แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
ครั้งที่ ๗๑๔
บารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมบารมี โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงเนกขัมมะในข้อเดียว ในข้อที่สูง คือ การบรรพชาอุปสมบท แต่ว่าตามความเป็นจริง มีการตรึก คือ วิตกต่างกัน เป็นอกุศลวิตกและกุศลวิตก
ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลวิตก คือ การตรึกนึกถึงวัตถุกามต่างๆ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นปกติประจำวัน ชื่อว่ากามวิตก เป็นอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะพ้นไปได้ไหมที่จะไม่นึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความต้องการ ยินดี เพลิดเพลิน หรือด้วยความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น
สำหรับกุศลวิตก เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกามวิตก คือ เนกขัมมวิตก การออกจากกาม ไม่ใช่ว่าด้วยการบรรพชาอุปสมบทประการเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงมาก ยากแก่การที่จะทำได้ แต่ว่าในชีวิตประจำวันเคยคิดที่จะออกจากกามบ้างไหม ไม่ได้หมายความว่า ท่านเคยคิดที่จะบวชบ้างไหม แต่หมายความว่า คิดที่จะรู้สึกว่า พอแล้วในการที่จะตรึกนึกถึง ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ต้องสละออกไป เพียงแต่ว่าพอบ้างไหม การที่จะตรึกนึกถึงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี พอบ้างไหม พอบ้างแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่เคยพอ เท่าไรๆ ก็ไม่พอ มีแล้วก็อยากมีอีก ได้แล้วก็อยากได้อีก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ลองคิดดู พอแล้วหรือยัง ไม่พอใช่ไหม นั่นคือ กามวิตก
แต่ถ้าพอแล้ว มากมายแล้ว ก็เป็นเนกขัมมวิตก ยังไม่ต้องบรรพชาอุปสมบท แต่ในชีวิตประจำวันของทุกท่านก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า พอบ้างไหม หรือว่าพอบ้างแล้วหรือยัง หรือถ้าจะกลับกัน ก็ถามว่า กิเลสพอบ้างแล้วหรือยังที่มีมากๆ แต่ละครั้ง ปรารถนาในรูป ก็คือกิเลสครั้งหนึ่งๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกิเลสทั้งนั้น แต่ละครั้ง พอบ้างหรือยังกิเลสทั้งหลาย มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่รู้จักพอเลย จะไปถึงเนกขัมมวิตกได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องถึงกับบรรพชาอุปสมบท เพียงแต่ในชีวิตประจำวันนี้ ในวันหนึ่งๆ ให้พิจารณาตนเองว่า พอบ้างแล้วหรือยัง รู้จักพอบ้างไหม ถ้าท่านรู้สึกว่าพอแล้ว ของใช้ก็มากมายเหลือเกิน ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหามาอีก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็มากมายเหลือเกินแล้ว เว้นเสียบ้าง ไม่ต้องไปซื้อหามาอีก เครื่องใช้ต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีมากมาย ให้คิดถึงคำว่า มากมายแล้ว พอแล้ว พอเสียที นั่นก็จะเป็นเนกขัมมะในชีวิตประจำวัน
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความหมายของเนกขัมมวิตก หรือเนกขัมมบารมี แม้แต่ฆราวาสก็ควรที่จะสะสมที่จะรู้จักพอ เพื่อสามารถออกจากกามได้จริงๆ
