แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
ครั้งที่ ๗๐๒
ถ. คำว่า โสดาบัน ละกิเลสได้ใช่ไหม จึงเรียกว่า พระโสดาบัน
สุ. พระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งหมายความถึงปัญญาที่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีก แต่ว่ากิเลสมีมาก เพราะฉะนั้น การดับกิเลสจะดับทีเดียวถึงความเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ จะต้องดับขั้นต้นเป็นพระโสดาบันบุคคล คือ ดับความเห็นผิดที่ยึดสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ดับความสงสัย ความไม่รู้ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
พระโสดาบันไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ซึ่งจะต้องอาศัยการเจริญปัญญาถึงขั้นสมบูรณ์ที่จะเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นลำดับ เป็นขั้นๆ
ถ. ประสบการณ์ที่เกิดกับตัวผม ครั้งแรกที่ผมมาฟังอาจารย์บรรยาย ไม่ทราบว่ากี่ปีมาแล้ว สงสัยมากที่อาจารย์บอกว่าให้เจริญสติ ก็คิดว่าคงจะลักษณะบังคับ มีความคิดอย่างนั้น แต่อาจารย์ได้อธิบายว่า ไม่ใช่ในลักษณะของตัวตนที่จะไปบังคับจดจ้องให้รู้ว่า นั่นเป็นรูป นั่นเป็นนาม นั่นเป็นรูปธรรมนามธรรมที่เกิดทางกาย ทางตา อะไรต่างๆ เหล่านี้ อาจารย์แนะนำว่า ควรจะฟังแนวทางเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เป็นการสะสมความเห็นถูกให้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับฟังจากอาจารย์ก็ได้ปฏิบัติตาม และก็ได้เห็นผลเมื่อกาลเวลาผ่านไปจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จาก ๑ ปีเป็น ๒ ปี ความเข้าใจ ความเห็นถูกก็เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ของคำว่า การสะสม เพราะว่าสติที่เป็นสัมมาสตินั้นเกิดขึ้นแล้ว เราจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่า ไม่ใช่การบังคับที่จะรู้ว่า นั่นเป็นรูป นั่นเป็นนาม และจะเข้าใจดีว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นไม่ใช่การบังคับ เป็นสภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นระลึกได้ถึงสภาวะที่เป็นจริง ผมขอแนะนำผู้ที่เริ่มฟังใหม่ว่า ควรจะสะสมการฟัง เพื่อจะได้เข้าใจถูกและมีความเห็นถูกต่อไป
สุ. ขออนุโมทนา เพราะว่าโดยมากท่านผู้ฟังอาจจะติดศัพท์ อย่างเช่น พูดถึงปัญญาหรือญาณ ท่านไม่ทราบจริงๆ ว่าจะเริ่มอย่างไร หรือว่าหมายความว่าอย่างไร ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ปัญญาไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เองโดยปราศจากเหตุปัจจัย
ความหมาย หรืออรรถของปัญญา ที่จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น เติบโตขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยนั้น คือ ความเข้าใจนั่นเอง สภาพธรรมจะเป็นปัญญาได้อย่างไร ถ้าปราศจากความเข้าใจ
เพราะฉะนั้น อรรถของปัญญาเจตสิกก็ดี หรือว่าสัมมาทิฏฐิก็ดี หมายความถึงความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่าสภาพธรรมมีจริง กำลังปรากฏอยู่ แต่ถ้าปราศจากการฟัง การศึกษา การพิจารณาให้เข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ให้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้น ปัญญาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็ย่อมมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการระลึกศึกษาพร้อมสติ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด ซึ่งความรู้ชัด คือ ความเข้าใจจริงๆ โดยไม่ผิด โดยประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั่นเอง
