แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
ครั้งที่ ๖๙๓
สุ. สภาพธรรมทั้งหลายเกิดปรากฏกับแต่ละท่านตามเหตุตามปัจจัย สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จะเป็นอกุศลที่น่าเกลียด น่ารังเกียจสักเท่าไรก็เป็นของจริงที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ไม่ใช่ว่าให้เลือก ให้เว้น ไประลึกรู้แต่กุศลธรรม ธรรมที่ดีๆ ทานบ้าง ศีลบ้าง อะไรที่ดีๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง ปัญญาจะต้องรู้ชัด จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
แต่ละท่านในขณะนี้ไม่เหมือนกันเลย แม้ความคิดนึก แต่ละขณะก็ยังบอกคนอื่นไม่ได้ว่าคิดอะไร เพราะว่าสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดดับผ่านไปด้วยความหลงลืมสติ จึงไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และมากมาย
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ปกติ ระลึกตามความเป็นจริงขณะไหนก็ได้ แล้วแต่ว่าขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏอย่างไร สติก็สามารถที่จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้มีแต่ในเฉพาะชาตินี้ที่เป็นมนุษย์ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้สั้นมาก ในอายุกัป ในอายุขัยนี้ก็คงจะไม่เกิน ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ปรากฏในช่วงที่สั้นไม่ถึง ๑๐๐ ปี จะเป็นสภาพธรรมที่ให้ความจริงกับสติและปัญญามากน้อยเท่าไร ก็ต้องแล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และศึกษารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไร ก็สะสมความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่ได้ศึกษาแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดการระลึกได้และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชาติต่อไปอีก ซึ่งต้องเป็นภพชาติที่เป็นสุคติภูมิ
แม้เกิดแล้วในสวรรค์ ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งไปเสียชาติหนึ่ง ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ว่าทางตาจะเห็นอะไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเกิดความนึกคิดวิจิตรอย่างไรในภพภูมิต่อไป ซึ่งเป็นสุคติภูมิ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งปรากฏอย่างนั้น สติก็จะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง จึงจะถ่ายถอนความยึดถือความเห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ถ้าในชาติที่เป็นมนุษย์ ท่านสะสมมาที่จะคิดอย่างนี้ ที่จะประกอบด้วยมานะ ความสำคัญตน ความถือตน ความยกตนข่มผู้อื่นอย่างนี้ หรือประกอบไปด้วยความตระหนี่อย่างนี้ ซึ่งความตระหนี่ มีทั้งตระหนี่ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นลาภ หรือบางท่านตระหนี่ถึงกับคำสรรเสริญ จะสรรเสริญบุคคลที่ควรแก่การสรรเสริญก็ไม่ได้ เพราะความตระหนี่แม้ในคำสรรเสริญ ตามความเป็นจริง ตามกิเลสซึ่งมีมาก และมีลักษณะต่างๆ กันที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
หรือว่าจะเป็นความริษยา ความหวงแหนในลักษณะอาการต่างๆ ในภพหนึ่งในชาติหนึ่งก็ต่างกันไป ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้อย่างละเอียด และปัญญาจะต้องรู้ทั่ว จริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ จึงจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ คมกล้าเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น จนถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทฬิททสูตรที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งท่านจะเทียบเคียงได้ว่า ถ้าท่านเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อจากชาตินี้ ท่านยังจะมีความรู้สึก หรือว่าความนึกคิดเหมือนอย่างที่เคยเป็น เคยมี ในครั้งที่เป็นมนุษย์บ้างไหม ซึ่งจะไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากภูมินี้ที่เป็นโลกมนุษย์เป็นอีกภูมิหนึ่ง แต่การสะสมมาของกิเลสทั้งหลาย ของอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ยังมีปัจจัยเกิดขึ้น แม้อยู่ในภูมิอื่น
ใน ทฬิททสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครราชคฤห์นี้แล ได้มีบุรุษคนหนึ่งเป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์กำพร้า เป็นมนุษย์ยากไร้ เขายึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ครั้นเขายึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ได้อุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ คือ ความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เทพบุตรนั้นรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ ฯ
