แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720
ครั้งที่ ๗๒๐
หนทางที่จะเป็นถึงอุปจารสมาธิกับอัปปนาสมาธินั้น แสนไกล ยากที่จะถึงได้ เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านพิจารณาตัวของท่านเองตามความเป็นจริงว่า ท่านเป็นผู้ที่สมควรที่ฌานจิตจะเกิดไหม ถ้าไม่สมควร เรื่องอะไรที่จะไปพากเพียรด้วยความต้องการทำ โดยที่ไม่สะสมเหตุปัจจัย คือ ความสงบเท่าที่จะมีได้ในชั่วขณะหนึ่งๆ แทนอกุศลจิตซึ่งเกิดอยู่บ่อยๆ
ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบ หรือว่าขั้นสติปัฏฐาน และก็เลือกไม่ได้เลย ถ้าทานจะเกิดขึ้นโดยไม่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน เพราะว่ากุศลจิตแต่ละขณะนั้นสั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว เป็นทานไปแล้ว แต่สติไม่ได้ระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นทานซึ่งไม่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นศีล การวิรัติทุจริตโดยไม่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน หรือบางครั้งสติก็ระลึกรู้ในขณะที่กำลังให้ทาน ในขณะที่วิรัติทุจริตเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายว่า เลือกไม่ได้ เจาะจงไม่ได้ บางครั้งเป็นความสงบ เป็นสมถะ บางครั้งเป็นทาน บางครั้งเป็นศีล บางครั้งเป็นสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนที่สามารถจะไปบังคับ ไปยับยั้งได้
เพราะฉะนั้น ไม่มุ่งหวังฌานจิต ไม่มุ่งหวังสมถะ หรือความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือแม้อุปจารสมาธิ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ความสงบก็จะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ เป็นพื้นฐานเป็นปัจจัย ถ้ามีปัจจัยที่จะเกิดอุปจารสมาธิเมื่อไร พร้อมเมื่อไร อุปจารสมาธิก็เกิดพร้อมความสงบได้
แต่ขอให้รู้ลักษณะชั่วขณะที่สงบเสียก่อน และเมื่อความสงบเพิ่มกำลังขึ้น ท่านจะเข้าใจในความหมายของความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคง ซึ่งผิดกับขณะที่ต้องการเหลือเกินที่จะจดจ้อง ต้องการเหลือเกินที่จะให้ยิ่งกว่านี้อีก ต้องการเหลือเกินที่จะให้จดจ้องมากกว่านี้อีก ซึ่งเป็นความต้องการโดยไม่รู้สภาพที่ต่างกันของขณะจิตที่สงบ และขณะจิตที่สงบประกอบด้วยสมาธิที่เพิ่มขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
สมาธิมีกำลังได้แน่นอนสำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องไปทำสมาธิเสียก่อน แต่ว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง สมาธิขั้นใดเกิด ก็รู้ตามความจริงว่าเป็นสมาธิขั้นนั้น และถ้าสมาธิที่สูงกว่านั้นเกิดขึ้น ก็รู้ความต่างกันของขณะที่สมาธิไม่มีกำลังถึงขั้นนั้น กับขณะที่สมาธิมีกำลังถึงขั้นนั้น ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นไปด้วยความต้องการว่าอยากจะถึง แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่สงบตั้งมั่นคงพร้อมด้วยสมาธิที่มีกำลังเพิ่มขึ้น
ความสงบแต่ละขณะในชีวิตประจำวันนี่ ภายหลังท่านผู้ฟังจะรู้ความต่างกันที่ละเอียดขึ้นว่า ลักษณะของความสงบที่เพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้น มี แต่ว่าต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความสงบพร้อมกับสมาธิที่มั่นคงขึ้นปรากฏเสียก่อน จึงจะรู้ได้
ถ. รู้สึกว่าเข้าใจเพิ่มขึ้นมาก
สุ. เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกรู้ในขณะที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ว่า ขณะนั้นสงบไหม และก็รู้ลักษณะที่สงบจริงๆ ว่า ต้องมีเหตุที่เป็นกุศลจิต และภายหลังถ้าระลึกรู้ที่ลมหายใจบ่อยขึ้น และก็รักษาความสงบ คือ จิตสามารถสงบ จริงๆ ด้วยปัญญา เวลาที่สมาธิมีกำลังเพิ่มขึ้น ปัญญาจะรู้ความต่างกันของความสงบขั้นที่ไม่ประกอบด้วยสมาธิ และความสงบที่มั่นคงขึ้นประกอบด้วยสมาธิที่มีกำลังขึ้น
เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นเรื่องของความรู้จริงๆ ถ้ามีความมั่นคงของความสงบ ลักษณะของสมาธิมีกำลัง และรู้ในลักษณะของสมาธิที่มีกำลังพร้อมความสงบ จะรู้ได้ว่าปัญญาคืออย่างไร ปัญญา คือ ความรู้ในขณะนั้นจริงๆ
ปัญญามีมากมาย ปัญญาขั้นสมถะ ปัญญาขั้นวิปัสสนา ปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยความมั่นคงของสมาธิขั้นต่างๆ ซึ่งต้องเป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้นในการที่จะเจริญภาวนา ทั้งที่เป็นสมถะและวิปัสสนา แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องละ เพราะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต่างกับขณะที่สงบ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจึงสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นกุศลขั้นสงบ และแม้สมาธิที่ประกอบกับความสงบนั้น ก็เป็นเพียงสมาธิขั้นประกอบกับความสงบ ไม่ใช่สมาธิขั้นที่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
ถ. พื้นฐานที่สำคัญที่สุด คือ มีปกติเจริญกุศล และรู้สภาพของสมาธิ สำคัญจริงๆ ถ้าไม่มีตรงนี้ ขั้นต่อไปไม่มีทางเป็นไปได้
สุ. ขออนุโมทนา ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นกำลังของความต้องการได้ว่า ถ้าปัญญาไม่เกิดแล้ว ความต้องการจะพาไปสู่การปฏิบัติต่างๆ นานา โดยที่ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เจริญความสงบหรือกุศลเลย
ถ. ระลึกอย่างไรที่จะบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ สิ่งของ สมมติว่า เราหยิกตัวเอง ก็ยังรู้สึกว่าเป็นตัวเรา
สุ. หยิกตัวเอง รู้สึกว่าเจ็บ หรือรู้สึกว่าเป็นเรา
ถ. รู้สึกว่าเจ็บ
สุ. ความจริงสภาพธรรมคือเจ็บ ถ้าไม่หยิกจะเจ็บได้ไหม
ถ. ไม่เจ็บ
สุ. ไม่เจ็บ ความเจ็บเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีลักษณะเป็นเพียงความเจ็บ ทำไมจึงจะว่า ลักษณะที่เจ็บนั้นเป็นเรา
ถ. ก็เรารู้สึก
สุ. เราคิด เรายึดถือความเจ็บว่าเป็นเรา แต่สภาพจริงๆ เป็นความรู้สึกเจ็บเท่านั้นเอง จริงไหม
ถ. ถ้าเราจะไม่คิดว่า เราเจ็บ แต่ก็ยังเจ็บ จะไม่เป็นเราได้อย่างไร
สุ. สภาพเจ็บมีจริง ไม่ใช่ว่าไม่จริง ลักษณะเจ็บต่างกับลักษณะที่รู้สึกสบาย เป็นสภาพธรรมคนละชนิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ความเจ็บเกิดขึ้น ถ้าสติและปัญญาระลึกรู้ลักษณะที่เจ็บ จะไม่ยึดถือลักษณะที่เจ็บนั้นว่าเป็นเรา เพราะว่าความเจ็บเป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่ต่างกับลักษณะสภาพธรรมอื่น ซึ่งสภาพธรรมทุกอย่างเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้ความเจ็บเกิดขึ้น ความเจ็บก็ไม่เกิด เวลาที่ความเจ็บไม่เกิด เราอยู่ที่ไหน ถ้าว่าความเจ็บนั้นเป็นเรา เวลาที่ความเจ็บไม่เกิด เราอยู่ที่ไหน
ถ. เราก็รู้สึกเราสบาย ก็ยังเป็นเราอยู่
สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความสบายเกิดขึ้น ก็ไปยึดถือความสบายนั้นว่าเป็นเรา แต่ตามความเป็นจริง ลักษณะที่สบายเป็นเพียงลักษณะที่ต่างกับความเจ็บ ในขณะที่รู้สึกสบาย จะรู้สึกเจ็บไม่ได้ใช่ไหม คนละขณะใช่ไหม ความสบายหมดไปแล้ว เราอยู่ที่ไหนอีก เราก็ตามไปอยู่ในสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ด้วยความไม่รู้ว่า สภาพธรรมเกิดแล้วหมดไป ความสบายจะอยู่ตลอดไปไม่ได้ เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ถ้าความสบายเป็นเรา เราก็ต้องหมดไปด้วย แต่เพราะมีสภาพธรรมอื่น ความยึดถือสภาพธรรมอื่นว่าเป็นตัวตน ก็ยึดถือสภาพธรรมอื่นต่อไปด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสภาพธรรมนั้นเกิดปรากฏแล้วก็หมดไปอีก หมดไปเรื่อยๆ ทุกขณะ เราจะอยู่ที่ไหนดี มีที่อยู่ไหม
ถ. เรา ก็ทั้งตัว ทั้งหมดเป็นเรา ถ้าว่าตัวเราไม่มี และที่มีชีวิตอยู่นี่อะไร
