แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684


    ครั้งที่ ๖๘๔


    . เมื่อก่อนผมคิดว่า หมดโลภะ โทสะ เพราะว่าไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิด แต่มาฟังอาจารย์แล้ว แม้แต่รับประทานอาหาร พอถูกปาก โลภะก็เกิดทันทีเลย เค็มไปหน่อย โมโหเกิดขึ้นทันทีเลย เรื่องโลภะ โทสะ โมหะละเอียดอยู่ในจิตเหลือเกินเลย ถ้าไม่ศึกษา นึกว่าหมดแน่ แต่ความจริงยังอยู่อีกมากมาย อาหารทุกคำพอเคี้ยวๆ ไป รสหวาน เราถูกใจ เค็มไป เกลือมากเกินไป ก็เกิดโมโหขึ้นมา เรื่องจิตที่ว่าหมดโลภะ โทสะนี่ลึกซึ้งเหลือเกิน ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิดได้

    สุ. สภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริงมีหลายขั้น ขั้นแรง ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ซึ่งปัญญาจะต้องระลึกรู้โดยทั่ว ไม่มีความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลใดๆ ในสภาพธรรมแต่ละขณะ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกได้เมื่อไร ปัญญาก็จะศึกษา สังเกต จนเป็นการเพิ่มความรู้ขึ้น แม้จะทีละเล็กทีละน้อยอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นการอบรมเจริญหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    หวานไป เป็นอย่างไร สติที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ ต้องรู้ในขณะนั้น ในสภาพนั้น ที่ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริง ทุกขณะที่เป็นสภาพธรรมจริงๆ สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัด ไม่ผิดปกติเลย โทสะจะเกิด โลภะจะเกิด อะไรจะปรากฏก็แล้วแต่

    ถ้ายังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็เข้าใจว่าตัวท่านไม่มีโลภะ โทสะแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ดีมากที่ท่านทราบว่า ยังมีอยู่อย่างมาก และเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ทั่วจริงๆ

    รู้ทั่ว คือ สติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง แยกขาดลักษณะแต่ละลักษณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    นาถกรณธรรม ประการที่ ๕ มีข้อความว่า

    ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในกรณียะนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดในกรณียกิจใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย

    แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในกรณียะนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดในกรณียกิจใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ฯ

    คนส่วนมากที่เข้าใจว่า พุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน จะเห็นได้ว่า เข้าใจผิด เพราะว่าในนาถกรณธรรม คือ ภิกษุเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน ชีวิตความเป็นอยู่ที่จะต้องดำเนินไป ก็จะต้องมีกิจประจำวันมากมายหลายอย่าง เด็กเล็กๆ ก็ยังมีกิจที่จะต้องช่วยมารดาบิดา ตามกิจหน้าที่ของแต่บุคคล ซึ่งควรที่จะต้องเป็นผู้ขยัน เพราะถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้าน ก็ไม่สามารถเกิดกุศลจิตที่จะกระทำกิจนั้นได้

    กิจการต่างๆ สามารถที่จะกระทำได้ด้วยกุศลจิต แต่ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็อาจจะเป็นการกระทำด้วยอกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกิจใหญ่น้อยประการใดก็ตาม ควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น แต่ถ้าไม่ได้กระทำ ทราบไหมว่าเพราะอะไรจึงไม่กระทำในขณะนั้น ก็เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้น ทำให้เป็นคนเกียจคร้านที่จะกระทำกุศลธรรม เพราะฉะนั้น คนขยัน โดยเฉพาะขยันที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น ก็ย่อมจะกระทำไปด้วยกุศล

    คนที่ไม่กระทำอะไร ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือใคร ในขณะนั้นถ้าสติไม่เกิดขึ้นจะไม่รู้เลยว่า อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำทำให้เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว สำคัญในตน ลืมคิดถึงบุคคลอื่น แม้การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่เห็น หรืออาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมชาติที่ตั้งจิตไว้ผิด ส่วนกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมชาติที่ตั้งจิตไว้ชอบ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย

    ความเมตตาเป็นกุศล กุศลธรรมเกิดขึ้น ตั้งจิตไว้ชอบ คือ สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น แต่ถ้ามานะ หรือความสำคัญตนเกิดขึ้น ตั้งจิตไว้ผิด ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบุคคลอื่น

