แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
ครั้งที่ ๖๙๗
สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นความคิดที่ต่างกันได้ ผู้ที่เป็นพาลเห็นว่า คนที่อดทนเป็นคนแปลก แต่ว่าความจริงแล้ว ถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่อดทน ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่คงที่ ไม่หวั่นไหว ไม่มีอาการวิกลวิการต่างๆ
ถ้าเป็นผู้ที่หวั่นไหว เพราะอกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว ลักษณะอาการวิกลวิการที่ผิดปกติจะปรากฏ ซึ่งควรจะเป็นอาการที่แปลก เช่น ลักษณะที่ตื่นเต้น คร่ำครวญ หวั่นไหว เดือดร้อน กระสับกระส่าย ประหม่า หรือตกใจ ร้องไห้ พวกนี้เป็นอาการที่แปลก ไม่ใช่อาการของผู้ที่คงที่
ถ้าเป็นผู้ที่คงที่ จะไม่หวั่นไหว เพราะว่าขณะนั้นไม่ถึงอาการอันแปลก เพราะละสมุทัย คือ ความยึดมั่น หรือความพอใจในตัวตนได้ ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ ถ้าขณะใดที่ท่านไม่ได้คิดถึงความเป็นตัวตนของท่าน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะนั้นท่านจะเป็นผู้ที่คงที่ไม่หวั่นไหวไปเพราะอกุศลธรรม
แต่ถ้าขณะใดยึดถือว่า เป็นเรากำลังได้รับฟังคำบริภาษ หรือวาจาที่หยาบคาย ความยึดถือว่าเป็นเราจะเป็นปัจจัยให้เกิดความหวั่นไหว ทำให้อาการแปลกๆ ต่างๆ เกิดขึ้น แต่ผู้ที่อดทน ไม่ใช่ผู้ที่มีอาการแปลก ผู้ที่ไม่อดทนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่มีอาการแปลก แต่คนพาลกลับเห็นว่า คนที่มีความอดทนนี่ช่างแปลก เพราะฉะนั้น นั่นเป็นความเห็นผิด ความเข้าใจผิดที่เข้าใจว่า อกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม
ธรรมเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน และเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศลธรรมยิ่งขึ้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานควรจะเป็นผู้ที่คงที่ คือ เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ
แต่ตามปกติในวันหนึ่งๆ มักจะหลงลืมสติมากกว่ามีสติ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ก็ยากนักที่จะเป็นผู้คงที่ เพราะว่าหวั่นไหวไปแล้วด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง และในขณะนั้นจะเป็นความหวั่นไหวที่มากหรือน้อย ก็แล้วแต่ปัญญาที่สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นหวั่นไหวไปอย่างอ่อนหรืออย่างแรง ซึ่งขณะที่จะหวั่นไหวไปเพียงเล็กน้อยนี้ ยากแก่การที่จะรู้ได้
ทางตากำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่หวั่นไหวไปแล้ว เป็นเรื่องราวต่างๆ นั่นเป็นความหวั่นไหวหรือยัง ในขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ ถ้าสติระลึก ศึกษา จนปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดจริงๆ เป็นปกติธรรมดา คงที่ด้วยความไม่หวั่นไหวเลย ในการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าหวั่นไหวไปแล้ว ก็เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ โดยที่ยังไม่ปรากฏว่า เป็นโลภะอย่างแรง หรือโทสะอย่างแรง
ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ สามารถที่จะรู้ความหวั่นไหว ไม่คงที่ แม้แต่อย่างเบาบางที่สุด จากการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็หวั่นไหวไปเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งนั่นหมายความถึงหวั่นไหวไปแล้ว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ความรู้เพิ่มขึ้นเป็นปกติในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และไม่หวั่นไหวด้วย แม้ว่าสติจะดับไปแล้ว และก็เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นความเป็นผู้คงที่ คือ ไม่หวั่นไหวไปอีก รู้แม้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้างในขณะนั้น ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จึงจะเพิ่มความเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหวไป ไม่ว่าสภาพธรรมที่เกิดปรากฏนั้นจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศลประการใดก็ตาม
แต่ในวันหนึ่งๆ ยากเหลือเกินที่จะเป็นผู้ไม่หวั่นไหวและเป็นผู้ที่คงที่ได้ เพราะว่าโลภะยังมีกำลังแรง มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างแรง โทสะก็ยังมีกำลังแรง มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างแรง แต่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งก็สามารถที่จะรู้ได้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เป็นปกติจริงๆ เหมือนในขณะนี้ ซึ่งเป็นความเจริญมั่นคงของปัญญา คือ สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏเป็นปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง โดยไม่หวั่นไหวเลย และไม่ว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้คงที่ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย จึงจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากขณะที่มีสติไปสู่ขณะที่หลงลืมสติ เต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง และก็เป็นขณะที่มีสติอีก ถ้าปัญญามั่นคงจริงๆ จะไม่หวั่นไหวเลย และจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลทุกประการยิ่งขึ้น แม้แต่ในเรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ในเรื่องของความเป็นผู้อ่อนน้อม ด้วยจิตที่อ่อนโยน ไม่ว่าใครจะก้าวร้าวล่วงเกินรุนแรงสักเท่าไร ความเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทดสอบความมั่นคงของสติและปัญญาในขณะนั้นว่า ท่านหวั่นไหวไปมากหรือน้อย ถ้าท่านเป็นคนที่อดทนได้ยิ่งขึ้น ย่อมแสดงว่า สติมีความมั่นคงขึ้นที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงไม่หวั่นไหว
ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงนี้ เป็นการแสดงให้รู้ถึงการสะสมธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลตามความเป็นจริง แม้การอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งได้สะสมแล้ว ก็จะปรากฏสภาพธรรมที่ประกอบด้วยสติ ซึ่งสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่หวั่นไหว ไม่ว่าในขณะนั้นจะมีบุคคลอื่นก้าวร้าวหรือล่วงเกินประการใด และผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะเห็นคุณของกุศลธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องของความอดทน
บางท่านมีกุศลอย่างอื่นมาก เป็นผู้ที่ใจดี มีเมตตา มีความกรุณา ไม่มีความตระหนี่ แต่ไม่ค่อยจะอดทนเลย เวลาที่ลำบากนิดหน่อยก็ทนไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนาวเรื่องร้อน เรื่องอาหาร เรื่องความสะดวกสบายต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่เดือดร้อนจริงๆ ความอดทนนี้จะมั่นคงขึ้น จะมีมากขึ้น และจะเห็นคุณของความอดทนว่า เป็นสภาพธรรมที่เกื้อกูลกุศลทุกขั้น แม้ในการเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องอดทนอย่างยิ่ง เพราะส่วนมากทุกท่านมักจะปรารภว่า เมื่อไรปัญญาจะคมกล้าที่สามารถจะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าคิดอย่างนี้ขณะใด ก็ไม่อดทนในขณะนั้น ถ้าอดทน คือ ระลึกทันที แม้สักชั่วครู่ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้ปัญญาคมกล้าขึ้น เพราะว่าไม่มีวิธีอื่นเลย
ลองดูก็ได้ พยายามค้นคว้าหาวิธีอื่นใด จะปรากฏว่าเสียเวลาทั้งหมด ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ เพราะถ้าไม่ศึกษา ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ไม่เข้าใจ ไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีวันที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ถ้าพยายามทำอย่างอื่น ปัญญาจะไม่เจริญเลย
เพราะฉะนั้น ต้องอดทน โดยระลึกทันที หรือในขณะนี้ ศึกษาทันที สภาพธรรมกำลังปรากฏแล้ว ศึกษาทันที นั่นเป็นลักษณะของความอดทนที่จะเพียรเข้าใจ สังเกต รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และปัญญาจะเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยด้วยความอดทน แต่ถ้าขาดความอดทนในขณะนั้น ปัญญาจะไม่เพิ่มขึ้นเลย
ขณะที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นขณะที่หลงลืมสติ ขณะนั้นเป็นลักษณะของความเกียจคร้านในการที่จะขัดเกลาอกุศลธรรม เพราะทุกท่านทราบว่า ตัวท่านแต่ละบุคคลมีอกุศลธรรมมากเหลือเกิน และเมื่อไรจะขัดเกลา ก็คือ เมื่อระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ชั่วขณะนั้นเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่ไม่เกียจคร้านในการที่จะขัดเกลาอกุศลธรรม มิฉะนั้นแล้ว ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินไปในเรื่องต่างๆ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นผู้เกียจคร้าน ในการที่จะขัดเกลาอกุศลธรรมซึ่งมีมาก และถ้าไม่ขัดเกลา ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นทุกที
ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ สุวีรสูตรที่ ๑ มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯ
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
เพียงข้อความสั้นๆ ถ้าไม่คิด จะไม่เห็นในพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค เมื่อทรงมีโอกาสที่จะทรงโอวาทภิกษุ พระองค์ก็จะตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา เพื่อที่จะทรงโอวาท
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกอสูรได้รบกับพวกเทวดา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสเรียกสุวีรเทพบุตรมาบัญชาว่า พ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้ กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย
รับคำ แต่ยังไม่กระทำทันที นี่เป็นลักษณะของผู้ที่ประมาท
แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ ... สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ แล้วมัวประมาทเสีย ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสกะสุวีรเทพบุตรด้วยคาถาว่า บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสบสุขได้ ณ ที่ใด ดูกร สุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด ฯ