แต่ถ้าใครจะมีปัญญาโดยปราศจากความเข้าใจ ขอให้ทราบว่า เป็นไปไม่ได้ หรือถ้าใครจะบอกว่า รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยปราศจากความเข้าใจ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความรู้นั้นจะต้องเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง
ผู้ฟัง สำหรับผม ก่อนที่ผมจะได้เจริญสติ ก็ได้ยินได้ฟังอาจารย์สุจินต์บรรยายโดยการอัดเทป หรือฟังวิทยุตอนเช้า เมื่อฟังเข้าใจแล้ว คำว่า รู้สึกตัว รู้สึกตัว มีสติ ฟังไปๆ ผมก็เข้าใจ แต่ขณะที่มีการรู้สึกตัว อาจารย์ให้พิจารณา ให้สังเกต ตอนแรกยังไม่เข้าใจ แต่เข้าใจลักษณะที่มีการรู้สึกตัวกับขณะที่ไม่รู้สึกตัว ลักษณะนั้นฟังไปๆ ก็เข้าใจดี เพราะฉะนั้น ลักษณะของการมีสติกับลักษณะของการหลงลืมสตินี้ ผมฟังไปไม่กี่ครั้งก็เข้าใจ เมื่อเข้าใจ แรกๆ ยังพิจารณาไม่ค่อยถูก อาจารย์แนะนำว่า การเห็นนั้นก็แค่เห็นเพียงสี ไม่ให้ติดในอนุพยัญชนะ ผมก็ใช้วิธีนี้ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เวลาที่มีการรู้สึกตัวเกิดขึ้น ขณะที่เห็น ผมก็นึกในใจว่า นี่สี นั่นสี ไปโดยตลอด ข้อปฏิบัติในทวารอื่นๆ ผมก็พยายามไต่ถามไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็มีความเข้าใจบ้าง แต่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก
ผมใคร่จะแนะนำว่า ท่านที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ก่อนอื่นจะต้องสังเกตลักษณะเวลาที่มีการรู้สึกตัวกับเวลาที่ไม่มีการรู้สึกตัวว่า ลักษณะทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร ต้องรู้ขั้นนี้ก่อน ถ้าไม่รู้ขั้นนี้แล้ว จะชื่อว่าเจริญวิปัสสนาไม่ได้ ใครบอกว่าเจริญได้ ก็ไม่ใช่วิปัสสนานั่นเอง คือ เข้าใจผิด หรือว่าปฏิบัติผิดนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนา ต้องเจริญขั้นนี้ เมื่อเข้าใจขั้นนี้แล้วจะหมดความสงสัย เราปฏิบัติผิดก็รู้ ปฏิบัติถูกก็รู้เหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจขั้นนี้ เวลาปฏิบัติผิด ก็เข้าใจว่าปฏิบัติถูก ขั้นนี้ต้องใช้การสังเกต ไม่ใช่อาศัยการฟัง ถ้าฟังแล้วตัวเองไม่สังเกต ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ฟังกี่ปีๆ ก็ไม่รู้ ต้องฟังไป สังเกตไป และจะรู้ได้ นี่คือการเจริญสติปัฏฐานที่ผมผ่านมา เป็นอย่างนี้
สุ. ขออนุโมทนา
ผู้ฟัง ส่วนผม ได้ยินจากวิทยุ อาจารย์บรรยายเรื่องการเจริญสติ แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย ต่อจากนั้นดูเหมือนจะเป็นคุณอเนกพาผมไปฟัง ฟังแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง ฟังครั้งแรกไม่เข้าใจ ฟังครั้งที่ ๒ หรือ ๓ พอจะเริ่มเข้าใจ ครั้งแรกผมก็ไต่ถาม ครั้งที่ ๒ ผมก็ไต่ถาม อาจารย์ก็อธิบายการเจริญสติ ผมเริ่มเข้าใจตอนที่อาจารย์แนะนำเรื่องของสภาวะลักษณะ เป็นจุดสำคัญที่สุด ผมเข้าใจและปฏิบัติถูกก็ตอนนี้ ที่อาจารย์กล่าวว่า ของจริงย่อมพิสูจน์ได้ มีสภาวะลักษณะของเขาโดยตรง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง จากจุดนี้ ผมเข้าใจหมดเลย
ตอนที่อาจารย์บรรยายว่า สติเป็นสภาพระลึกรู้ของจริงที่กำลังปรากฏ ทำให้รู้ชัดสภาวะของนามและรูป ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งขณะที่อาจารย์บรรยาย ผมก็เจริญสติปัฏฐานตามไปด้วย