    บางท่านอาจจะจำกัด ทำได้เฉพาะผู้ที่ท่านรัก ท่านเคารพ แต่คนอื่นทำให้ไม่ได้แน่นอน นั่นอกุศลธรรมเกิดขึ้น ตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้ตั้งจิตไว้ชอบเลย ถ้าเป็นกุศลธรรมที่ตั้งจิตไว้ถูกจริงๆ ไม่ว่ากับใคร เสมอกันหมด โดยเฉพาะกับคนอื่น คนแปลกหน้า เป็นกุศลจริงๆ เพราะว่าไม่ได้กระทำไปด้วยความหวัง แม้ผลตอบแทนคือการผูกพัน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่เห็นว่าเป็นบุคคลนี้ แท้ที่จริงคือสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งสะสมมาเป็นปัจจัยทำให้ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอย่างไร ถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ก็ตั้งจิต คือ ปรุงแต่งจิตในขณะนั้นให้เกิดขึ้นเป็นไปในทางอกุศล ถ้าสะสมกุศลธรรมมามาก กุศลธรรมทั้งหลายก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในกุศล และลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดที่ท่านเคยได้ยินได้ฟัง เช่น บุคคลคนนั้นช่างเป็นคนใจร้ายเสียจริง คนนี้ใจดีมาก คนนั้นใจบุญ คนนี้ฉลาด คนนั้นเจ้าโทสะลักษณะต่างๆ ที่พูดกันทั้งหมดนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาสามารถจะรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏ

    ถ้าพูดถึงโทสะ ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพโทสะ แล้วแต่ว่าจะเป็นโทสะขั้นแรง หรือว่าขั้นกลาง หรือว่าขั้นอ่อนอย่างไรก็ตาม ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดได้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตามที่เคยกล่าวถึง เคยพูดถึงในปกติชีวิตประจำวัน ดูเหมือนว่ายากที่จะรู้ได้ เช่น เวลานี้เจตสิกมากมายหลายประเภท อะไรบ้างก็ไม่ทราบ ดับไปแล้ว แต่เวลาที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้ได้ ซึ่งจะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะ คมกล้า และจะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมทั้งนั้น ที่ปัญญาสามารถจะรู้ได้จริงๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่รู้ แต่ยังประจักษ์แจ้งแทงตลอดได้ด้วย จากการที่ไม่เคยรู้ มาเป็นเริ่มรู้ จนกระทั่งจะสามารถประจักษ์แจ้งได้

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ได้ให้บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน เพราะว่าผู้ที่เกียจคร้านจะไม่ทำความดี จะไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเลย แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นการให้บุคคลทั้งหลายเจริญกุศลทุกประการ แม้ในการที่จะเป็นผู้ที่ขยันที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการที่จะขัดเกลาและดับกิเลสด้วย เพราะว่ากิเลสมีมาก ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่กระทำ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของกุศลโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใดแล้ว ก็เป็นการเพิ่มพูนอกุศล เพราะฉะนั้น อกุศลก็จะต้องมีมาก ถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้านในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ

    สำหรับในการเจริญกุศล บุญกิริยาวัตถุประการต่อไปในข้อของศีล คือ เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงให้บุคคลทั้งหลายเจริญกุศลทุกประการ แม้ในข้อที่เป็นการสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งเป็นเวยยาวัจจะด้วย

    ใครๆ ที่เคยเกียจคร้านในการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็จะทราบว่า ขณะนั้นไม่ได้ขัดเกลาอกุศล แต่ว่าเป็นการเพิ่มพูนอกุศลมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อรู้แล้ว ก็จะต้องปฏิบัติด้วย รู้ว่าดี แต่เฉยๆ เสีย อกุศลก็พรั่งพรูมีปัจจัยที่จะเกิดครอบงำต่อไป ก็ไม่มีการขัดเกลาอกุศลเหล่านั้นให้เบาบาง จนกว่าจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติจริงๆ แม้ในข้อของเวยยาวัจจะ คือ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วย

    . การสงเคราะห์เรื่องธรรม ขณะที่เราเห็นว่า การปฏิบัติธรรมของเขายังไม่ตรง แต่เขาก็เชื่อว่าที่เขาปฏิบัตินั้นถูกต้อง ซึ่งคนที่เราอยากจะสงเคราะห์นั้นเป็นผู้ที่เรารักด้วย แต่ถ้าพูดไปก็จะขัดใจกัน บางครั้งรู้สึกว่าจะต้องนิ่ง และหันมาพิจารณาดูลักษณะจิตของเราเอง จะมีหนทางหรือวิธีใดที่จะจะช่วยเหลือเกื้อหนุนเขาได้ไหม