ท่านผู้ฟังอยากจะดับกิเลส แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะดับได้อย่างไร ใจนี่แสนอยากจะพ้นจากกิเลส ดับจากกิเลส ไม่ให้มีกิเลสเลย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่พอสักที ยังคงมีความต้องการอย่างมากๆ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และจะดับได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น บารมี คือ เริ่มรู้สึกตัว พิจารณา และสำรวจตัวเองว่า เคยพอบ้างไหม ถ้ายังไม่เคยพอ ก็ควรที่จะเริ่มรู้จักพอกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นการที่จะมีความสันโดษ ความพอใจเฉพาะในสิ่งที่มี มีแล้วก็พอแล้ว ถ้าได้มาอีกและจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลอื่น ก็สามารถที่จะสละให้ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นบารมีที่จะทำให้เกิดเนกขัมมวิตกแทนกามวิตก ดังนั้น ท่านที่จะดับกิเลส อย่าลืม บารมีเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน
ถ. เนกขัมมวิตก รู้สึกว่าเป็นธรรมฝ่ายดีที่น่าปรารถนา ถ้าหากว่าจิตเกิดความยินดีพอใจ หรือต้องการในสิ่งใดๆ และมีสติระลึกรู้ จะเป็นการเจริญเนกขัมมะได้ไหม
สุ. เป็นแน่นอน ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเนกขัมมะ ไม่ว่าจะเป็นในกุศลประการใดก็ตาม ขณะที่สติระลึก ขณะนั้นเป็นกุศล และก็เป็นเนกขัมมะ เป็นการตรึกที่จะออกจากกามจึงระลึก แต่ว่าก็ชั่วขณะที่ระลึก เพราะว่าปัญญายังไม่มีกำลังถึงกับจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยบารมี คือ การที่จะเข้าใจ เห็นโทษของกาม เห็นโทษของการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และเจริญกุศลประกอบกันไปด้วย ในการที่จะให้สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เพื่อปัญญารู้ชัด และละเยื่อใยการยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย
ถ. ขณะที่ตรึกเป็นไปในกาม และระลึกรู้ในสภาพจิตนั้น
สุ. ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ เป็นการออกจากกาม แต่เพราะปัญญายังรู้ไม่ชัด ยังไม่มีกำลังพอ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงมีการตรึกในกามต่อไป แต่เมื่อมีการตรึกในกามแล้ว ทุกท่านรู้ว่า ท่านต้องการดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะเพิ่มความรู้จักพอ ความรู้สึกพอ เพื่อที่จะได้ถึงกาลที่สามารถจะดับได้เป็นสมุจเฉทด้วย จะอาศัยเพียงกำลังของสติเท่านั้นไม่พอ จนกว่าปัญญาจะคมกล้าถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล
ถ. ธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกับเนกขัมมบารมี ก็คือ
สุ. กามวิตก ที่ตรงกันข้ามกับเนกขัมมะ
ถ. ขณะที่มีสติระลึกรู้ความต้องการ หรือความยินดีพอใจในกามคุณทั้ง ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นการเพียรละอยู่แล้วใช่ไหม
สุ. แต่ว่าถ้ารู้แล้ว ชั่วขณะที่ระลึกก็หมดไป ความต้องการ ความติดอย่างมากก็เกิดขึ้นอีกได้ เพราะฉะนั้น สติจึงต้องมีหลายขั้น แม้แต่ขั้นที่เห็นโทษของกามวิตกว่า ตรงกันข้ามกับเนกขัมมบารมี ถ้ายังมีการตรึก การวิตก ความไม่รู้จักพอในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเติมเข้าอยู่เรื่อยๆ การที่จะดับ การที่จะสละ การที่จะละออกไปนี่จะยากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น เพียงแค่ให้พอเท่านั้น พอได้ไหมเท่านั้นเอง ก็จะเปรียบให้เห็นได้ว่า กุศลธรรมมีกำลัง หรือว่าอกุศลธรรมมีกำลัง
ถ. รู้สึกว่าก็เหมือนๆ กัน หลายๆ คนก็คงรู้สึกอย่างนี้ คือ มีความยินดีพอใจในกามคุณทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สุ. เพราะว่าความยินดีพอใจห้ามยาก ใช่ไหม เกิดแล้ว ทั้งๆ ที่กายยังไม่ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะได้มา วาจาก็ยังไม่ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะได้มา แต่ความพอใจเกิดแล้ว ทันทีที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่กายไหวไปเพื่อที่จะได้มา วาจาไหวไปเพื่อที่จะได้มา นั่นก็มีกำลังแล้ว ถ้ายิ่งพร้อมไปด้วยความพากเพียรอย่างมากที่จะได้มาด้วยความอุตสาหะ นั่นก็ยิ่งแสดงถึงความพอใจ ความติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้ามีเพียงความพอใจ และมีสติเกิดขึ้นรู้สึกว่าพอแล้ว จะดีไหม หรือว่าจะปล่อยให้ขวนขวายไปด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า
