แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711


    ครั้งที่ ๗๑๑


    สุ. ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้ว แต่เคยตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานด้วยความเคยชินจนยากที่จะทิ้งไปว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สิ่งต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และมีสภาพการตรึกนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก จนยากที่จะละทิ้ง หรือว่ายากที่จะเห็นว่า การเห็นกับการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานนั้น ไม่ใช่ขณะเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จริงๆ จนชินขึ้น โดยแน่ใจว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ และเวลาที่ปัญญาสมบูรณ์ขึ้น คมกล้าขึ้น ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏในลักษณะที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อนั้นก็จะประจักษ์ชัดในอรรถของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลว่า ต่างกับขณะที่ตรึกนึกถึงด้วยความยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นวัตถุต่างๆ หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนต่างๆ

    ทุกทวารเหมือนกันหมด แม้แต่ในขณะที่กำลังได้ยินก็จะต้องรู้ว่า สภาพที่รู้เสียงไม่ใช่ขณะที่ตรึกนึกถึงความหมายของคำซึ่งเกิดขึ้นเพราะการได้ยินเสียง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรื่องราวต่างๆ ไม่มีสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏเลย แต่ว่าจิตเกิดขึ้นตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งต้องรู้ว่า ขณะนั้นสภาพธรรมเกิดขึ้นและตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ โดยที่เรื่องราวต่างๆ ไม่มีจริงในขณะนั้น เป็นแต่เพียงสัญญาความทรงจำในสิ่งที่เคยปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น อรรถของคำว่าอนัตตา จะประจักษ์แจ้งได้ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์แล้ว มิฉะนั้นก็เพียงขั้นเข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้วว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตา ก็จะต้องระลึกศึกษาให้เห็นในอรรถที่เป็นอนัตตาจริงๆ ของสภาพธรรมเหล่านั้น

    ถ. ผมรู้สึกว่า บางครั้งมีสติระลึกรู้แต่ไม่ชัด คือ ไม่ประจักษ์ความเป็นอนัตตาของนามรูป ขอถามว่า การระลึกเช่นนี้จะเป็นสติหรือเปล่า หรือว่าสติเกิดทุกครั้งจะต้องชัดทุกครั้ง

    สุ. เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า อะไรไม่ชัด เวลานี้อะไรไม่ชัด

    ถ. ทั้งนามทั้งรูป คือ ตัวตนยังปิดบังอยู่อย่างเก่าอย่างนั้น

    สุ. ต้องชัดเจนกว่านั้นว่า อะไรไม่ชัด

    . ความรู้ที่รู้สภาพความเป็นรูป รู้ไม่ชัด

    สุ เพราะฉะนั้น ที่ไม่ชัด คือ ความรู้

    นามธรรม กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของจริงกำลังปรากฏ แต่ที่ไม่ชัดคือความรู้ ไม่มีใครสามารถจะทำอย่างไรได้ ไม่มีวิธีอื่นนอกจากอบรมด้วยการระลึก พิจารณา ศึกษา สังเกต สำเหนียก จนเป็นความรู้เพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น หนทางเดียว คือ อบรม โดยระลึกศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นความรู้ชัด

    ศึกษาขณะนี้ ระลึกขณะนี้ เมื่อยังไม่รู้ก็ยังไม่รู้ แต่เมื่อศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ก็ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละนิดๆ และเมื่อรู้เมื่อไร ชัดเจนเมื่อไร ที่ว่าชัดนั้น คือ ความรู้ชัด

    สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตาชัดเจนในลักษณะซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น อย่าลืม อวิชชาปกปิด

    เวลานี้ ฟังมาก็มากว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่ออวิชชายังปกปิดอยู่ ทำให้รู้ไม่ชัด ก็จะต้องศึกษาเพื่อละอวิชชา ละความไม่รู้ ละความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อย่าลืมที่ไม่ชัด คือ ความรู้ไม่ชัด ซึ่งความรู้จะชัดขึ้น ก็ต่อเมื่อเพิ่มการอบรม การศึกษา

