุคคลแต่ละบุคคลก็มีความเห็นต่างๆ กันตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดมีความพอใจที่จะไม่รู้ ก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนใจให้ปฏิบัติในทางที่จะให้เกิดความรอบรู้ยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นปัญญาแล้ว ใครสามารถที่จะจำกัดขอบเขตได้ว่า ให้รู้เพียงอย่างเดียว อย่างอื่นอย่ารู้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญา ย่อมสามารถที่จะรู้สภาพธรรมตลอดทั่วหมดได้ตามความเป็นจริง
ถ. ขอเจริญพรคุณโยม อาตมามีความข้องใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานประการแรกทำอย่างไร
สุ. การอบรมเจริญปัญญา ต้องเริ่มต้นด้วยปัญญาที่เข้าใจความหมายของสติปัฏฐานและวิปัสสนาก่อน เพราะว่าการที่จะอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้น จะต้องมีปัญญาขั้นต้น จะต้องเกิดปัญญาขั้นต้นก่อน ถ้าปัญญาขั้นต้นไม่มี ก็ไม่สามารถอบรมปัญญาขั้นต่อไปให้เกิดขึ้นได้
ถ. ปัญญาขั้นต้นหมายถึงอะไร
สุ. ปัญญาขั้นต้น คือ ความเข้าใจว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างไร สติระลึกรู้อะไรจึงจะอบรมเจริญปัญญาให้คมกล้าขึ้นได้
ถ. สติระลึกรู้อะไร
สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ทางหูมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพธรรมจะต้องปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง
ถ. อย่างอาตมาเห็นพระพุทธรูป และรู้ว่าเป็นพระพุทธรูป อย่างนี้เป็นการเจริญสติได้ไหม
สุ. ยังเจ้าค่ะ
ถ. เห็นแบบไหนจึงจะเป็นการเจริญสติ
สุ. ไม่ลืมที่จะพิจารณาและเข้าใจว่า สภาพที่เห็นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพที่รู้เสียง ไม่ใช่สภาพที่คิดนึก ไม่ใช่สภาพที่จำได้ ไม่ใช่สภาพที่รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์
ถ. เช่น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ รู้ว่า ...
สุ. เป็นสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังเห็น ไม่ใช่ไม่เห็น กำลัง ได้ยิน ไม่ใช่ไม่ได้ยิน กำลังได้ยินเสียง เสียงไม่ใช่สภาพได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฏ ทั้งเสียงและได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ไม่ใช่ตัวตน ทั้ง ๒ อย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ถ. การเกิดดับของสภาพธรรมนั้น สมมติว่า เห็นรูปทางตา รูปนั้นดับทางตาหรือดับทางไหน
สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ
ถ. การเจริญสติปัฏฐานนั้น อิริยาบถใหญ่ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน วิธีที่จะระลึกรู้สภาพธรรมนั้น ระลึกรู้ทั้งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน หรืออย่างไร
สุ. ระลึกรู้ธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน เพราะว่ากำลังนั่งก็เห็น ก็ได้ยิน ก็ได้กลิ่น ก็รู้รส ก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และก็คิดนึก กำลังยืนก็มีการเห็น มีการได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง รู้สิ่งที่ปรากฏทางหูอย่างหนึ่ง รู้สิ่งที่ปรากฏทางจมูกอย่างหนึ่ง รู้สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นอย่างหนึ่ง รู้สิ่งที่ปรากฏทางกายอย่างหนึ่ง
ในขณะที่กำลังยืนเดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง มีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางหู มีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางกาย เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง และรู้สิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏนั้น
ถ. อาตมาเคยปฏิบัติ สมมติว่า ยืน ให้กำหนดรู้ว่ารูปยืน เวลานั่งให้กำหนดรู้ว่ารูปนั่ง เวลานอนให้กำหนดรู้ว่ารูปนอน แบบนี้จะถูกหรือไม่ถูก รูปนั้นเกิดจากความทรงจำ
สุ. ไม่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร สีสันวัณณะปรากฏทางตา เสียงปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวปรากฏทางกาย และทางใจก็รับรู้ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั่นเอง ถึงแม้ว่ารูปอื่นจะเป็นรูปที่รู้ได้ทางใจก็ตาม แต่ในวันหนึ่งๆ ใจของใครรู้รูปอื่นบ้าง นอกจากสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่ารูปเหล่านี้เป็นโคจรรูป เป็นวิสยรูป เป็นรูปที่เป็นวิสัย เป็นอารมณ์ของจิต
ทางตา มีการเห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโดยมากหลงลืมสติ คือ ลืมที่จะรู้ว่าขณะที่เห็น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นหลงลืมสติ
ถ้าจะเป็นการระลึกรู้รูปที่ปรากฏทางตา ก็ต้องระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มีการเห็น และมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นต่อจากการเห็น ระลึกรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720