แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
ครั้งที่ ๖๘๒
สำหรับผู้ที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท จะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ อย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ทันทีที่เห็นก็นึกถึงรูปร่างสัณฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าไม่ได้อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันด้วยเหตุนี้ถ้ายังคงเหมือนปกติประจำวันที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาให้เพิ่มความรู้ขึ้น ก็จะไม่มีการละ การคลาย ถ่ายถอนการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏได้ จนกว่าปัญญาจะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ
อย่างเช่น ทางหู มีการได้ยินเสียงต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการตรึกนึกถึงคำต่างๆ ตามเสียงสูงเสียงต่ำที่ได้ยิน ถ้ายังแยกไม่ออก ปัญญาไม่รู้ตรงลักษณะสภาพของธรรมแต่ละอย่างว่า ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่เพียงได้ยิน ส่วนการนึกถึงคำ เรื่องราวต่างๆ หลังจากที่ได้ยินนั้นไม่ใช่การได้ยินแล้ว ถ้ายังแยกไม่ออก จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เรากำลังได้ยินเสียงคนนั้นคนนี้กำลังพูดได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องฟัง ศึกษา พิจารณา ไตร่ตรอง ประพฤติปฏิบัติตามทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญาจะคมกล้าขึ้น อย่างการคิดนึก ถึงไม่ได้ยินก็นึกได้ ใช่ไหม คำเดียวกัน เรื่องเดียวกัน ได้ยินคำว่า “เรื่องเดียวกัน” ก็มีการตรึกถึงคำว่า “เรื่องเดียวกัน” ซึ่งต่อไปไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่ก็ยังนึกถึงคำว่า “เรื่องเดียวกัน” ในใจได้
การนึกถึงคำว่า “เรื่อง” การนึกคำว่า “เดียว” การนึกถึงคำว่า “กัน” มีได้ แม้ไม่ได้ยิน เพราะว่าเป็นสภาพที่มีจริง เป็นสภาพที่ตรึกนึกถึงคำ แต่หลังจากที่ได้ยินเสียง “เรื่องเดียวกัน” และการได้ยินดับไปแล้ว การตรึกถึงคำว่า “เรื่อง” ตรึกถึงคำว่า “เดียว” ตรึกถึงคำว่า “กัน” ก็เหมือนกับเวลาที่ไม่ได้ยินเสียงเลย เพราะว่าเป็นการนึกถึงคำว่า “เรื่องเดียวกัน” หลังจากที่ได้ยินเสียง “เรื่องเดียวกัน” ไปแล้ว คือ แม้จะไม่ได้ยินเสียง “เรื่องเดียวกัน” แต่การนึกถึงคำว่า “เรื่องเดียวกัน” ก็ยังมีได้
เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จนกว่าปัญญาจะคมกล้าสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งจะปรากฏกับปัญญาที่อบรมเจริญจนกระทั่งคมกล้าจริงๆ
ปัญญานิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันและเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องอบรม ขึ้นอยู่กับการอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ เกิดดับจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ
ถ. ในขณะที่ได้ยินคำว่า “เรื่องเดียวกัน” หลังจากที่ได้ยินแล้ว ก็นึกถึงคำที่ได้ยินว่า “เรื่องเดียวกัน” ขณะนั้นเราจะไม่ใส่ใจอะไร และควรจะโยนิโสอย่างไร
สุ. ถ้าใส่ใจ ก็ยึดถือในความหมายของ “เรื่องเดียวกัน” เป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดจริงจังทีเดียว แต่เวลาที่สติเกิด รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เพียงนึกถึงคำนั้น คำว่า “เรื่อง” และก็ดับ ที่จะนึกว่า “เรื่อง” และไม่ดับ เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น เป็นเพียงสภาพธรรมของจริงที่เพียงเกิดขึ้นนึกถึงคำนั้น และก็ดับ นั่นคือการไม่ใส่ใจที่จะยึดมั่นในความหมายว่า เป็นเรื่องเดียวกันนั้นจริงๆ เป็นเรื่อง จริงๆ จังๆ แต่รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น นึกถึงคำนั้นและก็ดับ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้สภาพธรรมแต่ละลักษณะละเอียดขึ้น เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น จะทำให้เข้าใจถึงความหมายของพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นผู้อยู่ผู้เดียว
