แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707


    ครั้งที่ ๗๐๗


    ถ. ผมคิดว่า พกพรหมในชาติที่ท่านเป็นมนุษย์ ท่านคงไม่เข้าใจข้อปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ว่าจะทำสมาธิ หรือว่าทำกิจอื่นๆ เขาก็เจริญสติปัฏฐานไปด้วย รู้กาย เวทนา จิต ธรรม และพิจารณาไม่ว่าในขณะที่ทำสมาธิ หรือไม่ได้ทำสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว ถ้าสติเกิดขึ้น ที่จะไม่พิจารณานั้น ไม่มี แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เขาก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเพราะเขาเจริญไม่ถูก และผมคิดว่า พกพรหมในชาติที่เป็นมนุษย์ คงเจริญสติปัฏฐานไม่เป็น

    สุ. การที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จนเห็นชัดว่าไม่เที่ยงจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ ผู้ที่ได้เจริญกุศลขั้นทานบ้าง ขั้นศีลบ้าง และในบางภพบางชาติก็ยังได้มีโอกาสได้เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งมีความสงบมั่นคงเป็นสมาธิถึงขั้นฌานจิต เป็นปัจจัยให้เกิดใน พรหมภูมิก็มี หลายภพหลายชาติทีเดียว แต่แม้กระนั้น ก็ไม่สามารถดับความเห็นผิด เพราะไม่ประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาท ไม่ควรที่จะเยื่อใยในหนทางอื่นซึ่งจะได้รับผลวิบากคือการเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือการเกิดในพรหมโลก โดยที่ไม่ประจักษ์สภาพความไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ก็ได้ทรงแสดงหนทาง คือ ข้อปฏิบัติ ซึ่งเป็นหนทางเดียว เป็นทางตรงที่จะให้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีอัธยาศัยสะสมมาที่จะเป็นผู้ที่สามารถเจริญกุศลทั้งขั้นของความสงบด้วย และสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งในความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลายด้วยหรือไม่

    แต่ไม่ใช่ไปห่วงกังวลว่า อยากจะสงบ และก็จะไปประจักษ์แจ้งความไม่เที่ยงของความสงบ เลือกไม่ได้เลย ถ้ายังเลือกอยู่อย่างนี้ตราบใด ก็จะขาดการอบรมเจริญปัญญาที่มั่นคง ที่จะสามารถจะประจักษ์แจ้งความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งประจักษ์ยาก เพราะว่ามีความต้องการเป็นเครื่องกั้น

    ในยุคใด ชาติใด แม้พระผู้มีพระภาคเอง ไม่ได้พบกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ในชาตินั้นสมัยนั้น อย่างมากที่สุดที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญได้ก็คือสมถภาวนา ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ ทรงประกอบพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนา รวมทั้งผลของสมถภาวนาขั้นต่างๆ ที่เป็นอภิญญา อิทธิฤทธิ์ต่างๆ โดยไม่มีบุคคลใดเปรียบได้

    เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์นี้ ในชาตินี้ ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรมด้วย ก็ควรจะเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้อบรมเจริญสติปัญญา เพื่อเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมกล้าขึ้น และเมื่อมีโอกาสได้ฟังอีก ได้เข้าใจอีก ได้ศึกษาพร้อมสติ ได้พิจารณาสำเหนียกสังเกตลักษณะของสภาพธรรมอีก บ่อยๆ เนืองๆ ในชาติต่อๆ ไป ก็จะเป็นปัจจัยที่สะสม จนกระทั่งปัญญาขั้นที่สามารถแทงตลอดในความไม่เที่ยงในความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้

    นี่เป็นสิ่งที่ควรอบรม ควรเจริญอย่างยิ่ง ไม่ใช่ปรารถนาอื่น เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สภาพธรรมปรากฏอย่างไรตามความเป็นจริง เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่สามารถบอกได้เลยว่า นามธรรมอะไร รูปธรรมอะไรที่กำลังปรากฏ

    เห็นจริง แต่ว่านามธรรมเป็นอย่างไรที่กำลังเห็น ถ้าไม่อบรมความรู้ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ในสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธาตุจริงๆ ไม่มีอะไรปะปนรวมอยู่ในสภาพของนามธาตุซึ่งเป็นเพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้น ก็รู้ และเป็นธาตุรู้ต่างชนิดกันด้วย

    ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง ธาตุรู้เสียง ที่กำลังรู้เสียง ก็เป็นอีกธาตุหนึ่ง และก็เกิดดับในขณะนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะของธาตุใด จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุเห็น หรือธาตุที่ได้ยิน หรือธาตุที่ปรากฏทางตา หรือธาตุเสียงซึ่งกำลังปรากฏทางหู แยกเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละชนิดจริงๆ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมด้วยการฟัง เพื่อเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ในสังสารวัฏฏ์ อย่าให้เกิดความปรารถนา หรือความต้องการใน สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเครื่องกั้น เพราะว่าความปรารถนาที่จะเจริญสมถภาวนาให้มั่นคงถึงขั้นฌานจิตที่จะเกิดในพรหมโลก ก็ได้เคยมีมาแล้วในอดีต และก็เคยสำเร็จมาแล้วด้วย เพราะว่าในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ไม่มีใครทราบว่า ท่านเคยเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกมาแล้วกี่ครั้ง แต่ก็ไม่เที่ยง ถึงจะเกิดก็หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะปัจจุบันนี้เท่านั้นที่เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง และดับอย่างรวดเร็ว

    ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว จะย้อนไปคิดว่า เมื่อครู่นี้เป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นเพียงความคิด เพราะว่าสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นกุศลก็ดี หรืออกุศลก็ดี ก็เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และดับไปหมดแล้ว

    การเจริญอบรมสติปัฏฐานจริงๆ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น ทันที ถ้าเพียงจะคิดว่า เมื่อสักครู่นี้ความรู้สึกสับสนอลเวงนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นแต่เพียงความคิด ซึ่งถ้าอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น สติสามารถที่จะระลึกรู้ในขณะที่กำลังคิดว่า เป็นเพียงสภาพคิด และละการยึดถือสภาพที่กำลังคิดนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญานี้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น มั่นคงขึ้น ชั่วขณะที่ผ่านไปเมื่อครู่นี้ มีสภาพธรรมตั้งหลายอย่าง สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้แล้วละ ระลึกรู้แล้วละ สภาพธรรมหลายๆ ประเภทที่เกิดดับสืบต่อกันแม้ว่าจะรวดเร็วสักเท่าไร สติก็มั่นคงที่จะระลึกรู้ และละการยึดถือสภาพธรรมได้ จึงจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่สามารถจะแทงตลอดในความเกิดดับ และละการยึดถือว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    แต่ถ้าปัญญายังไม่สมบูรณ์ จะเห็นได้ว่า ระลึกนิดเดียว ศึกษานิดเดียว ก็คิดต่อไปอีกแล้วว่า เมื่อครู่นี้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น โดยขณะที่คิดนั้น สติก็ไม่ได้ตามระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นและก็ดับไป แม้สัญญา ความจำในเรื่องของสภาพธรรมเมื่อครู่นี้ก็เกิดขึ้น และก็ดับไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น การที่จะแทงตลอดในสภาพความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้นั้น ก็ต่อเมื่อปัญญาสมบูรณ์ เพราะว่าระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะโดยทั่วจริงๆ เพื่อที่จะมีความมั่นคงว่า แม้ว่าสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติดับไป สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ สติก็เกิดระลึกต่อไป รู้ต่อไป และละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นต่อไป นี่คือผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานมามากแล้ว ในขณะที่ฟัง ก็เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึกทันที คือ เดี๋ยวนี้ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นปกติ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ตามปกติในขณะนี้ ความรู้เกิดขึ้นเมื่อสติระลึก จึงรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ โดยแท้จริงแล้วเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ายังไม่รู้สึกอย่างนี้ ก็ระลึกเดี๋ยวนี้ ทันที

    ศึกษา คือ รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถถ่ายถอนความเป็นสัตว์บุคคลซึ่งเกิดเพราะการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานออกได้โดยเด็ดขาด แต่ก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่เอาธาตุเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กระทบสัมผัสได้ มาทรงจำประชุมรวมกันด้วยสีสันวัณณะสัณฐานต่างๆ ว่า เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ชั่วขณะที่เห็น เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตาได้เท่านั้นที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่ผมไม่อยากเกิดเป็นพรหมนั้น ดูอย่างอุทกดาบส กับอาฬารดาบสสำเร็จจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นพรหมก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พรหมทั้งสองนี้พินาศ

    สุ. เกิดแล้ว ดับแล้ว หลายครั้ง แต่ว่าไม่ได้ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่ต้องการเจริญความสงบให้ถึงขั้นฌานจิต

