แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
ครั้งที่ ๖๖๖
ถ. สมาคมข่าวสารพระพุทธศาสนาเชิญไว้กี่ประเทศ
สุ. ของเขาเท่านั้น เฉพาะประเทศศรีลังกา แต่ว่าได้จัดเวลาไว้เฉพาะพระภิกษุชาวต่างประเทศหลายวันทีเดียว เฉพาะจริงๆ สำหรับสัมมนากับพระภิกษุชาวต่างประเทศที่อยู่ที่ศรีลังกา
สำหรับคุณนีน่าเองก็มาร่วมด้วย ซึ่งทีแรกสำนักข่าวสารก็ไม่ทราบ คิดว่าจากเมืองไทย ๒ คนเท่านั้น และก็เพิ่มจากเนเธอร์แลนด์อีกหนึ่ง คือ คุณนีน่า วัน กอร์คอม และอีก ๒ วัน ก็เพิ่มอีกท่านหนึ่งจากประเทศอังกฤษ คือ คุณซาราห์ พรอคเตอร์ เป็น ผู้หญิงทั้ง ๔ คน ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจ
ถ. ประหลาดแน่ และที่เชิญผู้หญิงไป ก็เชิญในฐานะเป็นอาจารย์ให้ความสว่างแก่เขาด้วย
สุ. ซึ่งความจริงที่ประเทศศรีลังกานี้ไม่น่าแปลก เพราะว่าพระนางสังฆมิตตาก็ได้ไป และผู้ที่บรรลุมรรคผลที่ประเทศศรีลังกาเป็นคนแรกนั้น คือ ผู้หญิง เป็นพระชายาของน้องชายพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ชื่อพระนางอนุฬา มีประวัติจารึกไว้ในอรรถกถาว่า ผู้ที่บรรลุมรรคผลเป็นคนแรกที่ศรีลังกา คือ พระนางอนุฬา
ตอนค่ำก็ได้นิมนต์ท่านธัมมธโรกับสามเณรสุนทโรไปที่บ้านของคุณบุษบาด้วย แต่ว่าธรรมเนียมของศรีลังกากับธรรมเนียมไทยต่างกัน เพราะสำหรับชาวต่างประเทศที่ได้อบรมมาอย่างชาวต่างประเทศ ก็ติดต่อกับอุบาสกอุบาสิกาชาวต่างประเทศในลักษณะหนึ่ง แต่ที่ศรีลังกาไม่ได้ ไปด้วยกันไม่ได้ เขาจะต้องให้พระภิกษุขึ้นรถแท็กซี่ไปต่างหาก และก็บอกว่า หลัง ๓ ทุ่มแล้ว พระภิกษุจะไม่เดินไปตามถนน นี่เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าพูดถึงพระวินัยบัญญัติว่า ประเทศไหนจะไม่ย่อหย่อน แต่ละประเทศก็ต้องมีส่วนย่อหย่อน ซึ่งไม่เปิดเผย แต่ที่เปิดเผย คือ ส่วนที่เคร่งครัด
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า เมื่อมีชาวต่างประเทศไปก็จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่นิมนต์ท่านไปก็เพื่อจะให้ท่านทราบว่า คณะที่มาจากเมืองไทยได้พักอยู่ที่บ้านคุณบุษบา และคุณบุษบาก็เป็นผู้ที่สนใจธรรม ถ้าได้ฟังธรรมจากท่านธัมมธโร คงจะเพิ่มศรัทธาปสาทะขึ้นมากกว่าที่จะฟังธรรมจากผู้หญิงด้วยกัน เพราะว่าบางคนอาจจะมีอุปาทาน ถ้าเป็นผู้ที่มีความเคารพสักการะในพระภิกษุแล้ว ไม่ว่าท่านจะพูดอย่างไรก็มีศรัทธา โดยเฉพาะพระภิกษุที่เปรื่องปราชญ์หลักแหลมอย่างท่านธัมมธโร ก็คงจะทำให้คุณบุษบาได้มีศรัทธามั่นคงขึ้น จึงได้นิมนต์ไปที่บ้านคุณบุษบา
