แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692


    ครั้งที่ ๖๙๒


    ถ. บางครั้งเราผ่านไปตามตลาด รู้ว่าในตลาดเต็มไปด้วยสินค้า และแม่ค้าขายของ ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจ ก็ไม่รู้ว่าเขาขายอะไรกัน แต่ถ้าเราใส่ใจ ไปจ้อง ไปดู ไปเลือก เราก็รู้ว่า นี่เป็นลูกเงาะ นั่นมะละกอ นี่เงาะจันทบุรี จะดี จะหวาน จะเปรี้ยวอย่างไร เมื่อมีการใส่ใจเราก็รู้ แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจ เดินผ่านไป ก็ไม่ได้รู้อะไรเลยเหมือนกัน

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นขณะที่ต่างกัน ซึ่งเป็นชีวิตปกติประจำวันที่สามารถจะพิสูจน์ความจริงได้ว่า ขณะที่สนใจ นึกถึงเป็นเรื่องเป็นราวนั้นขณะหนึ่ง ต่างกับขณะที่เพียงเห็นและไม่ได้ใส่ใจระลึกถึงเรื่องราวของสิ่งนั้น แต่การที่จะไปบังคับไม่ให้คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัย คือ การจดจำในสิ่งที่ปรากฏ ทำให้นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งนั้น

    ถ. นี่ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน คือ เมื่อเราเดินผ่านไปและไม่ได้ใส่ใจในสินค้าต่างๆ กับขณะที่กำลังเลือกสินค้าต่างๆ ที่เราต้องการ ทั้ง ๒ ขณะนั้น เมื่อสติเกิดขึ้น พิจารณาสภาพธรรมต่างๆ ในขณะที่เลือกก็ดี ในขณะที่เดินผ่านไปก็ดี การพิจารณาทั้ง ๒ ขณะนั้นควรจะต่างกันอย่างไร มีอะไรที่จะให้รู้ในขณะนั้น

    สุ. เห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่สติระลึกรู้ได้ นึกคิดก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งสติระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดว่า สติจะต้องระลึกเฉพาะเห็น หรือว่าระลึกเฉพาะคิดนึก แล้วแต่สติที่จะเกิดรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังรู้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สภาพที่เพียงเห็น เพราะว่า มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่เราชำนาญกับการเป็นตัวตนมาก เท่าที่ผมปฏิบัติ ที่ตัวเองมีสติ ระลึกทีไรเจอนามที่รู้บัญญัติทุกที นามที่ตรึกถึงว่าได้ยินเสียงอาจารย์ สติระลึกทีไร ตรงนามที่รู้บัญญัติทุกที รู้ว่าเสียงอาจารย์ เสียงรถยนต์ รู้นามที่รู้บัญญัติ แต่สภาวะของเสียงไม่รู้ อย่างเวลาที่เขาพูด มีอะไรๆ ปนกันหลายอย่าง ผมก็ใช้วิธีระลึกบ่อยๆ หลายๆ ครั้ง หนักๆ เข้าก็รู้สภาวะจนได้

    สุ. นี่ก็เป็นวิธีที่ถูก คือ ท่านผู้ฟังเองก็บอกว่า เวลาที่ได้ยิน รู้เรื่องไปเรื่อยๆ ทุกทีๆ ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่รู้เรื่อง ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่เสียง แต่เพราะสังเกตรู้ว่าเป็นการรู้เรื่อง ยังไม่ใช่การระลึกรู้เสียง หรือรู้สภาพที่ได้ยิน จึงทำให้มนสิการหรือว่าศึกษาลักษณะของเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ ก็เพิ่มความรู้ขึ้นในลักษณะของเสียง แต่ก็ยังไม่พอ ยังมีอีกมากมายเหลือเกินที่สติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

    สภาพรู้เสียงขณะที่เสียงปรากฏมีจริง แต่เมื่อยังไม่เคยระลึกรู้ ยังไม่ชิน วัน ต่อๆ ไป สติก็จะเริ่มเกิดขึ้น สำเหนียก รู้ว่าเป็นอาการรู้เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้เสียง ไม่ใช่อาการรู้ธาตรู้ที่กำลังเห็น ไม่ใช่อาการรู้ธาตุรู้ที่กำลังรู้คำ ในขณะที่คิดเรื่องต่างๆ ปัญญาก็ต้องเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากการรู้นามหนึ่งไปอีกนามหนึ่ง จากรูปหนึ่งไปอีกรูปหนึ่ง โดยที่ผู้อบรมเจริญสติจะรู้ได้ว่า เท่าไร ๆ ก็ไม่พอ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมมากมายเหลือเกินที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด

    ถ. ผมรู้สึกว่า สภาพธรรมมีมาก และที่จะรู้สภาวะก็ยากเหลือเกิน แต่รู้สึกว่า วิธีที่จะรู้ซ้ำๆ ซากๆ บ่อยๆ พยายามบ่อยๆ พยายามระลึกรู้สภาวะของนามและรูปบ่อยๆ ถึงจะรู้นามที่รู้ตัวตนก็รู้ไป เป็นสภาวะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำๆ อีก บางครั้งก็รู้นามที่รู้เสียง บางครั้งก็รู้สภาวะของเสียง ซึ่งขณะนั้นไม่ได้รู้บัญญัติ ซ้ำกันอยู่อย่างนั้น กลับไปกลับมาอย่างนี้

    สุ. ช่างช้าเหลือเกิน ใช่ไหม ไม่ทันใจเลย ชาติเดียวไม่พอ กัปเดียวไม่พอ กัปหนึ่งนานเท่าไร ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พอที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ คือในขณะนี้เอง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งกำลังเกิดดับด้วย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ อบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    หรือท่านผู้ฟังใจร้อน อยากจะให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่านเหมือนกับชาติสุดท้ายของท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ หรือมิฉะนั้นก็เป็นชาติที่ได้บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลอย่างชาติของท่านอนาถบิณฑิกะ หรือชาติของวิสาขามหาอุบาสิกา

    ถ. ไม่ใช่ว่าใจร้อน แต่ว่าเบื่อหน่าย รู้สึกว่า กว่าจะรู้สภาวะแต่ละครั้งยากเหลือเกิน หลงลืมสติตั้งแต่เช้าจนค่ำเท่าไรก็ไม่รู้ กว่าจะมีสติระลึกได้ ก็เป็นตัวตนทุกที กว่าจะรู้สภาวะได้ ก็บางครั้งบางคราว แต่เมื่อรู้แล้ว ก็ปลื้มปีติ เป็นสุขมากเหลือเกิน

    สุ. มีท่านผู้ฟังกล่าวว่า ก่อนการเจริญสติปัฏฐานไม่ทราบเลยว่ามีกิเลสมาก เมื่อครู่นี้ที่อยากๆ นั่นเป็นกิเลสหรือเปล่า หรือว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันทีจริงๆ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กว่าจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติ จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ทั่วไม่ได้

    ถ. ผมรู้สึกว่า ที่เราจะรู้สภาวะนามรูปนี้ จะต้องรวดเร็วเท่ากับนามที่รู้บัญญัติ พอรับเสียงปั๊บรู้ว่าเสียงนี้เสียงอะไร เสียงรถ ต้องให้เร็วจนกระทั่งเท่ากับที่รู้บัญญัติ สภาวธรรมต้องเร็วอย่างนี้ และเหมือนอย่างนี้ จึงจะมีโอกาสได้ญาณทีละขั้นต่างๆ จนบรรลุถึงความสิ้นกิเลส ซึ่งแสนยากเหลือเกิน

    สุ. นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง แต่ว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วก็ไม่ท้อถอย เป็นผู้ที่อดทน ซึ่งท่านก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันมามากโดยอาศัยความอดทน อาศัยความเพียร แม้แต่พระอินทร์ก็สรรเสริญความอดทนไว้มาก

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต มีข้อความที่สรรเสริญความอดทนไว้มาก เช่น วิโรจนอสุรินทสูตรที่ ๘ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเข้าที่พักกลางวัน ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดากับท้าววิโรจนะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ยืนพิงบานพระทวารองค์ละข้าง ฯ

    ลำดับนั้นแล ท้าววิโรจนะจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

    เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ นี้เป็นถ้อยคำของวิโรจนะ ฯ

    ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสว่า

    เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์ทั้งหลายงดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์อื่นยิ่งกว่าขันติไม่มี ฯ