ในโลกนี้มีบุคคลซึ่งมีฐานะต่างๆ กัน บางคนเป็นคนขัดสน ยากไร้ และท่านผู้ฟังมีความรู้สึกต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ตามความเป็นจริง เคยสังเกตจิตใจไหมว่า ถ้าพบบุคคลที่ขัดสน ยากไร้ ท่านรู้สึกอย่างไร มีความเห็นใจ มีความเมตตา มีความกรุณา มีความเป็นผู้มีตนเสมอกับคนที่ยากไร้ขัดสนไหม หรือว่ามีความยกตน ดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะว่าบางคนอาจจะคิดถึงชาติสกุล ฐานะ ยศ ความรู้ ทำให้เกิดความต่างกันกับคนอื่น โดยลืมว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลครั้งนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์นัก ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยังไม่เคยมีมาเลย เทพบุตรผู้นี้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน เป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์กำพร้า เป็นมนุษย์ยากไร้ เมื่อแตกกายตายแล้ว เขาอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ คือ ความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพตรัสกะเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายกโทษต่อเทพบุตรนี้เลย ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เทพบุตรนี้แล เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ครั้นยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เมื่อแตกกายตายลง จึงอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ คือ ความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ ฯ
สภาพจิตของเทวดาแต่ละท่านก็ต่างกัน พอเห็นเท่านั้น ยกโทษ กล่าวถึงเมื่อครั้งที่บุคคลนั้นยังเป็นมนุษย์ที่ยากไร้ ขัดสน ไม่ได้คำนึงถึงการที่บุคคลนั้นยึดมั่นในศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เพราะฉะนั้น แต่ละท่านต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เวลาที่พบปะกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด สภาพจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร ถึงแม้ว่าจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังอดที่จะเกิดการคิดเทียบเคียงไม่ได้ว่า ในอดีตบุคคลนั้นเคยเป็นคนที่ยากไร้ ขัดสน ลืมคิดถึงข้อที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือ ความศรัทธาที่มั่นคงในศีล จาคะ สุตะ ปัญญาของบุคคลนั้น แต่พระอินทร์ตรงข้าม ท้าวสักกะจอมเทพตรัสกะเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายกโทษต่อเทพบุตรนี้เลย
เพราะฉะนั้น สภาพของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสแล้ว ควรที่จะทราบว่า ขณะไหนเป็นอกุศล เป็นการเปรียบเทียบ เป็นการที่ยังมีมานะความยึดมั่นว่าเป็นเขา เป็นเรา ซึ่งแตกต่างกันไปตามฐานะ หรือความเป็นอยู่ หรือในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อจะทรงพลอยยินดีกะพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า บุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะเจ้าพอใจสรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเถิด ฯ
ต้องเตือนสติกันอยู่เรื่อยๆ แม้แต่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่จะไม่ให้หลงลืมสติ ที่จะให้เจริญกุศล ที่จะให้มีความเห็นตรง ที่จะให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ. คำว่า จาคะ เมื่อเทพบุตรองค์นั้นสมัยที่เกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ ขัดสนแต่พระอินทร์ก็ยังกล่าวว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ก็ยังมีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา คำว่า จาคะ ในที่นี้ ขออาจารย์ช่วยขยายความ
สุ. โดยมากจะปนความหมายของจาคะ กับทาน ทานมีไทยธรรม คือ วัตถุที่จะสละเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น แต่ไม่ใช่การละกิเลส แต่จาคะเป็นการสละออกซึ่งกิเลสในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น บางคนให้เพื่อหวังจะได้รับตอบแทน ขณะนั้นไม่ใช่จาคะแน่นอน ให้เพื่อหวังที่จะได้รับมากกว่าที่ให้ ก็ไม่ใช่จาคะ แต่ขณะที่เป็นจาคะ คือ สละมลทิน คือ กิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่มากในตนออกมา ในขณะนั้นจึงเป็นจาคะ
กิเลสเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรจึงจะทิ้งออกไปได้ หรือสละออกไปได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จิตย่อมเป็นอกุศล แทนที่จะให้จิตเป็นอกุศล ก็ให้กุศลจิตเกิด ถ้ารู้อย่างนี้ การให้จึงจะเป็นบารมี
แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการดับกิเลส การขัดเกลา การละคลายอกุศลธรรม ผู้นั้นมีการให้จริง แต่มีความยึดมั่นในตัวตน มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจึงให้ เพราะฉะนั้น การให้ของแต่ละบุคคลก็ต่างกัน ถ้าสติไม่ระลึกในขณะนั้น ก็ไม่ใช่หนทาง และไม่สามารถที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้