ในวันแรกเพื่อให้เจ้าของบ้านสบายใจ ก็ไม่มีการซักถามปัญหาธรรมที่เป็นประโยชน์ของพวกเราเอง แต่ว่าได้ขอให้คุณบุษบาสวดมหาสติปัฏฐานซึ่งเป็นศิริมงคลแก่บ้านของคุณบุษบา ซึ่งชาวลังกาสวดเก่งมาก และก็สวดเพราะมากด้วย ในความรู้สึกของดิฉันรู้สึกอย่างนั้น แต่บางคนที่เป็นชาตินิยม อาจจะรู้สึกว่าของไทยเราเพราะกว่า แต่ว่าความจริงแล้ว ภาษาบาลีของคนไทยไม่ใช่ภาษาสากล เพราะว่าคนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ออก คือ พูดตามใจฉัน ตามสบาย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ แต่ของเขาต้องออกเสียงให้ถูกพร้อมกับจังหวะถูกต้อง ซึ่งน่าฟังมาก
เพราะฉะนั้น คุณบุษบาก็สวดมหาสติปัฏฐาน แต่ว่าเป็นสูตรที่ยาวมาก คุณบุษบาจึงอ่าน หมายความว่าดูหนังสือ แต่สวดได้เพราะทีเดียว
สำหรับภาษาบาลีของไทย ถ้าปรับปรุงให้เป็นสากลได้ก็จะเทียมหน้าประเทศอื่น คือ อย่าตามใจเราเอง แต่พยายามที่จะใช้เสียงอักขระให้ถูกต้อง
ชาวพื้นเมืองพูดภาษาสิงหลส่วนใหญ่ และอีกพวกหนึ่งก็พูดภาษาทมิฬ เพราะว่าประวัติศาสตร์ของชาวศรีลังกา นอกจากจะเป็นเมืองของชาวสิงหลแล้ว พวกทมิฬของอินเดียก็มารุกราน จึงมีประชาชนที่เป็นพลเมืองทมิฬอยู่มาก เพราะฉะนั้น ก็แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ พวกสิงหล กับพวกทมิฬ
ถ. ในการประชุมครั้งนี้ พระภิกษุ คณะอาจารย์ และผู้เชิญที่ไปประชุมมีจำนวนประมาณเท่าไร
สุ. ถึง ๑๐๐ คนไหมคุณดวงเดือน วันแรกเกิน ๑๐๐ คน
ถ. ส่วนใหญ่เป็นคนศรีลังกา พระภิกษุ หรืออย่างไร
สุ. มีพระภิกษุชาวต่างประเทศบ้าง ที่แคนดี้มีชาวต่างประเทศมากกว่าที่โคลัมโบ
ถ. ที่อาจารย์ไปครั้งนี้ ๕ อาทิตย์ ประชุมทุกวัน วันละกี่ชั่วโมง หรือว่าประชุมบ้าง ไม่ประชุมบ้าง
สุ. เว้นเสาร์อาทิตย์ บางอาทิตย์ก็เว้นแต่อาทิตย์ เสาร์ไม่เว้น ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๒ ทุ่ม วันละ ๒ ชั่วโมงทุกวัน นี่เป็นรายการประจำ แต่มีรายการปลีกย่อยเต็มวันเหมือนกัน
ถ. อาจารย์บรรยายด้วยภาษาอะไร
สุ. ภาษาอังกฤษ
วันที่ ๑ ก็หมดไป อากาศที่โคลัมโบร้อนจัด เพราะว่าเป็นเดือนที่ร้อนของโคลัมโบ แต่เข้าใจว่า ร้อนอย่างไรก็คงเท่าๆ กับเมืองไทย เวลาที่ไปประเทศอื่นกลับมาแล้ว ถ้าร้อนนี่ รู้สึกว่าเมืองไทยร้อนกว่าที่อื่น
วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันเปิดสัมมนา ซึ่งตอนเช้าเจ้าของบ้านตื่นเช้ามาก และไหว้พระสวดมนต์ รับศีลที่ห้องพระของเขาเป็นประจำ ในวันแรกเขาก็คอยเรา ดอกไม้ที่ใช้บูชาพระก็เก็บจากในสวน ซึ่งธรรมเนียมของชาวลังกา ไหว้พระ สวดมนต์ และรับศีล ๕ ด้วยทุกวัน
ตอนเช้า ทางสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาจัดให้ไปสนทนาธรรม ตอบปัญหาธรรมกับเด็กนักเรียนที่ดีทร๊อฟคอลเลจ
