แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
ครั้งที่ ๖๘๘
ถ. ความหวังทั้งสอง เวลานี้ดูเหมือนจะมีเท่าๆ กัน แต่ความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะมีมากกว่า
สุ. หวังทั้ง ๒ อย่างใช่ไหม
ถ. หวังทั้ง ๒ อย่าง แต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหนักกว่า เพราะฉะนั้น บางครั้งทำให้มีความเห็นผิด ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กามวิตกนี่ไม่สมควร ขณะที่มีสติก็พิจารณาตามที่พระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่า กามวิตกนี่ไม่สมควร แต่ก็เป็นความจำเป็น เอาความจำเป็นขึ้นมาอ้างในฐานะคฤหัสถ์
บางครั้งนั่งอยู่ ก็วางโครงการที่จะดำเนินกิจการว่า ควรทำอย่างไรกิจการจึงจะเจริญ ควรทำอย่างไรจึงจะมีความก้าวหน้าในกิจการ ซึ่งก็รู้อยู่ว่า เป็นกามวิตกทั้งนั้น และพระผู้มีพระภาคก็ทรงตำหนิ แต่ก็ชักจะค้านกับพุทธพจน์ ก็เราเป็นคฤหัสถ์ การดำเนินกิจการก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
สุ. เพราะฉะนั้น ปัญญามีตามลำดับขั้น ถ้ายังเป็นปุถุชน ก็อบรมเจริญปัญญาที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน อย่าไปพากเพียรอบรมเจริญปัญญาที่จะดับโลภะหรือกามวิตก โดยที่ยังไม่ได้ดับมิจฉาทิฏฐิ โดยที่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ด้วยเหตุนี้ ปัญญาที่เป็นที่พึ่งซึ่งจะเกิดขึ้น จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้น อย่าไปหวังที่จะไปดับกามวิตกในเบื้องต้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่อบรมเจริญปัญญาให้ถึงขั้นที่จะดับสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเสียก่อน
ถ. แบบนี้จะถูกหรือ เมื่อรู้ว่าอกุศลทั้งหมดเป็นธรรมที่ไม่ดี กุศลทั้งหมดเป็นธรรมที่ดี เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อกุศลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถ้ามีโอกาสจะดับได้ก็ควรจะดับ มีโอกาสที่จะรู้ได้ก็ควรจะรู้ ควรจะขัดเกลาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าอกุศลอะไรทั้งสิ้น
สุ. เพียงรู้ว่า อกุศลธรรมไม่ดี กุศลธรรมดี เท่านี้ไม่พอ แต่จะต้องประจักษ์แจ้งความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้าในขณะนี้
เรื่องที่จะดับ ควรที่จะดับทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เห็นโทษของโลภะ กามวิตก อยากดับเหลือเกิน แต่ยังเป็นเรา มีท่านผู้ฟังบอกว่า ยังไม่อยากดับ
เพราะฉะนั้น ดับสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก่อนดีไหม ในเมื่อยังไม่อยากดับโลภะที่เป็นกามวิตก ซึ่งเป็นการถูกต้องแล้ว เพราะปัญญายังไม่เห็นโทษถึงขั้นนั้น ขอให้เห็นโทษของการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเสียก่อน เห็นว่าผิดจริงๆ เป็นโทษจริงๆ จึงจะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ถึงขั้นที่จะดับความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ และปัญญาที่เห็นโทษของกามวิตกหรือโลภะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจึงจะเกิดได้
ในหนังสือแบบเรียนเด็ก ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะเคยผ่านมา ที่ลูกถามพ่อว่า อะไรหมดสิ้นเร็วเหลือเกินใน ๗ สิ่งนี้ คือ น้ำไหล ลมพัด ดาวหมุน ฟ้าแลบ พลุ เมฆเคลื่อน นกบิน ใน ๗ อย่างนี้ อะไรหมดสิ้นเร็วที่สุด เป็นคำถามของเด็กๆ เท่าที่เด็กจะคิดถามได้ ซึ่งพ่อก็บอกลูกว่า ที่กล่าวมานั้นยังเป็นความคิดที่ไกลความจริง เพราะว่าความสุขนั่นแหละเป็นของสั้น เสื่อมเร็ว สูญเร็วกว่าทุกอย่าง จริงไหม
วันหนึ่งๆ อยากจะได้ความสุขนัก แต่ได้มานิดเดียว หมดทันที สุขหายไปแล้ว ไม่ได้มีความยั่งยืนถาวรเลยในความสุขที่ปรารถนา และกว่าจะได้มาก็แสนยาก แสนลำบาก จะต้องพากเพียรถึงจะได้ความสุขนั้นมา แต่พอได้มาแล้ว ก็ชั่วคราว ชั่วครู่ นิดเดียว
เพราะฉะนั้น โดยความเข้าใจของคนทั่วไป ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่า ความสุขเป็นของที่เล็กน้อย เป็นสิ่งที่สูญเร็วที่สุด เสื่อมเร็วที่สุด หมดสิ้นหายไปเร็วที่สุด แต่นั่นก็เป็นความเข้าใจโดยทั่วๆ ไป แต่ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะความสุขเท่านั้น เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของความสุขที่เกิดดับสืบต่อกันให้ปรากฏเป็นความสุข ก็จะไม่รู้ว่า ความสุขนั้นสั้น น้อยมาก แต่ถ้ารู้ลักษณะของความสุขแต่ละขณะ จะยิ่งเห็นความสั้นของความสุข และความสั้นของสภาพธรรมทั้งหลาย ซึ่งเหมือนกันหมด คือ เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป
ได้กล่าวถึงกุศลธรรมที่เป็นนาถกรณธรรม ธรรมที่เป็นที่พึ่งทั้ง ๑๐ ประการแล้ว และประการที่สำคัญที่สุด คือ ปัญญา เพราะสามารถดับกิเลสได้ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ในเรื่องกุศลจิตที่เป็นความนอบน้อม ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แล้วแต่ว่ากิเลสของใครจะมีมาก ก็ทำให้ความนอบน้อมนั้นเกิดยาก แต่ถ้ากิเลสมีน้อย ก็ไม่ยากนักที่จะมีความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่นอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมและพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ยิ่งมีความเข้าใจในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมากเท่าไร ความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยและผู้ที่ควรนอบน้อมก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องโลกธาตุต่างๆ ที่เป็น พระอานุภาพของพระองค์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาสภาพจิตของท่านได้ว่า ท่านจะมีความนอบน้อมมากหรือน้อย เมื่อได้ทราบข้อความในพระสูตรนี้
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต จูฬนีสูตร มีว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกร อานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่าอภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วย พระสุรเสียง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร อานนท์ นั่นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ฯ
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่แสนจะน่าอัศจรรย์ในยุคนี้ แต่ท่านผู้ฟังอาจจะเทียบเคียงได้ว่า เป็นไปได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ ... พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุเพียงเล็กน้อย ฯ
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่งเทศนาที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลายได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ
เรื่องของโลกธาตุ เป็นเรื่องที่ส่วนมากท่านผู้ฟังสงสัยไม่มีวันจบใช่ไหม ยิ่งมองเห็นจักรวาล หรือดวงดาวต่างๆ ก็ยิ่งใคร่ที่จะรู้ว่า สภาพธรรมในที่อื่นที่แสนไกลนั้นเป็นอย่างไร หรือว่ามีอะไรบ้าง ที่ท่านพระอานนท์กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ก็เป็นเพราะเหตุว่า ท่านพระอานนท์ไม่ได้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรม ในโลกธาตุเท่าที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์แจ้ง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร อานนท์ จักรวาลหนึ่ง มีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง
ดูกร อานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่า โลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล
ดูกร อานนท์ ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลเมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนก็รู้สึกว่า ฟังดูแล้วเหลือเชื่อ แต่สำหรับสมัยนี้ มนุษย์ธรรมดาซึ่งยังไม่ใช่พระสาวก ยังไม่ใช่แม้พระอรหันต์ ยังไม่ใช่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังสามารถจะส่งเสียงไปได้แสนไกลในโลกอื่น ทั้งภาพด้วย ทั้งเสียงด้วย ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ธรรมดา และในบางพระสูตร ท่านผู้ฟังก็ทราบว่า มีข้อความที่กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับท่านพระมหาโมคคัลลานะด้วยใจ คือ ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ แม้ว่าไม่ได้เสด็จไป ซึ่งคนสมัยนี้ก็ทำได้ ไม่ต้องไปหากันก็คุยกันได้ทางโทรศัพท์ นี่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้เป็นพระสาวก ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า
ถ้าสมัยนี้ทำไม่ได้ คนยุคนี้ก็จะไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่การกระทำที่เป็นไปได้สำหรับคนธรรมดา ที่สามารถจะสนทนากันแม้ว่าจะอยู่ไกล โดยที่ไม่ต้องไปหากัน ทำให้เข้าใจในทางวิชาการว่า สามารถที่จะเป็นไปได้