ผู้เดียวจริงๆ ในขณะที่นามธรรมกำลังตรึกนึกถึงคำว่า “เรื่อง” ไม่มีอะไรเลย ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ ไม่มีวัตถุ เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่กำลังนึกถึง สิ่งนั้นสิ่งเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่คิดว่าเป็นคน สัตว์ หรือโลกกว้างใหญ่ เป็นสิ่งต่างๆ มากมาย ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่คิดถึงสิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น และก็ดับไป
ถ. มีเหตุให้มีการนึกไหม
สุ. มี
ถ. เหตุแห่งการนึก เกิดจากการติดในสมมติบัญญัติหรือเปล่า
สุ. ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ายังไม่ได้ศึกษา เป็นเด็กเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่มีคำอะไรเลย มีการเห็นและก็นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น แต่ไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเรียกว่าอะไร
ถ. อย่างเห็นสีได้ต่อเมื่อมีแสง ใช่ไหม ถ้าสิ่งปัจจัยไม่ปรุงแต่งพร้อม สี คือการเห็นก็ปรากฏไม่ได้
สุ. เวลาที่ใช้คำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่แยกสี ไม่แยกแสง
ถ. ยังไม่แยก แต่สีจะปรากฏได้ก็เฉพาะมีแสง
สุ. นั่นเป็นเรื่องนึก แต่ว่าขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นสี หรือเป็นแสงอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่สามารถปรากฏทางจักขุปสาทได้เป็นของจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่ใส่ใจ ไม่ใช่ทำเป็นไม่สนใจ หรือว่าทำเป็นไม่ใส่ใจ แต่เพราะว่าระลึกได้ รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ. ที่ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ อาจารย์หมายความถึงความเป็นอนัตตาเท่านั้นหรือเปล่า
สุ. อนัตตา ไม่ใช่เป็นคำ แต่หมายความถึงลักษณะทั้งหลายที่มีจริง เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ. (ฟังไม่ชัด)
สุ. ทำไมไปติดที่คำว่า อนัตตา ขณะที่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏโดยลักษณะนั้นจริงๆ นั่นคือความหมายของอนัตตา โดยไม่ต้องใช้คำว่า อนัตตา
อย่างเช่น ได้ยินเสียง ถ้ามีสติระลึกรู้ว่าสภาพที่รู้เสียงมีจริง สามารถที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ขณะนั้น สภาพที่รู้นั้นเองมีลักษณะความเป็นอนัตตาแล้วที่จะให้รู้ เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นั่นคือความหมายว่า รู้ในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุไร เพราะเมื่อรู้ว่า เป็นนามธรรม จึงเป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าเป็นรูปธรรม จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่เอาอนัตตามาก่อน แต่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม เมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรม จึงเป็นอนัตตา เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม เมื่อรู้ว่าเป็นรูปธรรมจึงเป็นอนัตตา เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นรูปธรรม
จะเห็นได้ว่า การพูดถึงเรื่องของสติปัฏฐานเท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะว่าสภาพธรรมละเอียดมาก และมีปัจจัยเกิดขึ้นต่างๆ กัน ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมและพระวินัย ก็แสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่วิจิตร ที่ละเอียด ที่ต่างกันไป ไม่มีใครสามารถที่จะทราบได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และปัญญาก็จะต้องรู้จริงๆ ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น ตามเหตุการณ์ จริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับแต่ละท่าน
ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร หมวด ๑๐ เรื่องนาถกรณธรรม ๑๐ อย่าง คือ ธรรมที่เป็นที่พึ่ง มีข้อความว่า