    สุ. ต้องเป็นผู้ที่อดทน คอยโอกาส คอยกาละที่เหมาะสม

    . แทนที่เราจะแนะนำว่า ควรจะปฏิบัติอย่างนั้นๆ เราก็แนะนำให้เขาลองหาพระไตรปิฎกมาอ่าน การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นจะต้องไม่คลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก เขาก็บอกว่า ขี้เกียจเรียน ไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่มีอะไรจะดีขึ้น บางครั้งดูเหมือนจะทอดธุระ แต่เพื่อจะไม่เป็นการขัดใจกัน ก็เลยต้องเฉยๆ ไป

    สุ. ถ้ารู้ว่า พูดในขณะนั้นไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ใช่เป็นการทอดธุระ แต่เป็นการรอคอยโอกาสที่เหมาะสม ที่จะได้ประโยชน์จริงๆ เพราะว่ากุศลมีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าทางกายก็เป็นการสงเคราะห์ในกิจธุระต่างๆ ถ้าเป็นทางวาจาก็สงเคราะห์ในทางความคิดเห็นให้เกิดความเข้าใจที่ถูก แต่เมื่อยังไม่สามารถที่จะกระทำได้ในขณะนั้น ก็ต้องเจริญกุศลทางใจ คือ อดทนด้วยความเมตตา และคอยโอกาสที่จะสงเคราะห์บุคคลนั้นในภายหลัง

    เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะให้คนอื่นมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก มีการปฏิบัติถูก ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมา

    ส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่บุคคลที่นับถือลัทธิอื่น ชอบใจในลัทธิอื่นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์จะตรัสถาม แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่แสดงธรรม คือ ให้บุคคลนั้นแสดงลัทธิ ความเห็น ความชอบใจของเขาก่อน และพระองค์ก็จะตรัสถามซักไซ้ในเหตุผลจนกระทั่งบุคคลนั้นเห็นว่า สิ่งที่เคยเชื่อเคยชอบใจเป็นลัทธิของตนนั้นปราศจากเหตุผล จากนั้นจึงทรงแสดงธรรมในภายหลัง แต่บุคคลนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่พร้อมที่จะรับฟังแล้วไปเฝ้า แต่สำหรับคนในยุคนี้สมัยนี้ ก็มีข้ออ้างมากอย่างที่ว่า คือ จะให้ศึกษาธรรมก็บอกว่าไม่มีเวลา หรือว่าไม่ทราบว่าจะมีประโยชน์อะไร

    เพราะฉะนั้น ธรรมไม่จำเป็นต้องใช้คำ หรือใช้ชื่อ เป็นชีวิตปกติประจำวัน และก็มีการสนทนากันตามโอกาส มีการไต่ถาม สอบถามข้อธรรมเล็กน้อยปลีกย่อย ไม่ใช่โดยตรงที่จะมุ่งให้คนนั้นศึกษา เพราะทราบอัธยาศัยของบุคคลนั้นว่า ยังไม่พร้อมที่จะศึกษา แต่สามารถที่จะชี้สิ่งที่เขาควรจะพิจารณาในชีวิตจริงๆ ของเขาในขณะนั้นตามควร แต่ว่าเป็นเรื่องที่ยากแน่นอน

    นาถกรณธรรม ประการที่ ๖ มีข้อความว่า

    ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เจรจาน่ารัก มีความปราโมทย์ยิ่งในพระอภิธรรม ในพระอภิวินัย

    แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนใคร่ในธรรม เจรจาน่ารัก มีความปราโมทย์ยิ่งใน พระอภิธรรม ในพระอภิวินัย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ฯ

    ถ้าเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างก็จะราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไรเลย พรั่งพร้อมแวดล้อมด้วยกุศลทั้งหมด เพราะว่า ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เจรจาน่ารัก มีความปราโมทย์ยิ่งในพระอภิธรรม และในพระอภิวินัย

    เจรจาน่ารัก เกิดเพราะกุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตาได้ การเจรจาน่ารัก คือ ใช้คำที่ไม่กระทบกระเทือนจิตใจของบุคคลอื่น เป็นคำที่ฟังแล้วไม่แสบร้อนเหมือนคำที่ท่านอุปมาว่า เหมือนก้านบัวที่แยงเข้าไปในช่องหู ก้านบัวย่อมมีหนามขรุขระ เพราะฉะนั้น คำพูดที่ไม่น่าฟังก็เปรียบเหมือนกับก้านบัวที่แยงเข้าไปในช่องหู