สุ. การเจ็บ การเห็น การได้ยิน การคิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ขณะใดที่จิตใดเป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีอกุศลเกิดพร้อมกันร่วมกันในขณะนั้น กุศลต้องดับไปก่อน อกุศลจึงได้เกิดขึ้น ความรู้สึกเจ็บต้องดับไปก่อน ความรู้สึกสบายจึงจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ปรากฏที่ยึดถือว่าเป็นเรานี้ ก็ชั่วขณะที่ปรากฏ สั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราอยู่ที่ไหน ในเมื่อเกิดปรากฏแล้วหมดไปๆ อยู่เรื่อยๆ
ถ. ไม่เข้าใจ
สุ. แข็ง เพียงแข็งใช่ไหม เปลี่ยนแข็งให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ถ้ากระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง แข็งปรากฏ ลักษณะจริงๆ คือแข็ง แต่ความคิดนึก ยึดถือแข็งนั้นว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่ลักษณะจริงๆ คือแข็ง ถูกไหม เท่านั้นเอง ไหนล่ะเรา ไม่งั้นก็เราแข็ง แข็งคือเรา พอสัมผัสกระทบอะไรที่แข็งทั้งหมด ก็เป็นเราไปทั้งหมดหรือ
ถ. คนเราที่ทำมาหากิน เพื่ออะไร ถ้าไม่มีตัวเรา ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยหรือ
สุ. เกิดมาแล้วตามเหตุตามปัจจัย ละหรือดับไม่ได้ ถ้าไม่ดับเหตุปัจจัย เข้าใจไหม เกิดมาแล้ว จะทำลายสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยให้หมดไปได้อย่างไร ได้ยินอย่างนี้ ได้ยินเกิดแล้ว จะห้ามไม่ให้ได้ยินได้อย่างไร เพราะมีปัจจัยให้เกิดได้ยินขึ้น ได้ยินก็เกิดขึ้น และก็หมดไปแล้ว จะไม่ให้หมดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ยับยั้งอะไรไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ใครจะเรียนแพทย์ ใครจะเรียนวิชาอะไร ใครจะคิดอย่างไร ใครจะพูดอย่างไร ใครจะทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย สภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าเราไปทำ ไม่มีเราเลย มีแต่สภาพธรรมที่เห็น และก็คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ได้ยิน และก็คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ
เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ เต็มไปด้วยเรื่องราว ด้วยความเป็นตัวตน ถ้าเอาเรื่องราวทั้งหมดออกไป จะมีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคลไหม เห็นแล้วไม่คิดถึงเรื่องราว ต่างๆ ได้ยินหมดไปแล้ว ก็หมดไป ไม่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ จะมีตัวตน จะมีเรา มีเขาได้ไหม ได้ยินหมดไปแล้ว ไม่ต้องไปตามคิดว่า คนนั้นพูด คนนี้พูด เพราะได้ยินเท่านั้นปรากฏ และก็หมดไป จะมีตัวตนได้อย่างไร ถ้าไม่มีเรื่องราว แต่เมื่อเห็นแล้วก็คิดถึงสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราว พอได้ยิน ก็คิดถึงสิ่งที่ได้ยินเป็นเรื่องเป็นราว เพราะฉะนั้น เรื่องราว ทำให้เกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตนขึ้น
สำหรับบารมีทั้ง ๑๐ จะเกื้อกูลต่อการเจริญกุศล
ขอกล่าวถึงผลของกุศล ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่าเล็กน้อย แต่ให้เห็นว่า แม้ว่าจะเป็นกุศลที่เล็กน้อยเพียงไร แต่เพราะการเกิดได้ยากของกุศลจึงมีผลมาก ใน ขุททกนิกาย อปทาน เวยยาวัจจกเถราปทานที่ ๙ ท่านพระเวยยาวัจจกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
ได้มีการประชุมใหญ่ (มหาสันนิบาต) แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี เราได้เป็นไวยาวัจกรผู้รับใช้ในกิจทุกอย่าง ก็ไทยธรรมที่จะถวายแด่พระสุคตเจ้า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ของเราไม่มี เรามีจิตผ่องใสได้ถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ เราได้กระทำไวยาวัจกร ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการทำไวยาวัจกร ในกัปที่ ๘ แต่กัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุจินติยะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