ถ. ขณะใดที่มีความนึกคิดว่า พอแล้ว แค่นี้พอ และมีสติระลึกรู้สภาพจิตนั้น นี่ถูกใช่ไหม
สุ. เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่จะเห็นว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และก็เริ่มเข้าใจว่า ตัวเองซึ่งไม่เคยพอ เปลี่ยนนิสัยแล้ว เริ่มที่จะพอ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ใหม่ๆ อาจจะรู้สึกว่า ยังไม่พออยู่ แต่พอเริ่มพอแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่พอแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในสิ่งที่มี ในสิ่งที่พอจะแสวงหาได้ ในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ความรู้จักพอก็จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งตัวเองสามารถที่จะรู้ได้ว่าขั้นไหน แต่ยากนักที่จะให้ถึงขั้นบรรพชาอุปสมบทโดยอุปนิสัยที่แท้จริง เพราะว่าธรรมทั้งหลายต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
ถ. มีผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งฟังธรรมที่อาจารย์บรรยายนี้ และนำไปปฏิบัติ เขาบอกว่า เมื่อก่อนเขาก็มีฐานะอย่างนี้ แต่ตอนนั้นเขาเดือดร้อนเหลือเกิน เพราะดำรงชีวิตด้วยความกลัว คือ กลัวจะขาดอย่างนั้น กลัวจะไม่พออย่างนี้ กลัวจะมีเหตุการณ์อย่างนั้น แต่ขณะที่เขาปฏิบัติธรรมมา เขาได้รับความร่มเย็นพอสมควร คือ รวยก็รวยเท่าเก่า จนก็จนเท่าเก่า กิจการงานก็มีเท่าเก่า แต่รู้สึกว่าตัวเองได้รับความสบายใจจากการพอ คือ รู้สึกว่าพอขึ้น
สุ. ทุกท่านจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วย จากผู้ที่มักจะมีกามวิตก ก็จะเริ่มมีเนกขัมมวิตกบ้าง
ถ. อย่างที่อาจารย์ว่า ทุกคนเข้าใจว่า เนกขัมมะ คือ การบวช หรือการออกจากเรือน หมายความว่า วันอุโบสถไปนอนที่วัด คืนนั้นก็เป็นเนกขัมมวิตก แต่ที่อาจารย์ได้กล่าวความละเอียดขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เคยได้ฟังว่า คำว่า พอ ก็เป็นเนกขัมมวิตก เป็นคำใหม่สำหรับผม ซึ่งผมสงสัยว่า คนที่รู้จักคำว่า พอ บางครั้งถ้ามีอุปสรรคในครอบครัวก็ดี หรือในตัวเองก็ดี เช่น เกิดป่วยไข้อย่างหนัก หรือเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ทำให้เขาเกิดพอขึ้นมา ไม่ขวนขวายต่อไป จะเป็นเนกขัมมวิตกไหม
สุ. ธรรมเฉพาะตนๆ ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะตอบแทนบุคคลอื่นได้เลย ที่ว่าเป็นความจำเป็น แต่จิตขณะนั้น เป็นสภาพที่เป็นเนกขัมมะจริงๆ หรือเปล่า ท่านอาจจะได้รับลาภ ช่วยไม่ได้ในเมื่อเป็นวิบาก ผลของกรรมของท่านที่ท่านจะต้องได้รับ ท่านอาจจะได้รับยศ ได้รับสรรเสริญ สุข แต่ว่าขณะที่รับ รับอย่างไร ถ้าด้วยความติด ที่ได้มาก็ยังไม่พอ แต่ถ้ารับตามปกติตามความเป็นจริง มาอย่างไรก็เป็นปกติอย่างนั้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้ติดข้อง ไม่ว่าจะในลาภ วัตถุต่างๆ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ก็เหมือนพอใช่ไหม เพราะว่าไม่ติด ไม่ได้ขวนขวาย ไม่ได้ต้องการยิ่งขึ้น
