แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
ครั้งที่ ๗๐๖
สุ. สำหรับกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มีสมบัติหรือทรัพย์สินประการใด ก็ยังสามารถที่จะใช้กำลังกาย หรือว่าใช้วาจาที่จะสงเคราะห์บุคคลอื่น โดยการช่วยบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ยากด้วยคำพูดของท่าน เป็นไปในชีวิตประจำวันได้ไหม เพราะฉะนั้น ก็ไม่เว้นที่จะเห็นทุกอย่างว่า ควรจะเป็นโอกาสที่จะให้กุศลจิตเกิดไม่ทางหนึ่งก็ทางใด แทนที่จะเป็นผู้เกียจคร้าน อย่าช่วยเขาเลย แม้แต่เพียงวาจาที่จะแนะนำก็ขี้เกียจที่จะบอก หรืออะไรอย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พกสูตรที่ ๔ มีเรื่องเกี่ยวกับผลของกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ ซึ่งมีข้อความว่าดังนี้
ข้อ ๕๖๖
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ก็สมัยนั้นแล พกพรหมได้เกิดทิฏฐิอัน ชั่วช้าเห็นปานดังนี้ว่า ฐานะแห่งพรหมนี้เที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกัน คงที่ มีความไม่เคลื่อนไหวเป็นธรรมดา ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ ก็แหละอุบายเป็นเครื่องออกไปอันยิ่งอย่างอื่นจากฐานะแห่งพรหมนี้ไม่มี ฯ
ถึงแม้ว่าจะเกิดในพรหมโลกด้วยผลของสมถภาวนา แต่เมื่อยังไม่ได้ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ย่อมมีความเห็นว่า สภาพธรรมเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่เสื่อมสลายไป เป็นความเห็นผิดที่ถ้ายังมีความเห็นผิดเช่นนี้อยู่ในมนุษย์โลก และก็เจริญสมถภาวนา จนกระทั่งฌานจิตเกิดทำให้ปฏิสนธิในพรหมภูมิ ก็ยังคงมีความเห็นผิดเช่นนั้นอยู่
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพกพรหมด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไปในพระเชตวันวิหาร แล้วได้ปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้า หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออก ฉะนั้น ฯ
พกพรหมได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นานเทียวแล พระองค์ได้กระทำปริยายเพื่อการเสด็จมา ณ พรหมโลกนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ฐานะแห่งพรหมนี้เที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกัน คงที่ มีความไม่เคลื่อนไหวเป็นธรรมดา ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ ก็อุบายเป็นเครื่องออกไปอันยิ่งอย่างอื่นจากฐานะแห่งพรหมนี้ไม่มี ฯ
เมื่อพกพรหมกล่าวเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้กะพกพรหมว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พกพรหมนั้นถึงความโง่เขลาแล้วหนอ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พกพรหมนั้นถึงความโง่เขลาแล้วหนอ พกพรหมกล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของไม่เที่ยงเลยว่าเที่ยง กล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของไม่ยั่งยืนเลยว่ายั่งยืน กล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของไม่ติดต่อกันเลยว่าติดต่อกัน กล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของไม่คงที่เลยว่าคงที่ กล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของมีความเคลื่อนไหวเป็นธรรมดาทีเดียวว่า มีความไม่เคลื่อนไหวเป็นธรรมดา และกล่าวฐานะแห่งพรหมอันเป็นที่เกิดแก่ ตาย และเป็นที่จุติและอุบัติแห่งตนว่า ฐานะแห่งพรหมนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละย่อมกล่าวอุบายเป็นเครื่องออกไปอันยิ่งอย่างอื่นซึ่งมีอยู่ว่า ไม่มี ดังนี้ ฯ