แม้แต่เวยยาวัจจะ ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ต้องกระทำด้วยบารมี คือ ต้องมีขันติ มีความอดทน มีวิริยะ มีความเพียร และต้องประกอบด้วยเมตตาด้วย เพราะฉะนั้น การเจริญกุศลทุกประการจะเห็นได้ว่า ต้องกระทำเป็นบารมีนานเพียงไรกว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เช่น ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ เราได้ทำไวยาวัจกร
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แต่ละกัปนี้นานแค่ไหน และนี่ในกัปที่ ๙๑ ที่ท่านได้อบรมบารมีด้วยการเจริญกุศลทุกประการ แม้ในการกระทำไวยาวัจกร คือ การรับใช้ในกิจทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ผลสุดท้าย คือ พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้ และเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖
เพราะฉะนั้น แม้แต่คุณธรรม คือ คุณวิเศษเหล่านั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะได้โดยง่ายในวันเดียว ซึ่งท่านผู้ฟังจะคิดว่า ท่านจะพากเพียรไปจดจ้องให้เกิดสมาธิขั้นต่างๆ ให้เป็นวิโมกข์ ให้เป็นอภิญญา แต่ต้องอาศัยการอบรมเจริญนานมากทีเดียว และเมื่อมีปัจจัยพร้อมที่จะให้คุณวิเศษเหล่านั้นเกิด คุณวิเศษเหล่านั้นก็เกิดด้วย
อีกท่านหนึ่ง คือ ใน มรรคทายกเถราปทานที่ ๗ ที่ท่านกล่าวมีเนื้อความว่า
ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และก็ได้เอาจอบและปุ้งกี๋มาปราบหนทางให้ราบเรียบถวายบังคมด้วยจิตเลื่อมใส ได้รับผลของกรรม คือ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า สุปปพุทธะ และได้บรรลุมรรคผล ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุ อย่าใจร้อน ในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง พร้อมการเจริญกุศลทุกประการเป็นบารมี เป็นกัปๆ ไป จนกว่าจะบรรลุอริยสัจธรรม
ถ. การปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อขึ้นถึงนามรูปปริจเฉทญาณนั้น จะทราบได้อย่างไร
สุ. เวลาที่ปัญญากำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นจะไม่มีความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีความสงสัย
ถ. รู้ชัดในสภาวลักษณะใช่ไหม
สุ. ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าสภาพธรรมที่จะรู้ชัดได้ต้องเป็นปัญญา คือ วิชชา ไม่ใช่อวิชชา เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่สามารถจะรู้ชัด คือ ไม่รู้สภาพที่แท้จริงของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา
เมื่อปัญญาเกิดขึ้น เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ได้อบรมเจริญถึงความสมบูรณ์ที่สามารถจะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมที่กำลังปรากฏ และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังรู้ชัด ไม่มีความสงสัย ซึ่งแต่ก่อนนั้นสงสัยว่าเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา สติจะต้องระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ต่างกับในขณะนี้ ขณะนี้มีสภาพรู้เสียงที่กำลังได้ยินเสียง เป็นนามธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุที่สามารถรู้เฉพาะเสียง ในขณะนี้ที่กำลังได้ยินเสียง ปัญญาต้องประจักษ์ชัดในธาตุนั้นซึ่งไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่สภาพธรรมอื่นเลย นอกจากเป็นธาตุรู้ เป็นวิญญาณธาตุ เป็นโสตวิญญาณธาตุด้วย คือ เป็นธาตุที่ได้ยินเสียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะรู้อย่างอื่นได้ในขณะนั้น
ถ. อย่างนี้ต้องถึงขั้นพระอริยบุคคล
สุ. ยัง ปัญญาต้องอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ชัดแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น เพิ่มขึ้น ชินขึ้น หน่ายขึ้น ละขึ้น คลายขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๗๑๑ – ๗๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720