    ความสำเร็จจะมีไม่ได้เลยถ้าขาดความอดทน เข้าใจความหมายของความอดทนหรือยังว่า ความอดทนนั้นคืออย่างไร โดยเฉพาะสำหรับการอบรมเจริญปัญญา ขณะเมื่อครู่นี้อาจจะผ่านไปด้วยการหลงลืมสติ แต่ว่าอดทน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่ว่าเพียงระลึก และไม่ใช่ว่า เมื่อระลึกแล้วรู้ทันที เป็นไปไม่ได้ ไม่มีปัญญาขั้นไหนซึ่งคมกล้าที่จะเกิดขึ้นเองโดยขาดการศึกษา ขาดการอบรม เพราะฉะนั้น ทางตาที่ว่ายากแสนยาก ก็จะต้องรู้ได้ในวันหนึ่ง ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เริ่มระลึกได้ตามปกติในขณะนี้ พร้อมทั้งศึกษา คือ เริ่มเข้าใจ เริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ถ้ายังไม่เกิดความรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ศึกษาให้เข้าใจว่า ที่กำลังปรากฏนี้เป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง โดยไม่หลงลืมที่จะรู้อย่างนี้

    ในขณะที่เห็น ยังเป็นความรู้ไม่ชัด ก็ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะชินในลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้นเอง จนภายหลังปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และรู้ความต่างกันของขณะที่เพียงเห็น กับขณะที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    นี่คือความอดทนอย่างยิ่ง อดทนพร้อมทั้งการศึกษา คือ การเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่หลงลืม

    ถ. มีอะไรที่จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สนับสนุนให้สติปัญญาเกิดรวดเร็วขึ้น เพิ่มมากขึ้น

    สุ. ระลึกเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เท่านั้น

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานจะได้บรรลุมรรคผล หรือรู้ตามญาณขั้นต่างๆ นี้ อย่างนี้จะเป็นการสนับสนุนหรือไม่ เช่น เมื่อผมเดินเข้าวัดมา เห็นเด็กๆ จับผีเสื้อกัน ก็บอกให้ปล่อยผีเสื้อ และให้เงินเขา ก็เป็นอันตกลงกัน ซึ่งผมก็รู้ว่า จิตเราเห็นผีเสื้อ ตอนแรกเราก็สงสาร มีสตินิดหน่อยแล้วก็หมดไป ผมอธิษฐานว่า ขอให้ผลของกุศลนี้จงเป็นเหตุให้ผมรู้ทั่วถึงธรรมในการปฏิบัติ แบบนี้จะช่วยสนับสนุนในภพใหม่ไหม หรือว่ามีวิธีเดียว คือ ระลึกอยู่เรื่อยๆ จึงจะช่วยสนับสนุนในภพชาติใหม่ให้สติเกิดมากขึ้น รู้ทั่วถึงในธรรม

    สุ. ความตั้งใจมั่นในการที่จะให้ไม่หลงลืมสติ พร้อมทั้งระลึก ศึกษา รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นไปโดยการอธิษฐาน หรือว่าเป็นในขณะที่สติระลึกทันที แบบไหนจะมั่นคงกว่ากัน

    ถ. การปฏิบัตินี่โดยตรงอยู่แล้ว แต่การกระทำของผมดังกล่าวจะช่วยให้ปัญญาในภพต่อไปเจริญยิ่งกว่าเก่าไหม จะช่วยได้บ้างไหม ทางอ้อมก็ยังดี ซึ่งผมคิดว่าคงจะได้

    สุ. เป็นปัจจัยไม่ให้หลงในภพ ในชาติ ไม่ให้หลงเพลิดเพลินมัวเมาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะเป็นความตั้งใจมั่นที่จะให้มีการไม่หลงลืมพร้อมทั้งความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่กำลังอธิษฐาน ขณะที่กำลังตั้งใจ กับขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกจริงๆ แบบไหนจะเป็นความมั่นคงกว่ากัน

    ถ. จริงอยู่ ขณะปฏิบัติอยู่มั่นคงกว่า แต่อาจารย์เคยบรรยายว่า ใครไม่ทราบผมจำชื่อไม่ได้ คือ ผู้ที่บรรลุมรรคผลนั้น มีกุศลอดีตที่เขาสร้างไว้ คือ ถวาย ไม้ขอให้ภิกษุสงฆ์ อาศัยกุศลนั้นมาสนับสนุนให้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบันบุคคล

    สุ. อย่าลืม ต้องไตร่ตรองธรรม และประกอบในเหตุในผลด้วย ถ้าเข้าใจง่ายๆ อย่างนั้น ก็ถวายไม้ขอทุกวันๆ และจะเป็นไปได้ไหม ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แม้แต่ขณะที่อธิษฐาน หรือมีความตั้งใจมั่น เป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้คิดอย่างนั้น ที่จะให้มีความตั้งใจมั่นอย่างนั้น แต่สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะที่กำลังตั้งใจมั่นอย่างนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่สำคัญที่สุด คือ รู้ทั่ว แม้ในขณะที่กำลังมีความตั้งใจอย่างนั้นก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ต้องเข้าถึงลักษณะของความไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลใดๆ เลยในสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะโดยมากท่านผู้ฟังก็มีความเข้าใจทั่วๆ ไปในลักษณะของสภาพธรรม เช่น วันนี้รู้สึกว่าโกรธมาก หงุดหงิดมาก ท่านผู้ฟังรู้ว่า ลักษณะของความโกรธเป็นอย่างไร และท่านผู้ฟังก็มีคำพูดที่ตรง คือ เราโกรธหลายครั้ง หรือว่าเราหงุดหงิด แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมโดยศึกษาในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่กลับมีเราพัวพันอยู่ในอาการของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งจะต้องเจริญสติและปัญญาที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น จริงๆ จนกระทั่งไม่มีเราพัวพันในอาการลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    บางคนมีการรู้สึกตัวเวลาโกรธ เพราะว่ามีลักษณะของโกรธปรากฏ แต่ว่าไม่ทิ้งความพัวพันด้วยความเป็นเราในอาการโกรธนั้นด้วย เพราะว่าปัญญายังไม่รู้ชัดจริงๆ แต่ความรู้สึกว่าเป็นเราจะทิ้งออกไปได้ยากเหลือเกิน ถ้าปัญญาไม่เพิ่มขึ้น

    เพียงแต่รู้ว่าวันนี้โกรธกี่ครั้ง สบายใจกี่ครั้ง หรือว่ามีความตระหนี่ มีความเมตตากรุณากี่ครั้ง ก็ยังคงมีความเป็นเราในอาการของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาจริงๆ พร้อมการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด ไม่ใช่ว่าต้องทำอย่างอื่นเลย ปกติในชีวิตประจำวัน ในสังสารวัฏฏ์

    ผู้ฟัง มีเพื่อนดิฉันคนหนึ่งไปฟังเทศน์มา เขาก็มาอธิบายให้ดิฉันฟัง บอกว่าพระท่านเทศน์ดีมาก ท่านบอกว่า ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู กูไม่มี ตัวของเราไม่มี ปล่อยวางทั้งหมด ไม่ให้ยึดถือ ดิฉันก็ถามว่า แล้วปล่อยวางอย่างท่านบอกได้ไหม เพื่อนคนนั้นก็บอกว่า ปล่อยวางไม่ได้ ไม่รู้จะหาวิธีปล่อยวางอย่างไร ดิฉันก็เลยแนะนำให้ฟังธรรมบรรยายของอาจารย์ที่อัญเชิญมาจากพระไตรปิฎกมาสอน เขาก็รับฟัง แต่ไม่รู้ว่าเขาจะฟังด้วยความเข้าใจหรือไม่ เพราะดิฉันบอกว่า ที่อาจารย์สอนนี้เป็นทางที่ช้ามาก แต่ว่าละเอียดและแน่นอน ยังความเข้าใจให้แก่คนที่ปฏิบัติตามนี้เพิ่มขึ้นได้จริงๆ ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็รู้สึกว่าตนเองเป็นคนดี เป็นคนมีมารยาท พูดจาก็ดี แม้ว่าจะมีความโกรธ ก็ยังข่มใจวางหน้าว่าเป็นคนจิตใจดี แต่พอปฏิบัติแล้วก็รู้ว่าตนเองนี้ มายาก็มี กิเลสต่างๆ ก็มี เสแสร้งก็มี

    สุ. เพราะฉะนั้น สติมีคุณมาก แม้แต่สภาพมายา มารยา หรือว่าการหลอกลวง ตนเองก็สามารถที่จะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564