ถ. ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เขาได้รับ แต่พูดถึงขณะที่เขาคิด คือ บางคนป่วยอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้เขาคิดว่า เมื่อเราป่วยแล้ว ทรัพย์สินของเรามากมายนี้จะไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเราตายไป ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ที่เรามีอยู่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเรา เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า พอแล้ว จะไม่ขวนขวายต่อไป ผมถามว่า ขณะที่เขาคิดอย่างนั้น จะเป็นเนกขัมมวิตกไหม
สุ. ยากที่จะตอบ รอให้หายป่วยเสียก่อนดีไหม และดูซิว่าสภาพจิตของเขาจะเป็นอย่างไร ยามป่วยก็คิดไปได้ต่างๆ นานา แต่เวลาหายป่วยแล้ว เปลี่ยนเสียอีกแล้ว เพราะฉะนั้น เนกขัมมวิตกหรือไม่ อยู่ที่จิตของเขาในขณะนั้น แต่ถ้าจะพิจารณาโดยทั่วๆ ไป ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิต
เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นช่วงป่วยไข้ และเกิดความรู้สึกพอขึ้น ก็ยังดีกว่าผู้ป่วยไข้ที่ไม่รู้สึกพอ แต่ว่าไม่ควรจะเฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะยามใดยามหนึ่งหรือว่าช่วงใดช่วงหนึ่ง แม้หายป่วยไข้แล้ว สภาพของจิตก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ายามป่วยไข้เป็นอย่างหนึ่ง ยามหายป่วยไข้ก็เป็นเสียอีกอย่างหนึ่ง
การอบรมเจริญปัญญาและบารมีทั้งหลาย ควรที่จะเจริญขึ้น แม้จะทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละทาง ยังไม่ฝันใฝ่ถึงกับบรรพชาอุปสมบท เพียงชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เพียงแค่พอ ยังไม่ได้ให้สละ ยังไม่ได้ให้ละ ยังไม่ได้ให้ถึงกับตัด แม้ความยินดีพอใจยังมีอยู่ เพียงแค่พอแล้ว ยังไม่ถึงขั้นอุตสาหะวิริยะ ขวนขวาย ติดข้อง จนกระทั่งในความรู้สึก รู้สึกได้เลยว่า ไม่พอ ต้องการอีกๆ
สำหรับบารมีต่อไป คือ ปัญญาบารมี ซึ่งทุกท่านที่สนใจในการศึกษาธรรม ในการเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าท่านจะมีคุณความดีประการอื่นเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น ถ้าปัญญาไม่คมกล้า ถ้าปัญญาไม่รู้แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นคุณอันประเสริฐยิ่งของปัญญา และอบรมให้มากขึ้น อย่าหวังสิ่งอื่นเลย เพราะว่าไม่สามารถดับกิเลสได้ ถ้าเป็นการหวังในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยิ่งเพิ่มความต้องการ เพิ่มกิเลส เพราะฉะนั้น ควรที่จะขวนขวายในการเจริญปัญญาให้มากที่สุดที่จะกระทำได้ และสำหรับผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน การขวนขวายไม่เว้นที่จะสร้างสมปัญญานั้น ก็เป็นบารมีที่จะทำให้ปัญญาเจริญคมกล้าถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทุกท่าน ก็คงจะเห็นคุณของปัญญา และเป็นผู้ที่ขวนขวายอยู่เสมอในการที่จะเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น
บารมีต่อไป คือ วิริยบารมี ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่ในเรื่องของทาน ก็ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียร บางท่านมีกุศลจิตใคร่ที่จะให้ แต่ว่ายุ่งยากเหลือเกินในการที่จะให้ ก็อย่าให้เสียเลย ขี้เกียจเสียแล้ว ทั้งๆ ที่มีวัตถุที่จะให้ และก็มีศรัทธา มีเจตนาที่จะให้ แต่ถ้าขาดวิริยะ ทานที่จะสำเร็จด้วยวิริยะก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น บารมีประการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ วิริยะ ซึ่งจะเกื้อกูลบารมีประการอื่น เช่น ทานและศีลด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๗๑๑ – ๗๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720