แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694


    ครั้งที่ ๖๙๔


    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพของโลภเจตสิกไม่ได้อยู่ห่างไกลเลย อยู่ใกล้มาก สติเกิดชั่วขณะเดียว ดับไป โลภะเข้ามาทันทีอย่างรวดเร็วมาก ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนทั่วจริงๆ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะไหนโลภะเกิดขึ้นปิดบังไม่ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจึงเป็นผู้ละเอียดจริงๆ เห็นสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    ลักษณะของโลภะอย่างละเอียดเพียงใดก็ตาม ปัญญาจะต้องเห็นถูกว่า นั่นเป็นโลภะ นั่นเป็นอกุศลธรรม นั่นเป็นสิ่งที่ต้องละ ไม่ใช่สิ่งที่ควรเจริญ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่เห็นอกุศลเป็นกุศล แต่จะเห็นความต่างกันว่า ขณะที่เป็นกุศล เป็นความสงบซึ่งประกอบด้วยการระลึกศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นการเจริญปัญญา ไม่ใช่ความปรารถนาว่า เมื่อไรจะรู้เร็วๆ หรือว่าหาทางไหนที่จะมาช่วยให้เร็วขึ้น ให้ง่ายขึ้น ให้ลัดขึ้น ซึ่งไม่มีทางอื่นเลย นอกจากระลึกได้ว่า เมื่อยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ที่จะรู้ได้มีทางเดียว คือ ระลึกศึกษาด้วยความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญา ความรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดได้

    คามิกะ คำว่า ศึกษา มาจากคำว่า สิกขะ แปลทับศัพท์ว่า ศึกษา ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ การเรียน ไม่รู้อะไร เรียนไปๆ ก็รู้เอง เพราะฉะนั้น คำว่า ศึกษา เป็นภาษาที่แผลงมาจากสิกขะ ไม่ใช่ภาษาไทยแท้

    สุ. ผู้ที่ศึกษาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดเพียงไรก็ตาม เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติ เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเห็นกิเลสมากๆ ก็จะต้องเกิดปัญญาใคร่ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท โดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสอย่างละเอียดก็ไม่ข้าม

    การดับกิเลส ไม่ใช่ว่าท่านจะข้ามกิเลสเล็กๆ น้อยๆ และตั้งใจจะไปดับกิเลสใหญ่ๆ โตๆ ตั้งใจจะไปดับโลภะ โทสะ โมหะ แต่กิเลสเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ในชีวิตประจำวันที่สติระลึกได้และรู้ว่าเป็นอกุศล สติและปัญญาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรจะต้องละ ควรที่จะต้องขัดเกลาบรรเทาให้น้อยลง เช่น ความถือตน ความสำคัญตน ใครไม่มี พระอรหันต์เท่านั้นไม่มี แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีกิเลสที่สะสมมา ต่างๆ กัน บางคนมีกิเลสอย่างนั้นมาก มีกิเลสประเภทอื่นเบาบางกว่า บางคนก็มีกิเลสที่เป็นมานะ ความสำคัญตน ความถือตนแรงกล้า แต่ว่ากิเลสอื่นเบาบางกว่า ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เห็นภัยแม้ในโทษเพียงเล็กน้อยของอกุศลธรรมที่สะสมมา ไม่ข้าม

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่รู้จักตัวท่านตามความเป็นจริงว่า ท่านขาดเมตตา ท่านขาดความอ่อนน้อม ท่านเป็นผู้ที่ถือตน สำคัญตน ถ้าสติเกิดระลึกได้และเห็นสภาพของอกุศลธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ว่าจะเป็นอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยอย่างไรก็เป็นโทษ เป็นภัย ที่ควรละคลาย ขัดเกลา บรรเทาในขณะนั้นเอง แต่ถ้าไม่เห็นอกุศลธรรมอย่างละเอียด จะทราบไหมว่า นั่นเป็นอกุศลธรรม เมื่อไม่ทราบ ก็ไม่ขัดเกลา แต่เมื่อใดที่เห็นภัยของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นโทษ ก็ย่อมมีความเห็นถูกที่จะขัดเกลา ละคลายแม้อกุศลธรรมที่เล็กน้อยนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มุ่งที่จะไปละโลภะ โทสะ โมหะ โดยลืม และไม่เห็นภัย เห็นโทษของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่มีในวันหนึ่งๆ

    มีท่านผู้ใดที่ใคร่จะอบรมความนอบน้อมให้เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นกุศลจิต เป็นกุศลธรรมบ้างแล้วหรือยัง หรือยังเห็นว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ

    ความมานะ ความถือตน ความสำคัญตนซึ่งทุกท่านมี เป็นโทษเป็นภัยที่ควรจะขัดเกลาได้แล้ว ถ้าไม่ขัดเกลา จะทำให้มีมากขึ้น และละคลายยากขึ้น เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ท่านจะเห็นแม้กิเลสอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อย และมีปัญญาเกิดขึ้นเห็นโทษของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อยนั้น และก็มีความคิดที่ถูกต้องที่จะดับอกุศลธรรม หรือขัดเกลาอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อยนั้นให้เบาบางลงด้วย มิฉะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด แต่จะเพียงบอกให้ละอกุศลธรรมใหญ่ๆ ละกิเลสตัวโตๆ เช่น โลภะ โทสะ โมหะเท่านั้น

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นละเอียดมาก ชี้โทษและภัยของอกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ เพื่อที่จะให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ในชีวิตประจำวัน แม้ว่ากิเลสใหญ่อย่างโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแรงกล้าเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็จริง แต่ในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยอกุศลธรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรที่จะเห็นโทษเห็นภัย ควรที่จะขัดเกลาโดยที่ไม่ประมาท และไม่คิดที่จะข้ามการขัดเกลาอกุศลธรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่ให้เห็นความสำคัญว่า แม้อกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยก็จะต้องขัดเกลา ละคลายให้บรรเทาเบาบางลงด้วย

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ปฐมสักกนมัสนสูตรที่ ๘ มีข้อความที่ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน เขตเมืองสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสพุทธพจน์เล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า

    ... ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ได้ทราบว่า ท้าวสักกะจอมเทพขณะเสด็จลงจากเวชยันตปราสาท ทรงประนมอัญชลีนมัสการทิศเป็นอันมาก ฯ

    มีใครที่จะนอบน้อมเท่ากับพระอินทร์ หรือท้าวสักกะไหม เวลาที่จะออกจากบ้าน หรือเวลาที่ท่านลงจากประสาท ท่านก็นอบน้อมนมัสการทิศทั้งหลาย

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตรได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพด้วยคาถาว่า พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้ง ๔ และทวยเทพชาวไตรทศผู้มียศ ย่อมนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่ท้าวสักกะ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด ท่านผู้ควรบูชาคนนั้นชื่อไรเล่า ขอเดชะ ฯ

    เป็นธรรมดา เมื่อคนอื่นเห็นพระอินทร์ทรงประนมอัญชลีนมัสการทิศเป็นอันมาก ก็จะต้องสงสัยว่า ผู้ที่เป็นถึงจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นผู้ที่พราหมณ์ทั้งหลาย กษัตริย์ทั้งหลาย ท้าวมหาราชทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมต่อท้าวสักกะ แต่การที่พระองค์ทรงประนมอัญชลีนมัสการ พระองค์ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด

    ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

    พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้ง ๔ และทวยเทพชาวไตรทศผู้มียศ นอบน้อมท่านผู้ใดซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นตลอดกาลนาน ผู้บวชแล้วโดยชอบ มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า คฤหัสถ์เหล่าใดเป็นผู้ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสก เลี้ยงดูภรรยาโดยชอบธรรม ดูกร มาตลี เรานอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น ฯ

    ท่านจะเห็นได้ว่า ท้าวสักกะหรือพระอินทร์นี้ ความนอบน้อมของท่านเป็นไปในธรรม แม้ว่าโดยยศ พระองค์ก็เป็นถึงจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ความนอบน้อมของพระองค์นั้น นอกจากจะนอบน้อมต่อผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นตลอดกาลนาน ผู้บวชแล้วโดยชอบ มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า แม้คฤหัสถ์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสก เลี้ยงดูภรรยาโดยชอบธรรม ท้าวสักกะก็นอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น คือ นอบน้อมในกุศลธรรม ไม่ว่ากุศลธรรมนั้นจะเกิดขึ้นกับท่านผู้ใด

    จิตของผู้ฟังเป็นอย่างนี้บ้างไหม มีความนอบน้อมต่อท่านผู้ประพฤติธรรม โดยที่ไม่คำนึงถึงชาติสกุล ฐานะ ลาภ ยศ สักการะต่างๆ

    ข้อความต่อไป

    มาตลีเทพบุตรกล่าวว่า

    ข้าแต่ท้าวสักกะ ได้ยินว่า พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลกเทียว ข้าแต่ท้าววาสวะ พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด ถึงข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้น ฯ

    ในสูตรอื่นๆ เช่น ใน ทุติยสักกนมัสนสูตรที่ ๙ ก็มีข้อความที่ว่า

    ... ได้ทราบว่า ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพขณะเสด็จลงจากเวชยันตปราสาท ทรงประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่ ฯ

    คือ บางครั้งก็ทรงนมัสการพระผู้มีพระภาค และบางครั้งก็แสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ประพฤติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเป็นผู้ที่เกิดในสวรรค์แล้ว การสะสมของจิตก็ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวรรค์ เพื่อที่ท่านผู้ฟังจะได้เห็นว่า ในชาติที่เป็นมนุษย์ ท่านสะสมกุศลธรรมและอกุศลธรรมอย่างไร ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้นๆ แม้ในภพอื่น ในที่อื่น