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังมีกิเลสยังทำได้อย่างนี้ ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานุภาพของพระองค์จะเกินจักรวาลไปมีประมาณเท่าไร ก็ย่อมเป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือสมัยนี้เลย ซึ่งเครื่องมือในยุคนี้สมัยนี้ก็เกิดขึ้นจากจิตของคนที่มากมายด้วยกิเลส สามารถที่จะทำได้เพียงเท่านี้ ถ้าจิตผ่องใสปราศจากกิเลส ประกอบด้วยสติปัญญาซึ่งแทงตลอดในธาตุทั้งหลาย ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำสิ่งซึ่งน่าอัศจรรย์ ด้วยอานุภาพของความบริสุทธิ์ของจิตนั้นได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า
เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอ ที่ข้าพระองค์มี พระศาสดาผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่าน พระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้
เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า ดูกร อุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นเจ้าจักรพรรดิใน ชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกร อุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง ฯ
จบ อานันทวรรคที่ ๓
ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นผลของกุศล คือ อปจายนะ ความนอบน้อมที่ท่าน พระอานนท์มีต่อพระผู้มีพระภาค ซึ่งถ้าท่านพระอานนท์ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ ผลของจิตที่เลื่อมใสนั้นก็จะมีมาก ที่จะทำให้ท่านพระอานนท์เป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีป ๗ ครั้ง แต่นั่นไม่ใช่ความปรารถนาของท่านพระอานนท์ คือ ท่านไม่ได้หวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในวันหนึ่งๆ อย่างคนที่ยังไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นคุณของปัญญาว่าเหนือสิ่งอื่นใด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงพยากรณ์ท่านพระอานนท์ว่า อานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง
ท่านผู้ฟังสงสัยไหมว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง ละเอียดถี่ถ้วน และได้ไกลมาก เพราะเหตุใด
ถ้าท่านผู้ฟังเห็นคนดื่มยาพิษ ท่านทราบไหมว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้ว่าไม่ใช่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งในอัธยาศัย ในอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายโดยละเอียด เมื่อรู้แจ้งอินทรีย์ คือ ปัจจัยของสัตว์ทั้งหลาย ก็ย่อมที่จะรู้กำลังของอินทรีย์ซึ่งเป็นปัจจัยนั้นว่า จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอะไรเกิดขึ้นในกาลอนาคตสำหรับแต่ละบุคคล
จากข้อความในพระสูตรนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นความเลื่อมใสของท่านพระอานนท์ซึ่งตรงข้ามกับสุนักขัตตะโอรสเจ้าลิจฉวี ซึ่งแม้ว่าจะติดตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง แต่ไม่เห็นในอานุภาพของพระผู้มีพระภาค ในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์
และที่ท่านพระอุทายีกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ซึ่งท่าน พระอุทายีก็คงจะคิดว่า การที่ท่านพระอานนท์แสดงความเลื่อมใสถึงอย่างนั้น จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเป็นอานุภาพของผู้อื่น คือ เป็นอานุภาพของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นผลของความเลื่อมใส ซึ่งเป็นความนอบน้อมอย่างยิ่งของท่านพระอานนท์ที่มีต่อพระองค์ จึงได้แสดงผลของความนอบน้อมของจิตที่เลื่อมใสนั้นว่า ดูกร อุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง
ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้ใครปรารถนาที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือว่าเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า เมื่อมีศรัทธาที่มีกำลังอย่างนั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้ได้รับผลอย่างไรตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๘๑ – ๖๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720