    ถ. ศึกษา พิจารณา ศึกษาพระไตรปิฎกก็แล้ว ทั้งอ่าน ทั้งฟัง เวลาเจริญสติ ขณะที่ไม่ชัด ก็มีการพิจารณา รูปปรมัตถ์ปรากฏ ขณะนี้ตึง หรือไหว หรือแข็ง หรือเห็น หรือเสียง หรือได้ยิน รู้ว่ากระทบขณะนี้เป็นปรมัตถ์ แต่สติระลึกผิด ก็ไม่ชัด นานๆ ทีก็ชัดขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้นเอง ไม่มากเหมือนกับบางครั้งที่เคยประจักษ์ว่า ลักษณะนี้ รูปทางตาก็ตาม ทางหูก็ตาม หรือทางอื่นปรากฏก็ตาม ขณะนั้นความเป็นอนัตตาปรากฏอย่างนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญญาจะชัดหรือจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมีการศึกษา การสังเกต การสำเหนียกเพิ่มขึ้นเท่านั้น นี่เป็นเหตุที่จะทำให้ความรู้ชัดขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเหตุ คือ ระลึกศึกษาเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งตรงกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงใน มหาสติปัฏฐานสูตร และในสูตรอื่นๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า เป็นผู้ที่มีปกติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเนืองๆ บ่อยๆ ทรงใช้คำว่าเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ปัญญาสมบูรณ์ถึงความคมกล้าที่จะประจักษ์แจ้งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ความรู้ไม่ใช่อยู่ที่สถานที่ การอบรมเจริญปัญญาเริ่มจากความเข้าใจ โดยการฟังและพิจารณาในข้อปฏิบัติให้ถูกต้องว่า การที่ปัญญาจะเกิดขึ้น คมกล้าขึ้นนั้น ต้องเพราะการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏและศึกษา คือ สังเกต สำเหนียก จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็นความรู้ชัด

    ในเรื่องผลของเวยยาวัจจะ ขอกล่าวถึงประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่พุทธบริษัทในการที่ได้ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ รวมทั้งสุวรรณภูมินี้ด้วย

    พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในบรรดาพระราชโอรส ๑๐๑ องค์ของพระเจ้าพินทุสาร พระองค์ทรงแกล้วกล้าสามารถกว่าพระราชโอรสทั้งปวงของพระเจ้าพินทุสาร เมื่อพระเจ้าพินทุสารประชวรหนัก พระเจ้าอโศกราชกุมารทรงละราชสมบัติในกรุงอุชเชนีที่พระองค์ทรงครอบครอง และเสด็จมายึดพระนครทั้งหมดไว้ และทรงปลงพระชนม์พระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ทั้งหมด ๙๙ องค์ เว้น พระติสสราชกุมารซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาของพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น

    เห็นการสะสมไหมว่า ผู้ที่จะได้รับพระธรรม ถ้าในอดีตชาติได้เคยกระทำกรรม เคยสะสมกุศลอกุศลอย่างไรมา ชีวิตก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้นตราบเท่าที่ยังไม่ได้ฟัง พระธรรม ยังไม่ได้เข้าถึงพระธรรม ก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามกำลังของอกุศลธรรมซึ่งมีมากกว่า

    เมื่อพระเจ้าอโศกทรงปลงพระชนม์พระราชโอรสเหล่านั้น พระองค์ยังไม่ได้ทรงราชาภิเษกทันที แต่ว่าได้ทรงครองราชย์สมบัติตลอดมาถึง ๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปีแล้ว เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานได้ ๒๑๘ ปี พระองค์จึงได้ทรงปราบดาภิเษก เป็นเอกราชาในชมพูทวีป และได้ทรงสถาปนาพระติสสราชกุมารไว้ในตำแหน่งอุปราช

