แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708


    ครั้งที่ ๗๐๘


    สุ. เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า บางครั้งท่านอาจจะต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างตามประเพณี แม้ว่าใจของท่านไม่อยากจะกระทำอย่างนั้น อยากจะให้มีความเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็น พระผู้ใหญ่ หรือพระผู้น้อย เพื่อที่จะให้เป็นกุศลที่เท่าเทียมกันโดยแท้จริง แต่บางครั้งบางขณะ ท่านก็ต้องกระทำบางสิ่งบางประการตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้กระทำสืบต่อกันมา แต่ไม่มีใครบังคับท่านได้ ถ้าท่านจะกระทำให้เสมอกัน ท่านก็ย่อมทำได้

    อย่างในการบวช บางครั้งท่านจะเห็นได้ว่า มีการถวายจตุปัจจัยแก่พระเถระผู้ใหญ่มากกว่าพระภิกษุอื่น แต่ก็ไม่มีใครบังคับท่าน ถ้าท่านจะถวายให้เสมอกัน หรือเท่ากัน ท่านย่อมกระทำได้ แล้วแต่สภาพจิตในขณะนั้น แล้วแต่กุศลจิตที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้นว่า จะเป็นกุศลจิตที่เสมอกันทั่วไป หรือว่าบางครั้งบางขณะท่านก็ต้องคิดถึงขนบธรรมเนียมประเพณี หรือความควร ความไม่ควร ซึ่งแล้วแต่ขณะจิตแต่ละขณะจริงๆ โดยที่ไม่มีใครสามารถจะจำกัดได้ว่า ต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้นจึงจะถูก หรือจึงจะควร

    แต่ขอให้เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตของท่านในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว และปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดลักษณะของกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ไม่ปะปนกัน

    ถ้าตราบใดท่านยังบอกไม่ได้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศลหรือเป็นกุศล หมายความว่า ปัญญายังไม่ได้เจริญถึงขั้นสมบูรณ์ที่สามารถรู้ลักษณะของกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม แม้เป็นจิตของท่านเอง เกิดดับสลับกันอย่างไรก็ตาม ถ้าสติเกิด สังเกต สำเหนียก ระลึก ศึกษา จะมีความรู้ชัดในลักษณะของอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม แม้ว่ายังมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงในลักษณะสภาพของอกุศลธรรมซึ่งเกิดในขณะนั้นว่าเป็นอกุศลธรรม จึงจะละได้ แต่ถ้ายังปะปนกัน ไม่รู้ว่าเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ย่อมละอกุศลธรรมไม่ได้ ซึ่งก็ยากนักที่จะมีกุศลจิตเกิดโดยตลอด โดยที่ไม่มีอกุศลจิตเกิดคั่น แม้ในการแสดงความเคารพ แม้ในกุศลขั้นทาน หรือในขั้นศีล ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าสติเกิด จะสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แท้จริงในขณะนั้นได้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล และต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล แม้เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงจะละอกุศลนั้นได้

    ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ ข้อ ๒๙๖ มีข้อความว่า

    บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหายเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม

    เป็นข้อความที่สั้น แต่แสดงความละเอียดของจิตในการสงเคราะห์อนุเคราะห์มิตรสหายแต่ละครั้งว่า เป็นเพราะความผูกพัน ความรักใคร่สนิทสนม หรือว่าเป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสนับสนุน ไม่ทรงส่งเสริมอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปัจจัยให้กระทำการช่วยเหลือนั้นๆ ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม ผู้รับได้รับประโยชน์จริง แต่ผู้ให้กระทำไปด้วยอกุศลจิต เพราะว่ากระทำไปด้วยความผูกพันด้วยจิตปฏิพัทธ์ ไม่ใช่ด้วยการอบรมเจริญกุศลอย่างแท้จริง เคยรู้สึกว่าเป็นอย่างนี้ไหม