เป็นความเห็นผิดที่คิดว่า ไม่มีหนทางอื่นอีกแล้วที่จะประเสริฐ นอกจากการเจริญข้อปฏิบัติที่จะให้บรรลุถึงความเป็นพรหมบุคคลในพรหมภูมิ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพกพรหมว่า นั่นเป็นความเห็นผิด และหนทางอื่นก็มี
ข้อความต่อไป
พกพรหมทูลว่า
ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์ ๗๒ คน บังเกิดในพรหมโลกนี้เพราะบุญกรรม ยังอำนาจให้เป็นไป ล่วงชาติชราได้แล้ว การอุบัติในพรหมโลกซึ่งถึงฝั่งไตรเภทนี้เป็นที่สุดแล้ว ชนมิใช่น้อยย่อมปรารถนาเป็นดังพวกข้าพระองค์ ฯ
ท่านผู้ฟังที่อยากเจริญสมถภาวนา ต้องการบรรลุถึงความเป็นที่สุดอย่างไรที่จะเจริญสมถภาวนา ที่ว่าต้องการทั้งผลของวิปัสสนาและสมถะทั้ง ๒ อย่าง ต้องการที่จะเกิดในพรหมโลกหรือเปล่า ที่ว่าต้องการเจริญสมถภาวนา ต้องการผลอะไร
ขณะที่เจริญสมถภาวนา ไม่ได้ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรม ต้องการความรู้อย่างนั้นหรือ แต่ถ้าสามารถที่จะประจักษ์ความไม่เที่ยงและดับกิเลสได้ จะสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ คือ ไม่ประกอบด้วยฌานจิต แต่ว่าหมดกิเลส ดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย และไม่มีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติด้วย
เพราะฉะนั้น พกพรหมก็ยังมีความเห็นว่า ชนมิใช่น้อยย่อมปรารถนาเป็นดังพวกข้าพระองค์ ซึ่งก็เป็นความจริง สำหรับผู้ที่ต้องการที่จะเกิดในพรหมโลก
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พกพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ดูกร พรหม เรารู้อายุหนึ่งแสนนิรัพพุทของท่านได้ดี ฯ
ท่านผู้ฟังควรพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงความรู้สึกและความเข้าใจผิดของพกพรหม ซึ่งพกพรหม สำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ทุกท่านปรารถนาที่จะมีอายุยืนยาว ไม่มีใครปรารถนาที่จะมีอายุสั้น ไม่ว่าจะประสบทุกข์สุขอย่างไรก็ยังปรารถนาที่จะมีชีวิตต่อไป ที่จะให้เป็นชีวิตที่ยืนยาว และชีวิตของมนุษย์ถึงว่าจะยาว ก็ยังสั้นนัก คือ ไม่เกิน ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้น อายุของภพใดภูมิใดที่จะยืนยาวกว่านั้น ก็ย่อมปรารถนาการเกิดในภพนั้น คือ การเกิดเป็นพรหมในพรหมโลก ซึ่งเข้าใจว่ามีอายุยืนยาวมากทีเดียว แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย
คำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัส ต้องเป็นคำจริง เพราะว่าอายุตามความเป็นจริง คือ อายุของจิต อายุของนามธรรม อายุของรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นและก็ดับไปอย่างรวดเร็วเหลือเกินในขณะนี้ สั้นที่สุด เกิดดับเร็วมากจนไม่เห็นความเกิดและความดับ
สิ่งใดที่เกิดดับไม่เร็วถึงขั้นนั้น ย่อมปรากฏรอยต่อ คือ ความเกิดขึ้นและความดับไป แต่เพราะความเกิดดับอย่างเร็วที่สุด จึงปรากฏเสมือนคงที่ไม่ดับเลย ในขณะนี้อย่าลืมจิตเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ดับหมดไปทันที และก็เกิดอีก ดับหมดไปทันทีอีก และก็เกิดอีก ดับหมดไปทันทีอีก ทุกๆ ขณะในขณะนี้ เพราะฉะนั้น อายุที่ว่ายาวประมาณ ๑ นาที ๒ นาที ๕ นาที หรือว่าชั่วโมงหนึ่ง วันหนึ่ง ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นอายุที่สั้นเหลือเกิน เพียงเกิดขึ้น และก็ดับไป
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับพกพรหมว่า ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ดูกร พรหม เรารู้อายุหนึ่งแสนนิรัพพุทของท่านได้ดี ฯ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถที่จะรู้ถึงอดีตชาติของบุคคลทั้งหลาย แม้พกพรหม