    วันหนึ่งพระติสสราชกุมารเสด็จประพาสป่า ทรงเห็นฝูงเนื้อหมู่ใหญ่หยอกกันอยู่ในป่า ก็ทรงพระดำริว่า เนื้อเหล่านี้เพียงแต่กินหญ้ายังหยอกกันอย่างนี้ ก็สมณะ คือ พระภิกษุเหล่านี้ฉันโภชนะในราชสกุล ทำไมจักไม่เล่นสนุกสนานชอบใจเล่า พระองค์กลับจากประพาสป่า ก็ได้กราบทูลพระวิตกของพระองค์แก่พระเจ้าอโศกมหาราช

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละคนวิจิตรสักแค่ไหน ก่อน ๔ ปีนั้น พระเจ้าอโศกไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่หลังจากนั้นแล้ว ๔ ปี ก็ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสมาก โดยที่ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เข้ามารับพระภัตตาหารในพระราชสถานชั้นในเป็นประจำ แต่ว่าพระติสสราชกุมารซึ่งเป็นอุปราชมีความเห็นว่า พวกเนื้อทั้งหลายซึ่งเพียงกินหญ้าอยู่ในป่าก็ยังหยอกกันสนุกสนานร่าเริง เพราะฉะนั้น ก็สมณะ คือ พระภิกษุเหล่านั้น ซึ่งฉันโภชนะอันประณีตในราชสกุล ทำไมจักไม่เล่นสนุกสนานชอบใจเล่า

    พระเจ้าอโศกทรงพระดำริว่า พระติสสราชกุมารทรงรังเกียจในฐานะอันไม่ควร คือ รังเกียจพระภิกษุสงฆ์ผู้ซึ่งประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ พระองค์จึงทรงดำริอุบายที่จะทำให้พระติสสราชกุมารทรงเข้าพระทัยถูก

    วันหนึ่งก็ทรงกระทำประหนึ่งว่ากริ้ว แล้วทรงคุกคามให้พระติสสราชกุมารกลัวตายว่า จงมารับครองราชย์ตลอด ๗ วัน จากนั้นไป จักฆ่าเธอเสีย

    พระติสสราชกุมารก็ไม่ทรงสนุกสนานเพลิดเพลินเลย เพราะว่าทรงเข้าพระทัยว่า อีก ๗ วันก็จะต้องตาย ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ตรัสถามว่า

    ทำไมจึงไม่เล่นสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสุข

    พระติสสราชกุมารก็กราบทูลว่า

    เพราะกลัวตาย

    พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ตรัสชี้แจงให้เห็นว่า พระติสสราชกุมารเห็นความตายที่ได้กำหนดไว้ยังหมดความสนุกสนาน เพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ผู้ซึ่งพิจารณาความตายที่มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จะสนุกได้อย่างไร

    ตั้งแต่บัดนั้นมา พระติสสราชกุมารก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และใคร่ที่จะบวช ในที่สุดก็ได้กราบทูลขออนุญาตพระเจ้าอโศกมหาราชผนวช ซึ่งเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ทรงสามารถที่จะให้พระราชกุมารกลับพระทัยได้ ก็ได้ทรงจัดการ การผนวชของพระติสสราชกุมารผู้ทรงเป็นพระยุพราชอย่างสมพระเกียรติ และในครั้งนั้นพระภาคิไนยของพระองค์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าอัคคิพรหมกุมาร ซึ่งเป็นสวามีของพระนางสังฆมิตตา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระองค์เองนั้น ก็ได้ทรงผนวชในวันนั้นเอง

    แสดงให้เห็นว่า การบวชย่อมสูงสุดแม้กว่าตำแหน่งอุปราช เพราะพระติสสราช-กุมารแม้ว่าทรงเป็นอุปราชแล้ว ก็ยังใคร่ที่จะได้ทรงผนวช