    ถ. เป็นมากเสียด้วย การให้ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ให้กับพระภิกษุหรือว่าญาติผู้ใหญ่ ให้กับเพื่อนฝูงแล้ว จะเป็นในลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่ เช่น เพื่อนคนนี้เป็นทนาย เราเห็นหน้าเขาควรจะเลี้ยงเขาบ้าง หวังว่าหากวันหลังเรามีเรื่องมีราวไปปรึกษาเขา เขาจะได้ช่วยเราบ้าง ลักษณะนี้ ทั่วๆ ไปเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

    สุ. ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เป็นความหวัง ความหวังขณะนั้นต้องเป็นโลภะ มีความต้องการผล แต่ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาสภาพของจิตโดยละเอียด เพื่อจะได้ ขัดเกลา รู้ว่าท่านยังกระทำไปด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่กุศล ในคราวต่อๆ ไปจะได้ละอกุศลนั้นเสีย และกระทำด้วยกุศลอย่างแท้จริง ไม่ว่าท่านจะอนุเคราะห์มิตรสหายผู้ใกล้ชิด หรือผู้ห่างไกล ก็ขอให้กระทำด้วยกุศลจิตจริงๆ อย่าให้มีความผูกพัน หรือว่ามีโลภะเกิดขึ้น ซึ่งจะยังประโยชน์ให้เสื่อม เพราะว่าในขณะนั้นไม่ใช่กุศล อกุศลจิตเกิดก็สะสมอกุศลจิต ไม่ใช่ขัดเกลาอกุศลจิต ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ในชีวิตประจำวัน สภาพธรรมย่อมปรากฏตามความเป็นจริงให้รู้ได้

    ผู้ฟัง ท่านที่ให้เพื่อหวังผล มีเป็นส่วนมาก อย่างเพื่อนฝูง บางทีช่วยเหลืองานเรา เขาก็หวังว่าเราจะช่วยเหลือเขาบ้าง ลักษณะการช่วยเหลืออย่างนี้มีเป็นส่วนมากเท่าที่ผมเจอ ส่วนตัวผมเองอาการอย่างนี้มีน้อย ไม่ใช่กล่าวชมตัวเอง รู้สึกว่าอดีตเราเคยสะสมอบรมการฟังธรรม การไม่พูดปดนั้นอีกอย่างหนึ่ง มักจะทำให้ผมเสียหายมาก อัธยาศัยเราพูดอะไรตรงๆ โดยที่ไม่ได้คิดว่า อาจจะทำให้คนอื่นเสียหายหรือให้ตัวเองเสียหาย แต่เรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริง เป็นการยากลำบากที่จะสงเคราะห์เขาด้วยกุศลจิต บางครั้งอาจจะเป็นผลเสียหายก็ได้ ลองพูดให้เขาสำนึกดู ชักจูงเขาไปในทางที่ถูก บางครั้งเขาอาจจะเกลียด และคิดว่าเราเป็นคนไม่ดี

    สุ. ทุกอย่างจะต้องกระทำไปด้วยปัญญา คือ พิจารณาในกาล ในเหตุ ในผล ในประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้าไม่ได้ประโยชน์ ถึงแม้ว่าท่านมีกุศลจิตที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือ แต่เมื่อบุคคลนั้นไม่เข้าใจ ก็ย่อมจะไม่ได้รับประโยชน์จากการสงเคราะห์นั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องระวัง ต้องกระทำด้วยปัญญา

    ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ถึงสภาพของจิตในขณะที่ท่านเข้าใจว่าเป็นกุศล โดยการสงเคราะห์ก็ดี โดยการให้วัตถุสิ่งต่างๆ กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ดี เวลาที่ศึกษาสภาพธรรมแล้ว อาจจะเห็นชัดว่า บางครั้ง การให้บางสิ่งบางอย่างแก่บางบุคคลกระทำไปด้วยความรักใคร่ผูกพัน เป็นอกุศลชัดเจน แต่สำหรับบางบุคคล ดูเหมือนคล้ายๆ กับว่าจะเป็นกุศล แต่ก็ยังต้องมีอกุศลแทรกอยู่ คือ ความผูกพัน อาจจะเป็นความเคารพและรัก ที่บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล ซึ่งปัญญาจะต้องคมที่จะแทงตลอดได้ว่า ขณะจิตใดลักษณะใดเป็นอกุศล ควรละ และควรเจริญเฉพาะขณะที่เป็นกุศลธรรมเท่านั้น

    แต่ว่าบางขณะท่านจะเห็นชัดในความเป็นกุศล คือ การสงเคราะห์บุคคลอื่นโดยไม่เลือก เช่น ถ้ามีบุคคลใดป่วยไข้ในขณะนี้ ท่านก็ไม่รีรอในการที่จะช่วยเหลือ ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นใคร ท่านชอบหรือไม่ชอบ แต่จะเกิดกุศลจิตที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือรักษาพยาบาลในขณะนั้น

    หรือบางครั้ง บางท่านอาจจะกระทำไม่ได้ ก็ยังใช้วาจาที่จะสงเคราะห์ให้เกิดกำลังใจให้บรรเทาความเจ็บป่วย ในขณะนั้น ท่านจะรู้สึกในสภาพของกุศลจิตว่า เป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง

    แต่เวลาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ท่านรัก หรือเคารพ หรือผูกพัน ควรอย่างยิ่งที่จะระลึกรู้ว่าในขณะนั้นว่า มีอกุศลจิตที่เป็นความผูกพันซึ่งเป็นโลภะแทรกในขณะใด เพื่อที่จะได้ละอกุศลจิตในขณะนั้นเสีย

    ถ. การให้ที่หวังผลในทางที่เป็นกุศล เป็นไปได้ไหม

    สุ. ได้

    ถ. เวลานี้ทุกเช้า ผมนำข้าว ๒ กำมือมาโปรยให้นกกิน นกก็มาเป็นฝูง มามากทีเดียว และอธิษฐานว่า ขอให้ละคลายความใคร่ในกามคุณ และรู้ทั่วถึงธรรมโดยรวดเร็ว อย่างนี้จะเป็นการหวังผลที่ถูกหรือเปล่า

    สุ. ต้องการผลอะไร

    ถ. ต้องการผล คือ สติรู้แจ้ง ปัญญารู้แจ้งในนามและรูป

    สุ. เป็นบารมี นี่คือความต่างกันเล็กๆ น้อยๆ แม้ว่าการให้จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คน ๒ คน โปรยข้าวให้สัตว์ แต่คนหนึ่งหวังที่จะได้ผลของข้าวที่โปรยไป ให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นฟ้า ให้สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ บริวารสมบัติ ต่างๆ แสดงถึงความติดอย่างมากในสิ่งเหล่านั้น จึงตั้งความหวังที่จะได้สิ่งเหล่านั้น

    ผู้ฟัง พูดถึงการสงเคราะห์ผู้อื่น ผมเองก็เป็นที่ใจอ่อนคนหนึ่ง ถ้าผู้ใดมาขอความช่วยเหลือ ผมจะไม่มีความสุขเลย ถ้าไม่มีโอกาสได้ช่วยเขา