    แม้รู้อย่างนี้ วันหนึ่งๆ เจรจาน่ารักมากหรือน้อย เรื่องรู้ เป็นเรื่องที่มีจริงๆ แต่เรื่องที่จะกระทำตาม เป็นผู้ที่น่ารัก ทั้งมีความปราโมทย์ยิ่งในพระอภิธรรม คือ ในธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ในพระอภิวินัย ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติทางกาย ทางวาจาที่ละเอียด

    ทางกาย ทางวาจานี้ ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้จะไม่ละเอียด เพราะว่าไม่ทันกับอกุศลจิตซึ่งทำให้กายวาจาเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายใช่ไหม เจรจาน่ารัก ไม่น่าจะยากเลย แต่อกุศลธรรมที่สะสมมา ไม่ยอมให้เป็นเรื่องง่ายอย่างนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เป็นผู้ที่รู้ว่า มีสติเกิดที่จะยับยั้งวาจาที่หยาบคาย หยาบกระด้างไม่น่าฟัง เป็นผรุสวาจา เป็นมุสาวาท คำพูดที่ไม่จริง หรือเป็นสัมผัปปลาปะบ้างหรือไม่

    . ทำไมพูดถึงปราโมทย์ในพระอภิธรรม และในพระอภิวินัย แต่ไม่ได้พูดถึงปราโมทย์ในพระสูตร

    สุ. ถ้ารวมแล้ว ก็เป็นพระธรรมกับพระวินัย

    . ทุกวันนี้มีหลายอาจารย์ บางอาจารย์สรรเสริญพระอภิธรรม ตำหนิ พระสูตร บางอาจารย์ก็สรรเสริญพระสูตรและพระวินัย ตำหนิพระอภิธรรม ถามว่า อาจารย์ทั้งสองนี้เป็นผู้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคหรือไม่

    สุ. พระสูตรเป็นของใคร พระอภิธรรมเป็นของใคร ใครทรงแสดงพระสูตร ใครทรงแสดงพระอภิธรรม ใครทรงแสดงพระวินัย

    . อาจารย์ที่สรรเสริญพระอภิธรรม ท่านกล่าวว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาค แต่อาจารย์ที่ตำหนิพระอภิธรรม สรรเสริญพระวินัยและพระสูตรนั้น ท่านกล่าวว่า พระสูตรและพระวินัยเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาค ส่วน พระอภิธรรมไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาค

    สุ. ท่านศึกษาพระอภิธรรมแล้วหรือจึงได้กล่าวว่า พระอภิธรรมไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาค

    . ผมก็ไม่ได้ถาม แต่คิดว่าท่านคงไม่ได้ศึกษา

    สุ. ในพระอภิธรรมมีอะไรบ้างที่ไม่ปรากฏในพระสูตร ไม่มี เพราะฉะนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น จะกล่าวอย่างนั้นหรือจะกล่าวอย่างอื่น หรือจะกล่าวอย่างไรก็ได้ ตามความคิดเห็นและความเชื่อของตน แต่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุผล

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้จะไม่ใช่ชื่อบัญญัติว่า พระสูตร หรือพระอภิธรรมก็ตาม แต่ก็เป็นพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    . อาจารย์ท่านต่างๆ ที่กล่าวอย่างนั้น ผมอยากจะรู้ว่า ท่านนับถือพระผู้มีพระภาคจริงหรือไม่

    สุ. ถ้าถามท่านเหล่านั้น ท่านต้องบอกแน่นอนว่า ท่านนับถือจริง แต่การนับถือมีหลายอย่าง นับถือโดยพระคุณขั้นไหน พระคุณขั้นศีล พระบริสุทธิคุณ หรือพระมหากรุณาคุณ หรือพระปัญญาคุณ

    ถ้าเป็นการนับถือในพระปัญญาคุณ ต้องเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงพระอภิธรรม ก็น่าจะนับถือคนอื่นที่แสดงอภิธรรมว่า แสนเก่ง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ไม่เป็นการประกอบพร้อมด้วยเหตุและผลเลย ถ้าจะกล่าวอย่างนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๘๑ – ๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564