ผมอาศัยสภาวธรรม เสียงสภาวะอย่างนี้ สติก็ระลึกที่สภาวะของเสียง รูปปรากฏทางตาก็อีกแบบหนึ่ง ถ้าสติระลึกทางกายก็อีกอย่างหนึ่ง ตามสภาวะต่างๆ สติระลึกตามสภาวะนี้ สภาวะเป็นอารมณ์ของสติที่ระลึก ก็พอที่จะช่วยให้การเจริญสตินี้เจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่สามารถที่จะมีปัญญาหรือเกิดปัญญาได้ ผมสงสัย อย่างเช่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนท่านพระพาหิยะ ท่านก็สอนสั้นๆ ว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน รู้สักแต่ว่ารู้ อะไรอย่างนี้ ซึ่งท่านก็เกิดปัญญาทันที แต่เราฟังอาจารย์สุจินต์ และศึกษาอ่านพระไตรปิฎกด้วยความขยันหมั่นเพียร ผมเองก็ศึกษากับอาจารย์มาหลายปี คิดว่ามีความเข้าใจบ้าง แต่ผมก็ยอมรับว่า ปัญญาของเรายังน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้น จะมีเหตุปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้เกิดปัญญาได้ง่ายขึ้นไหม
สุ. ยังไม่พอเท่านั้นเอง ก็ฟังต่อไป เจริญต่อไป อบรมปัญญาต่อไป แต่ท่านพระพาหิยะท่านเข้าใจเวลาที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของเห็นก็รู้ว่าเห็น ท่านไม่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ของสภาพธรรมที่รู้ ท่านสามารถที่จะเข้าใจ เพราะท่านอบรมปัญญา พร้อมที่สติจะเกิดและรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น
ข้อสำคัญ คือ เมื่อใดปัญญาพร้อมด้วยเหตุ เมื่อนั้นสภาพธรรมย่อมปรากฏแก่ปัญญาที่พร้อมด้วยเหตุในขณะนั้น
เวลานี้สภาพธรรมเกิดดับตามลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าอวิชชาไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่วิชชา คือ ปัญญา ที่ได้อบรมแล้วพร้อมสติที่ระลึกและศึกษาจนกระทั่งเข้าใจ จนเป็นปัจจัยให้ความรู้ชัดเกิดขึ้น สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับจึงปรากฏแก่ปัญญาที่รู้ชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น
เวลานี้สภาพธรรมก็เป็นจริง คือ เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่อวิชชาไม่มีวันจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เมื่ออบรมเจริญไป เหตุสมควรแก่ผลที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริงเมื่อไร ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้จะปรากฏ ไม่มีอะไรปิดบัง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเจตนา ของเวทนา ของสัญญา ของจิต ของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมใดๆ ก็ตาม จะประจักษ์แจ้ง ประจักษ์ชัดแก่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว โดยประจักษ์ถึงลักษณะสภาพของนามธรรมแต่ละนามธรรม รูปธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดปรากฏแล้วดับไป
ผู้ฟัง ที่พระพุทธองค์โปรดสัตว์ หรือโปรดผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคล โดยตรัสว่า เห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักได้ยิน ผมเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคคงจะทราบว่า คนนี้มีบารมีมาแก่กล้าแล้ว พูดเท่านี้ก็คงบรรลุ แต่ปัจจุบันนี้ ปัญญาส่วนมากอ่อน ถ้าหากไม่ได้อาศัยอาจารย์แล้ว ไม่มีทางเลย ผมเคยไปฟังที่สำนักอื่น ให้นั่งให้เห็นทุกข์ ผมก็นั่งไม่ยอมขยับเขยื้อนเพื่อให้เห็นทุกข์ หลังจากนั้นผมก็มาฟังอาจารย์ รู้สึกว่าอาจารย์เป็นผู้มีสติปัญญาอย่างยิ่งจริงๆ ช่วยขยายความเรื่องสติระลึกรู้อะไรต่างๆ สภาวะต่างๆ ถ้าหากไม่ได้พบอาจารย์ ชาตินี้ผมคิดว่าคงหมดหวังในการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้อง คิดว่าคงจะเป็นไปไม่ได้เลย