    แต่ก่อนนี้ผมมักจะเลือกว่า คนที่มาขอเรานั้นเหมาะสมหรือไม่ มาหลอกเรา หรือมาตบตาเราหรือเปล่า แต่ภายหลังผมคิดว่า ถึงแม้เขาจะมาหลอกเรา หรือมา ตบตาเรา เขาก็คงมีเรื่องเดือดร้อนอะไรสักอย่างหนึ่งแน่ จึงต้องมาขอเรา ผมจึงตั้งใจเสียใหม่ว่า ถ้าหากมีโอกาสได้ทำทานเมื่อไร อย่าได้ลังเล ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญหรือทำทาน จะรีบให้โดยไม่ลังเลเลย และจะทำให้อกุศลจิตของเราน้อยลงไปด้วย แต่บางครั้งก็ไม่ได้ทำทั้งๆ ที่หยิบสตางค์แล้ว บางทีเห็นคนถือบาตรมา ถือซองมา ถือใบเรี่ยรายมา เขาก็ขอมาเรื่อย จนมาถึงเรา ทั้งๆ ที่เราหยิบสตางค์แล้ว เขาก็เดินผ่านไปเลย เราก็นึกว่า การที่จะทำบุญนี่ ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้ทุกครั้ง มีโอกาสแล้วอย่าได้ลังเล มากน้อยทำเลย เจอตู้สำหรับค่าน้ำ ค่าไฟ นิดๆ หน่อยๆ อย่าผ่านเลยไป จะทำให้เราสบายใจที่ได้มีโอกาสทำบุญ

    ครั้งหนึ่ง ผมขับรถกลับบ้านทางเปลี่ยวๆ มีสะพานอยู่สะพานหนึ่ง บนสะพานมีสุนัขอยู่ตัวหนึ่ง ผอมมากเหลือแต่กระดูกนอนอยู่ เราสงสารเหลือเกิน เราก็วิจารณ์กันในครอบครัวขณะที่อยู่ในรถ คิดว่าเขาต้องอยู่เพื่อรับกรรมต่อจึงยังไม่ตาย เพราะฉะนั้น ก่อนที่เขาจะตาย ถ้าเราได้สงเคราะห์สักมื้อหนึ่งเขาคงมีความสุขเหลือเกินในชีวิตนี้ พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ที่ตั้งใจว่าจะนำอาหารมาเพื่อจะให้สุนัขกินอิ่มสักมื้อหนึ่ง ก็ลืม เห็นเขายังนอนอยู่ตอนขับรถผ่าน ก็คิดว่าเราไม่น่าลืมเลย อีกวันหนึ่งนำอาหารมา แต่ปรากฏว่าเขาไม่อยู่

    เพราะฉะนั้น การทำบุญ ทำทาน ไม่ใช่ของง่ายเลย ถ้าเจอ อย่าได้ลังเล รีบทำทันที จะมากหรือจะน้อยก็ตาม ผมมีทัศนะที่จะแนะเพียงเท่านี้

    ผู้ฟัง ลักษณะการเรี่ยไร ผมถามตรงๆ เลย มาเรี่ยไรอย่างนี้ได้เปอร์เซ็นต์ไหม บอกมาตรงๆ เขาก็บอกว่า เขามาจากมูลนิธิและก็กินเงินเดือน ก็ถามต่อว่า เงินที่เรี่ยไรไปนี้ให้มูลนิธิครบบริบูรณ์หรือเปล่า เขาบอกว่าไม่แน่ บางครั้งก็ครบบางครั้งก็ไม่ครบ ฟังแล้วผมก็เข้าใจว่า คงไม่บริสุทธิ์ แต่ผมก็ให้ และผมก็เตือนเขาว่า อาชีพนี้ไม่เหมาะไม่ควรเลย แต่ก็อย่างที่คุณพูด เขาคงมีความจำเป็นบางอย่างจึงกระทำอย่างนี้