ที่โคลัมโบอาทิตย์แรกนี่หนักมากจนไม่สบาย คือ จะเป็นหวัดเวลาที่ต้องใช้เสียงมากๆ เป็นวันที่จะเปิดสัมมนาตอนเย็น หลังจากที่ไปถึงแล้วคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็ไปที่ดีทร๊อฟคอลเลจ สนทนาธรรมตอบปัญหาธรรมกับเด็กๆ ข้อสำคัญคือ ไม่มีเครื่องขยายเสียง และเด็กมาก ต้องใช้เสียงดัง ตะโกน เขาคงคิดว่าเสียงดังพอ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเสียงนี้จะต้องใช้อีกเดือนกว่า ไม่ใช่ใช้เฉพาะวันนั้นวันเดียว ถ้าใช้วันเดียวก็อาจจะพยายามตะเบ็งเสียงให้ดังๆ ได้ แต่ว่าจะต้องใช้เสียงอีกเดือนกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ให้หมดเสียในวันแรก และตอนเย็นวันนั้นจะเป็นวันเปิดสัมมนา ซึ่งในวันเปิดสัมมนาก็ไม่ได้กล่าวอะไรมาก เพราะว่าอยากจะรับฟังความคิดเห็น ความเข้าใจ และความรู้ของชาวศรีลังกา ก่อนที่จะได้พูดถึงธรรม เพราะถ้าจะพูดเลยก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น ก็เปิดโอกาสให้ชาวศรีลังกาได้แสดงความคิดเห็น และให้คุณนีน่าเป็นผู้นำในการเปิดสัมมนา ในการพูดเรื่องที่คิดว่าชาวศรีลังกาจะสนใจ
๖ โมงถึง ๒ ทุ่มก็เปิดสัมมนา เริ่มด้วยพระมหานายกจุดประทีป ที่นั่นไม่ได้ใช้เทียน แต่ใช้ตะเกียงน้ำมันมีไส้
ในวันที่ ๒ ท่านธัมมธโรได้ร่วมตอบปัญหาด้วย เพราะว่าชาวศรีลังกาควรจะได้ฟังธรรมจากทั้งพระภิกษุและทั้งอุบาสิกา ไม่ใช่มีแต่อุบาสิกาไปตอบปัญหา
พระภิกษุธัมมธโร ท่านบวชที่เมืองไทย ศึกษาธรรมที่เมืองไทย เป็นผู้ที่หลักแหลมเฉลียวฉลาดมากทีเดียว ชาวศรีลังกาได้ฟังแล้วติดใจทุกคน จนกระทั่งตลอดถึงแคนดี้ และโคลัมโบ จนจบรายการ
ถ. ท่านเป็นชาวอะไร
สุ. ชาวออสเตรเลีย ซึ่งถ้าไม่ถวายโอกาสให้ท่านได้แสดงความรู้ความสามารถ เขาก็จะไม่ทราบว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเชื้อชาติเลย สาธารณะทั่วไปกับทุกคนที่มีความสนใจ และที่มีการสะสมมาแล้วที่จะเข้าใจธรรม
สำหรับในวันนี้ เมื่อสัมมนาเสร็จแล้ว ทางสถานทูตไทยเชิญรับประทานอาหาร เพราะทางสถานทูตไทยรู้สึกว่า ถ้าไม่ร่วมรายการที่ทางชาวศรีลังกาเชิญเลย ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่งเมื่อชาวศรีลังกาเป็นฝ่ายเชิญคนไทยไป เพราะฉะนั้น ทางสถานทูตก็ร่วมมือให้ความสะดวกทุกอย่าง และในวันนี้ก็เชิญรับประทานอาหารค่ำกับพวกข้าราชการสถานทูต มีนายแพทย์ที่ไปประชุมที่ประเทศศรีลังกาด้วยท่านหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีสุภาพสตรีไทยที่แต่งงานกับชาวศรีลังการ่วมด้วย
สุภาพสตรีไทย คือ คุณมาลิน แต่งงานกับชาวศรีลังกา คือ คุณศิริเสนา เฟอร์นันโด คุณมาลินเป็นผู้ที่มีศรัทธามากในพระพุทธศาสนา และใคร่ที่จะให้สามีได้มีความสนใจศึกษาธรรมเช่นเดียวกับคุณมาลินด้วย เพราะว่าคุณพ่อของคุณศิริเสนาเป็นผู้ที่มีศรัทธามากในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนามาก จัดตั้งโรงเรียนสำหรับพระพุทธศาสนา และตามสถานที่สำคัญ เช่น ที่ดัมบูละ มีเครื่องทำไฟ และอื่นๆ บริจาคไว้หลายอย่าง แต่คุณศิริเสนา เรียกสั้นๆ ว่า คุณศิริ ยังไม่มีศรัทธาจะศึกษา