    ถ. นั่นเป็นความเห็นของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ถ้าเป็นความเห็นของปุถุชน ถ้าดาบสทั้ง ๒ ยังอยู่ในปัจจุบัน อาจารย์ดังๆ ที่ไหนก็สู้ท่านไม่ได้หรอก

    สุ. การมีชื่อเสียง มีชื่อเสียงได้ ๒ ทาง แม้แต่ผู้ที่แสดงธรรม ผู้ที่มีชื่อเสียงในทางผิดก็มี ผู้ที่มีชื่อเสียงในทางถูกก็มี เพราะฉะนั้น แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังถึง ๖ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด และมีลูกศิษย์มากด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผลย่อมสามารถที่จะรู้ได้ว่า ธรรมของบุคคลใดผิด คลาดเคลื่อน

    ผู้ที่มีความเห็นผิดสะสมมา ถึงแม้จะได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่เพราะอกุศลธรรม คือ ความเห็นผิด ที่สะสมมามากย่อมมีกำลังที่จะกระทำกิจเห็นผิด ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดขึ้นพิจารณาเข้าใจในเหตุผล ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้น บุคคลเหล่านั้นก็ไม่เชื่อในธรรม แม้เป็นธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ผู้ที่สะสมความเห็นถูกย่อมรู้ว่า ครูทั้ง ๖ นั้น ปราศจากเหตุผล เป็นผู้ที่แสดงธรรมผิด และเมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ธรรมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และไตร่ตรองพิจารณาธรรมอย่างรอบคอบจริงๆ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายทนต่อการพิสูจน์ ถ้าบุคคลใดแสดงเรื่องของ สภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ให้ท่านมีความรู้ มีความเข้าใจ มีความเห็นถูกตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น นั่นก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏได้ถูกต้อง

    แต่ถ้าธรรมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่เป็นการแสดงธรรม แต่เป็นการทำให้เกิดความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปต่างๆ

    สำหรับการอบรมเจริญกุศลนี้ ควรจะเป็นทุกประการ เพราะขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตย่อมเกิด และถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะที่กำลังเฉยๆ ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่สงเคราะห์ใคร ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นครอบงำทำให้ไม่เห็นว่า สิ่งใดควรกระทำ และสิ่งใดควรอบรม ควรเจริญขึ้น

    การสงเคราะห์บุคคลอื่นในชีวิตประจำวัน สามารถจะกระทำได้ และเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อมีความเข้าใจว่า การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นกุศล และการสงเคราะห์ช่วยเหลือก็ควรจะช่วยตั้งแต่บุคคลในครอบครัว ไม่ข้ามการที่จะสงเคราะห์บุคคลในบ้าน ในครอบครัว ไม่ใช่คิดถึงแต่จะสงเคราะห์บุคคลอื่น เพราะถ้าเป็นกุศลจิต ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นไปภายในบ้าน หรือภายนอกบ้าน

    สงเคราะห์บุคคลผู้ใกล้ชิด ในขณะนั้นเป็นกุศล สงเคราะห์บุคคลผู้แปลกหน้า ผู้ห่างไกล หรือบุคคลอื่นที่ไม่รู้จักเลย นั่นก็เป็นกุศล เป็นกุศลสาธารณะ เพราะว่าเป็นการสงเคราะห์สังคม คือ เป็นบุคคลที่ท่านไม่เคยรู้จักมาก่อน ท่านก็ยังมีกุศลจิตคิดจะสงเคราะห์คนเหล่านั้น

    ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องเป็นผู้ละเอียด คือ จะต้องพิจารณาว่าขณะนั้นเป็นกุศลที่สงเคราะห์ หรือว่าเป็นการกระทำด้วยความผูกพันพอใจในบุคคลผู้ที่ท่านช่วยเหลือ

    อกุศลจิต และกุศลจิต จะทำให้เกิดการกระทำที่คล้ายคลึงกัน แต่ด้วยสภาพของจิตที่ต่างกัน บางคนดูเหมือนเป็นคนใจดี โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่สำหรับคนที่ท่านเคารพนับถือเท่านั้น อย่างนี้จะเป็นกุศลอย่างสมบูรณ์ได้ไหมที่จะกล่าวว่า เป็นกุศลที่แท้จริง

    ทำไมไม่สามารถจะกระทำได้กับบุคคลอื่นเสมอกันโดยทั่วไป ทำไมจึงเจาะจงสงเคราะห์เฉพาะคนที่ท่านรัก หรือคนที่ท่านพอใจ เป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือผู้ที่ท่านเคารพนับถือเท่านั้น ในเมื่อบุคคลอื่นก็ควรที่ท่านจะสงเคราะห์เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในสภาพที่ควรจะสงเคราะห์