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต สุภาษิตชยสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างพวกเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะ ท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะ จอมเทวดา เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด ฯ

    ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสว่า แน่ะ ท้าวเวปจิตติ ตกลง เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ฯ

    ชีวิตในสวรรค์ ในวันหนึ่งๆ เทพบุตรทั้งหลายเหล่านั้น ท่านจะทำอะไรกัน ก็มีการชักชวนกันทำสงคราม ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกเทวดาและพวกอสูรได้ร่วมกันตั้งผู้ตัดสินว่า ผู้ตัดสินเหล่านี้ จักรู้ทั่วถึงคำสุภาษิต คำทุพภาษิต ฯ

    แม้ในสวรรค์ก็ต้องมีผู้ตัดสินว่า คำของใครเป็นสุภาษิต และคำของใครเป็น ทุพภาษิต

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงตรัสคาถา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้ ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า แน่ะ ท้าวเวปจิตติ ในเทวโลกนี้ท่านเป็นเทพมาก่อน ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้แล้ว ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า พวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าหากบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้น นักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง ฯ

    เห็นด้วยไหมที่ว่า เมื่อคนพาลโกรธ ถ้าไม่เอาชนะหรือไม่ตัดรอนเสีย คนพาลก็ยิ่งแสดงอำนาจหรือความโกรธมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น จะต้องกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง กระทำสิ่งที่รุนแรงเพื่อที่จะให้คนพาลนั้นพ่ายแพ้ไป คือ เอาชนะด้วยอาญาที่รุนแรง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถาแล้ว เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะจอมเทวดา ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ฯ

    แม้ในมนุษย์ก็เหมือนกัน ต้องมีผู้ที่มีความเห็นต่างกันเป็นสองพวก ถ้าเห็นคนโกรธ หรือแสดงความโกรธ ก็ต้องเอาชนะเขาด้วยการกระทำที่รุนแรง เพราะว่าเขาเป็นคนพาล ถ้าไม่กระทำสิ่งที่รุนแรง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเอาชนะคนพาลได้ พวกหนึ่งเห็นอย่างนี้ แต่คำอย่างนี้จะเป็นทุพภาษิต หรือว่าจะเป็นสุภาษิต ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละท่าน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อท้าวเวปจิตติได้ตรัสคาถาเหล่านี้ เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา แต่ว่าพวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง

    มีผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานในสวรรค์ไหม ในขณะนั้น ขอให้คิดถึงในขณะนั้น จริงๆ ว่า จะมีท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไหม มีไหมในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในโลกมนุษย์นี้มีไหม มี เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็มี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ตรง เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก แม้ในความคิด และแม้ในคำพูดว่า คำพูดเช่นใดเป็นสุภาษิต คำพูดเช่นใดเป็นทุพภาษิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถานี้ว่า ฯ ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่าการระงับไว้ได้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อท้าวสักกะจอมเทวดาได้ภาษิตคาถาแล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า ดูกร ท้าวเวปจิตติ ท่านจงตรัสคาถาเถิด ฯ

    ท่านผู้ฟังเป็นพวกเทวดาหรือพวกอสูร? พวกเทวดา แน่ทุกครั้งหรือเปล่า หรือบางครั้งก็เปลี่ยน เห็นด้วยกับพวกอสูรไปเสียแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า ดูกร ท้าววาสวะ เราเห็นโทษของการอดกลั้นนี่แหละ เพราะว่าเมื่อใดคนพาลสำคัญเห็นผู้นั้นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้นคนพาลผู้ทรามปัญญายิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น ฯ

    ถ้าเป็นพวกที่เห็นผิด ไม่เห็นคุณของความอดกลั้น หรือคุณของความอดทนต่อการกระทำของคนพาล หรือความโกรธของคนพาล แต่กลับเห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรที่เป็นสิ่งที่รุนแรงแล้ว คนพาลก็ยิ่งข่มขี่ เพราะคิดว่าผู้ที่อดกลั้นต่อความโกรธของตนนั้น เพราะความกลัวตน

    นี่เป็นความเข้าใจผิด แทนที่จะเห็นว่า ผู้ที่อดทนต่ออกุศลธรรมเป็นผู้ที่สามารถอดกลั้นความโกรธของบุคคลอื่นได้ ควรที่จะอนุโมทนา แต่พวกคนพาลกลับเห็นผิด เข้าใจผิดว่า คนอื่นนั้นกลัว จึงได้อดกลั้น จึงได้อดทน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรภาษิตคาถาแล้ว เหล่าอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็นิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทวดาว่า แน่ะ จอมเทวดา ท่านจงตรัสคาถาเถิด ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564