เมื่อจบรายการที่จะกลับจากโคลัมโบ คุณศิริอ่านหนังสือของคุณนีน่า เรื่องธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน และเรื่องธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมพิมพ์ด้วยกันเป็นพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันและอภิธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ในทางส่วนบุคคล ก็ได้เกื้อกูลให้ได้สนใจ และได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ
วันเสาร์ที่ ๒ การสนทนาธรรมมีในตอนเย็น มีคุณซาร่าห์ พรอคเตอร์จากอังกฤษอีกคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็มีคนไทย ๑ เนเธอร์แลนด์ ๑ อังกฤษ ๑ และท่านธัมมธโร พร้อมทั้งพระภิกษุอื่นๆ ที่ร่วมด้วย ในวันนี้รับประทานอาหารกลางวันที่บ้านนายแพทย์คนหนึ่ง คือ ดร. กูรสิงเห ที่กล่าวถึงก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า ชาวศรีลังกาแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร แยกย่อยออกมาจากส่วนรวมของการสัมมนาธรรม
สำหรับ ดร. กูรสิงเหกับเพื่อน เป็นผู้มีความรู้ดีคนหนึ่งในพระพุทธศาสนา รู้เรื่องชวนจิต รู้เรื่องในพระไตรปิฎก คัดข้อความนั้นมาได้จากเวลามสูตร หรือสูตรอื่นๆ
แสดงให้เห็นว่า ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมโดยการอ่าน และการค้นคว้าตำรับตำรา แต่ยังไม่มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน นี่เท่านั้นเองเป็นส่วนที่ขาด แม้การศึกษาพระอภิธรรมที่เขาจำได้ และเข้าใจ รู้ว่าอะไรๆ อยู่ที่ไหนส่วนไหนในพระไตรปิฎก ก็เนื่องมาจากการศึกษาและการค้นคว้าของแต่ละคน แต่เขาไม่ทราบว่า โลภมูลจิตกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาก็เป็นแบบจำได้ แต่ว่าเขากำลังตื่นตัวในการที่จะเข้าใจอภิธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน และศึกษาอภิธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน พร้อมกันไปกับการเจริญสติปัฏฐาน
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ไม่มี นอกจากวันพิเศษ อย่างวันวิสาขบูชา หรือวันพระก็อาจจะมี แต่ว่าเมื่อฟังภาษาสิงหลไม่ได้ ก็ไม่ได้ฟังวิทยุ จึงไม่ทราบ แต่คิดว่ามีเหมือนกัน เพราะว่าเจ้าของบ้าน คือ คุณบุษบา ก็ได้เปิดวิทยุ และบอกว่า วันนี้วันพระ ท่านปิยทัสสีกำลังแสดงธรรม
ดร. กูรสิงเหสนใจมากจนถึงกับจัดตั้งกลุ่มศึกษาทุกวันพุธขึ้น เหมือนอย่าง Dhamma Study Group ที่เมืองไทย สำหรับสนทนาปัญหาธรรมกับชาวต่างประเทศจัดให้มีขึ้นทุกวันพุธ ซึ่งดร. กูรสิงเหเห็นว่า การที่ได้ฟังธรรมในแนวนี้และจะไม่ศึกษา ไม่สนทนากันต่อไป ก็จะทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตขึ้น จะมีแต่การจะตายไป เพราะฉะนั้น ดร.กูรสิงเห ก็ขออนุญาตพระมหานายกที่จะจัดให้มีการสัมมนาธรรมเป็น Dhamma Study Group ขึ้นที่ B.I.C. (Buddhist Information Center) วันพุธนี้ ซึ่งก็ จะเริ่มมีในตอนบ่าย
นี่ก็แสดงถึงประโยชน์ที่ได้กับชาวศรีลังกาในแต่ละบุคคล