ข้อความต่อไป
พกพรหมทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า เราเป็นผู้มีปกติเห็นไม่มีที่สิ้นสุด ล่วงชาติชราและความโศกได้แล้วดังนี้ อะไรเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของข้าพระองค์หนอ ขอพระองค์จงตรัสบอกศีลวัตรซึ่งข้าพระองค์ควรรู้แจ้งชัด ฯ
เข้าใจว่า ทุกท่านก็คงอยากรู้อดีตกรรมของท่านโดยละเอียดใช่ไหมว่า เคยทำกรรมอะไรมาบ้าง ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม เคยเกิดในภพภูมิไหนบ้าง มีชาติตระกูลอย่างไร มีความเป็นอยู่อย่างไร มีชื่อเสียงอย่างไร เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพกพรหม ความปรารถนา ความต้องการ ความเห็นผิดก็ยังมีอยู่ ก็ย่อมมีความสนใจ เอาใจใส่ในตนเอง ใคร่ที่จะรู้อดีตอนาคตของตน
ถ. ทำไมพรหมจึงมีความรู้น้อยนัก ก็ในอดีตชาติที่ทำให้ท่านเกิดเป็นพรหมท่านก็น่าจะรู้ อย่าว่าแต่พรหมเลย พวกเปรต พวกเทวดาเหล่านี้ ท่านก็รู้ว่าทำกรรมอะไรมาจึงทำให้เกิดเป็นเปรต เป็นเทวดา ทำไมพวกพรหมจึงไม่รู้ว่า กรรมของเขาคืออย่างไรจึงทำให้เกิดในพรหมโลก
สุ. พวกพรหมรู้เหมือนกับพวกเทวดา แต่รู้ไม่ทั่ว รู้ไม่หมด
ถ. ผมคิดว่า ถ้ารู้แล้ว ก็ต้องรู้หมด
สุ. สังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก เพราะฉะนั้น ยากที่ใครสามารถจะรู้โดยตลอดโดยทั่วถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมด
ถ. ที่ผมถาม ถอยหลังไปชาติที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ได้ถามถึงชาติที่แล้ว
สุ. ความจริง พรหมใคร่ที่จะได้ทราบพระปัญญาของพระผู้มีพระภาคว่า สามารถที่จะรู้การกระทำของคนอื่นได้ละเอียดแค่ไหน เพราะบางคนอาจจะรู้ถึงกรรมของคนอื่น แต่ไม่ทั่ว ไม่ละเอียด
ผู้ฟัง ที่อาจารย์ถามว่า อยากเป็นพรหมไหม ผมบอกว่าไม่ เพราะพระพุทธภาษิตที่กล่าวว่า ผู้ใดจะมีอายุสัก ๑๐๐ ปี แต่ไม่เห็นความเกิดความดับ สู้คนที่เกิดวันเดียวและเห็นความเกิดความดับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่อยากเป็นพรหม
สุ. พูดถึงอายุ แต่ละท่านก็คงยอมรับความจริงว่า ท่านต้องการอายุยืนยาวเท่าที่สามารถจะยืนยาวได้ เพราะว่าในตอนแรกก็คิดว่าสัก ๓๐ ปีก็คงจะพอ ต่อไปก็ สัก ๔๐ ปีก็คงจะพอ ต่อไปอีกก็ ๕๐ ปี บางทีก็คิดว่าสัก ๗๐ ปีก็คงจะพอ แต่พอถึง ๗๐ จริงๆ ก็ต่อไปอีกได้ เรื่อยๆ
ผู้ฟัง ผมอายุ ๘๔ ปีแล้ว การที่อายุจะยืนหรือไม่ยืน เป็นเรื่องการฆ่าสัตว์ ผมเข้าใจว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่ง ๘๔ ปี ไม่เคยฆ่าสัตว์มาในชาติไหนๆ จึงอายุ ๘๔ ปี แต่ข้างหน้า พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ไม่แน่ แต่ ๘๔ ปีนี่แน่แล้ว
สุ. อยากอยู่ต่อไปอีกเท่าไรดี
ผู้ฟัง กินบำนาญมาตั้ง ๒๐ ปี ก็มากโขอยู่ แต่ก็อยากอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
สุ. เวลาที่ถึง ๑๐๐ ปีจริงๆ ก็คงต้องการอยู่ต่ออีกใช่ไหม
ผู้ฟัง แน่นอน ถ้าได้
สุ. ตราบใดที่ยังไม่ถึงปรินิพพาน ไม่ต้องห่วงใยเรื่องอายุเลย เพราะหลังจากจุติแล้ว ก็จะต้องมีปฏิสนธิต่อไปแน่นอน เรื่อยๆ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
๑. ข้อที่ท่านยังมนุษย์เป็นอันมาก ผู้ซึ่งกระหายน้ำอันแดดแผดเผาแล้วในฤดูร้อนให้ได้ดื่มน้ำกิน เป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วและตื่นขึ้น ฉะนั้น ฯ
การระลึกชาติ หรือการกระทำของบุคคลใด พระผู้มีพระภาคทรงสามารถที่จะระลึกได้โดยฉับพลันทันที รวดเร็วมาก ไม่ต้องเป็นห่วงเลยในพระปัญญาคุณ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าชาติก่อนๆ ของพกพรหมจะได้เคยกระทำบุญอย่างไรมาแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถระลึกได้