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่ มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่ มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ฯ
ธรรมที่เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ว่าเฉพาะพระภิกษุที่เป็นเพศบรรพชิตเท่านั้นที่จะมีธรรมเป็นที่พึ่ง ทุกท่านที่เกิดมาแล้วที่จะเจริญกุศล ที่จะขัดเกลากิเลส ก็จะต้องมีธรรมที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย
สำหรับพระภิกษุ เป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสโดยละเอียดทั้งทางกาย ทางวาจา โดยประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ขัดเกลามากจริงๆ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร นอกจากจะเป็นการกระทำที่เหมาะสมทางกาย ทางวาจา ก็จะต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสถูกต้องตามควรแก่สมณเพศ
สำหรับฆราวาสก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่จะประพฤติขัดเกลากิเลส อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น จะข้ามการที่จะถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรไม่ได้ แต่ว่าเมื่อไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของฆราวาส และเห็นภัยในโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย แม้ว่าจะไม่เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อยอย่างเช่นผู้ที่เป็นพระภิกษุ แต่เวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเพิ่มการเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยเพิ่มขึ้น
เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้จะเห็นภัยในโทษของอกุศลนั้นๆ ไหม เพราะว่าอกุศลมีหลายขั้น ยังไม่ถึงขั้นทุจริตกรรมหรืออกุศลกรรมก็จริง แต่เกิดแล้ว น่ารังเกียจแล้ว สภาพของอกุศลธรรมทั้งหมดน่ารังเกียจ ถ้าหิริเจตสิกไม่เกิด ก็ไม่รังเกียจ ถ้าโอตตัปปะไม่เกิด ก็ไม่กลัวในโทษของอกุศลนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า อกุศลธรรมนั้นน่ารังเกียจจริงๆ เนื่องจากเป็นผู้ที่ชินต่ออกุศลธรรมมาก ชินกับโลภมูลจิต ไม่กลัวเลย เท่าไรก็ไม่กลัว ตราบใดที่ยังไม่เป็นทุจริตกรรม ยังไม่เป็นอกุศลกรรม โทสมูลจิตก็เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้เกิดกายวาจาที่ไม่น่าดูเลย ปราศจากเมตตา เมื่อสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ หิริจะละอาย และโอตตัปปะจะกลัวในโทษของอกุศลนั้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเริ่มเห็นภัยในโทษของอกุศลธรรม แม้ว่ายังไม่สามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ แต่ก็เริ่มเห็นภัยในโทษของอกุศลแล้ว และยิ่งเจริญสติปัฏฐานมาก สภาพของสังขารขันธ์ทั้งหลาย เช่น โลภเจตสิกก็ดี โทสเจตสิกก็ดี อิสสาเจตสิกก็ดี มานะเจตสิกก็ดี มัจฉริยะเจตสิกก็ดี สภาพธรรมทั้งหมด สติจะระลึกรู้ตรงลักษณะนั้นๆ และก็จะกระจัดกระจายลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเป็นแต่ละลักษณะ เมื่อเป็นแต่ละลักษณะซึ่งหาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ได้แล้ว ปัญญาจะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งพร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นขณะใด ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นจะปรากฏกับปัญญาที่ได้อบรมเจริญคมกล้าแล้วตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พระภิกษุ แต่เป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลส ก็จะเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร
ถ. ผมเคยปฏิบัติมา คือ ผมจะพิจารณาเนืองๆ ว่า ทุกอย่างในโลกนี้เป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติที่มนุษย์ตั้งขึ้น โดยหามีค่าตามความเป็นจริงไม่ เมื่อพิจารณา เนืองๆ อย่างนี้ รู้สึกว่าโลภะคลายลง อย่างนี้จะเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องไหม