    บางท่านไม่เอื้อเฟื้อ แม้แต่จะเชื้อเชิญ หรือว่าจะชักชวนให้บุคคลอื่นร่วมทางไปด้วย ทั้งๆ ที่ท่านสามารถจะสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ แต่กับผู้ที่ท่านเคารพนับถือหรือ รักใคร่ ทำทุกอย่างให้ได้อย่างมากเหลือเกิน เป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาว่าเป็นผู้ที่มีจิตกุศลอย่างยิ่ง แต่ถ้าไม่สามารถจะกระทำกับบุคคลอื่นได้โดยเสมอกัน ก็ควรจะพิจารณาด้วยว่า ในขณะนั้นสภาพของจิตที่แท้จริงเป็นกุศลโดยตลอด หรือว่าเป็นอกุศลด้วย จึงกระทำความดี สงเคราะห์ช่วยเหลือเฉพาะบุคคลที่ท่านรักใคร่หรือเคารพนับถือ

    เพราะฉะนั้น มองเห็นได้ว่า สภาพของกุศลจิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใคร รู้จักคุ้นเคยสนิทสนม หรือว่าเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม เมื่อกุศลจิตเกิด ย่อมกระทำกิจสงเคราะห์บุคคลทั้งหลายที่ควรสงเคราะห์ได้ โดยไม่เลือก

    ถ. ที่อาจารย์กล่าว ลักษณะนี้ผมเห็นมาหลายคน มีมากมาย โดยเฉพาะกับพระสงฆ์ที่เขานับถือ อาหารของท่านเต็มไปหมด ก็ยังเบียดเข้าไปประเคนจนได้ ส่วนพระรูปอื่นๆ โดยเฉพาะเณร ไม่มีใครเข้าไปประเคน บุคคลเหล่านี้มีมาก

    ผมคิดดูว่า การเลื่อมใสของบุคคลพวกนี้ดีหรือไม่ดีกันแน่ งงๆ อยู่เหมือนกัน เพราะว่าการเลื่อมใสอาจารย์ของเขา ทำให้เขามีโอกาสใส่บาตร ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น แต่ถ้าเขาไม่เลื่อมใส เขาอาจจะไม่ได้ทำเลยในชีวิตนี้ก็ได้ ผมก็ยังตัดสินไม่ได้ว่า การเลื่อมใสบุคคลจะดีหรือไม่ดีกันแน่

    สุ. ท่านผู้ฟังต้องเป็นผู้ละเอียด แม้แต่จะดูการกระทำของบุคคลอื่นหรือสภาพจิตของท่านเอง ก็ต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ในกรณีที่ท่านผู้ฟังกล่าวถึง คือ เรื่องการประเคนอาหารกับพระภิกษุเถระ พระภิกษุผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเคารพเลื่อมใส ก็ขอให้สังเกตดูกิริยาอาการของบุคคลนั้นซึ่งจะต้องเกิดจากจิต ถ้าเป็นขณะที่ต้องการจะให้พระเถระผู้ใหญ่ได้รสอาหารที่ประณีต ที่ควร เพราะท่านเป็นพระที่สูงอายุ นั่นก็เป็นกุศลจิต แต่ในขณะเดียวกัน ต้องเอื้อเฟื้อ คิดถึงบุคคลอื่น แม้สามเณรอื่นด้วย ถ้าไม่มี ก็เห็นได้ว่า ในขณะนั้นกุศลไม่ทั่วถึง เพราะว่าเกิดขึ้นเฉพาะบางบุคคลเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบุคคลที่มีกุศลจิตจริงๆ เป็นผู้ที่ละเอียด จะเห็นได้ว่า บุคคลนั้นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยตลอด โดยทั่วถึงจริงๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังคิดถึงสามเณรและบุคคลอื่นด้วยน้ำใจไมตรี ซึ่งน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง เพราะว่ามีความเอื้อเฟื้อโดยแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงกับบางบุคคลเท่านั้น

    ผู้ฟัง ผมสนับสนุนอาจารย์ เป็นความจริง เณรต้องนั่งท้ายแถว สมภารนั่งข้างหน้า คนรู้จักมากก็ถวาย ผมก็บวชมาตั้ง ๘ ปี ไม่ใช่น้อย อย่างสมเด็จวัดอนงค์ สำรับท่านมากมาย ท่านไม่ฉัน ส่งไปให้พระรูปอื่นที่ไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564