    พระติสสราชกุมารและพระเจ้าอัคคิพรหมกุมาร ทรงผนวชในกาลที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงราชาภิเษกได้ ๔ ปี ส่วนพระมหินทกุมารพระราชโอรส และพระนางสังฆมิตตาพระราชธิดา ทรงผนวชหลังจากนั้น ๒ ปี คือ ในกาลที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงราชาภิเษกได้ ๖ ปี

    ในกาลที่ทรงผนวชนั้น พระมหินทกุมารมีพระชนม์ครบ ๒๐ พรรษา ทรงบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ณ สถานที่ที่ทรงผนวชนั้นเอง

    ความจริงพระมหินทกุมารก็มีพระประสงค์ที่จะทรงผนวชตั้งแต่พระติสสราช-กุมารทรงผนวช แต่ก็ได้ทรงรอมาจนกระทั่งมีโอกาสในภายหลัง

    พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาในปีที่ ๔ หลังจากทรงบรม-ราชาภิเษกแล้ว ก่อนนั้นพระองค์ทรงถือลัทธินอกพระพุทธศาสนาอยู่ ๓ ปี ซึ่งพระเจ้าพินทุสารก็ทรงนับถือพราหมณ์ และได้ทรงตั้งนิตยภัตถวายนักพรตเป็นจำนวนมากผู้ที่เป็นพราหมณ์ และเป็นผู้ที่นับถือลัทธิปาสาณฑะ ซึ่งมีกำเนิดเป็นพราหมณ์

    แม้พระเจ้าอโศกมหาราชเองก็ได้ทรงถวายทานตามที่พระราชบิดาทรงบำเพ็ญมาในพระราชวังชั้นในของพระองค์อย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นการบริโภคของนักพรตผู้มารับภัตตาหารในพระราชวังชั้นใน ซึ่งบริโภคอาหารด้วยมารยาทที่ปราศจากความสงบ มีอินทรีย์ไม่สำรวม ก็ไม่ทรงเลื่อมใส แล้วก็ทรงแสวงหานักพรตอื่นๆ มาอีก ก็เป็นผู้ที่บริโภคด้วยมารยาทที่ปราศจากความสงบ มีอินทรีย์ไม่สำรวมอีก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทรงเลื่อมใสอีก

    วันหนึ่งได้ทรงทอดพระเนตรเห็นนิโครธสามเณรกำลังเดินไปทางประตูทิศตะวันออก ท่านเป็นผู้ที่มีอินทรีย์สงบ เพราะว่ามีจิตที่ฝึกแล้วคุ้มครอง พระเจ้าอโศกมหาราชเพียงเห็น ก็ทรงเลื่อมใส ทรงมีเมตตาธรรมต่อสามเณรอย่างลึกซึ้ง เพราะอดีตชาติเคยอยู่ร่วมกัน ทรงนิมนต์นิโครธสามเณรมารับพระภัตตาหาร และได้ทรงฟังธรรมด้วย

    ประวัติของนิโครธสามเณรมีว่า

    ในวันที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมายึดพระนครทั้งหมดไว้ ได้ทรงจับ พระสุมนราชกุมารซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าพินทุสาร พระนางสุมนาซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุมนราชกุมารกำลังทรงครรภ์ครบกำหนด พระนางได้ทรงปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก แล้วเสด็จมุ่งไปยังหมู่บ้านคนจัณฑาลซึ่งอยู่ไม่ไกล แล้วได้ทรงประสูติพระกุมารในวันนั้น ที่ศาลาใกล้บ้านของคนจัณฑาล หัวหน้าคนจัณฑาลก็ได้ปฏิบัติบำรุงพระนางสุมนาประหนึ่งธิดาแห่งเจ้านายของตน เมื่อกุมารนั้นมีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้อุปสมบทเป็นสามเณร