สุ. กุศลอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นไปในศีล ได้แก่ เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ควรสงเคราะห์ ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งทางกายและทางวาจา
กุศลมีหลายประการ และมีกุศลหลายประการด้วยที่ทำได้โดยไม่ยาก ถึงแม้ว่าไม่มีทรัพย์สินสมบัติสิ่งของใดๆ เลย ก็ยังสามารถที่จะเจริญกุศลได้ เช่น ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ควรสงเคราะห์ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ยาก การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ แต่ว่าในวันหนึ่งๆ ถ้าอกุศลจิตเกิด ก็กระทำไม่ได้
บางท่านอาจจะเห็นว่า การช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ดี มีความเข้าใจถูกว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะที่ควรจะทำ ก็ไม่ทำ เคยเป็นอย่างนี้ไหม เพราะขณะนั้นอกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำ ไม่สามารถที่จะกระทำแม้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ควรสงเคราะห์
เวลาที่เห็นใครทำงานหนักๆ หรือทำงานเหนื่อยๆ เคยคิดอยากจะช่วย หรือเห็นว่าควรจะช่วยไหม หรือว่าปล่อยให้เขาทำไปคนเดียว ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตใจในขณะนั้นจะทราบได้ว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็คิดดีที่จะช่วยสงเคราะห์บุคคลนั้น แต่ว่ากุศลในขณะนั้นมีกำลังพอที่ทำการสงเคราะห์จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเพียงคิด แต่หลังจากนั้นอกุศลจิตก็เกิดขึ้นครอบงำ ไม่สามารถที่จะทำการสงเคราะห์บุคคลนั้นได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นกำลังของอกุศลและกำลังของกุศลในขณะนั้นนั่นเองว่า สภาพธรรมใดมีกำลังมากกว่ากัน อกุศลธรรมมีกำลังมากกว่า หรือว่ากุศลธรรมมีกำลังมากกว่า และถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญกุศลแล้ว จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงในขั้นของทาน ไม่ใช่กุศลขั้นทาน ก็เป็นกุศลประการอื่นได้ เช่น การช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น แต่ก็ต้องแล้วแต่สภาพของจิตในขณะนั้นว่า อกุศลธรรมจะเกิดขึ้นหรือกุศลธรรมจะเกิด ถ้าอกุศลธรรมเกิด ก็ไม่ช่วยเหลือสงเคราะห์ ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ในขณะนั้น สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ และถ้าท่านสะสมกุศลมาแล้ว สติมีกำลัง ไม่ใช่เพียงแต่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น แต่ยังมีกำลังที่จะกระทำกุศล โดยสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ทันที
ในชีวิตประจำวันนี้ ลองระลึกดูว่า ท่านได้ทำการสงเคราะห์ช่วยเหลือใครบ้างหรือเปล่า ชีวิตประจำวันปกติในบ้าน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับท่าน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตใจสะสมมาในทางกุศลจะเห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่นง่าย แม้ว่าจะเป็นเพียงเด็กเล็กๆ เด็กบางคนก็ชอบช่วยผู้ใหญ่ เวลาที่เห็นใครถือของ ก็ขอถือ เพื่อที่จะช่วยบุคคลนั้นผ่อนหนักให้เป็นเบา และเป็นไปด้วยน้ำใจของตนเองจริงๆ ไม่ต้องให้ผู้ใหญ่ขอร้อง หรือว่าสั่งให้ช่วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720