ขอให้ระลึกถึงความจริงว่า ถ้าท่านไม่รู้อะไร ทำอย่างไรถึงจะรู้ ต้องเรียน ต้องศึกษา เป็นหนทางเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็นและไม่รู้ ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย และไม่ใช่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาด้วย ถ้ายังไม่รู้ จะรู้ได้อย่างไร ถ้าไม่ระลึก ไม่ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้
มีท่านผู้ฟังถามว่า ศึกษาหมายความว่าอย่างไร คือ ไม่หลงลืม นั่นหมายความถึงระลึกได้ หรือระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความเข้าใจ คือ ศึกษา ที่กำลังระลึกรู้ด้วยความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นั่นคือ การศึกษา
เป็นสิ่งที่อธิบายยากที่จะให้เข้าใจว่า ศึกษาอย่างไร และศึกษาหมายความว่าอะไร แต่การที่เข้าใจ และระลึกรู้ด้วยความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ การเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจไปเรื่อยๆ นั่นคือ การศึกษา พร้อมด้วยความระลึกรู้ คือ ไม่หลงลืมในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ และถ้ารู้ว่า ไม่รู้อะไร ก็จะต้องศึกษา เริ่มศึกษาในสิ่งที่ไม่รู้ จึงจะเป็นความรู้ขึ้น
อย่างทางตา รู้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ก็คือ ต้องเริ่มด้วยการระลึกด้วยความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้นจริงๆ เพราะว่าจะให้รู้ทันทีนี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ทางหูก็เหมือนกัน รู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ก็ไม่มีหนทางอื่นเลย ที่จะไปหาทางลัด หรือว่าทางเร็ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากเริ่มระลึกด้วยความเข้าใจในอาการรู้ ในธาตุรู้ที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ จนกว่าสามารถที่จะแยกได้ว่า สภาพรู้หรือธาตุรู้นั้น ไม่ใช่ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ เสียงที่ปรากฏเป็นลักษณะหนึ่ง ส่วนสภาพรู้เสียง ธาตุที่รู้เสียง ที่กำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง นี่คือ การระลึกด้วยความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น และไม่ใช่เฉพาะแต่การได้ยิน หรือการเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ไม่ว่าสภาพธรรมใดซึ่งมีลักษณะปรากฏเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ และไม่เคยรู้ จึงยึดถือสภาพธรรม นั้นๆ ว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ในความรู้สึก บางครั้งเราเป็นคนดี บางครั้งเรานี่ไม่ดี เพราะว่าสภาพธรรมที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งไม่ควรจะยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา แต่เมื่อไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้ระลึกและศึกษาด้วยความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ ก็ยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างว่า เป็นตัวตน เป็นเรา
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นสภาพธรรมที่สติควรจะระลึกศึกษา จนกระทั่งรู้ในลักษณะของสภาพธรรม นั้นๆ ตามความเป็นจริง โดยรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
กิเลสมากไหม เวลาที่เกิดระลึกได้ หรือว่าไม่เห็นกิเลส ถ้ายังไม่เห็นกิเลส ถูกหรือผิด ในเมื่อทุกคนมีกิเลสมากมายเหลือเกิน มีตั้งแต่กิเลสใหญ่ๆ เห็นชัดๆ จนกระทั่งกิเลสย่อยๆ ละเอียดออกไปอีก ผู้ที่จะไม่เห็นกิเลส คือ พระอรหันต์ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงคุณธรรมความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องเห็นกิเลสอยู่เรื่อยๆ
สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน และระลึกได้ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะเห็นกิเลสนี้ละเอียดขึ้น ซึ่งก็ช่างเต็มไปด้วยกิเลสมากมายจริงๆ จนกระทั่งบางท่านอาจจะรู้สึกท้อถอยว่า เมื่อไหร่จะดับกิเลสเหล่านี้ได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่นั่นไม่ถูก ที่เห็นกิเลสมากแล้วจะท้อถอย ความท้อถอยนั้นก็เป็นกิเลสอีก ไม่ใช่สติ ไม่ใช่ปัญญาที่ท้อถอย
ตรงกันข้าม ถ้าเห็นกิเลสมาก ยิ่งเกิดความเพียรที่จะดับกิเลส ด้วยการศึกษาจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะดับกิเลสตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขั้นที่เข้าใจผิด ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งขณะนั้นเป็นกุศลที่คิดอย่างนี้
แต่ถ้าเกิดท้อถอย ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่สติ ไม่ใช่ปัญญาเลย เวลาที่สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่รีบร้อนที่จะรู้เร็วๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่หวั่นไหวด้วยความต้องการ ไม่ใช่ความสงบที่ต้องเกิดพร้อมกับปัญญา และถ้าใครรีบร้อน รีบเร่ง อยากที่จะรู้เร็วๆ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นความต้องการ เป็นความปรารถนาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720