    ในอดีตกาล พระเจ้าอโศกมหาราช พระติสสราชกุมาร และนิโครธสามเณร ได้เกิดเป็นชายพี่น้อง ๓ คน เป็นพ่อค้าขายน้ำผึ้ง คนหนึ่งขาย อีก ๒ คนเข้าป่าหาน้ำผึ้ง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงมีบาดแผล ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งได้เสด็จไปเพื่อบิณฑบาตน้ำผึ้ง เพื่อที่จะนำมารักษาพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ทรงมีบาดแผล หญิงผู้หนึ่งกำลังเดินไปตักน้ำที่แม่น้ำ ได้ทราบความประสงค์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็ได้ชี้ทางให้พระองค์ไปบิณฑบาตที่ร้านพ่อค้าน้ำผึ้งนั้น

    พ่อค้าน้ำผึ้งผู้น้องซึ่งเป็นผู้ขาย มีจิตเปี่ยมด้วยศรัทธา ได้ถวายน้ำผึ้งเต็มเปี่ยมขอบบาตรจนล้น ขณะที่เห็นน้ำผึ้งไหลลงล้นขอบบาตรตกสู่พื้นดินนั้น ก็ได้ตั้งจิตปรารถนาว่า ด้วยผลบุญนี้ ขอให้ได้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป ให้มีพระราชอาญาแผ่ไปภายใต้มหาปฐพีในที่ประมาณ ๑ โยชน์ บนอากาศแผ่ไปในที่ประมาณ ๑ โยชน์

    ซึ่งเมื่อพี่ชายทั้ง ๒ มาถึง พ่อค้าน้ำผึ้งผู้น้องก็ให้พี่ชายร่วมอนุโมทนากุศลที่ได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย เพราะว่าพี่ชายทั้งสองก็ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของน้ำผึ้งร่วมกัน พี่ชายคนโตกล่าวอย่างเสียดายและด้วยความไม่เต็มใจว่า คงจะเป็นพวกจัณฑาลแน่ล่ะ เพราะว่าพวกจัณฑาลชอบนุ่งห่มผ้าสีอย่างนั้น

    อกุศลจิตเกิดแล้ว ไม่ได้มีจิตศรัทธาในพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เข้าใจด้วยการที่เป็นอกุศลว่า บุคคลนั้นคงจะเป็นคนจัณฑาล เพราะว่าคนจัณฑาลชอบนุ่งห่มผ้าสีอย่างนั้น

    พี่ชายคนที่ ๒ ได้กล่าวว่า ขอให้ได้ข้ามฝั่งไปกับพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย

    นี่คือความต่างกันของจิตซึ่งสะสมมา

    แต่เมื่อพี่ชายทั้งสองได้ทราบว่า จะมีส่วนในผลบุญที่ได้ถวายน้ำผึ้งนั้นด้วย พี่ชายทั้งสองก็ยินยอมอนุโมทนาในกุศลนั้นด้วย ส่วนหญิงผู้ชี้ทางให้พระปัจเจกพุทธเจ้าไปบิณฑบาตที่ร้านพ่อค้าน้ำผึ้งนั้น ก็ได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระมเหสีของพ่อค้าน้ำผึ้งผู้ถวายน้ำผึ้ง และขอให้มีขาแขนที่งดงามสมส่วน

    และในชาตินี้ พ่อค้าน้ำผึ้งผู้ถวายน้ำผึ้งก็ได้มีกำเนิดเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช หญิงผู้ชี้ทางก็ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์ พระนามว่าอสังฆมิตตา พ่อค้าผู้พี่ที่ได้กล่าวคำว่า จัณฑาล ก็เป็นนิโครธสามเณร

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องรับผลของกรรมในการที่กล่าวคำว่า จัณฑาล ด้วยการที่อยู่ร่วมกับพวกจัณฑาลตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงอายุ ๗ ขวบที่บวช

    พ่อค้าผู้กล่าวว่า ขอให้ได้ข้ามฝั่ง ก็ได้เป็นพระติสสพระราชกุมารร่วม พระมารดากับพระเจ้าอโศกมหาราช



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๗๑๑ – ๗๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564