วันอาทิตย์ที่ ๓ เป็นวันพระของชาวศรีลังกา ซึ่งตรวจสอบดูกับปฏิทินไทยรู้สึกว่าจะไม่ตรง วันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม ชาวศรีลังกาเรียกว่า โปย่าเดย์ หมายความถึง วันพระ วันอุโบสถ เข้าใจว่าไม่ตรง แม้แต่วันวิสาขะก็ไม่ตรง เพราะที่ศรีลังกา วันวิสาขะเป็นวันที่ ๓ พฤษภาคม ของไทยจะเป็นวันที่ ๑ มิถุนายน เพราะฉะนั้น วันพระก็ไม่ตรง
สำหรับวันอาทิตย์ ไม่มีการสนทนาธรรม และวันพระของชาวศรีลังกาโดยมากเขาไม่ไปไหน เขาอยู่บ้าน หรือไม่ก็อยู่วัด ถ้าไม่ไปวัด ก็รับศีลอุโบสถและก็อยู่บ้าน มีคนหนึ่งเขาบอกว่า ที่เขาไม่ออกจากบ้านเพราะเขาไม่อยากจะขับรถวันพระ ก็ถามเขาว่า ทำไมไม่อยากจะขับรถวันพระ เขาบอกว่า ถ้าเขาขับรถวันพระ เดี๋ยวพระท่านก็จะขับบ้าง แต่ว่าความจริงไม่เกี่ยวกัน เพราะว่าศีลอุโบสถก็เพียง ๘ ส่วนของพระภิกษุนั้นถึง ๒๒๗ แต่อาจจะมีเหตุการณ์บ้านเมืองของเขาที่เราไม่ทราบ ซึ่งเขาพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาขนบธรรมเนียมและพระวินัยไว้ เพราะฉะนั้น ก็พยายามทำตัวเป็นอุบาสกที่ดีเพื่อจะเป็นตัวอย่าง ป้องกันการย่อหย่อนในพระวินัย นั่นก็เป็นคำตอบสั้นๆ ที่เขาให้เหตุผลว่า ที่ไม่ไปไหนเพราะไม่อยากจะขับรถวันพระ เพราะถ้าเขาขับรถ พระท่านก็จะขับบ้าง
สำหรับในวันนี้ได้ไปที่วัดกัลยาณี ซึ่งเป็นวัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญของโคลอมโบ ทุกคนที่ไปโคลัมโบต้องไปที่วัดนี้ เป็นวัดหนึ่งที่กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ที่ศรีลังกานี้ มีประวัติที่กล่าวถึงการเสด็จของพระผู้มีพระภาคของเราหลายๆ แห่งทีเดียว ทั้งๆ ที่ปรินิพพานที่ประเทศอินเดีย แต่กล่าวว่า หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว เสด็จที่ประเทศศรีลังกา เพราะเห็นว่าศรีลังกาจะเป็นประเทศที่รักษาพระพุทธศาสนาไว้ และแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็ได้กระทำอย่างนี้ แม้แต่ ต้นโพธิ์ตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็ได้เคยปลูกไว้ในที่ ที่ปลูกต้นโพธิ์ต้นนี้ ที่ประเทศศรีลังกา นี่ที่เดียวกันทั้งหมด ตามอรรถกถาที่แสดงไว้ แม้แต่ในสมันตปาสาทิกาแปล
และข่าวดีสำหรับพุทธศาสนิกชน คือ ตอนนี้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แตกกิ่งใหม่ ๑ กิ่ง เป็นกิ่งอ่อน เพราะว่ากิ่งที่มีอยู่เวลานี้เหลือเพียงกิ่งเดียวเท่านั้น ลำต้นใหญ่ถูกตัดแล้ว ก็คงจะหัก ก็ต้องตัด และใช้ซีเมนต์ยาไว้ข้างใน เหลือเพียงกิ่งเล็กกิ่งเดียว ซึ่งเก่าแก่มาก ต้องใช้ไม้ค้ำไว้ตลอดทางทีเดียว แต่ว่า ๖ – ๗ เดือนมีกิ่งใหม่แตกออกมา ๑ กิ่ง ซึ่งเป็นที่ชื่นชมของชาวศรีลังกามาก