    สุ. แต่ละท่านจะเห็นได้ว่า สภาพของจิตแต่ละขณะของแต่ละคนก็ต่างกันไป ไม่เหมือนกัน บุคคลนี้คิดอย่างนี้ กระทำอย่างนี้ อีกบุคคลหนึ่งคิดอีกอย่างหนึ่ง ก็กระทำอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลจิต ปัญญาต้องคมที่จะรู้ว่าเป็นกุศลจิต ควรแก่การอนุโมทนา และกุศลก็มีหลายประการ ถ้าหวังผลเพียงการที่จะได้เกิดในสวรรค์ หรือว่าได้ลาภสมบัติ ยศ บริวารต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นบารมีที่จะสามารถเกื้อกูลให้ปัญญาคมกล้าที่จะแทงตลอดในสภาพธรรม และละคลายการยึดถือได้ เพราะว่าขณะนั้นยังเป็นความพอใจอยู่ ยังเป็นความติดอยู่ในผล ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดหวังในผลที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะใดที่เกิดขึ้น สติระลึกรู้ได้ทันทีว่า ในขณะนั้นท่านติดมากทีเดียวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงหวังอย่างนั้น เพราะปกติทุกท่านก็ติดอยู่แล้ว แม้ในขณะนี้ มีใครบ้างที่ไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริง ติดอยู่แล้วเป็นปกติ แต่เมื่อตั้งความหวังขึ้นขณะใด ย่อมแสดงถึงความแรงของความติดในขณะนั้นว่า ต้องติดมาก จึงถึงกับสร้างเป็นความหวังที่จะได้ในสิ่งนั้นขึ้น

    ถ. ผู้ที่ให้ทาน เขาก็หวังกันอย่างนั้นทั้งนั้น

    สุ. ไม่แน่

    ถ. ส่วนใหญ่อธิษฐาน จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ เพราะว่าผู้นั้นไม่เคยศึกษาธรรม หรือไม่เคยเห็นโทษของการติดเลย ที่จะอธิษฐานให้เกิดการละการคลาย ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ยาก

    สุ. เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะศึกษาธรรม แต่ละท่านก็อธิษฐานกันยาวๆ ขอกันมากๆ ทุกคืนๆ เวลาที่ทำบุญกุศลเสร็จแล้ว ก็ตั้งความปรารถนา ตั้งความหวังไว้หลายประการ และเมื่อเข้าใจว่า กุศลย่อมให้ผลเป็นสุขทุกประการทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่แล้ว ทำไมจึงเอาอกุศลจิตไปลบผลของกุศลนั้น โดยหวัง โดยติดในสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ขอ ก็ต้องได้รับผลของกุศลนั้นอยู่แล้ว

    ใครก็ตามที่ทำบุญแล้ว ตั้งความปรารถนาวิงวอนว่า ขอให้ผลเป็นทุกข์เถอะ ขอให้ผลของกุศลที่ได้ทำไปแล้วให้ได้ผลเป็นทุกข์ ก็เป็นไปไม่ได้ หรือใครที่ทำอกุศลกรรมลงไปแล้ว ก็ไปนั่งปรารถนา วิงวอน ขอให้ผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนี้จงให้ผลเป็นสุข ก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขอ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุ กุศลกรรมเป็นเหตุให้ได้รับผลเป็นสุข อกุศลกรรมเป็นเหตุให้ได้รับผลเป็นทุกข์ ขณะใดที่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเป็นการแสดงความติดอย่างมาก ซึ่งปรากฏชัดในลักษณะของความหวัง ความต้องการในสิ่งนั้น แม้ว่าปกติก็ติดอยู่แล้วในขณะนี้ หวังอยู่แล้วในขณะนี้

    แต่ผู้ที่เห็นโทษของกิเลสซึ่งมีมาก เวลาที่ทำกุศล จึงกระทำด้วยความผ่องใส เพื่อที่จะให้เป็นบารมี ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เช่น ทาน ขณะที่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นไม่ได้ ให้ไม่ได้ แต่เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้น สละรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้างให้บุคคลอื่น เพื่อความสุขของบุคคลนั้นได้ ในขณะนั้น สละวัตถุภายนอกให้ได้ เพื่อที่จะให้มีกำลัง เป็นกำลัง สามารถที่จะสละความติดในรูปหรือนามที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ในขณะนั้นได้

    แต่ถ้าไม่หัดสละวัตถุซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะออกไปเรื่อยๆ จะไม่มีกำลังของการที่จะเกิดอโลภะ สละความติด ความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564