สุวีรเทพบุตรกราบทูลว่า บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่น และไม่ใช้ใครๆ ให้กระทำกิจทั้งหลายอีกด้วย เขาพึงพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกฐานะอันประเสริฐนั้นแก่ข้าพระองค์
ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ยังเป็นผู้ที่ประมาท ไม่หมั่น ไม่พยายาม แต่ต้องการความพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง เหมือนในโลกมนุษย์ มีใครบ้างที่ไม่ปรารถนาจะได้ความพรั่งพร้อมในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อยากจะได้กันมากๆ ให้เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ประณีต ที่สมบูรณ์พรั่งพร้อม แต่ว่าขอให้ได้มาโดยง่าย โดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ได้ แต่ให้ได้ง่ายๆ หน่อย ไม่ใช่ว่าโดยที่จะต้องเป็นผู้ที่ขยันพากเพียรพยายามอย่างมาก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สุวีรเทพบุตรก็ยังคงมีความคิดที่กราบทูลพระอินทร์ว่า บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่น และไม่ใช้ใครๆ ให้กระทำกิจทั้งหลายอีกด้วย เขาพึงพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกฐานะอันประเสริฐนั้นแก่ข้าพระองค์
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
ที่ใดบุคคลเกียจคร้าน ไม่หมั่น ถึงความสุขล่วงส่วนได้ สุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด ฯ
นั่นเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เพราะฉะนั้น พระอินทร์ก็ใคร่ที่จะทราบว่า ถ้า สุวีรเทพบุตรอยากจะไปในที่นั้น ก็จงไป และพาพระองค์ไปถึงที่นั้นด้วย ถ้าที่นั้นสามารถจะมีได้
สุวีรเทพบุตรทูลว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงได้ความสุขใด โดยไม่ต้องทำการงาน ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกความสุขนั้นอันประเสริฐ ที่ไม่มีความแห้งใจ ไม่มีความคับแค้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
ต้องการความสุขที่ยิ่งเหลือเกิน คือ ต้องเป็นความสุขที่ปราศจากทุกข์ทั้งปวง ไม่มีความแห้งใจ และไม่มีความคับแค้นด้วย จะเห็นได้ว่า ทุกคนปรารถนาอย่างเดียวกัน ปรารถนาเหมือนกัน คือ ปรารถนาที่จะได้แต่ความสุข โดยที่ไม่มีความทุกข์ปะปนเลย
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
หากความสุขจะมีได้โดยไม่ต้องทำการงาน ไม่ว่าในที่ไหนๆ ใครๆ ย่อมทรงชีพอยู่ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นทางแห่งนิพพาน สุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด ฯ
เบื่อเรื่องทำการงานบ้างไหม เบื่อ แต่ต้องทำการงาน เพราะว่า หากความสุขจะมีได้โดยไม่ต้องทำการงาน ไม่ว่าที่ไหนๆ ใครๆ ย่อมทรงชีพอยู่ไม่ได้
เมื่อเกิดมาแล้ว จะมีนามธรรมและรูปธรรมที่จะปราศจากกิจการงาน เป็นไปไม่ได้เลย กำลังเห็น ทำกิจอะไรหรือเปล่า ทำแล้ว คือ เห็น เป็นกิจอย่างหนึ่ง เป็นหน้าที่หนึ่ง เป็นการงานหนึ่ง คือ ต้องเห็น และก็เห็นแล้ว กำลังเห็นอยู่ คือ กำลังทำกิจเห็นอยู่
เมื่อนามธรรมเกิดขึ้น ที่จะไม่กระทำกิจการงานนั้น ไม่มีเลย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็มีกิจที่จะต้องขวนขวายมากมายในการดำรงชีพ เพราะฉะนั้น ความสุขที่แท้จริง ที่ปราศจากการงานทั้งหลาย ต้องเป็นความสุขสงบ ซึ่งไม่มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นกระทำกิจการงานใดๆ เลย ไม่ต้องกระทำกิจเห็น ไม่ต้องกระทำกิจได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ต้องกระทำกิจคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เพราะความคิดต่างๆ
เพียงเห็นในขณะนี้ จะเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ได้ ชั่วขณะเห็น ต้องเป็นอุเบกขาเวทนา แต่พอเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังมีการตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ซึ่งหวั่นไหวไปแล้ว ไม่สงบ ถ้าจะให้สงบจริงๆ คือ ไม่ต้องรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น และที่เดียวที่จะไม่มีการทรงชีพอยู่ ไม่มีการประกอบกิจการงานใดๆ คือ พระนิพพานเท่านั้น
ทุกท่านซึ่งยังไม่ถึงพระนิพพาน ต้องเป็นผู้ที่ขยันในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีวันถึงที่ที่ไม่มีการทรงชีพอยู่ เป็นที่ที่สงบจริงๆ เพราะว่าไม่ต้องกระทำกิจเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดาพระองค์นั้น อาศัยผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติอันมีความเป็นใหญ่ยิ่งด้วยความเป็นอิสระแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงจักพรรณนาคุณแห่งความเพียร คือ ความหมั่น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้วอย่างนี้ พึงหมั่น เพียรพยายาม เพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้ ฯ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720