สำหรับคนที่เข้าใจสติปัฏฐาน และรู้ว่าพระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ก็คงจะคิดอย่างนี้ แต่ว่าไม่ควรจะถือเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดอกุศล แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดกุศล ก็เป็นเรื่องที่คาดคะเนตามเหตุการณ์ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่กิ่งพระศรีมหาโพธิ์กิ่งใหม่แตกแล้ว และได้รับการดูแลอย่างดี
ความจริง ๖ – ๗ เดือนก่อนก็ได้ไปที่ประเทศศรีลังกา แต่ไม่เห็นกิ่งที่แตกใหม่ คือ ที่ไปครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลา ซึ่งก็ควรจะเห็น แต่คงจะเป็นตอนที่แตกเล็กมาก หรืออย่างไรไม่ทราบ ไม่ได้สังเกตเลย แม้ในการไปครั้งที่ ๒ วันที่ ๑ ธันวา ได้ไปกราบนมัสการถึงต้น ก็ไม่สังเกต จนกระทั่งคราวนี้กิ่งแตกยาวเป็นที่สังเกตแล้ว พร้อมทั้งได้ทราบข่าวมาจากชาวศรีลังกาว่า ตอนนี้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แตกกิ่งใหม่ ก็เลยได้ไปนมัสการ จึงได้สังเกตกิ่งใหม่ ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ได้สังเกต
ต้นนี้เป็นต้นที่มาจากต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ที่อินเดียเองตายไปแล้วหลายครั้ง และขึ้นใหม่ในที่เดิม แต่สำหรับที่ศรีลังกาไม่ตายเลย หลังจากที่พระเจ้าอโศกให้พระนางสังฆมิตตานำมาปลูกที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งนำมาจากอินเดีย ใช้กิ่งทางทิศใต้ เพราะว่าศรีลังกาอยู่ทางใต้ของอินเดีย ต้นที่แท้ตายไปแล้วหลายครั้งในอินเดีย ต้นที่อยู่ตอนนี้เป็นต้นที่ ๔ แต่ของศรีลังกา ต้นเดียว เป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์จริงๆ ๒,๐๐๐ กว่าปี ไม่ตายเลย เก่าแก่มาก และใบโพธิ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้มีรูปร่างต่างๆ แม้แต่รูปยาวแบบใบมะม่วงก็มีที่โคนต้น รูปเหมือนโพธิ์ธรรมดาก็มี และก็มีหลายอย่าง ดูใบจริงๆ จากบนต้นก็ไม่สวย เพราะต้นแก่มาก เก่ามาก แต่ว่าใบทั้งหลายจะมีลักษณะต่างๆ ที่หล่นลงมา และก็รู้ว่าเป็นใบของพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งบางใบเป็นรูปยาว บางใบเป็นรูปเหมือนดอกจิก แตกยอดแหลม แต่ตอนที่ไปอนุราธปุระ กำลังแห้งแล้ง ร้อนมาก ใบร่วงหมด เหลือแต่ตอสั้นๆ และก็เหลือกิ่งเก่ากิ่งหนึ่ง
ประเทศอินเดียก็ต้องรักษาอย่างดี ทุกประเทศรักษาอย่างดี แต่ของอินเดียถูกทำลายโดยพระมเหสีของพระเจ้าอโศก ซึ่งมีความริษยามากในต้นโพธิ์ที่ไม่มีชีวิต
ต่อจากวัดกัลยาณี ได้ไปที่วิหารมหาเทวี ซึ่งมีอุบาสิกาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง ชื่อสุธัมมา แต่ว่าไม่พบ เพราะว่าไม่อยู่ ความจริงอุบาสิกาสุธัมมาก็ได้รับเชิญไปในพิธีเปิดสัมมนา แต่ไม่ได้ไป ไม่ทราบจะอยู่ที่โคลัมโบ หรือจะอยู่ที่เมืองอื่น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๖๑ – ๖๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720