สุ. เป็นขั้นคิด
ถ. เป็นขั้นเบื้องต้นได้ไหม
สุ. ถ้าเป็นขั้นเบื้องต้นจะต้องรู้ว่า ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร ทางไหน ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง
ถ. เมื่อวันพระที่แล้ว นั่งอยู่หน้าพระประธานในโบสถ์ มีกลีบดอกไม้หล่นอยู่ข้างหน้าดิฉัน เป็นดอกแก้วที่ดิฉันชอบ จึงเก็บกลีบดอกไม้ที่หล่นมาใส่มือ พอหยิบขึ้นมาสติระลึกได้ว่า โลภะเกิดขึ้น อยากเอาขึ้นมาดม
สุ. ขณะที่รู้สึกตัว ก็เห็นในสภาพของโลภะ
ถ. ซึ่งน่ารังเกียจ
สุ. วันหนึ่งๆ ที่ไม่รู้สึกตัวนี่ก็มาก เพราะฉะนั้น ความน่ารังเกียจจะทับถมกันมากสักเท่าไร
ถ. มีผู้หญิงคนหนึ่งนัยน์ตาเขาเสีย เขาไปที่วัดแทบทุกวันพระร่วมกับพวกดิฉัน เขาสนใจในการเจริญสติ และฟังธรรมบรรยายของอาจารย์ทางวิทยุ อยู่มาวันหนึ่งก็มาถามดิฉันว่า เวลาเขานั่งขอทาน ก็เจริญสติไป ใจก็สงบสบาย ดิฉันก็ถามว่า เคยเจริญสติอะไรมาก่อนไหม เคยทำกัมมัฏฐานอะไรมาก่อนไหม เขาก็ว่า เคยเมื่อครั้งอายุยังน้อยไปกับยายที่วัด ไปเจริญสติแบบจิตสงบ และก็ติดอารมณ์นั้นมา
สุ. เรื่องความสงบเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณาโดยละเอียด เพราะถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แล้ว สภาพของโลภะอย่างละเอียดจะปรากฏเหมือนความสงบ
ถ. ดิฉันถามเขาว่า เวลาจิตสงบแล้วชอบไหม เขาบอกว่า ชอบ ดิฉันก็บอกว่า นั่นเป็นลักษณะของโลภะ เขาก็บอกว่า เดี๋ยวนี้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คือ ไม่ไป จดจ้องอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ
สุ. การเจริญสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี จะต้องเจริญด้วยปัญญา ถ้าปัญญาไม่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพียงไปนั่งๆ และบอกว่าสงบ นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
ในขณะที่ให้ทาน มีใครรู้บ้างว่า ขณะนั้นสงบจากโลภะจึงให้ได้ ลักษณะของความสงบของจิตที่ปราศจากโลภะ โทสะ ในขณะที่ให้ทาน ไม่ได้ปรากฏเป็นที่สังเกตของผู้ที่ไม่ไตร่ตรองหรือผู้ที่ขาดปัญญา เพราะฉะนั้น จะไปเจริญความสงบได้อย่างไร ในขณะที่มีเมตตา สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น ถ้าเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงช่วยมาก แต่นั่นด้วยโลภะหรือว่าด้วยเมตตา ถ้าเป็นคนอื่นซึ่งไม่รู้จักเลย ไม่มีความผูกพัน ไม่ใช่การช่วยเหลือด้วยการหวังผลตอบแทนแม้เล็กน้อยเพียงความผูกพัน นั่นเป็นลักษณะของเมตตาซึ่งปราศจากความหวังผล ปราศจากความต้องการเครื่องตอบแทน เป็นลักษณะความสงบของจิต แต่ถ้าไม่ศึกษา ไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบในขณะนั้น จะเจริญเมตตาให้สงบขึ้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น การที่แต่ละท่านจะไปนั่งๆ และบอกว่าสงบแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษารู้ลักษณะสภาพความสงบของจิตในขณะที่สงบ ซึ่งต้องเป็นขณะที่เป็นกุศล
บางท่านคิดว่า อยู่บ้านคนเดียวเงียบๆ หรืออยู่ตามป่า ตามเขา ดูพระอาทิตย์ตกที่ทะเลบ้าง ที่ภูเขาบ้าง ไม่มีคนเลย มีแต่เสียงนกร้อง ดอกไม้ป่าสวยๆ คิดว่า สงบมาก แต่ความจริงแล้วขณะนั้นเป็นอะไร โลภมูลจิตแน่นอน ไม่ใช่ความสงบเลย
จิตจะสงบก็ต่อเมื่อเป็นกุศล ปราศจากทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ โดยรู้สภาพความสงบของจิตในขณะนั้น และระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบผ่องใสจากอกุศล จนกระทั่งความสงบนั้นเพิ่มขึ้น มากขึ้น จึงจะเป็นการเจริญสมถภาวนา และเป็นความสงบจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการไปนั่งๆ และก็เป็นโลภะ เพราะว่าขณะนั้นสภาพจิตที่สงบต่างกับสภาพจิตที่เป็นโลภะอย่างละเอียดอย่างไรก็ไม่รู้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๘๑ – ๖๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720