เรื่องของน้ำดื่มเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นให้สุขกาย สบายใจ แม้ในน้ำดื่ม ก็มีอานิสงส์มาก และนั่นก็เป็นศีลวัตรเก่าแก่ของพกพรหมข้อที่หนึ่ง
เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขาดน้ำจิตน้ำใจที่จะระลึกถึงความทุกข์ หรือว่าความเดือดร้อน หรือว่าความกระหายของคนอื่น จนกระทั่งเป็นนิสัย บางท่านไม่เคยคิดถึงความรู้สึกสุขทุกข์ของคนอื่นเลย ไม่ว่าเขากำลังหิวก็เฉยๆ ไม่รู้สึกเดือดร้อน ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรจะอนุเคราะห์สงเคราะห์ช่วยเหลือได้ แต่ว่าบางท่านสะสมกุศลที่เป็น เวยยาวัจจะคือการสงเคราะห์บุคคลอื่น แม้ในเรื่องเล็กน้อยกุศลจิตก็เกิดขึ้น ระลึกถึง คำนึงถึง ห่วงใยถึง ใคร่ที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้พ้นจากความเดือดร้อน ความหิวกระหาย ความทุกข์ยากต่างๆ
เพราะฉะนั้น ท่านที่มีเพื่อนฝูงมาก ท่านก็จะพิจารณาถึงลักษณะของมิตรสหายแต่ละคนได้ว่า มิตรคนใดเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างไร บางท่านเป็นผู้ที่สะสมอัธยาศัยที่สงเคราะห์ผู้อื่น เป็นกุศลเวยยาวัจจะมาก ไม่ว่าใครจะมีธุระอะไร ก็รับช่วยเหลือทันที โดยไม่อิดเอื้อน ไม่ลังเล ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง ทำแม้การไปเป็นเพื่อน นั่งเป็นเพื่อน อยู่เป็นเพื่อน หรือว่าสงเคราะห์ด้วยวาจาที่จะให้เกิดกำลังใจ ที่จะให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นในขณะที่จะต้องปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็เป็นน้ำใจไมตรี ซึ่งท่านผู้ฟังพอที่จะพิจารณาและเห็นกุศลจิตของบุคคลนั้นในขณะนั้นได้ ซึ่งควรแก่การอนุโมทนา ควรแก่การที่จะอบรมเจริญสำหรับตัวท่าน ซึ่งอาจจะอ่อนไปในด้านกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ เพราะกุศลทั้งหมดควรเจริญ เพื่อที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลธรรมให้เบาบาง มิฉะนั้นแล้ว ความรักตัว ความเห็นแก่ตัว ความเห็นผิดว่ามีตัวตนจะเพิ่มพูนขึ้น ทำให้ท่านระลึกถึงแต่ตัวเองตลอดเวลา ไม่คำนึงถึงการที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๒. ข้อที่ท่านช่วยปลดเปลื้องประชุมชน ซึ่งถูกโจรจับพาไปอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา เป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วและตื่นขึ้น ฉะนั้น ฯ
คนที่จะช่วยคนอื่น ช่วยทุกทางที่มีโอกาส ช่วยได้ทุกสถานการณ์ แม้แต่ พกพรหมก็เคยช่วยปลดเปลื้องประชุมชนที่ถูกโจรจับพาไปอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา
๓. ข้อที่ท่านข่มขี่ด้วยกำลัง แล้วช่วยปลดเปลื้องเรือซึ่งถูกนาคผู้ร้ายกาจจับไว้ในกระแสของแม่น้ำคงคา เพราะความเอ็นดูในหมู่มนุษย์ ข้อนั้นเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วและตื่นขึ้น ฉะนั้น ฯ
๔. และเราได้เป็นอันเตวาสิกของท่าน นามว่ากัปปมาณพ เราได้เข้าใจท่านแล้วว่า มีความรู้ชอบ มีวัตร ข้อนั้นเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วและตื่นขึ้น ฉะนั้น ฯ
พกพรหมทูลว่า
พระองค์ทรงทราบอายุนี้ของข้าพระองค์แน่แท้ แม้สิ่งอื่นๆ พระองค์ก็ทรงทราบได้ เพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น อานุภาพอันรุ่งโรจน์ของพระองค์นี้ จึงยังพรหมโลกให้สว่างไสวตั้งอยู่ ฯ
พกพรหมก็ได้เห็นพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงสามารถรู้ สภาพธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีตผ่านไปแล้วโดยละเอียดได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720